นักวิจัยไทยไปทำอะไรที่ขั้วโลกใต้ สรุปงาน Aim Far: Research in Antarctica

โดยในวันที่ 9 มกราคม 2563 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานแถลงข่าว “ฝันให้ไกล: งานวิจัยสู่แอนตาร์กติกา (Aim Far: Research in Antarctica led by Mahidol University)” โดยจะมีการนำงานวิจัยและพัฒนาวิธีการในการตรวจวัดอนุภาคคอสมิกจากอวกาศด้วยวิธีการที่ริเริ่มและพัฒนาโดยประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับการยอมรับให้ติดตั้งและใช้งานที่สถานีวิจัยทางดาราศาสตร์ที่แอนตาร์กติกา

โครงการวิจัย

โครงการ Cosmic ray monitoring at Mawson and Kingston to study space weather and space physics เป็นโครงการวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับสภาพอวกาศและผลกระทบของรังสีคอสมิกต่อโลกและกิจกรรมของมนุษย์ โดยโครงการนี้ได้เป็นการร่วมมือของคณะผู้วิจัยที่นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษ เดวิด จอห์น รูฟโฟโล ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, University of Tasmania จากประเทศออสเตรเลีย, Shinshu University จากประเทศญี่ปุ่น และ Chonnam National University จากประเทศเกาหลี ได้นำเสนอโครงการนี้ในชิงทุนวิจัยที่แอนตาร์กติกาจาก Australian Antarctic Division (AAD) ซึ่งโครงการวิจัยนี้ผ่านการแข่งขันจากหลายโครงการวิจัยและได้รับทุนวิจัยนี้

ศาสตราจารย์พิเศษ เดวิด จอห์น รูฟโฟโล ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ซึ่งโครงการได้รับระยะเวลาในการศึกษาเป็นระยะเวลา 10 ปี จากทาง AAD ซึ่งทาง AAD จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายการอยู่อาศัยบนเรือเดินสมุทรและในสถานีวิจัยที่แอนตาร์กติกา การเดินทางและขนส่งอุปกรณ์จาก เมือง Hobart ออสเตรเลียไปยังแอนตาร์กติกาทั้งหมด 3 รอบตลอดระยะเวลา 10 ปี รวมมูลค่ากว่า 4.8 ล้านบาท อีกทั้งโครงการวิจัยนี้ยังได้รับการสนับสนุนทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT ในด้านค่าใช้จ่ายในตัวอุปกรณ์โครงการวิจัยและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยัง เมือง Hobart ประเทศออสเตรเลีย

2 นักวิจัยผู้เดินทางไปยังแอนตาร์กติกา นายประดิพัทธ์ เหมืองห้า (ซ้าย) และ อ.ดร.อเลฮานโดร ซาอิส ริเบรา (ขวา)

ซึ่งโครงการได้ส่ง 2 นักวิจัยจากประเทศไทยไปยังแอนตาร์กติกา คือ อ.ดร.อเลฮานโดร ซาอิส ริเบรา อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายประดิพัทธ์ เหมืองห้า นักศึกษาระดับปริญญาเอก ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้นำเทคนิคใหม่ที่ได้กล่าวไปข้างต้นในการตรวจวัดรังสีคอสมิกจากอวกาศที่พัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากประเทศไทยไปติดตั้งอุปกรณ์วัดรังสีคอสมิก พร้อมปรับปรุงระบบตรวจวัดรังสีคอสมิกที่สถานีตรวจวัด Mawson ที่แอนตาร์กติกาให้สามารถตรวจวัดได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ปรับปรุงดูแลรักษาเครื่องวัดมิวออนที่ Mawson อีกทั้งติดตั้งระบบที่สามารถส่งข้อมูลที่ได้รับจากเครื่องตรวจวัดที่สถานีวิจัยที่แอนตาร์กติกาส่งกลับมายังประเทศไทย เพื่อทำการศึกษาและพัฒนาต่อยอดวิธีการในการตรวจวัดรังสีคอสมิกให้ดียิ่งขึ้น

โดยในงานแถลงข่าวในครั้งนี้ท่าน Mr Allan  McKinnon PSM เอกอัครราชฑูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้มาแสดงความยินดีและมอบทุนการศึกษานี้ให้กับคณะผู้วิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล

Mr Allan  McKinnon PSM เอกอัครราชฑูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้มาเข้าร่วมในการแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย

ทำไมต้องวิจัยที่แอนตาร์กติกา

ศาสตราจารย์พิเศษ เดวิด จอห์น รูฟโฟโล ได้กล่าวว่าเหตุผลที่ต้องไปวิจัยที่แอนตาร์กติกาเนื่องจากบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้นั้นมีระดับพลังงานของสนามแม่เหล็กที่ต่ำกว่าบริเวณอื่น ๆ (รวมถึงประเทศไทย) ทำให้บริเวณนั้น อนุภาครังสีคอสมิกจากดวงอาทิตย์ที่มีพลังงานต่ำสามารถทะลุทะลวงชั้นบรรยากาศลงมายังพื้นผิวได้ จึงเหมาะแก่การตรวจวัดด้วยรังสีคอสมิกจากดวงอาทิตย์และจากนอกระบบสุริยะด้วยเครื่องตรวจวัดรรังสีคอสมิก และนำข้อมูลที่ได้นั้นมาผนวกรวมกับข้อมูลจากสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ที่ดอยอินทนนท์ ประเทศไทย ที่สามารถวัดรังสีคอสมิกที่มีพลังงานสูงที่สุดในโลก เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลและทำนายสภาพอวกาศให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการศึกษาเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับผลกระทบของรังสีคอสมิกที่มีต่อโลกและกิจกรรมของมนุษย์ ที่ทั้งอยู่อาศัยบนโลกและในอวกาศ

เพราะรังสีคอสมิกนั้นสามารถส่งผลกระทบกับกิจกรรมของมนุษย์ อีกทั้งสร้างความกังวลในกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการบินเครื่องบินเฉียดขั้วโลกเหนือในช่วงเวลาที่กำลังเกิดพายุสุริยะ , ความเสียหายของท่อส่งน้ำมันใต้ดินและสายไฟฟ้าแรงสูงจากพายุสุริยะ หรือ การสูญเสียดาวเทียมจากพายุสุริยะ ซึ่งการศึกษาเหล่านี้นอกจากจะได้ความรู้และยังนำมาประยุกต์ปรับใช้ในการดำรงกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น ยังทำให้เราพร้อมรับมือกับกิจกรรมของดวงอาทิตย์ที่ปลดปล่อยอนุภาคพลังงานสูงอีกด้วย เช่น พายุสุริยะ

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้

โครงการวิจัยนี้ นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ได้ส่งคณะวิจัยเดินทางไปทำการวิจัยที่ทวีปแอนตาร์กติกา เป็นครั้งแรกสำหรับคณะวิจัยจากทางด้านรังสีคอสมิกและฟิสิกส์อวกาศของประเทศไทยที่เดินทางไปยังแอนตาร์กติกา และเป็นครั้งแรกในการส่งเครื่องมือวิจัยและวิธีการในการตรวจวัดอนุภาคคอสมิกจากอวกาศด้วยวิธีการที่ริเริ่มและพัฒนาโดยประเทศไทยเป็นครั้งแรกและยังได้รับการยอมรับจากนานาชาติไปยังแอนตาร์กติกา เป็นการพัฒนาขีดความสามารถของฟิสิกส์อวกาศไทย ช่วยพัฒนางานวิจัยด้านฟิสิกส์อวกาศของไทยและนานาชาติ อีกทั้งยังเกิดการรวมกลุ่มของเครือข่ายวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการตรวจวัดอนุภาครังสีคอสมิกจากหลายองค์กร รวมไปถึงการเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนไทยที่จะเป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของไทยในอนาคต

คณะผู้นำวิจัย 2 ท่านจะเดินทางออกจากประเทศไทยเพื่อเดินทางไปยังเมือง Hobart ประเทศออสเตรเลีย ในวันที่ 11 มกราคม 2563 ก่อนจะล่องเรือ RSV Aurora Australis ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2563 โดยคณะวิจัยจะมีเวลาอยู่บนแอนตาร์กติกาเพื่อทำการติดตั้ง ปรับปรุง ดูแล อุปกรณ์ทั้งจากที่ส่งจากประเทศไทยเอง และที่อยู่ที่สถานีวิจัยที่ Mawson เป็นระยะเวลาประมาณ 9 วัน ก่อนจะเดินทางกลับพร้อมกับเรือ RSV Aurora Australis ซึ่งทางทีมงาน SPACETH.CO หวังว่าทีมวิจัยจะเดินทางโดยสวัสดิภาพและประสบความสำเร็จในโครงการนี้

Jirasin Aswakool | Researcher Assistant | นักวิจัยอยากผันตัวกลับมาทำงานสื่อสารวิทยาศาสตร์