พายุฝุ่นกำลังพัดบนดาวอังคาร กับการเอาตัวรอดของยาน Opportunity

UPDATE 13 มิถุนายน 10:50 น.————

วิศวกรของนาซ่าพยายามติดต่อกับยาน Opportunity แต่ก็ไม่มีการตอบกลับจากมัน โดยทีมงานคาดว่าแบตเตอรี่ในยานเหลือต่ำกว่า 24 โวลต์และยานเข้าสู่ Low Power Fault Mode ที่จะปิดระบบย่อยต่าง ๆ ทั้งหมด เหลือไว้เพียงนาฬิกาภารกิจเท่านั้น

โดยในคืนนี้นาซ่าจะจัดแถลงข่าวฉุกเฉินเพื่ออัพเดทสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสามารถติดตามรายงานสดภาษาไทยได้ที่ twitter ของเรา

UPDATE 11 มิถุนายน 19:45 น.————

วิศวกรของนาซ่ายังได้รับสัญญาณจากยาน Opportunity อยู่ ซึ่งแปลว่ายานยังเหลือพลังงานเพียงพอที่จะติดต่อกับโลก และเปิดฮีตเตอร์ทำความร้อนให้กับยานอยู่ได้ ในขณะที่การทดลองด้านวิทยาศาสตร์ก็ยังคงถูกพักไว้อยู่

ข่าวร้ายก็คือพายุฝุ่นในครั้งนี้ร้ายแรงกว่าในปี 2007 หลายเท่า อุณหภูมิของตัวยานอยู่ที่ – 29 องศาเซลเซียส ตอนนี้ทีมวิศวกรต้องคอยพยายามรักษาอุณหภูมิของยาน ในขณะเดียวกันกับรักษาไม่ให้แบตของมันตกลงไปมากกว่านี้

————————-

 

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาทีมงานที่ดูแลการทำงานของยาน Opportunity บนดาวอังคารได้ประกาศแจ้งว่าการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ทั้งหมดของยานจะถูกหยุดพักไว้ชั่วคราว ระหว่างที่ต้องรอให้พายุฝุ่นบนดาวอังคารพัดผ่านไปก่อน

Global map of Mars

ภาพพายุฝุ่นบนดาวอังคาร จุดสีน้ำเงินคือตำแหน่งของยาน Opportunity – ที่มา NASA/JPL-Caltech/MSSS

ยาน Mars Reconnaissance Orbiter หรือ MRO ที่กำลังโคจรรอบดาวอังคารได้ตรวจพบสัญญาณของพายุฝุ่นนี้เป็นครั้งแรกในวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา และเมื่อรู้ว่าพายุนี้ก่อตัวขึ้นใกล้กับยาน Opportunity มากขนาดไหน ทีมงานของ MRO ก็ได้รีบแจ้งให้ทีมที่ดูแล Opportunity ดำเนินการตามแผนฉุกเฉินในทันที

ในเวลาไม่กี่วันพายุฝุ่นนี้ก็ได้ขยายตัวครอบคลุมพื้นที่กว่า 18 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งนั่นใหญ่กว่าทวีปอเมริกาเหนือทั้งทวีปเสียอีก Perseverance Valley ซึ่งเป็นสถานที่ปัจจุบันของยานก็ได้รับผลกระทบไปด้วย และฝุ่นเหล่านี้ก็ทำให้ค่าความสว่างจากแสงอาทิตย์ลดลง (เรียกว่าค่า tau) และเพราะยาน Opportunity ชาร์จพลังงานจากแผงโซล่าร์เซลล์บนยาน นั่นทำให้พลังงานของมันตกลงอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งวันที่ 6 มิถุนายนที่มันต้องเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน ก่อนที่ล่าสุดจะหยุดการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ไปทั้งหมดเป็นเวลาชั่วคราวแล้ว

แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ยาน Opportunity ต้องพบกับพายุฝุ่น เพราะในปี 2007 เกิดพายุฝุ่นทั่วทั้งดาวอังคารที่รุนแรงกว่าในรอบนี้มาแล้ว ทั้งมันและยาน Spirit ต่างต้องอยู่ในโหมดประหยัดพลังงานตลอด 2 อาทิตย์ รวมทั้งในบางช่วงที่ต้องยอมตัดการเชื่อมต่อกับโลกเพื่อประหยัดแบตเอาไว้

Image result for mars dust storms

พายุฝุ่นในปี 2007 ที่พัดฝุ่นมาปกคลุมทั้งตัวยาน – ที่มา NASA/JPL-Caltech/Cornell

ทั้งนี้ทีมที่ดูแลก็ได้เตรียมตัวไว้สำหรับกรณีที่เลวร้ายที่สุด เมื่อยาน Opportunity ไม่สามารถให้พลังงานกับฮีตเตอร์ทำความร้อนของแบตเตอรี่ได้ ที่จำเป็นต้องทำงานเพื่อป้องกันมันจากอากาศที่หนาวเหน็บบนดาวอังคาร หากการรอคอยให้พายุพัดผ่านไปนั้นใช้เวลานานเกินไป เราอาจจะไม่ได้ยินจาก Opportunity อีกเลยก็เป็นได้

ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ แต่พายุฝุ่นบนดาวอังคารก็ไม่ได้เกิดขึ้นกันได้บ่อยนัก แม้ในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังพยายามทำความเข้าใจกับกลไกต่าง ๆ ของการเกิดพายุฝุ่นนี้ให้ดียิ่งขึ้น แต่โดยคร่าว ๆ แล้วมันเป็นเพราะบรรยากาศที่เบาบางกว่าโลก แต่ก็ยังมีลมที่พัดพาแรงพอจะหอบฝุ่นเหล่านี้ขึ้นจากพื้นดินมารวมกันจนเกิดเป็นพายุฝุ่นเหมือนในครั้งนี้

ในส่วนของ Opportunity นั้นได้ใช้ชีวิตบนดาวอังคารมานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 50 เท่าแล้ว จากที่หวังไว้แค่ 90 วันในภารกิจหลัก จนตอนนี้ที่ยานกำลังเข้าสู่ปีที่ 15 และเดินทางไปแล้วกว่า 45 กิโลเมตรนับตั้งแต่ลงจอดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2004 ที่ผ่านมา โดยมันจะได้รับการสนับสนุนจากยาน MRO ยาน MAVEN และยาน 2001 Mars Odyssey ที่กำลังโคจรอยู่
อ้างอิง:

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138