Soyuz MS-15 ภารกิจสุดท้ายของจรวด Soyuz-FG และฐานปล่อยกาการิน ในการส่งชาว UAE คนแรกสู่อวกาศ

ช่วงเวลาเกือบสามทุ่มของวันที่ 25 กันยายน 2019 จรวด Soyuz-FG ได้ปลดประจำการลงอย่างเป็นทางการ หลังจากได้ส่งมนุษย์อวกาศ 3 คนออกเดินทางขึ้นสู่อวกาศ เพื่อไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จ

และนอกเหนือไปจากการปลดประจำการของจรวด Soyuz-FG นี่ยังเป็นการใช้งานฐานปล่อยประวัติศาสตร์อย่างฐานปล่อยที่ 1/5 ของ Baikonur Cosmodrome ที่คาซัคสถานเป็นครั้งสุดท้าย (ตามแผนการในปัจจุบัน) ซึ่งมันถูกใช้ตั้งแต่การปล่อยดาวเทียมดวงแรกของมนุษยชาติ มาจนถึงภารกิจในวันนี้นั่นเอง

ก่อนอื่นมาพูดถึงเรื่องราวของภารกิจที่ถูกปล่อยในครั้งนี้กันก่อน ซึ่งยานอวกาศที่ใช้นั้นเป็นยาน Soyuz MS-15 ที่พา Oleg Skripochka และ Jessica Meir สองลูกเรือในภารกิจ Expedition 61 ขึ้นไปสมทบกับอีก 4 ลูกเรือบนนั้น พร้อมกับ Hazza Al Mansouri ที่จะได้ขึ้นไปทำงานและใช้ชีวิตบนสถานีอวกาศนานาชาติอยู่ถึงวันที่ 3 ตุลาคม โดยเขาได้เป็นชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คนแรกที่ได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศอีกด้วย

Expedition 61 Crew Wave Farewell (NHQ201909250003)
สามลูกเรือที่ร่วมออกเดินทางไปในภารกิจ Soyuz MS-15 – ที่มา NASA/Bill Ingalls

ซึ่งใช่แล้วว่าในช่วงเวลาระหว่างนี้ สถานีอวกาศนานาชาติจะมีผู้อยู่อาศัยรวมกันมากถึง 9 คนด้วยกัน มากที่สุดนับตั้งแต่ที่กระสวยอวกาศลำสุดท้ายถูกปลดประจำการในกลางปี 2011 ที่ในตอนนั้นมีผู้อยู่อาศัยบนนั้นรวมกัน 10 คน (บนสถานีอวกาศ 6 คน และจากลูกเรือของกระสวยอวกาศอีก 4 คน)

กลับมาที่เรื่องของการปลดประจำการของจรวด Soyuz-FG ซึ่งเป็นจรวดที่มาคั่นกลางระหว่างจรวดรุ่น Soyuz-U ที่ถูกออกแบบตั้งแต่ในสมัยโครงการอพอลโลของฝั่งสหรัฐ หรือราว 50 ปีที่แล้วด้วยกัน และมันถือเป็นจรวดที่ล้ำยุคอย่างมากในสมัยนั้น โดยได้ออกเดินทางขึ้นสู่อวกาศมากถึง 786 ครั้งด้วยกัน ก่อนจะปลดประจำการไปในปี 2017 ด้วยสถิติความสำเร็จที่สูงถึง 97.3%

Soyuz rocket ASTP.jpg
จรวด Soyuz-U ลำที่ปล่อยยาน Soyuz ไปเชื่อมต่อกับยาน Apollo บนอวกาศ เมื่อปี 1975 – ที่มา NASA

ทว่าเนื่องจากโลกก็ยังหมุนไปเรื่อย ๆ อยู่ทุกวัน และทาง Roscosmos หรือหน่วยงานอวกาศของโซเวียต/รัสเซียก็ทราบดีว่าพวกเขาต้องสร้างจรวด Soyuz รุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อใช้สำหรับการปล่อยในศตวรรษที่ 21 ซึ่งนั่นก็คือจรวดรุ่น Soyuz 2 ที่กำลังจะถูกใช้สำหรับปล่อยยานสู่สถานีอวกาศต่อจากนี้นั่นเอง

แต่แผนการที่จะพัฒนา Soyuz 2 ของ Roscosmos นั้นมีมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วด้วยกัน ซึ่งในตอนนั้นยังประสบกับปัญหาทางการเงิน ความล่าช้าในการพัฒนาระบบสำหรับใช้งานบนยาน ทำให้รัสเซียต้องส่ง Soyuz-FG ขึ้นมาใช้งานแก้ขัดไปก่อน

Soyuz-FG ได้อัพเกรดเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากกว่ารุ่น Soyuz-U และมันได้ประเดิมภารกิจแรกที่พามนุษย์ออกเดินทางขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติในปี 2002 ในภารกิจ Soyuz TMA-1 ซึ่งมันได้รับหน้าที่พามนุษย์ออกเดินทางขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และนับจากการปลดประจำการของกระสวยอวกาศ จรวด Soyuz-FG คือจรวดลำเดียวที่ได้ส่งมนุษย์ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติมาโดยตลอด

แต่ Soyuz-FG ก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบตามที่ทางรัสเซียหวังไว้ เช่นระบบควบคุมการบินที่ยังเป็นแบบอนาล็อคอยู่ ทำให้ต้องปรับฐานปล่อยให้ทำมุม Azimuth ที่ถูกต้องก่อนปล่อยอยู่เสมอ นั่นทำให้ยังไงสุดท้ายรัสเซียก็ต้องปลดประจำการ Soyuz-FG ลง เพื่ออัพเกรดไปใช้จรวดรุ่น Soyuz 2.1a ต่อจากนี้เป็นต้นไป

Image result for soyuz ms14 launch
จรวดรุ่น Soyuz-2.1a ที่กำลังจะมาแทนที่ Soyuz-FG – ที่มา NASA

ตลอดทั้ง 70 ภารกิจของ Soyuz-FG มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเพียงหนเดียวเท่านั้น นั่นคือในระหว่างการปล่อยยาน Soyuz MS-10 ที่เกิดปัญหาขึ้นระหว่างการแยกตัวของจรวด ทำให้ต้องยกเลิกภารกิจเดินทางสู่สถานีอวกาศนานาชาติลง และพามนุษย์อวกาศทั้งสองบนนั้นกลับสู่โลกในทันที ซึ่งทั้งคู่ปลอดภัยดี ก่อนจะได้ออกเดินทางกลับขึ้นสู่อวกาศอีกครั้งในภายหลัง

และการสิ้นสุดภารกิจในครั้งนี้ก็ทิ้งคำถามสำคัญไว้กับอนาคตของฐานปล่อย 1/5 ที่ตอนแรกมีแผลนจะถูกทุบทิ้งหลังการปลดประจำการของ Soyuz-FG เลยด้วยซ้ำ แต่ก็มีแผนที่จะปรับปรุงและพัฒนา ด้วยงบประมาณจากนานาประเทศ ทว่าแผนนี้ก็ยังถูกตั้งคำถามว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือแม้แต่ฐานปล่อยที่ 1/5 จะได้กลับมาใช้งานในการปล่อยจรวดอีกครั้งอยู่ไหม

ทั้งนี้ฐานปล่อยที่ 1/5 ได้รองรับการปล่อยตั้งแต่จรวดแบบ ICBM ลำแรก ดวงเทียมดวงแรกของโลก ยานอวกาศลำแรกที่ออกเดินทางไปไกลกว่าวงโคจรรอบโลก ยานลำแรกที่ไปพุ่งชนดวงจันทร์ และมนุษย์คนแรกที่ได้ขึ้นไปอวกาศอย่าง Yuri Gagarin ซึ่งทำให้มันได้รับชื่อเล่นว่าเป็น Gagarin’s Start หรือจุดเริ่มต้นของกาการินอีกด้วย

ฐานปล่อยที่ 1/5 ในวันที่ไม่มีจรวดอยู่บนนั้นแล้ว – NASA/Bill Ingalls

นี่เป็นภารกิจที่ 519 ที่ได้ถูกปล่อยจากฐานนี้ และอาจเป็นภารกิจสุดท้ายของฐานปล่อยประวัติศาสตร์แห่งนี้ก็เป็นได้

เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง:

NASASpaceflight | Soyuz-FG retirement; Last launch from Gagarin’s Start to loft first Emirati astronaut

Russian Space Web | Soyuz-FG’s long road to retirement

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138