NASA พร้อมเปิดสถานีอวกาศนานาชาติรับนักท่องเที่ยว และการโฆษณาบนอวกาศเป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ผู้บริหารของ NASA ได้ออกแถลงข่าวการเปิดให้ภาคเอกชนสามารถเข้าใช้พื้นที่บนสถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS ได้มากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการพัฒนา ศึกษาวิจัย โฆษณา ไปจนถึงการส่งนักท่องเที่ยวขึ้นไปบนสถานีอวกาศก็สามารถทำได้แล้ว

ก่อนหน้าการประกาศในครั้งนี้ NASA ถือเป็นองค์กรที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของการใช้สถานีอวกาศหรือตัวนักบินอวกาศเองสำหรับเหตุผลทางธุรกิจ ทำให้เราจะเห็นนักท่องเที่ยวอวกาศเดินทางไปกับยานของรัสเซียเท่านั้น และการทดลองที่ถูกส่งขึ้นไปให้กับนักบินอวกาศของ NASA จะต้องมีเหตุผลด้านการศึกษาแฝงไว้เสมอ ไม่เช่นนั้นก็จะถูกปฏิเสธไป แม้แต่การทดลองที่อาจถูกเอาไปใช้หาผลกำไรได้ นักบินอวกาศของสหรัฐก็จะถูก NASA สั่งห้ามไม่ให้ทำ

นักบินอวกาศขณะทำการทดลองอยู่บน ISS – ที่มา NASA

การเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2018 เมื่อ Jim Bridenstine ผู้บริหารของ NASA ได้เผยแผนการเปิดรับโฆษณาเข้ามาเป็นครั้งแรก โดยให้ความเห็นว่านี่จะช่วยให้ชื่อเสียงของ NASA เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมทั้งรายได้เพิ่มเติมจากการขายชื่อยานอวกาศและจรวด ซึ่ง Bridenstine ยอมรับว่ามีควานสนใจจากภาคเอกชนอยู่จริง ทว่าในตอนนั้น NASA เองยังไม่เปิดรับ

ทางรัฐบาลของสหรัฐเองก็ต้องการที่จะส่งต่อการควบคุมสถานีอวกาศนานาชาติให้กับภาคเอกชนอยู่เช่นกัน เนื่องจากในตอนนี้เป้าหมายคือการออกเดินทางไปลงดวงจันทร์ภายในปี 2024 และค่าใช้จ่ายของ NASA เพื่อให้ ISS ทำงานอยู่ได้นั้นสูงถึง 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นการตัดงบในส่วนนี้ออกไปก็จะช่วยให้ NASA เจียดงบไปช่วยในโครงการลงดวงจันทร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

NASA เองมีเป้าหมายจะไปลงดวงจันทร์อีกครั้งอยู่ในปี 2024 – ที่มา NASA

การเปิดบ้านสถานีอวกาศนานาชาติในหนนี้ แปลว่าบริษัทเอกชนสามารถส่งสินค้าขึ้นมาบนอวกาศเพื่อการโฆษณาได้แล้ว หรือแม้แต่จะจ้างให้นักบินอวกาศมาเป็นพรีเซนเตอร์จากบนนั้นก็สามารถทำได้ รวมไปถึงการถ่ายทำวีดีโอเพื่อนำไปใช้ในภาพยนตร์อีกด้วย และถ้าบริษัทไหนที่อยากไปไกลกว่านี้ ก็สามารถส่งโมดูลมาเชื่อมต่อเข้ากับตัว ISS ได้เลย และถ้าอยากขึ้นมาเที่ยว NASA เองก็ไม่ปิดโอกาสนั้นแล้ว

ทว่าข้อจำกัดก็ย่อมมีมากเช่นกัน โดย NASA จะแบ่งทรัพยากรบนนั้นให้ใช้ได้เพียง 5% เท่านั้น และน้ำหนักรวมของการส่งของขึ้นไปเพื่อการโฆษณาจะได้แค่ไม่เกิน 175 กิโลกรัมต่อปี รวมทั้งช่วงเวลาที่นักบินอวกาศของ NASA จะใช้ไปกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณานั้นจะมีเพียงแค่ 90 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น แถมก็จะมีสิ่งที่นักบินอวกาศสามารถทำได้บังคับไว้อยู่ด้วย ส่วนการขึ้นไปเที่ยวอวกาศนั้นจะถูกจำกัดเพียง 2 เที่ยวบินต่อปี และในแต่ละเที่ยวนั้นสามารถอาศัยอยู่บน ISS ได้แค่หนึ่งเดือน รวมทั้งต้องเดินทางไปกับยาน Crew Dragon ของ SpaceX หรือไม่ก็ Starliner ของ Boeing เท่านั้น

Dennis Tito นักท่องเที่ยวอวกาศคนแรก ที่เดินทางขึ้นไปกับยานโซยูสของรัสเซีย – ที่มา ROSCOSMOS via BBC

และอย่าคิดว่าราคาจะไม่แพง เพราะแค่การใช้ชีวิต 1 วันไปเที่ยวบนนั้น คุณก็ต้องสูญเงินไปแล้ว 11,250 เหรียญ และยังมีค่าดำรงชีพเบื้องต้น (อากาศหายใจ น้ำ อาหาร และอื่น ๆ อีกมาก) ซึ่งต้องจ่ายเพิ่มอีก 22,500 เหรียญ บวกกับค่าเก็บอุปกรณ์อีก 105 เหรียญ ค่าไฟต่อ 1 กิโลวัตต์ 42 เหรียญ และการส่งข้อมูลกลับลงมายังโลกนั้นต้องเสีย 50 เหรียญต่อ 1 GB เลยทีเดียว ดังนั้นเบื้องต้นแล้วคุณอาจต้องสูญเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทเลย และนี่ยังไม่รวมค่าตั๋วเดินทางไปกับยานอวกาศอีกนะ

ตารางค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ของการใช้งาน ISS เพื่อการโฆษณา/ท่องเที่ยว – ที่มา NASA

การเปลี่ยนแปลงในรอบนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เมื่อ NASA เปิดรับภาคเอกชนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจอวกาศมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการโฆษณาในอวกาศ ที่ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นยานอวกาศตามชื่อแบรนด์ดัง ๆ ก็เป็นได้

เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง:

NASA Opens International Space Station to New Commercial Opportunities, Private Astronauts

Commercial and Marketing Pricing Policy

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138