พายุฝุ่นกำลังอ่อนตัวลงบนดาวอังคาร กับแผนกู้ยาน Opportunity

แม้จะเป็นเวลากว่า 2 เดือนแล้วที่ยาน Opportunity ยังไม่ติดต่อกลับโลก หลังจากโดนกลบด้วยพายุฝุ่นที่ปกคลุมทั่วทั้งดาวอังคารมาตลอดทั้งสองเดือน แต่ข่าวดีก็คือในตอนนี้พายุฝุ่นบนดาวอังคารนั้นได้อ่อนตัวลงมาอย่างเห็นได้ชัดแล้ว และคงอีกไม่นานก่อนที่ยานจะติดต่อกลับมายังโลกอีกครั้ง

ปัญหาก็คือในตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่ายานจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร นอกจากจะลุ้นอย่างมีความหวังแล้ว มาดูกันว่าทีมงานของภารกิจได้เตรียมตัวสำหรับการกู้ยานอย่างไรกันบ้าง

สถานะล่าสุดของยาน

ยาน Opportunity ติดต่อกลับมายังโลกครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ก่อนจะเงียบหายไปภายใต้พายุฝุ่นที่ปกคลุมและบดบังแสงอาทิตย์ไม่ให้ส่องถึงยาน โดยสามารถวัดค่าความทึบแสงของบรรยากาศหรือค่า tau ได้มากถึง 10.8 ซึ่งข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมนั้นระบุว่าค่า tau ได้ลดลงมาเหลือเพียง 2.5 แล้วเท่านั้น

Opportunity : Panoramic Camera : Sol 5111

ภาพสุดท้ายจากยาน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นความมืดมิดของสภาพอากาศบนดาว – ที่มา NASA

แต่นั่นก็ยังสูงกว่าค่าที่ทีมของภารกิจต้องการ นั่นก็คือค่า tau ในบรรยากาศต้องต่ำกว่า 2.0 ก่อนที่แผงโซล่าร์เซลบนยานจะสามารถชาร์จพลังได้อีกครั้ง ซึ่งระหว่างนี้ยาน Mars Reconnaissance Orbiter จะคอยอัพเดทข้อมูลเรื่องสภาพอากาศบนดาวอังคารมาเรื่อย ๆ

ในตอนนี้ทีมงานของภารกิจ Opportunity นั้นเฝ้าคอยสัญญาณจากยานอยู่เรื่อย ๆ ผ่านจานรับสัญญาณที่ Deep Space Network ซึ่งจะคอยฟังยานในช่วงเวลาที่มันอาจจะติดต่อกลับมายังโลก รวมทั้งยังมีการใช้อุปกรณ์พิเศษที่ติดตั้งอยู่บนจาน ซึ่งสามารถรับสัญญาณได้ในช่วงคลื่นที่กว้างกว่า และพวกเขาจะเอาสัญญาณที่ได้มาลองหา “เสียง” อันแผ่วเบาที่อาจถูกเปล่งออกมาได้

ยานเป็นอะไรไป

เมื่อเวลาที่ Opportunity พบกับปัญหา มันจะเข้าสู่โหมดที่เรียกว่า Fault Mode ซึ่งระบบนี้จะคอยดูแลความปลอดภัยและสุขภาพของยาน และหยุดการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ทั้งหมดลงในทันที ซึ่งในสถานการณ์นี้สามารถแบ่งตัว Fault Mode นี้ได้เป็นสามอย่าง ได้แก่

  • Low-power fault mode นี่เป็นโหมดที่ถูกพูดถึงตั้งแต่เมื่อยานหยุดการติดต่อกับโลก โดยมันจะส่งยานเข้าสู่โหมดจำศีล และรอคอยช่วงเวลาที่ยานได้รับพลังงานมากเพียงพอเพื่อจะติดต่อกลับมายังโลกอีกครั้ง
  • Clock fault mode นี่คือโหมดที่จะเกิดขึ้นเมื่อยานเกิดสภาวะหลงเวลา เพราะเวลาคือสิ่งที่สำคัญสำหรับการติดต่อกลับมายังโลก หากยานหลงเวลาขึ้นมามันอาจจะติดต่อกลับโลกในช่วงเวลาที่เราไม่ได้คอยฟังมันอยู่ก็เป็นได้ แต่ในที่นี้ยานอาจจะใช้สภาพแวดล้อมในการเดาเวลาได้ เช่นปริมาณของแสงอาทิตย์ที่มันได้รับ เป็นต้น
  • Uploss fault mode เมื่อยานไม่สามารถติดต่อกลับโลกได้เป็นเวลานาน มันอาจจะคิดว่าระบบสื่อสารของมันไม่ทำงานและพาตัวเองเข้าสู่ Uploss mode ซึ่งยานจะตรวจสอบอุปกรณ์ของมันและพยายามทุกวิธีในการติดต่อกลับโลกให้ได้อีกครั้ง

และแน่นอนว่าเมื่อติดต่อกับยานได้อีกครั้ง นอกจากประกายน้ำตาและรอยยิ้มของทีมงานแล้ว ยานจะต้องใช้เวลาปรับตัวกับโลกอีกครั้ง ไม่ต่างผู้ป่วยที่เพิ่งพ้นจากขีดอันตรายและกำลังฟื้นตัวอยู่ ซึ่งทีมงานจะต้องดึงข้อมูลต่าง ๆ ของยานเกี่ยวกับสภาพที่มันเผชิญในระหว่างพายุฝุ่นนี้ออกมา ทั้งยังต้องตรวจสอบสภาพของยานและอุปกรณ์ทั้งหมดอีกครั้ง ซึ่งในที่นี้ก็ต้องทำใจอย่างนึงว่ายานนั้นอาจจะ…

ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

เมื่อมันติดต่อกลับมายังโลกอีกครั้ง ยานอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป – ที่มา NASA

มันเหมือนกับการที่คุณบอกชอบใครออกไปแล้วเขาไม่ได้รู้สึกแบบนั้นก็เป็นได้ เพราะพายุฝุ่นในครั้งนี้อาจทำให้แบตเตอรี่บนยานนั้นมีปัญหาไปตลอดกาล และประสิทธิภาพของมันอาจจะตกลงอย่างเห็นได้ชัด อย่าลืมว่า Opportunity ถูกออกแบบมาเพื่อการอยู่รอดบนดาวอังคารเพียง 90 วันเท่านั้น ซึ่งล่าสุดก็ปาเข้าไป 5,000 กว่าวันบนดาวอังคารของยานแล้ว

ยังไม่รวมถึงความเป็นไปได้ที่ทีมงานอาจไม่สามารถดำเนืนภารกิจของยานต่อไปได้ และแย่ที่สุดเลยก็คือ

เราอาจจะไม่ได้ยินจาก Opportunity อีกเลย…

อย่างไรก็ตามเราทุกคนล้วนมีความหวังเกี่ยวกับการกู้คืน Opportunity ในภารกิจนี้ และเชื่อว่าทีมงานของภารกิจและผู้คนทั่วโลกต่างล้วนอยากได้ยินจากยานลำนี้อีกสักครั้ง และก็สามารถเขียนโปสการ์ดให้กับยานได้ที่นี่ด้วยนะ (แต่จะไม่ได้ถูกส่งไปที่ยานในเร็ว ๆ นี้แน่ ๆ)

แต่อยู่ตรงนี้นานกว่านี้จะได้ไหม

ต่อเวลานาทีสุดท้ายของสองเรา

โปรดอยู่ตรงนี้เคียงข้างฉันอีกสักวัน

เก็บคำลาที่เธอจะใช้เอาไว้ก่อน

เพราะตอนนี้ไม่พร้อมจะปล่อยเธอไป

อยู่ตรงนี้ นานกว่านี้ – getsunova

 

อ้างอิง:

JPL

Opportunity Update

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138