วันที่ 24 ตุลาคม 2020 NASA ประกาศยืนยันความสำเร็จในการเก็บตัวอย่างพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อย Bennu ของยาน OSIRIS-REx ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2020 ได้สำเร็จ โดยภาพถ่ายของยาน OSIRIS-REx เผยให้เห็นถึงหินที่อยู่ในอุปกรณ์เก็บตัวอย่าง TAGSAM (Touch-And-Go Sample Acquisition Mechanism) ของยาน OSIRIS-REx เป็นจำนวนมากและคาดว่าอาจเก็บมาได้เยอะกว่าที่ต้องการด้วย เดิม OSIRIS-REx ต้องการเก็บตัวอย่างให้ได้อย่างน้อย 60 กรัม แต่ครั้งนี้อาจได้เยอะกว่านั้น
อย่างไรก็ตามจากการวิเคราะห์ภาพของ TAGSAM ที่ถ่ายจากยาน OSIRIS-REx โดยทีมวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีอนุภาคและเศษหินกำลังลอยออกจากหัวของ TAGSAM ทีละน้อย ๆ ซึ่งคาดว่าเกิดจากการที่หินที่เก็บมาอาจมีขนาดใหญ่เกินจนไปดันฝาของหัว TAGSAM ที่เป็นผนังไมลาร์จนมีรูรั่วเล็ก ๆ ที่ทำให้หินสามารถลอยออกมาได้ บวกกับหลังการเก็บตัวอย่าง OSIRIS-REx จำเป็นต้องจุดจรวดขับดันเป็นครั้งคราวเพื่อปรับวงโคจรกลับ Safe-home orbit จึงทำให้เศษหินดังกล่าวยิ่งหลุดลอยออกจากหัว TAGSAM มากกว่าเดิม
นักวิทยาศาสตร์คาดว่าตัวอย่างของหินจะยิ่งหลุดออกจาก TAGSAM มากขึ้นหากมีการจุดจรวดขับดันที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวและการสั่นอีก ขึงทำให้ทีมวิศวกรของยาน OSIRIS-REx จำเป็นที่จะต้องยกเลิกการวัดมวลของตัวอย่างที่เก็บได้ (Sample Mass Measurement) ซึ่งกำหนดการเดิมของการวัดมวลตัวอย่างคือวันที่ 24 ตุลาคม 2020 และจำต้องยกเลิกการจุดจรวดขับดันเพื่อลดความเร็วของยานที่มีกำหนดการเดิมคือวันที่ 23 ตุลาคม 2020 เพื่อลดการเคลื่อนไวของยานและเตรียมทำการเก็บตัวอย่างจาก TAGSAM เข้าแคปซูลเก็บตัวอย่าง (Sample Return Capsule: SRC) ของ OSIRIS-REx ให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เสียตัวอย่างไปมากกว่านี้ก่อนส่งแคปซูลกลับโลก
หลังจากเก็บตัวอย่างของหินเข้าแคปซูลเก็บตัวอย่างยาน OSIRIS-REx จะจุดจรวดขับดันเพื่อเดินทางออกจากดาวเคราะห์น้อย Bennu กลับโลกโดยกำหนดการถึงโลกวันที่ 23 กันยายน 2023
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง
NASA’s OSIRIS-REx Spacecraft Collects Significant Amount of Asteroid