NASA วางแผนการทำงานของยานดาวอังคารในช่วง Solar Conjunction อย่างไร

ในวันที่ 2 ตุลาคม 2021 ภารกิจบนดาวอังคารทั้งหมดทั้งในวงโคจรและบนพื้นผิวของดาวอังคารจะเข้าสู่โหมด “Commanding Moratorium” และหยุดการสื่อสารกับโลกทั้งหมดชั่วคราว เครือข่าย Deep Space Network จะพักการสื่อสารกับ Mars Relay Network จากทั้งสองฝั่ง เพื่อรอให้ผ่านช่วงที่เรียกว่า “Mars Solar Conjunction” หรือปรากฎการณ์เมื่อดาวอังคารโคจรไปอยู่หลังดวงอาทิตย์เมื่อมองจากโลก ซึ่งจะเกิดขึ้นทุก ๆ 2 ปี

ระหว่างการเกิด Mars Solar Conjunction ดาวอังคารที่อยู่ข้างหลังดวงอาทิตย์นั้นจะไม่สามารถรับและส่งสัญญาณสื่อสารไปยังโลกได้เลยเนื่องจากมีดวงอาทิตย์บังอยู่ซึ่งนอกจากจะบังแล้ว สนามแม่เหล็กและบรรยากาศของดวงอาทิตย์เองยังสามารถรบกวนคลื่นวิทยุได้อีกด้วย ดังนั้นถึงแม้ดาวอังคารจะโผล่ออกมาจากดวงอาทิตย์นิดหน่อยแล้ว เราก็ยังไม่สามารถสื่อสารกับยานบนดาวอังคารได้อยู่ดีจนกว่าดาวอังคารจะพ้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์

ภาพแสดงบรรยากาศชั้น Corona ของดวงอาทิตย์ – ที่มา Nicolas Lefaudeux (with permission)

เพื่อความปลอดภัย วิศวกรของยานทุกยานทุกภารกิจบนดาวอังคารจึงจะต้องสั่งให้ยานของพวกเขาเข้าสู่โหมด “Command Moratorium” หรือก็คือโหมดรอคำสั่งจากโลกนั่นเอง โดยระหว่างโหมดนี้ยานก็จะทำงานเก็บข้อมูลตามปกติ แต่จะไม่ส่งสัญญาณสื่อสารกลับโลกผ่าน Mars Relay Network รอจนกว่าจะได้รับสัญญาณปลุกจากโลกเท่านั้นถึงกลับมาสื่อสารกับโลกอีกครั้ง

โดย Command Moratorium ครั้งนี้จะใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2021 ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2021 ภารกิจแต่ละภารกิจจะได้รับหมอบหมายให้ทำงานของมันตามที่วิศวกรเห็นสมควร

  • Perseverance: ใช้อุปกรณ์ MEDA (Mars Environmental Dynamics Analyzer) ในการวัดค่า Parameters ของสภาพอากาศรวมถึงเฝ้าระวังพายุฝุ่นที่เรียกว่า Dust Devil ไปด้วย RIMFAX (Radar Imager for Mars’ Subsurface Experiment) ซึ่งเป็นเรดาร์พื้นผิวจะถูกใช้สำหรับสแกนใต้ดินของดาวอังคาร ท้ายที่สุดนี้ มันจะใช้ Microphone ของมันในการอัดเสียงบนดาวอังคารไปเรื่อย ๆ
  • Ingenuity: อยู่ห่างออกไปจาก Perseverance ประมาณ 175 เมตร จะหยุดทำการบินทั้งหมด และจะคอยสื่อสารสถานะของมันให้กับ Perseverance รายสัปดาห์
  • Curiosity: ใช้ REMS (Rover Environmental Monitoring Station) ในการวัดค่า Parameters ของสภาพอากาศ, วัดค่ารังสีบนพื้นผิวด้วย RAD (Radiation Assessment Detector) และ DAN (Dynamic Albedo of Neutrons) และตรวจจจับพายุฝุ่นด้วยกล้องของมัน
  • InSight: ใช้ Seismometer เพื่อวัดการเกิดแผ่นดินไหวบนดาวอังคาร (Marsquakes)
  • ยานโคจรทั้ง 3 ลำของ NASA (MRO: Mars Reconnaissance Orbiter, MAVEN, Odyssey) จะยังคงสื่อสารข้อมูลบางส่วนเช่นข้อมูลสถานะของมันกลับโลกอยู่ (หากพอทำได้) ในขณะเดียวกันก็ทำงานสำรวจของมันต่อไปด้วย
ภาพแสดงภารกิจบนดาวอังคารของ NASA ทั้งหมด: Perseverance, Ingenuity, InSight, Odyssey, MAVEN, Curiosity และ Mars Reconnaissance Orbiter (MRO) – ที่มา NASA/JPL-Caltech

การสื่อสารที่ใช้ Bandwidth มาก อย่างเช่นการส่งรูปภาพจากยาน Perseverance, Curiosity และ InSight กลับโลกจะถูกพักไว้ชั่วคราว เมื่อหมดช่วง Command Moratorium วิศวกรจะส่งสัญญาณไปปลุกยานทุกยานบอกว่า “คุยได้แล้ว” ยานทุกยานก็จะเริ่มส่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ของตัวเองกลับโลกผ่าน Mars Relay Network ไปยังจานดาวเทียม Deep Space Network บนโลก ซึ่งการดาวน์โหลดข้อมูลจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนที่ยานทั้งหมดจะเริ่มทำงานตามปกติได้

อ่าน – Deep Space Network คืออะไร เบื้องหลัง การสื่อสารของภารกิจสำรวจอวกาศห้วงลึก

อ่าน – NASA เริ่มอัปเกรด Deep Space Network รองรับ ปริมาณการสื่อสารระหว่างดาวที่เพิ่มขึ้น

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

NASA’s Mars Fleet Lies Low As Sun Moves Between Earth and Red Planet

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.