การพิมพ์งานนั้นเป็นงานของทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักเรียน พนักงานออฟิศ จนไปถึงนักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติ แน่นอนว่าบนสถานีอวกาศนานาชาตินั้นก็ต้องมีพรินเตอร์ไว้ใช้เช่นกัน พรินเตอร์ตัวแรกที่ถูกส่งขึ้นไปบนสถานีอวกาศนานาชาติถ้านับจนถึงวันนี้ก็จะมีอายุมากถึง 17 ปีแล้ว (สถานีอวกาศนานาชาติมีอายุ 20 ปี) พรินเตอร์รุ่นนั้นก็คือ Epson Stylus Color 800 ที่นักบินอวกาศทนใช้มันมาถึง 17 ปี ก่อนที่ในปี 2017 ทีมจาก NASA และ HP ได้ทำการสร้างพรินเตอร์รุ่น HP Envy ISS โดยมีพื้นฐานมาจากพรินเตอร์รุ่น OfficeJet 5740
โดยปกติแล้วนักบินอวกาศจะพิมพ์งานของพวกเขาลงบนกระดาษประมาณ 2 รีมต่อสัปดาห์ ตั้งแต่ข้อมูลภารกิจต่าง ๆ การรับมือกับสถานการฉุกเฉิน หนังสือ หรือแม้กระทั่งงานส่วนตัวอย่างภาพถ่ายที่ส่งขึ้นไปจากบนโลกหรือจดหมายจากทางบ้าน (ทำไมไม่ใช้อีเมลวะ)
หลังจากที่พัฒนาและทดสอบกันมานานนับปี พรินเตอร์ HP Envy ISS ก็ได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปกับยาน Dragon ของ SpaceX ในภารกิจ CRS-14 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2018 ในที่สุดนักบินอวกาศก็จะได้ใช้งานพรินเตอร์รุ่นใหม่ซะที โดยถ้ามองจากภายนอกแล้ว HP Envy ISS ก็ดูเหมือนพรินเตอร์ธรรมดาทั่วไปตามออฟฟิศที่เรารู้จักกัน แต่ว่าจริง ๆ แล้ว HP Envy ISS มีความพิเศษหลายอย่างดังนี้
- ระบบจัดการกระดาษในสภาพไร้น้ำหนัก
- ระบบจัดการหมึกเสียในสภาพไร้น้ำหนัก
- สามารถเชื่อมต่อผ่านพอร์ต USB หรือ Wifi ก็ได้ (ก็เหมือนกับพรินเตอร์รุ่นปกติ)
- คุณสมบัติในการทำงานบนอวกาศ ได้แก่การทนต่อรังสี การสั่นสะเทือน และอื่น ๆ
- วัสดุและน้ำหมึกต้องไม่เป็นเชื้อเพลิงไม่ติดไฟหรือก่อให้เกิดสารอันตรายเมื่อเกิดเพลิงไหม้บน ISS
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือพรินเตอร์ตัวนี้นอกจากจะถูกออกแบบมาอย่างเป็นพิเศษแล้ว มันยังถูกสร้างขึ้นมาแบบปราณีตมาก ๆ ด้วยการพิมพ์ด้วย 3D Printer (เทคนิค Multi Jet Fusion) ด้วยวัสดุแบบพิเศษ PA 12 Glass Beads
สำหรับหมึกที่ใช้กับพรินเตอร์ HP Envy ISS นี้ก็เหมือนกับหมึกพรินเตอร์ทั่วไป ในรุ่น 62XL โดยจะมีตลับหมึก 2 ตลับได้แก่ตลับสี (CMY) และตลับหมึกดำ (K) เหมือนกับพรินเตอร์ที่ใช้กันทั่วไปบ้าน ๆ เลย
เมื่อหมึกของพรินเตอร์หมด นักบินอวกาศก็เพียงแค่นำตลับใหม่ใส่เข้าไป ซึ่งแน่นอนว่าจะมีการขนตลับหมึกใหม่ส่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ผ่านทางภารกิจการส่งเสบียงและสิ่งของจำเป็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทุก 1-2 เดือนอยู่แล้ว ส่วนหมึกที่หมดแล้วนั้นก็คาดว่าจะถูกส่งลงมาเผาไหม้ไปพร้อมกับยานอวกาศหลังส่งเสบียงเสร็จเช่นยาน Progress ของรัสเซีย, ยาน ATV ของ ESA หรือยาน HTV ของญี่ปุ่น
นอกจากพรินเตอร์ 2D แบบธรรมดา ๆ แล้วบนสถานีอวกาศนานาชาติยังมี 3D Printer อยู่ด้วย ซึ่งก็ถูกส่งขึ้นไปไม่กี่ปีมานี้เอง โดย NASA ได้ใช้ 3D Printer ในการพิมพ์อุปกรณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเพื่อทำการทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก โดยวัสดุที่ใช้พิมพ์ก็ถูกส่งขึ้นไปกับยานอวกาศในเที่ยวต่าง ๆ เช่นเดียวกัน
จะเห็นว่าไม่ว่าใช้ชีวิตอยู่บนวงโคจรหรือทำงานอยู่บนโลกนั้น เครื่องใช้ต่าง ๆ ก็ไม่ต่างกันมาก โดยเฉพาะเครื่องใช้สำนักงานหรือกล้องถ่ายรูป (ที่ NASA เลือกเป็น Nikon และ Go Pro) หรือคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก ที่เป็น Lenovo ThinkPad อย่างไรก็ตามสิ่งของที่ถูกส่งขึ้นไปบน ISS นั้นจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างดีจาก NASA หรือ Space Agency อื่น ๆ เนื่องจากการขนส่งอะไรก็ตามขึ้นไปบน ISS นั้นใช้ทุนมหาศาล ถ้าส่งขึ้นไปแล้วพังหรือใช้ไม่ได้หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อการปฏิบัติงานของสถานี บริษัทนั้นก็คงโดน NASA ปรับเป็นเงินไม่น้อยเลยทีเดียว
อ้างอิง