เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมานี้ ทางทีมงาน Spaceth.co ได้รับเกียรติเข้าร่วมงานเสวนา “ท้องฟ้า ดวงดาว ออเจ้า ประวัติศาสตร์” โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือนาริท ซึ่งในครั้งนี้จัดขึ้นที่ โรงแรมวินทรี ซิตี้ รีสอร์ท จังหวัดเชียงใหม่
เนื้อหาภายในงานนั้นก็คงจะหนีไม้พ้นเรื่องใดไปไม่ได้นอกจาก เรื่องราวที่เกี่ยวกับวิทยาการในสมัยกรุงศรีอยุธยา ช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ในประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ และรวมถึงเรื่องราวการเดินทางของคณะอุปทูตไทยที่เดินทางไปยังต่างประเทศเพื่อดำเนินพระราชไมตรีกับต่างประเทศ
ในงานเสวนามีการพูดถึงละครโทรทรรศน์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ละครยอดฮิตที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ ที่มีเนื้อหาบางส่วนเกี่ยวข้องกับวิทยาการสมัยใหม่ เช่นกล้องดูดาว หอดูดาวต่าง ๆ และเอกสารต่าง ๆ ของชาวฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังได้พูดถึงการเดินทางของคณะอุปทูตไทยทั้ง 3 คน ที่ได้เดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสเผื่อเจริญสัมพันธไมตรี และฉากที่แม่หญิงการะเกดกับขุนหมื่นออกมายืนดูดวงจันทร์เต็มดวงที่ชายบ้านด้วยกัน
เนื้อหาส่วนแรกที่ได้พูดถึงคือ เรื่องราวของดาราศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาแบบภาพรวม การทอดพระเนตรปรากฎการณ์จันทรุปราคาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การเจริญสัมพันธไมตรีทางการฑูตและทางการค้ากับชาวต่างชาติในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดย รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ในส่วนนี้ได้พูดคร่าว ๆ ว่าในแต่ละสมัยมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาวต่างชาติอะไรบ้าง และได้สร้างอะไรไว้ให้คนรุ่นหลังได้มาศึกษาหาคำตอบกัน โดยเริ่มตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดี ได้มีการบันทึกไว้ว่าไดค้นพบดาวหางเป็นครั้งแรก
ต่อมาในสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฮอลันดา และได้รับเครื่องราชบรรณาการเป็น กล้องดูดาว
และในรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยุครุ่งเรืองและเฟื่องฟูในด้านของวิชาการ ดาราศาสตร์เลยก็ว่าได้ ซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับชาวโปรตุเกส ฮอลันดา จีน และชาติอื่น ๆ อีกหลากหลายชาติ และเป็นช่วงที่บ้านเมืองสงบสุข ไม่มีสงครามให้ร้อนใจ ทำให้เราได้รับอิทธิพลและวิทยาการสมัยใหม่เข้ามา และที่เด่นที่สุดคือ การคำนวณเวลาการเกิดจันทรุปราคาของสยามเรา ผิดพลาดไปเพี้ยงเสี้ยวเดียวเท่านั้น นั้นทำให้ชาวฝรั่งเศสให้ความสนใจมากขึ้นว่า เราทำได้ยังไง ?
นอกจากนั้นยังพูดถึงเหตุการณ์ที่ สมเด็จพระนารายณ์ทรงทอดพระเนตรปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2228 โดยเป็นการสังเกตการณ์เพื่อหาพิกัดทางภูมิศาสตร์ ของลพบุรีเทียบกับกรุงปารีส ซึ่งในตอนนั้นเองท่านก็ได้มีการตรวจเวลาตลอด ตั้งแต่เวลาที่ดวงจันทร์เริ่มเข้าในเงาดำ เมื่อเวลา 3.19 น. เวลาที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวง เวลา 4.22 น. และสิ้นสุดการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อ 6.90 น. หรือรุ่งเช้าของวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2228 นั้นเอง
ในส่วนสุดท้ายของงานเป็นส่วนของ การพูดคุยในหัวข้อ “ท้องฟ้า ดวงดาว ออเจ้า ประวัติศาสตร์” ซึ่งจะแบ่งหัวข้อการพูดออกเป็น 3 เรื่องหลัก ๆ (1) ภูมิปัญญาของคนไทยดังเดิมเรื่องท้องฟ้า ดวงดาว (2) สังเขปความสัมพันธ์ไทย ฝรั่งเศส (3) ความเจริญทางวิทยาศาสตร์-ดาราศาสตร์ และผลอันสืบเนื่องมาจากความสัมพันธ์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี
เรื่องท้องฟ้า ดวงดาว เป็นเรื่องของภูมิปัญญาดาราศาสตร์ดั้งเดิมของชาวบ้านที่เขาได้สังเกตแล้ว สังเกตอีก แล้วทำสื่อออกมาตามความเข้าใจของเขาในสมัยนั้น ออกมาเป็นตำราต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ 4 ตำรา (โคตรโหราศาสตร์ในสมัยปัจจุบัน) คือ
- ตำราดาว ซึ่งตำรานี้จะบอกว่า ดาวดวงไหนดี ดาวดวงไหนไม่ดี และจะบอกวิธีแก้เคล็ด
- ตำราพิชัยสงคราม มาจากการดูท้องฟ้าต่างๆ แล้วนำมาหาพื้นที่ในการตั้งเมือง หรือพื้นที่ที่ใช้ในการรบ
- ตำราอภิไธโพธิบาล จะเป็นการบอกความอุบาทว์ของสิ่งต่าง ๆ เช่น ถ้าไม่ใช้หน้าฝนแล้วมีลมพัดจนต้นไม้ปลิวหักเป็นอุบาทว์ ใยแมงมุมขึ้นที่ห้องครัวในบ้านเรือนเป็นอุบาทว์ เป็นสิ่งที่ไม่ดีที่จะทำให้เกิดภัยพิบัติขึ้นได้
- ตำราทำนายลักษณะบุคคล มาจากการดูวัน เดือน ปี ที่เกิด ลักษณะราศีเกิด
จะเราเห็นได้ว่าตำราดาราศาสตร์ของสยามเราในสมัยนั้น มันคือภูมิปัญญาของคนที่เกิดมาจากการสังเกตซ้ำ ๆ และผนวกเข้ากับความเชื่อของคนในสมัยก่อนเข้าไปรวมด้วย ทำให้ดาราศาสตร์ของสยามในตอนนั้นไม่อยู่ในระดับที่ไม่สามารถนำมาประยุกต์เพื่อทำแผนที่ทางภูมิศาสตร์ อันเป็นเครื่องมือสำหรับขยายอิทธิพลทั้งการทหาร การค้า การเดินเรือหรือการแสวงหาทรัพยากรได้
แตกต่างกับทางด้านฝรั่งเศสอย่างมาก ซึ่งในตอนนั้นตรงกับสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ท่านได้ทรงอุปถัมภ์วงการดาราศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะเล็งเห็นว่าความก้าวหน้าในวิชาดาราศาสตร์ ช่วยให้ฝรั่งเศสมีแผนที่โลกที่แม่นยำ รวมถึงความพยายามตั้ง “เส้นเมริเดียนแรก” (Prime Meridian หรือเส้นลองจิจูด 0 องศา) ผ่านหอดาราศาสตร์กรุงปารีส ที่จะส่งผลทำให้ฝรั่งเศสเป็นประเทศอ้างอิงพิกัดภูมิศาสตร์บนแผนที่โลก (แต่สุดท้ายเส้น Prime Meridian ที่ใช้กันในแผนที่โลกก็ใช้เส้นลองจิจูดที่ผ่านหอดูดาวกรีนิช บริเวณกรุงลอนดอนของอังกฤษแทน)
ยังไม่พอ นอกจากนั้นฝรั่งเศสยังใช้ให้บาทหลวงคณะเยซูอิต ที่มีความรู้ทางคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ มาปฏิบัติงานด้านดาราศาสตร์ในประเทศตะวันออก พร้อมกับการเผยแพร่ศาสนาไปด้วย
บาทหลวงเยซูอิต ชาวฝรั่งเศสเริ่มงานสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในสยาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2225 โดยมีหลักฐานในหนังสือ “สารบรรณปรากฏการณ์บนท้องฟ้าเมื่อคริสตศตวรรษที่ 17” ของฝรั่งเศส ที่มีข้อมูลปรากฏการณ์จันทรุปราคาในคืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2225 ซึ่งมีรายงานจากกรุงศรีอยุธยาด้วย นั้นทำให้บาทหลวงทางฝรั่งเศสแปลกใจมากว่า ทำไมสยามถึงได้คำนวณได้แม่นขนาดนี้
เป็นผลทำให้เรากับฝรั่งเศสเจริญสัมพันธไมตรีกันมาตลอด แต่ก็เพียงแค่ 10 ปีเท่านั้น นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ทำให้ไทยเราได้รับอิทธิพลใหม่ ๆ และวิทยาการใหม่ ๆ มามากมาย
ความสัมพันธ์ของไทยกับฝรั่งเศสมีหลัก ๆ อยู่ 3 อย่างคือ ศาสนา การค้าขาย และการทูตการเมือง ซึ่งความสัมพันธ์ทางการทูตและการเมืองถือว่าสำคัญมาก และถือว่าเป็นพื้นฐานหลักทางความเจริญทางด้านดาราศาสตร์ในสมัยต่อ ๆ ไป
โดยความสัมพันธ์ระหว่างสองเรา เริ่มจาก คณะของเชอร์วัลลิเยร์ เดอ โชมงต์ ได้มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อนำพระราชสานส์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 มาถวายให้ ที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งทำให้เกิดธรรมเนียมใหม่ขึ้นก็คือ ฝ่ายของคณะเชอร์วัลลิเยร์ เดอ โชมงต์ไม่ยอมก้มลดตัวลงมา แต่ขอยืนสวมรองเท้าและเหน็บกริด เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแทน เพราะเขาถือว่าเขาเป็นเหมือนตัวแทนของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
พอคณะเชอร์วัลลิเยร์ เดอ โชมงต์เดินทางกลับ จะมีคณะอุปทูตของสยาม 3 คน เดินทางไปฝรั่งเศสด้วย ก็คือเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน), ออกหลวงกัลยาราชไมตรี (พ่อของขุนหมื่น) และออกขุนศรีวิสารวาจา (พี่หมื่นของเรา) ซึ่งการเดินทางนั้นใช้เวลาไปประมาณ 7 เดือน พอคณะเดินทางถึงประเทศฝรั่งเศส ขึ้นบกที่เมืองแบรสต์ (Brest) ซึ่งเป็นเมืองท่าของประเทศฝรั่งเศส และเดินทางต่อไปจนถึงเมืองปารีส เพื่อไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในขณะที่เดินทางผ่านเมืองไหนคณะอุปทูตของไทยก็ได้รับการตอนรับอย่างดีเยี่ยมมาตลอด
เมื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เสร็จแล้ว สิ่งที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้กลับมานั้นนับค่าไม่ถ้วน ตั้งแต่การเปลี่ยนการรับราชทูตจากต่างประเทศ การพัฒนาด้านความรู้ดาราศาสตร์ อุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ หอดูดาว กล้องดูดาว วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ดนตรี การประปา การรักษาพยาบาล การพัฒนารูปแบบของเมือง การป้องกันเมือง และยังได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ ๆ ให้กับสยามตอนนั้นด้วย
สิ่งที่เห็นได้ชัดคือหนังสือแบบเรียนเล่มแรกของไทย “จินดามณี” ถูกสร้างขึ้นเพื่อที่จะเอาไว้สอนเด็ก นักเรียนไทยให้ทันกับการศึกษาของมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา และการเรียนรู้ การศึกษาในอยุธยา
สำหรับในส่วนของดาราศาสตร์นั้น จะเป็นการบันทึกการเดินทางของชาวฝรั่งเศสที่เดินทางทางทะเลเป็นส่วนใหญ่ โดยบันทึกเรื่องแรกจะเป็นการเดินทางของบาทหลวงเยซูอิต เป็นการบันทึกการเดินทางไปจีนที่อาศัยกลุ่มดาว ระบุตำแหน่งดวงดาวเป็นหลัก ต่อมาเป็นบันทึกข้อสังเกตว่าด้วยฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลด้านดาราศาสตร์และภูมิศาสตร์ โดยบาทหลวงกุย ซึ่งทั้งสองคนนี้ได้เข้ามาเก็บข้อมูลในดาราศาสตร์เพื่อสร้างเส้นรุ้งและเส้นแวง (คล้าย ๆ เรามานั้งพล็อตเส้นกราฟแนวตั้งกับแนวนอน) เพื่อที่จะทำแผนที่โลกที่สมบูรณ์ที่สุดเพื่อการเดินเรือ และการค้า
และยังมีบันทึกที่สำคัญอีกเล่มหนึ่งซึ่งจัดทำโดย บาทหลวงแชมปิยงค์ ซึ่งเขาได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่าเขาได้ทำอะไรบ้าง รวมไปถึงการสังเกตการณ์จันทรุปราคาครั้งใหญ่ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงมาทอดพระเนตรด้วย พร้อมกับคณะบาทหลวงเยซูอิต ซึ่งมีบาทหลวงคนหนึ่งได้ถือนาฬิกาไว้เพื่อดูเวลาตลอดเวลา และยังมีบาทหลวงอีกหลาย ๆ คนที่ใช้กล้องส่องดูปรากฎการณ์จันทรุปราคานั้น ณ ที่พระที่นั่งเย็น ในวันที่ 11 ธันวาคม โดยบาทหลวงพวกนี้ก็ได้ส่งของมูลให้ กาสสินี ผู้อำนวยการหอดาราศาสตร์แห่งปารีส เพื่อที่จะทำแผนที่สยามให้ได้สมบูรณ์ที่สุดนั้นเอง
ในประเทศเราก็มีหอดาราศาสตร์ที่มีลักษณะคล้ายกับหอดาราศาสตร์แห่งปารีส (คิดว่าได้รับอิทธิพลมา) นั้นก็คือ พระที่นั่งพิสัยศัลยลักษณ์ ที่พระราชวังจันทรเกษม ซึ่งเป็นหอดูดาวของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่จังหวัดอยุธยา
นั้นแสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงให้ความสนพระทัยในวงการดาราศาสตร์อย่างมาก จากหลักฐานที่พบเพิ่มทำให้รู้ได้ว่าในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้มีการตั้งสถานที่ดูดาวขึ้น 2 ที่คือเมืองลพบุรีสร้างขึ้นที่วัดเสาธงทอง และอยุธยาสร้างขึ้นที่ค่ายของบาทหลวงชาวโปรตุเกส
นอกจากนั้นยังมีบันทึกเกี่ยวกับ ของที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสั่งซื้อตอนคณะอุปทูตทั้ง 3 คนเดินทางไปฝรั่งเศส ก็คือกล้องส่องสำหรับส่องพระจันทร์และดาว 1 กล้อง กระจกต่าง ๆ กล้องส่องวัตถุขนาดเล็กอีก 2 กล้อง (เอาไว้ส่องวิญญาณว่าจะออกจากร่างตรงไหน) แก้วอย่างดีสำหรับดูของไกล ฯ
การทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เกิดขึ้นที่ หอดูดาววัดสันเปาโล เมืองลพบุรี ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 ก่อนที่ท่านจะเสด็จสวรรณคต 2 เดือน
จากทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านทรงได้อุปถัมภ์ดาราศาสตร์ไทย วิชาการ ศาสตร์ต่าง ๆ เป็นอย่างมาก และการเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสนั้นก็ได้ทำให้บ้านเมืองของเราเจริญเติบโตขึ้นทั้งในด้านการศึกษา ระบบประปา และยังทำให้ไทยเราได้รับอะไรใหม่ ๆ เข้ามาในประเทศมาขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการสร้างแผนที่โลกเพื่อการเดินเรือและการคมนาคมต่างๆ อีกด้วย
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO