แค่อยู่บนพื้นโลกคุณก็สามารถสัมผัสความร้อนระอุของดวงอาทิตย์ได้แล้ว (ไม่เชื่อหรอ ลองเดินออกมาข้างนอกตอนเที่ยงในวันแดดเปรี้ยงดูสิ) แต่รู้หรือไม่ว่าต้นเดือนสิงหาคมนี้ นาซ่าจะปล่อยยานอวกาศเข้าไปเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าที่ยานทุกลำเคยออกเดินทางไปมาก่อน
อะไรคือ Parker Solar Probe
Parker Solar Probe สามารถเรียกได้ว่าเป็นภารกิจแรกที่มนุษย์ส่งออกไปสำรวจดาวฤกษ์เลยก็ได้ เพราะดวงอาทิตย์ของเราก็คือดาวฤกษ์เหมือนกัน (ก็จริงของเขา) มีกำหนดปล่อยอย่างเร็วที่สุดคือวันที่ 4 สิงหาคม 2018 นี้ และในตอนแรกมันถูกตั้งชื่อว่า Solar Probe Plus ก่อนจะถูกเปลี่ยนชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้กับคุณ Eugene Parker นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ผู้อธิบายการเกิดของลมสุริยะตั้งแต่ปี 1958 (หนึ่งปีหลังจากที่มนุษย์สามารถส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรรอบโลกได้) และผลงานของเขาก็เป็นพื้นฐานความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของดาวฤกษ์กับดาวเคราะห์ที่โคจรรอบมัน
นี่เป็นครั้งแรกที่นาซ่าตั้งชื่อยานตามคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นการระลึกถึงผลงานของคุณ Eugene Parker ที่ปัจจุบันมีอายุอยู่ที่ 91 ปี
การเดินทางที่แสนเร่าร้อน
เพื่อจะเดินทางไปเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ ยาน Parker Solar Probe จะต้องบินผ่านดาวศุกร์ทั้งสิ้น 7 ครั้งเพื่อใช้แรงโน้มถ่วงของมันเหวี่ยงให้ยานเข้าไปสู่วงโคจรที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าไปใกล้สุดที่ระยะ 6 ล้านกิโลเมตรจากพื้นผิวของดวงอาทิตย์ ใกล้กว่าที่ยานทุกลำเคยเดินทางไปถึง 7 เท่า และแน่นอนว่าใกล้ดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าวงโคจรของดาวพุธเสียอีก
แต่กว่าจะถึงวันนั้นก็ต้องรอคอยอีกประมาณ 7 ปีเลยทีเดียว เพราะยานจะค่อย ๆ ลดระยะที่จุด Perihelion ลงเรื่อย ๆ เป็นระยะเวลากว่า 22 ครั้ง และจะถึงระยะ 6 ล้านกิโลเมตรจากพื้นผิวของดาวอาทิตย์ก็ต้องรอถึงปลายปี 2024 ซึ่งในตอนนั้นเราน่าจะเข้าใจอะไรเกี่ยวกับดวงอาทิตย์และลมสุริยะนี้มากขึ้นแล้ว
ไขความลับในความร้อน
นี่จะเป็นครั้งแรกที่ยานอวกาศได้บินเข้าสู่ชั้นโคโรน่าของดวงอาทิตย์ โดย Parker Solar Probe มีภารกิจหลักของมันก็คือการตรวจดูวิธีที่พลังงานและความร้อนเคลื่อนที่ผ่านชั้นโคโรน่า รวมถึงหาคำตอบว่าอะไรที่เป็นตัวเร่งความเร็วของลมสุริยะ อุปกรณ์บนยานสามารถใช้ในการศึกษาสนามแม่เหล็ก พลาสมา อนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์และภาพถ่ายของลมสุริยะ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำนายการเกิดของมัน และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเทคโนโลยีและชีวิตบนโลกของเรา
อุปกรณ์ทั้งหมดบนยานจะได้รับการป้องกันจากความร้อนที่สูงด้วยแผ่นกันความร้อนหนา 12 เซนติเมตร ที่ทำมาจาก Carbon-composite ซึ่งสามารถป้องกันความร้อนได้สูงถึง 1,400 องศาเซลเซียส นี่คือหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยให้ Parker Solar Probe สามารถเข้าไปใกล้กว่าที่ยานทุกลำเคยไป และไขความลับในความร้อนนี้ได้
ทำไมต้องศึกษาดวงอาทิตย์
เพราะว่าดวงอาทิตย์คือดาวฤกษ์ดวงเดียวที่เราสามารถส่งยานไปสำรวจในระยะเผาขนได้ (เผาจนเกรียมด้วย) การศึกษามันจะทำให้เราสามารถเข้าใจดาวดวงอื่นในจักรวาลข้างบ้านของเราได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งมันยังเป็นแหล่งพลังงานหลักทั้งแสงและความร้อนให้กับโลก ยิ่งเราเข้าใจดวงอาทิตย์ดีเท่าไหร่ เราก็จะเข้าใจโลกของเราได้ดีเท่านั้น
ดวงอาทิตย์ยังปล่อยลมสุริยะเข้าใส่โลกด้วยความเร็วถึง 500 กิโลเมตร และนั่นทำให้เกิดสภาพอวกาศ ที่ทำให้เกิดออโรราขึ้นในขั้วฟ้าเหนือและใต้ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อดาวเทียมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เราใช้งานกันบนโลก
ลมสุริยะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโลกของเราเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลกับทั้งระบบสุริยะ ยิ่งเราส่งยานออกไปไกลจากโลกมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องทำความเข้าใจกับลมสุริยะมากขึ้นเท่านั้น เหมือนกับที่นักเดินเรือศึกษาเส้นทางก่อนออกสู่ทะเลใหญ่
อ้างอิง