NASA ปล่อย Sounding Rocket พร้อม X-ray Spectrometer ศึกษาบรรยากาศของดวงอาทิตย์

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2021 ที่ White Sands Missile Range ใน New Mexico เวลา 14:20 EDT จรวด Sounding Rocket Black Brant 9 ในภารกิจ MaGIXS จาก Marshall Space Flight Center ของ NASA ก็ได้ประสบความสำเร็จในการทะยานขึ้นสู่อวกาศและศึกษาบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนจะตกกลับลงมายังโลก

TBB Vertical 36.319 Winnebarger (B)

MaGIXS หรือ Marshall Grazing Incidence X-ray Spectrometer ซึ่งเป็น Payload หลักของเที่ยวบินนี้คือ ชุดอุปกรณ์การทดลองที่ประกอบไปด้วย กล้องถ่ายรูปพลังงานสูง, กล้องโทรทรรศน์ และ X-ray spectrometer ที่ใช้กระจกรูปทรง Parabolic เพื่อศึกษาคลื่น Soft X-ray ที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์ซึ่งยังไม่เคยมีการศึกษาอย่างจริงจังมาก่อน

โดยปกติแล้วการสำรวจดวงอาทิตย์ซึ่งอยู่ใกล้โลกนั้นไม่จำเป็นต้องสังเกตการณ์ในช่วงคลื่น X-ray พลังงานสูง แต่ใช้แค่ Spectrometer สำหรับตรวจจับ Soft X-ray ที่ใช้ช่วงคลื่นพอ ๆ กับเครื่อง X-ray ในโรงพยาบาลก็ใช้ได้แล้ว อย่าง MaGIXS

ภาพของ Marshall Grazing Incidence X-ray Spectrometer (MaGIXS) ขณะกำลังทำการทดสอบที่ X-ray & Cryogenic Facility, NASA’s Marshall Space Flight Center – ที่มา NASA

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการส่ง Soft X-ray Spectrometer ไปสำรวจชั้นบรรยากาสของดวงอาทิตย์เพราะมีการส่งไปแล้วหลายครั้ง เพียงแต่หลาย ๆ ครั้งที่ส่งไปนั้นเป็นการสำรวจด้วย Field of View ที่สูง (มุมกว้าง) ในขณะที่ MaGIXS นั้นจะเป็นครั้งแรกที่มีการวัดอุณหภูมิของชั้นบรรยากาศในแต่ละจุดโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกลไกการแผ่ความร้อนของชั้นโคโรนามากขึ้น

เพราะว่าชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์นั้นเป็นหนึ่งในปริศนาทางด้าน Astrophysics อันหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ปริศนาอันนั้นก็คือ “เหตุใดอุณหภูมิของชั้นโคโรนาจึงร้อนกว่าพื้นผิว” อุณหภูมิพื้นผิวของดวงอาทิตย์อยู่ที่ประมาณ 5,500 องศาเซลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์นั้น บางส่วนร้อนเกินกว่า 1 ล้านองศาเซลเซียส ซึ่งแตกต่างกับอุณหภูมิพื้นผิวโดยสิ้นเชิง

ภาพของสุริยุปราคาเต็มดวงซึ่งแสดงให้เห็นบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์อย่างชัดเจน – ที่มา NASA/Aubrey Gemignani

ให้นึกง่าย ๆ สมมุติเราต้มน้ำระหว่างแตะหม้อน้ำกับเอามือไปไว้ใกล้ ๆ แต่ไม่แตะ อันไหนจะร้อนกว่ากัน แน่นอนว่าแตะตัวหม้อก็ต้องร้อนกว่า แต่ในกรณีของชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์นั้น การเอามือไปไว้ใกล้ ๆ กับหม้อดันร้อนกว่าการแตะผิวหม้อเสียเอง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่รู้ว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ทำให้แม้แต่ดวงอาทิตย์ที่ถือว่าเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้เรามากที่สุดยังมีปริศนาอีกมากมายที่เรายังแก้ไขไม่ได้ หากจะนึกถึงปริศนาของทั้งเอกภพแห่งนี้แล้วละก็ อาจจะเหนือกว่าที่เราจินตนาการไปมาก

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

NASA Launches X-ray Spectrometer Mission to Probe Mysteries of Solar Corona

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.