ผลออกแล้ว NASA ต่ออายุภารกิจ InSight และ Juno จนถึงปี 2022 และ 2025

ในขณะที่เรามนุษยชาติกำลังเตรียมการส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์และไปดาวอังคารเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันยานต่าง ๆ มากมายที่ออกจากโลกเราไปแล้วก็ยังคอยค้นหาและแก้ไขความลับเกี่ยวกับระบบสุริยะของเราอยู่ อย่างภารกิจสองภารกิจที่เราจะกล่าวถึงนี้เป็นภารกิจที่หมดอายุภารกิจเรียบร้อยแล้ว ก็คือ ยาน InSight Lander ที่จอดอยู่บริเวณ Elysium Planitia บนดาวอังคาร และยาน Juno ในวงโคจรของดาวพฤหัส

โดย NASA ได้ลงประกาศใน NASA Extends Exploration for Two Planetary Science Missions

ตอนนี้ InSight ก็ได้ล่วงเลยอายุภารกิจของมันมาที่เดิมถูกกำหนดไว้ที่ 709 SOLS (728 วันบนโลก) ตอนนี้เราก็ได้เลยเวลานั้นมาเรียบร้อย ส่วน Juno ที่เดิมมีอายุภารกิจ 7 ปี แต่ตอนนี้ได้ผ่านมา 9 ปีเศษ ๆ แล้ว อย่างไรก็ตามยานทั้งสองยังสามารถทำงานได้ตามปกติ เรื่องนี้จึงต้องนำเข้าทีประชุมอิสระเพื่อวิเคราะห์ว่าควรจะตัดการติดต่อกับยานแล้วจบภารกิจหรือไม่ ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่าถ้ายานยังทำงานได้จะจบภารกิจทำไม ก็ทำไปเรื่อย ๆ สิ

แต่เมื่อเราคำนึงถึงค่าใช้จ่ายที่ต้อง Allocate มาลงกับยานที่เกินอายุภารกิจแล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงงานมนุษย์ (Human Resource) เช่น วิศวกร ที่ต้องคอยดูแลและควบคุมยาน นักวิทยาศาสตร์นักวิจัยที่ต้องรับผิดชอบข้อมูลที่ได้มาจากยาน การจัดสรรช่องทางการสื่อสารระบบ Deep Space Network ที่ต้องแบ่งเวลามาสื่อสารกับยานหมดอายุภารกิจเหล่านี้ มันคุ้มหรือไม่ จึงต้องไปพิจารณาที่ Science Value ว่ายานทั้ง 2 ยังให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาระบบสุริยะโดยเฉพาะเรื่องของ Planetary Science หรือไม่ เราต้องใช้คำว่า “ยัง” ก็เพราะว่าก่อนหน้านี้มันต้องให้ข้อมูลที่เราต้องการแน่ ๆ ไม่งั้นเราจะสร้างมันมาทำไม แต่หากข้อมูลที่เราได้นั้นมันเป็นชุดเดิม ๆ ตลอดอายุภารกิจไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญก็จะเหมือนเราเอาทรัพยากรไปเทกับสิ่งเดิม ๆ ตลอดเวลา

ภาพจำลองยาน Juno – ที่มา NASA/JPL-Caltech

ยาน Juno เป็นภารกิจสำรวจคุณสมบัติทางกายภาพของดาวพฤหัสจากวงโคจรดาวพฤหัส เช่น โครงสร้างภายในของดาวเคราะห์ สนามแม่เหล็ก Magnetosphere และ Atmospheric Dynamics ซึ่งมันให้ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์กับเรามากมายมหาศาล อีกทั้งยังช่วยให้เราสามารถศึกษาระบบ Jovian หรือดวงจันทร์ในระบบของดาวพฤหัสหลาย 10 ดวงได้อีกด้วย หลัก ๆ ก็เช่น Ganymede, Europa และ Io

ส่วนภารกิจ InSight ที่ลงจอดบนดาวอังคารในปี 2018 นั้นก็ได้ช่วยให้เราสามารถวัดการสั่นสะเทือนต่าง ๆ มากมายจนทำให้มันเสมือนเป็นนักธรณีวิทยามือหนึ่งบนดาวอังคารที่ไม่มียานอื่นใดเทียบได้อีกแล้วในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจจับ Marsquake หรือแผ่นดินไหวบนดาวอังคาร การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกดาวอังคาร การแปรธรณีสันธาน การทดลองตอกเสาเข็มบนดาวอังคารด้วย HP3 (ที่ตอกไม่เขา) ซึ่งช่วยให้เราทราบข้อมูลเชิงลึกของดาวอังคารหลาย ๆ อย่าง เช่น Atmospheric dynamics สนามแม่เหล็ก โครงสร้างภายในของดาว และข้อมูลการสั่นไหวบนดาวอังคารต่าง ๆ InSight ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นนักพยากรณ์อากาศพร้อมกับนักธรณีวิทยาในเวลาเดียวกัน

ใครสงสัยว่าใครไปตอกเสาเข็มบนดาวอังคารโปรดอ่านบทความนี้: HP3 หมุดวัดความร้อนใต้ดาวอังคารเจ้าปัญหา ที่ยาน InSight พยายามตอกมาเป็นปีแต่ไม่ลงสักที (ตอนนี้สองปีแล้ว)

ภาพจำลองยาน InSight พร้อมอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ของมัน – ที่มา NASA/JPL-Caltech

ซึ่งผลการประเมินก็คือยานทั้งคู่จะได้รับการต่ออายุภารกิจเพราะมันยังสร้างการค้นพบใหม่ ๆ พร้อมข้อมูลใหม่ ๆ ให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบสุริยะของเราได้มากยิ่งขึ้น ยิ่งมีคำถามมากยิ่งดี โดยยาน Juno จะถูกยืดอายุภารกิจไปจนกว่ายานจะขาดการติดต่อกับโลกแต่ไม่เกินเดือน กันยายน 2025 ส่วนยาน InSight จะถูกยืดภารกิจออกไปจนถึง ธันวาคม 2022 ซึ่งก็ถือว่าเป็นข่าวดีอย่างมากที่ NASA และ JPL ไม่ต้องสร้างยานใหม่ และยังทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเก็บข้อมูลได้ยาว ๆ ไปเลยอีกด้วยนั่นเอง

ซึ่งประหยัดงบประมาณในการสร้างยานใหม่ แทนที่จะสร้างยานใหม่ก็ใช้ยานเดิมให้คุ้มจนกว่าจะไม่ได้ข้อมูลอะไรใหม่จากมันหรือจนกว่ามันจะพังก็ได้ ก็ถือว่าเป็นวิธีที่ดีเช่นกัน

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.