Nauka จากรัสเซีย โมดูลสุดท้ายของสถานีอวกาศนานาชาติ ในปีที่ 23

เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่สถานีอวกาศนานาชาติหรือ ISS ไม่ได้มีการต่อเติม Pressurized Module สำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพิ่ม มีเพียงการเพิ่มเติมโมดูล Airlock เช่น IDA-2, IDA-3 และ Nanoracks Bishop Airlock หรือ External Platform สำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เช่น Bartolomeo

Pressurized Module ถาวรอันสุดท้ายที่ถูกส่งขึ้นไปยัง ISS คือ Leonardo Permanent Multipurpose Module (PMM) เรียกสั้น ๆ ว่า Leonardo มันถูกส่งขึ้นไปพร้อมกับกระสวยอวกาศเที่ยวบิน STS-133 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2011 หลังจากยุคกระสวยอวกาศก็ไม่มีโมดูลความดันขนาดใหญ่ถูกส่งขึ้นไปประกอบกับ ISS เพิ่มเติมอีกเลย มีเพียงโมดูลแบบ Expandable ที่สามารถพองตัวได้ อย่าง BEAM (Bigelow Expandable Activity Module) เพื่อประหยัดพื้นที่ในการขนส่งนั่นเอง

ภาพการประกอบชิ้นส่วนโมดูลสถานีอวกาศนานาชาติ – ที่มา NASA Johnson Space Center

โมดูล Nauka หรือ Multipurpose Laboratory Module

โมดูล Nauka หรือ Multipurpose Laboratory Module (MLM) เป็นโมดูลที่พัฒนาโดยองค์การอวกาศของรัสเซีย Roscosmos เดิมทีแล้ว Roscosmos มีแผนที่จะส่ง Nauka ขึ้นไปประกอบกับ ISS ในช่วงปี 2007 อย่างไรก็ตาม ตัวโครงการถูกเลื่อนมาอย่างน้อย 7 ครั้ง ยาวมาจนถึงทุกวันนี้ รอบนี้ Roscosmos มีแผนจะปล่อย Nauka ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2021 เพื่อ Rendezvous และเชื่อมต่อกับ iSS ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2021 กับโมดูล Zvezda ที่บริเวณ Nadir Port (ใต้โมดูล Zvezda)

ภาพจำลองขณะโมดูล Nauka เชื่อมต่อกับ Nadir Port ของโมดูล Zvezda – ที่มา NASA

วัตถุประสงค์ของ Nauka คือ การเป็นโมดูลสำหรับการทดลอง การเก็บของ และโมดูลสำหรับเชื่อมต่อเพิ่มเติม นอกจากนี้ Nauka ยังมีระบบนำทางและนำวิถีเป็นของตัวเองพร้อมกับระบบควบคุมทิศทาง (Attitude Control) ไว้ให้ลูกเรือของ ISS ใช้ในกรณีที่ระบบ Attitude Control หลักของ ISS ใช้การไม่ได้ เช่น ในยานสำหรับการทำ Station-keeping

นอกจากนี้ ใน Nauka ยังมีส่วนย่อยไว้สำหรับพยุงชีพนักบินอวกาศอีกด้วย เช่น ที่พักสำหรับลูกเรือ ห้องน้ำ ระบบรักษาบรรยากาศ ใต้โมดูล Nadir จะมี Temporary Docking Compartment หรือเป็น Airlock สำหรับเชื่อมต่อยานชั่วคราวด้วย โดยมันจะถูกใช้สำหรับการย้ายยาน Soyuz MS-18 และยาน Progress MS-17 โดย Progress MS-17 จะถูกย้ายมาต่อกับ Port ของ Nauka และเมื่อมัน MS-17 Undock มันก็จะเอา Port ชั่วคราวของ Nauka ไปด้วย ส่วน Port หลักของ Nauka จะไว้ใช้สำหรับต่อยานเติมเสบียง Progress M-UM

Nauka Module หลังต่อเข้ากับ Russian Orbital Segment (ROS) ของ ISS ในส่วนของโมดูล Zvezda – ที่มา NASA

หลังจากการเติมเสบียงด้วย Progress M-UM แล้วนั้น Nadir Port หลักของ Nauka ข้างล่างจะถูกใช้สำหรับการเชื่อมต่อ Nodal Module Prichal เรียกสั้น ๆ ว่า Prichal ซึ่งเป็น Docking Port ที่มีช่องให้ยานเชื่อมต่อมากถึง 6 ช่อง โดยช่องแรกเป็นช่องสำหรับเชื่อมกับ ISS ผ่าน Nauka ส่วน 5 ช่องที่เหลือ สามารถเอายาน Progress และ Soyuz มาต่อได้ตามสบาย มากสูงสุดถึง 5 ลำเลยทีเดียว

โมดูล Prichal ที่จะถุกนำขึ้นไปติดตั้งกับโมดูล Nauka ของ ISS – ที่มา NASA/Bill Ingalls

การต่อโมดูล Prichal จะเป็นการแทนที่โมดูลสำหรับการเชื่อมต่อโดยเฉพาะที่ชื่อว่า Pirs ซึ่งจริง ๆ แล้ว Pirs มีแผนที่จะ Undock ออกจาก ISS ตั้งแต่ปี 2013 เพื่อให้ Nauka มาเชื่อมต่อแทนที่นานแล้ว แต่เพราะ Nauka โดนเลื่อนแล้วเลื่อนอีกมันก็เลยไม่ถูก Undock ออกมาสักที แต่คาไว้อย่างนั้นมาหลายปีแล้ว

โมดูล Pirs ที่เชื่อมต่ออยู่กับโมดูล Zvezda ของ ISS ภาพจาก STS-110 – ที่มา NASA

ล่าสุดนั้น Pirs จะถูก Undock ออกพร้อมกับยาน Progress MS-16 ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2021 และ Deorbit เผาไหม้ในชั้นบรรยากาศพร้อมกับยาน Progress เลย ซึ่งการ Undock ครั้งนี้จะถือเป็นการปลดระวางโมดูลถาวรของ ISS เป็นโมดูลแรก จากนั้น Nauka จึงจะมาแทนที่ Pirs ในปลายเดือน กรกฎาคม 2021 หากไม่ถูกเลื่อน แล้วต่อเติมเพิ่มด้วยโมดูลคล้าย Pirs ที่ชื่อว่า Prichal นั่นเอง

ภาพแสดงส่วนประกอบของ Nauka Module – ที่มา Anatoly Zak

การปล่อยโมดูล Nauka

โมดูล Nauka ถูกเลื่อนมาแล้วอย่างน้อย 7 ครั้ง โดยการเลื่อนแต่ละครั้งนั้นเป็นปัญหาทางเทคนิคทั้งหมดซึ่งตรวจเจอระหว่างการทดสอบต่าง ๆ เลื่อนซะจน European Robotic Arm ของ ESA ที่กะไว้ว่าจะปล่อยพร้อมกับ Nauka ถึงกับหนีไปปล่อยพร้อมโมดูล Rassvet ก่อน

สรุปการเลื่อนแต่ละครั้งได้ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 – Roscosmos ประกาศว่า Nauka จะพร้อมปล่อยไปกับจรวด Proton ในปี 2007 แต่โครงการถูกเลื่อนไปตลอดทศวรรษ ครั้งแรกเลื่อนไป 2008 ครั้งสองเลื่อนไป 2009 และประกาศใหม่ว่าจะปล่อยในช่วงปลายปี 2013 อย่างไรก็ตามการปล่อยก็ถูกเลื่อนออกไปอีกเป็นปี 2014 ในปี 2013 ก่อนการปล่อยในตารางล่าสุดเพียง 1 ปี ทีมวิศวกรก็พบข้อบกพร่องของ Nauka อีกครั้ง และต้องถูกส่งกลับไปซ่อม Roscosmos แจ้ง NASA ว่าจะเลื่อนไปอย่างน้อย 2013
  • ครั้งที่ 2 – ในปี 2014 Roscosmos ประกาศว่าจะต้องเลื่อนการปล่อยไปอย่างน้อย กุมภาพันธ์ 2017 เนื่องจากต้องเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนใหม่เพราะระบบเก่าประกันหมด (ใช่ ประกันหมด) นอกจากนี้ยังพบว่ามีวาล์วรั่วทำให้ระบบท่อภายนอกโมดูลเสียหาย จึงต้องเปลี่ยนระบบใหม่
  • ครั้งที่ 3 – พฤศจิกายน 2016 Roscosmos แจ้งเลื่อนการปล่อยไปอย่างน้อยกลางปี 2018 แล้วมันก็ถูกเลื่อนซ้ำแล้วซ้ำอีกไปจนถึง ธันวาคม 2018

หลังจากนั้น ก็ดูเหมือนว่าจะได้ปล่อยแล้ว แต่ก็ได้มาเจอปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่น่าจะเกิดอีกมากมาย (ที่บอกว่าไม่น่าจะเกิดนี่คือมันไม่น่าเกิดจริง ๆ นะ)

  • ครั้งที่ 4 – สิงหาคม 2018 Roscosmos กำหนดวันปล่อยใหม่ในเดือน พฤศจิกายน 2019 อย่างไรก็ตาม ทีมตรวจสอบพบการปนเปื้อนของถังเชื้อเพลิงจากฝุ่นเหล็กในปี 2017 จึงทำให้ต้องซ่อมและเปลี่ยนส่วนของถังใหม่อีกครั้ง การปล่อยจึงถูกเลื่อนไปอย่างน้อยปี 2020 ทีมวิศวกรผลพบว่าถังดังกล่าวไม่สามารถซ่อมได้แล้ว แต่ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งถังเลย ทำให้ต้องเลื่อนไปหลังปี 2020 เพื่อรอผลิตถังใหม่ แต่ไป ๆ มาทางทีม TASS (สำนักข่าวรัสเซีย) ปล่อยผลการซ่อมใหม่ว่าพวกเขาสามารถซ่อมถังเก่าได้แล้ว จึงไม่ต้องทำถังใหม่แล้ว วันปล่อยจึงถูกยืนยันเป็นเดือน พฤศจิกายน 2019 เหมือนเดิม
  • ครั้งที่ 5 – ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2019 ซึ่งเป็นวันที่อยู่ในช่วงเวลาที่ Roscosmos แจ้งว่าจะปล่อย Nauka พอดี แต่ Roscosmos แจ้ง ESAว่าการปล่อย Nauka จะถูกเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน ทำให้ประกันของอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับโมดูลหลายตัวหมด จึงทำให้ต้องประเมินอุปกรณ์เพิ่มเติม
  • ครั้งที่ 6 – ในวันที่ 23 มกราคม 2020 นั้น TASS แจ้งว่าการปล่อยจะถูกเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อยปลายเดือน มีนาคม 2020 เพื่อเปลี่ยนวาล์วในถังเชื้อเพลิงของ Nauka ใหม่ นอกจากนี้ยังจะต้องทำการประเมินซ้ำใหม่อีกหลายครั้ง เนื่องจากอุปกรณ์หลายตัวหมดประกันซะก่อน (ก็พี่เล่นซื้ออุปกรณ์ทิ้งไว้ตั้งแต่ก่อน 2010 แต่ไม่ปล่อยยัน 2020) จึงทำให้ต้องเลื่อนวันปล่อยเป็นช่วงเดือน มกราคม 2021 อย่างไรก็ตามในการเลื่อนครั้งนี้ซึ่งตรงกับช่วงการระบาดของ COVID-19 พอดี Nauka ผ่านการทดสอบเกือบทั้งหมดและเรียกได้ว่าใกล้พร้อมสำหรับการปล่อยมาก ๆ

ใกล้จะปล่อยแล้วสถานการ COVID ก็ดีขึ้นตามลำดับ แต่พอใส่เข้าจรวดเท่านั้นแหละ ปัญหาเกิด

  • ครั้งที่ 7 – ในครั้งนี้ Nauka ถูกบรรจุเข้าไปใน Payload Fairing เพื่อติดตั้งเข้ากับจรวดแล้ว แต่ในวันที่ 30 มิถุนายน 2021 ทีมวิศวกรพบความผิดปกติกับเซนเซอร์นำทางของ Nauka ทำให้มันจะต้องกลับไป Test Facility สำหรับการทดสอบและประเมินอีกครั้ง Nauka จึงต้องถูกถอดออกมาทดสอบอีกครั้ง ซึ่งการถอดออกมาตรวจสอบใหม่ครั้งนี้ ทีมวิศวกรพบจุดบกพร่องงอกมาใหม่เพียบจนทำให้ต้องนั่งรื้อระบบและเปลีย่นใหม่หลายอย่าง จนในวันที่ 3 กรกฎาคม 2021 Nauka ผ่านการทดสอบที่จำเป็นทั้งหมดและถูกส่งกลับเพื่อนำไปติดตั้งกับจรวดและ Payload Fairing ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2021 โมดูล Nauka ติดตั้งบนจรวด Proton สำเร็จและพร้อมสำหรับการปล่อยเมื่อการทดสอบ Dry Countdown เพื่อทดลองระบบคอมพิวเตอร์และระบบนำทางเสร็จสิ้น Nauka ถูกกำหนดปล่อยใหม่วันที่ 21 กรกฎาคม 2021
โมดูล Nauka ที่ Yuri Gagarin Cosmonaut Training Center ขณะกำลังถูกใช้สำหรับการซ้อมของนักบินอวกาศ – ที่มา NASA/Carla Cioffi

หลังจากที่ Nauka ขึ้นสู่อวกาศและเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ มันคือโมดูลสุดท้ายจริง ๆ ที่อยู่ในแผนของการก่อสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ ที่วางกันมาตั้งแต่ปี 1998 ตอนนี้ก็รวมเวลากว่า 23 ปี ซึ่งก็เป็นที่แน่นอนว่า นี่อาจจะเป็นจุดจบของยุคอวกาศที่สหรัฐฯ กับรัสเซีย (และสหภาพโซเวียตร่วมมือกัน) ในช่วงปี 1985 (โครงการ Apollo-Soyuz) ถึงปัจจุบัน ที่รัสเซียกลับไปร่วมมือกับจีนสำรวจอวกาศอีกครั้ง

เรียบเรียง โดยทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

Why is Russia launching a new module to the space station if it’s pulling out?

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.