NASA ใช้ดาวเทียม SAR สร้างแผนที่ความเสียหายของเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน

บ่ายวันที่ 4 สิงหาคม 2020 ณ กรุงเบรุต ประเทศเลบานอน เกิดไฟไหม้ขึ้นที่ท่าเรือกรุงเบรุต ซึ่งทางการระบุว่าไฟไหม้โกดังเก็บดอกไม้ไฟธรรมดาจึงทำให้เกิดการระเบิดครั้งแรกขึ้นที่ท่าเรือกรุงเบรุตทำให้เกิดกลุ่มควันไฟและแสงวาบจากดอกไม้ไฟภายในโกดังลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า ที่เวลา 18:08 น. ตามเวลาท้องถิ่น (UTC +3) เกิดการระเบิดครั้งที่ 2 ขึ้นที่ท่าเรือกรุงเบรุตหลังจากการลุกลามของไฟที่ไหม้ก่อนหน้านี้ทำให้เกิดการระเบิดขึ้นของ Ammonium Nitrate กว่า 2,750 ตัน ซึ่งอยู่ภายในโกดังที่เกิดไฟไหม้ ซึ่งเป็นการระเบิดขนาดใหญ่ปลดปล่อยพลังงานกว่า 4,830 gigajoules หรือเท่ากับระเบิด TNT ประมาณ 1,155 ตัน การระเบิดทำให้เกิด Condensation cloud ขนาดใหญ่ขึ้นพร้อมกับควันสีส้มแดง ซึ่งเป็นควันของ Nitrogen dioxide ที่เกิดจากปฎิกิริยาการ Decompose ของ Ammonium Nitrate การระเบิดรุนแรงขนาดที่สถานีวัดการสั่นสะเทือนของ USGS (United States Geological Survey) สามารถวัดแรงสั่นสะเทือนจากพื้นผิวได้ 3.3 แมกนิจูด

ภาพกลุ่มเมฆ Nitrogen Dioxide หลังจากการระเบิด

แรงสั่นสะเทือนและ Shockwave จากการระเบิดสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงกว่าครึ่งของพื้นที่ของกรุงเบรุต เกิดหลุมระเบิดขึ้นที่บริเวณ Blast Site ขนาดใหญ่กว่า 120 เมตร มีรายงานความเสียหายจากแรงระเบิดห่างออกไปจากจุดระเบิดกว่า 10 กิโลเมตร

วันที่ 8 สิงหาคม 2020 ทีม Advanced Rapid Imaging and Analysis หรือ ARIA ของ JPL-Caltech NASA ซึ่งเป็นทีมที่มีไว้สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลภาพต่าง ๆ แบบเร่งด่วน ร่วมกับ Earth Observatory of Singapore ได้ใช้ดาวเทียม Sentinel-1 ที่มีเทคโนโลยี Synthetic Aperture Radar หรือ SAR ซึ่งอาศัยการทำ Interferometry ด้วยการเอาภาพถ่ายเรดาร์เหนือกรุงเบรุตก่อนการระเบิดและหลังการระเบิดมาเปรียบเทียบกันเพื่อสร้าง Interferogram หรือแผนที่ความเปลี่ยนแปลงของภาพ และนำมาประกอบกับถ่ายดาวเทียมเหนือกรุงเบรุตจากดาวเทียม DigitalGlobe เพื่อสร้าง Hybrid map ของพื้นที่ความเสียหาย (สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับ SAR ได้ที่ เจาะลึก InSAR เทคโนโลยีการเตือนแผ่นดินไหวจากอวกาศ)

ดาวเทียม Synthetic Aperture Radar – Sentinel-1 ของ ESA – ที่มา ESA

ข้อมูล SAR ก่อนการระเบิดได้มาจากดาวเทียม InSAR Copernicus Sentinel-1A ของ ESA ซึ่งได้เก็บข้อมูลเหนือกรุงเบรุตไว้วันที่ 29 ถึง 30 กรกฎาคม 2020 เพียง 5 วันก่อนการระเบิดเท่านั้น และได้เก็บข้อมูลซ้ำหลังการระเบิดแทบจะทันทีในวันที่ 4 และ 5 สิงหาคม 2020 เพื่อส่งข้อมูลให้ทีม ARIA ที่หอดูดาวสิงคโปร์เพื่อนำไปวิเคราะห์ ร่วมกับ JPL-Caltech และ NASA

ภาพ Interferogram ของความเสียหายในกรุงเบรุต – ที่มา NASA/JPL-Caltech/Earth Observatory of Singapore/ESA

แผนที่ความเสียหายแสดงให้เห็นพิกเซลของความเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวโดยแต่ละพิกเซลแทนพื้นที่ประมาณ 30 ตารางเมตร ส่วนสีของพิกเซลแทนสเกลของความเสียหายโดย ยิ่งมีสีเข้มยิ่งมีความเสียหายมาก โดยจะเห็นว่าบริเวณท่าเรือกรุงเบรุตเป็นพื้นที่ที่มีความเสียหายมากที่สุดแล้วค่อย ๆ เบาลงมาเมื่อออกห่างจาก Blast Site

แผนที่ Interferogram ของกรุงเบรุต – ที่มา NASA/JPL-Caltech/Earth Observatory of Singapore/ESA

การทำแผนที่ Interferogram มีจุดประสงค์เพื่อระบุพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดและเพื่อระบุพื้นที่ที่มีประชากรที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดเพื่อช่วยให้การช่วยเหลือให้เร็วที่สุด โดยทาง ARIA ของ NASA ได้ทำการเผยแพร่ข้อมูล Interferogram แบบ Open source ไว้ที Repository ของ ARIA สามารถเข้าไปดูได้ที่นี่ EOS_ARIA-SG_202008_Lebanon_Explosion และหลังจากนี้อาจจะมีการทำ SAR เหนือกรุงเบรุตเพิ่มเติมจากดาวเทียม SAR ดวงอื่นที่อยู่เหนือกรุงเบรุตเพื่อขยายพื้นที่ของแผนที่ Interferogram ให้ครอบคลุมกรุงเบรุตมากขึ้น

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

NASA Maps Beirut Blast Damage

Advanced Rapid Imaging and Analysis Project for Natural Hazards

Damage Proxy Map of Lebanon Explosion

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.