InSight ตรวจพบแผ่นดินไหวบนดาวอังคาร 4.2 แมกนิจูด นานกว่า 90 นาที ทำลายสถิติเก่าเมื่อปี 2019

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2021 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1,000 SOL หรือ 1,000 วันบนดาวอังคารพอดีของยาน InSight อุปกรณ์ Seismometer ของ InSight ซึ่งใช้ในการวัดแรงสั่นสะเทือนใต้พื้นผิวของดาวอังคารสามารถวัดการสั่นสะเทือนซึ่งเป็นแผ่นดินไหวบนดาวอังคารได้ที่ 4.2 แมกนิจูด และสั่นสะเทือนยาวนานกว่า 1 ชั่วโมงครึ่งซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินไหวที่นานมาก

ภาพ Selfie ของยาน InSight ถ่ายเมื่อ SOL 106 และ SOL 133 บนดาวอังคาร โดยกล้อง Instrument Deployment Camera – ที่มา NASA/JPL-Caltech

ในวันที่ 25 สิงหาคม 2021 ยาน InSight ก็สามารถตรวจจับแผ่นดินไหวบนดาวอังคารได้ที่ 4.2 แมกนิจูด และ 4.1 แมกนิจูด ทำลายสถิติครั้งก่อนที่ตรวจผบในปี 2019 ที่ 3.7 แมกนิจูด แผ่นดินไหว 4.2 แมกนิจูดนั้นมีความรุนแรงมากกว่าแผ่นดินไหว 3.7 แมกนิจูดถึง 5 เท่า

การตรวจพบแผ่นดินไหวที่รุนแรงครั้งนี้ถือเป็นความโชคดีของ InSight เนื่องจากก่อนหน้านี้ ทีมวิศวกรเกือบต้องพักการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดเมื่อดาวอังคารเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ทำให้พลังงานที่ยาน InSight ได้รับนั้นลดลง ไม่เพียงเท่านั้น อุณหภูมิที่ลดลงก็จะทำให้ระบบทำความร้อนของ InSight ต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อรักษาอุณหภูมิของระบบต่าง ๆ ของยานไม่ให้ต่ำเกินไป

โชคร้ายที่แหล่งพลังงานหลักของ InSight นั้นนอกจากจะได้รับแสงไม่พอแล้ว แผงโซลาร์เซลล์ของ InSight ยังเต็มไปด้วยฝุ่น และเนื่องจาก InSight ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานเกินอายุของมัน ทำให้มันไม่มีที่ปัดฝุ่นเพื่อทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์

ภาพของฝุ่นที่เกาะติดอยู่กับแผงโซลาร์เซลล์บนยาน InSight บดบังแสงอาทิตย์และลดอัตราการผลิตพลังงานไฟฟ้า – ที่มา NASA/JPL-Caltech

หากฝุ่นยังสะสมต่อไปเรื่อย ๆ InSight จะไม่มีพลังงานพอที่จะสนับสนุนการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ และสุดท้ายก็จะต้องเข้าสู่ Safe Mode เพื่อประหยัดพลังงานให้มันมีชีวิตรอดต่อไปได้ ถ้าปิดอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ก็หมายความว่าหากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นระหว่างนี้ เราจะไม่มีทางรู้เลย

โชคดีที่ทีมวิศวกรของยานสามารถคิดค้นหาวิธีแก้ปัญหาฝุ่นบนแผงโซลาร์เซลล์ได้ ด้วยการเอาที่ตักดินไปตักทรายมาโปรยบริเวณแผงโซลาร์เซลล์ให้ลมพัดเม็ดทรายไปขูดฝุ่นออกจากแผงโซลาร์เซลล์ ฟังดูแล้วก็เหมือนจะไม่น่าใช้งานได้ แต่มันกลับใช้งานได้จริงซะงั้น

อ่านบทความ InSight ประชดตักทรายมาโปรยแบบ Salt Bae หวังให้ลมพัดทรายไปขูดฝุ่นออกจากแผงโซลาร์เซลล์ แต่ดันได้ผลจริง

ทำให้ InSight ยังคงมีพลังงานมากพอที่จะใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บางส่วนได้ และในที่สุดมันก็ตรวจเจอแผ่นดินไหวบนดาวอังคารครั้งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มันเคยเจอ ซึ่งระหว่างนี้ แผ่นดินไหว 4.2 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2021 กำลังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์อยู่ นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ศึกษาแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรง 4.2 แมกนิจูด เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2021 ไปบ้างแล้ว โดยพบว่ามันเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดห่างออกไปจาก InSight กว่า 8,500 กิโลเมตร ซึ่งไกลที่สุดเท่าที่เคยเจอมา

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบแผ่นดินไหว 4.2 แมกนิจูด ในวันที่ 25 สิงหาคม 2021 กับแผ่นดินไหว 4.1 แมกนิจูด ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันก็พบว่า แผ่นดินไหวทั้ง 2 เป็นคนละชนิดกัน โดยแผ่นดินไหว 4.2 แมกนิจูดเป็นการสั่นช้า ๆ ด้วยความถี่ที่ต่ำ ในขณะที่แผ่นดินไหว 4.1 แมกนิจูด นั้นเป็นแผ่นดินไหวที่สั่นด้วยความเร็วและความถี่ที่สูง และยังเกิดใกล้กว่าอีกด้วยที่ระยะห่างเพียง 925 กิโลเมตร จาก InSight

แต่ถึงทั้งสองจะเป็นคนละชนิดกัน นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าทั้งสองน่าจะมีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากทั้งสองนั้นเกินในวันเดียวกัน, เกิดในตอนกลางวัน (ปกติแล้วแผ่นดินไหวที่ตรวจพบโดย InSight จะเกิดตอนกลางคืน) และเกิดในวันที่มีลมแรงซึ่งปกติแล้วลมจะสร้างเสียงรบกวนการตรวจจับของ Seismometer แต่แผ่นดินไหวทั้งสองลูกนี้รุนแรงพอที่จะทำให้ Seismometer บันทึกพวกมันได้

SEIS (Seismic Experiment for Interior Structure) หรือ Seismometer ของยาน InSight – ที่มา NASA/JPL-Caltech

ระหว่าง Mars Solar Conjunction ยาน InSight ก็จะคอยตรวจจับการสั่นสะเทือนบนดาวอังคารต่อไป และหากมีแผ่นดินไหวบนดาวอังคารเพิ่มเติม ข้อมูลของ InSight จะถูกส่งกลับมาโลกใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์หลังเริ่มการสื่อสารใหม่อีกครั้งช่วงกลางเดือนตุลาคม เราอาจจะได้เห็นข้อมูลที่น่าสนใจจาก InSight เพิ่มอีก

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

NASA’s InSight Finds Three Big Marsquakes, Thanks to Solar-Panel Dusting

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.