หลังจากที่ถูกเลื่อนปล่อยไปเป็นปี 2020 และมีโอกาสสูงที่จะเกินงบประมาณที่ทางสภา Congress ได้ตั้งไว้ เรามาดูกันว่าอนาคตต่อไปข้างหน้าของเจ้ากล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb จะเป็นอย่างไรต่อไปกัน
Failure is not an option ดังนั้นเลื่อนวนไปครับ
นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 1996 ตอนนี้โครงการของกล้อง James Webb มีอายุมากถึง 22 ปีแล้ว (แก่กว่าทีมงาน Spaceth.co ทุกคนด้วยซ้ำ) และยังถูกเลื่อนกำหนดปล่อยมาตั้งแต่ปี 2007 ไล่มาเรื่อย ๆ และในเดือนกันยายนที่ผ่านมา นาซ่าก็ได้เลื่อนกำหนดปล่อยจากเดิมคือปลายปี 2018 นี้ออกไปเป็นกลางปี 2019 ก่อนที่เมื่อวานนี้จะถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤษภาคมปี 2020 อีก เพื่อทำการทดสอบและแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม
แม้ Robert Lightfood รักษาการผู้บริหารนาซ่าจะออกมาพูดว่าภารกิจของพวกเขากำลังดำเนินไปได้อย่างดี และความพร้อมของฮาร์ดแวร์จะอยู่ที่ 100% แล้ว แต่ปัญหาในการทำงานของมันทำให้พวกเขาต้องกลับมาปรับปรุงเพิ่มเติม รวมถึงยังต้องทดสอบทั้งตัวกล้องโทรทรรศน์ แผ่นกันแสงอาทิตย์ และ Service Module พร้อมกันอีกด้วย และนั่นทำให้ต้องใช้เวลาอีกเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของมนุษย์ เช่นแผ่นกันแสงอาทิตย์ที่ขาด วาล์วของระบบขับดันที่รั่ว เป็นต้น
เนื่องจากมันจะอยู่ในจุด L2 ระหว่างโลกและดวงจันทร์ ซึ่งจะเป็นพื้นที่ ๆ มีแสงรบกวนจากดวงอาทิตย์น้อยที่สุด แต่ข้อเสียของมันคือระยะทางกว่า 1.5 ล้านกิโลเมตร ที่ทำให้ภารกิจซ่อมบำรุงไม่สามารถเป็นไปได้เหมือนกับกล้องฮับเบิล ดังนั้นหากกล้อง James Webb เกิดปัญหาขึ้นมาในขณะที่ส่งขึ้นไปแล้ว ก็เหมือนกับการเทเงินกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐทิ้งไปเป็นขยะอวกาศชิ้นหนึ่งเลย
กลับตัวก็ไม่ได้ ให้เดินต่อไปก็ไปไม่ถึง (แต่งบถึงและทะลุเพดานแล้ว)
นาซ่ายังคงมุ่งมั่นกับภารกิจระดับ flagship ขององค์กรอยู่เหมือนเดิม แต่ในเมื่อมันค่อย ๆ ถูกเลื่อนไปเรื่อย ๆ รวมถึงยังต้องแก้ไขอะไรอีกหลายอย่าง นั่นทำให้พวกเขาอาจะใช้งบในการพัฒนาเกิน 8,800 ล้านเหรียญสหรัฐที่ทางสภา Congress ได้ตั้งเอาไว้ ซึ่งนั่นหมายความว่าทั้งภารกิจจะต้องถูกยื่นให้สภาตรวจสอบและอนุมัติใหม่อีกครั้ง
ในตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขของงบประมาณก้อนใหม่ที่จะต้องใช้ แต่คาดการณ์ได้ว่าเราจะรู้ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายที่นาซ่าจะต้องส่งรายงานและตัวเลขไปให้กับส.ส. ได้รับทราบและทำการตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งพวกเขาอาจจะโล่งอกไปได้อีกนิดที่รัฐบาลของทรัมป์ได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มให้กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งสำหรับนาซ่านั้นก็ได้รับอานิสงส์ส่วนนี้ไปด้วย (และดูเหมือนจะได้ฐานปล่อยเคลื่อนที่อันใหม่มาอีกอันจากงบก้อนนี้)
นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 1996 งบประมาณในการสร้างกล้องโทรทรรศน์อวกาศค่อย ๆ เพิ่มขึ้นจาก 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ขึ้นมาเป็น 1,000 ล้าน และค่อย ๆ ไต่ขึ้นมาจนถึงเพดานที่ 8,800 ล้านเหรียญสหรัฐในตอนนี้ และปัญหางบบานปลายเคยส่งให้ภารกิจนี้ถูกยกเลิกไปแล้วหนึ่งครั้งในปี 2011 ก่อนจะถูกชุบชีวิตกลับมาอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน
อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญก็คือกำหนดเวลาของพวกเขา เพราะในตอนนี้กล้อง James Webb จะถูกส่งขึ้นสู่อวกาศโดยจรวด Ariane 5 ขององค์การอวกาศยุโรป ที่มีกำหนดจะปลดประจำการจากการปล่อยในปี 2022 นั่นหมายความว่าถ้าช้ากว่านั้นพวกเขาอาจไม่ทันกำหนดปล่อยกับจรวดที่ได้ชื่อว่า “มีความปลอดภัยที่สุด” โดยนาซ่า และในขณะเดียวกันจรวด SLS ของพวกเขาก็ยังถูกเลื่อนการปล่อยออกไปเช่นเดียวกัน ดังนั้นก็ยังมีความเป็นไปได้ลึก ๆ ที่เราจะเห็นกล้อง James Webb ปล่อยกับ Falcon Heavy หรือแม้แต่ BFR ของ SpaceX อีกด้วย
แล้วเราจะได้เห็น James Webb ในอวกาศไหม
ต่อให้จะถูกเลื่อนไปไกลแค่ไหนก็ตาม โอกาสที่เราจะได้เห็นกล้อง James Webb ในอวกาศนั้นมีค่อนข้างสูงมาก เพราะความล้ำหน้าของเทคโนโลยีที่ใช้เมื่อเทียบกับของฮับเบิล และความสำคัญของมันต่อความเข้าใจในอวกาศลึกของมนุษย์ นอกเหนือจากนี้มันยังเป็นความร่วมมือกันของสหรัฐกับองค์การอวกาศยุโรปและแคนาดาอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่ทำให้เราจะไม่ได้เห็นกล้อง James Webb ในอวกาศหลังจากส่งขึ้นไปแล้วก็คือความผิดพลาดในระหว่างการกางออกของกล้อง เนื่องจากมันมีขนาดที่ใหญ่มาก จึงทำให้มันต้องถูกพับให้เก็บไว้ในช่อง payload ของจรวดได้ และต้องกางออกมาเองเมื่ออยู่ในอวกาศแล้ว และขั้นตอนการกางออกของมันนั้นก็ใช้เวลาไปกว่า 14 วันเลยทีเดียว ซึ่งปัญหานี้นอกจากจะทำให้วิศวกรบนโลกปวดหัวในการก่อสร้างแล้ว พวกเขายังต้องมานั่งลุ้นอีกว่าจะปังหรือจะพัง โดยสามารถดูได้ตามวีดีโอข้างล่างนี้
แต่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าติดตามก็คือเรายังมีโครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศแบบ HD (มันชื่อแบบนี้จริง ๆ High Definition Space Telescope) ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งจะมีจำนวนกระจกมากถึง 36 ชิ้น มากกว่าของ James Webb ถึง 2 เท่า และยังมีขนาดที่ใหญ่กว่า ถูกส่งขึ้นไปสำรวจในจุด L2 เหมือนกัน แถมยังใช้งบแค่ 10,000 ล้านเหรียญเหมือนกันอีกด้วย ซึ่งสำหรับผู้เขียนคิดว่าถ้า James Webb ถูกเลื่อนออกไปหลังจากปี 2020 อีกรอบ ก็ไม่แน่ที่มันอาจจะถูกนำไปต่อยอดเป็นกล้อง HD หรืออาจถูกส่งขึ้นไปเพื่อเป็นภารกิจทดลองการทำงานของกล้อง HD และนำงบการพัฒนามาต่อยอดกับกล้อง HD
สุดท้ายนี้ระหว่างกล้อง James Webb ขึ้นสู่อวกาศกับการเลือกตั้งในประเทศไทยอะไรจะเกิดขึ้นก่อนกัน คงต้องให้คุกกี้มาทำนายกัน