หลังจากที่ห่างหายจากโลกไปเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ในคืนนี้ยานโอซิริส เรกซ์ (OSIRIS-REx) กำลังจะโคจรกลับมาเฉียดใกล้โลก ก่อนที่จะไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่อาจจะพุ่งชนโลกในอีก 165 ปีต่อจากนี้
วันนี้เวลา 23.52 ตามเวลาของประเทศไทย ยานโอซิริส เรกซ์ จะเข้ามาเฉียดใกล้โลกที่ระยะ 17,000 กิโลเมตรเหนือทวีปแอนตาร์กติกา โดยการกลับมาของมันจะเป็นการทักทายโลกอีกครั้งหลังจากที่มันถูกส่งขึ้นไปเมื่อกันยายนปีที่แล้ว และจะใช้แรงโน้มถ่วงของโลกมาเหวี่ยงเพิ่มความเร็วให้กับยานในการเดินทางต่อไปยังดาวเคราะห์น้อยเบนนู (101955 Bennu) ซึ่งยานจะเดินทางไปถึงในเดือนสิงหาคมปีหน้า
ซึ่งการเดินทางไปยังเบนนูนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งความเร็วที่มันโคจรรอบดวงอาทิตย์ และวงโคจรของมันที่มีความเอียง 6o เทียบกับระนาบของระบบสุริยะ ยานโอซิริส เรกซ์ จะต้องถูกเหวี่ยงให้เร็วขึ้นและสูงขึ้นจากระนาบ เหตุผลที่ต้องใช้แรงโน้มถ่วงของโลกเหวี่ยงนั้นเนื่องจากเป็นวิธีที่ประหยัดเชื้อเพลิงที่มีอยู่อย่างจำกัดบนยานได้ดีกว่าการส่งไปแบบตรง ๆ นั่นเอง
ภารกิจของยานโอซิริส เรกซ์นั้นคือการไปเยี่ยมเยือนดาวเคราะห์น้อยเบนนู ที่เชื่อกันว่าจะมีส่วนประกอบที่สำคัญกับการเกิดระบบสุริยะเมื่อ 4 พันล้านปีที่แล้ว และที่สำคัญมันก็มีโอกาสที่จะพุ่งชนโลกได้ในปี 2182 นี้อีกด้วย (โอกาสประมาณ 1 ใน 1000) ซึ่งยานลำนี้จะยื่น “แขน” ไปแตะกับดาวเคราะห์น้อย และนำตัวอย่างส่งกลับมายังโลกอีกครั้งในปี 2023
อ้างอิง