Perseverance เก็บตัวอย่างครั้งแรกล้มเหลว ข้อมูลการประเมินตัวอย่างพบว่าไม่มีหินอยู่ในหลอดตัวอย่าง

จากการเก็บตัวอย่างหินจากพื้นดินบนดาวอังคารโดย Perseverance ระหว่างวันที่ 5-6 สิงหาคม 2021 ซึ่งถือเป็นการเก็บตัวอย่างเพื่อเตรียมส่งกลับโลกครั้งแรกบนดาวอังคาร แต่ข้อมูลวิเคราะห์หลอดตัวอย่างหลังกระบวนการเก็บตัวอย่างของ Perseverance พบว่าหลอดตัวอย่างนั้น “ว่างเปล่า” และไม่มีหินใด ๆ อยู่ข้างในเลย

Perseverance มีหลอดเก็บตัวอย่างทั้งหมด 43 หลอด ซึ่งเป็นหลอดแบบเก็บแล้วซีล หมายความว่ามันถูกออกแบบมาให้ใช้เพียงครั้งเดียว ปิดแล้วปิดเลยเพื่อป้องกันการปนเปื้อน ก่อนส่งกลับโลกในภารกิจในอนาคต

ภาพระบบเก็บตัวอย่าง (Sampling and Caching System: SCS) ของ Perseverance – ที่มา

ระบบที่รับผิดชอบการเก็บตัวอย่าง คือ Sampling and Caching System ของ Perseverance ซึ่งเก็บตัวอย่างโดยการใช้สว่านเจาะกระแทกที่ติดตั้งบนแขนกลยาว 2 เมตร ในการเอื้อมไปเจาะพื้นดินในพื้นที่เก็บตัวอย่าง โดยกลไกของสว่านถูกออกแบบมาให้เศษหินและดินที่ถูกเจาะหล่นเข้าไปในหลอดเก็บตัวอย่างเลย

อ่านบทความเกี่ยวกับรายละเอียดการเก็บตัวอย่างได้ที่นี่ – Perseverance เตรียมเก็บตัวอย่างหินบริเวณ Jezero Crater บนดาวอังคารเป็นครั้งแรก สรุปขั้นตอนการเก็บตัวอย่าง

Animation การเก็บตัวอย่างของ Perseverance – ที่มา NASA/JPL-Caltech

ซึ่งขั้นตอนการเก็บตัวอย่างทุกอย่างจะดำเนินการโดยอัตโนมัติหลังวิศวกรส่งคำสั่งให้เริ่มเก็บตัวอย่างมายัง Perseverance หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนหลังการเก็บตัวอย่าง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการวัดปริมาตรและถ่ายรูปตัวอย่างที่เก็บมาด้วย ซึ่งการวัดตัวอย่างทำโดยการยัด Probe เข้าไปในหลอดตัวอย่างเพื่อวัดแรงต้านจากหินหรือดินที่อยู่ข้างใน ซึ่งถ้ามันมีตัวอย่างอยู่เวลากดลงไปมันก็จะมีแรงต้านกลับมา คล้าย ๆ เหมือนเราเอามือกดทรายในถัง แต่โพรบกับไม่พบแรงต้านใด ๆ เลย ซึ่งก็หมายความว่าหลอดแม่งว่าง

เมื่อวิศวกรยืนยันได้ว่าหลอดเก็บตัวอย่างมันว่างเปล่าจริง ๆ จึงจัดทีมขึ้นมาประเมินสถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับการเก็บตัวอย่างเพื่อเตรียมหาทางสำรองในการเก็บตัวอย่าง เพราะหลอดเก็บตัวอย่างมันใช้แล้วใช้เลย จึงต้องหาวิธีแก้ให้รอบคอบก่อน หนึ่งในขั้นตอนการประเมินก็คือการใช้กล้อง WATSON (Wide Angle Topographic Sensor for Operations and eNgineering) ในการถ่ายรูปรูที่ใช้สว่านเจาะดูว่าข้างในมันเป็นยังไง ก่อนที่จะลองเก็บครั้งต่อไป

ภาพหลุมเก็บตัวอย่างครั้งแรกซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2021 เรียกว่า “Paver Rock” – ที่มา NASA/JPL-Caltech

ข้อสันนิษฐานของวิศวกร คือ หินที่ถูกสว่านเจาะอาจจะไม่ได้มีปฏิกิริยาตามที่วิศวกรออกแบบอย่างเช่นตัวอย่างไม่ได้ไหลเข้าหลอดตัวอย่างตามที่ออกแบบหลอดเก็บตัวอย่างกับระบบสว่านมา แต่อาจจะไปเบียดดินข้างล่างหรือด้านข้างแทนนั่นเอง ข้อมูลการเก็บตัวอย่างอื่น ๆ จะถูกส่งมาเพิ่มเพื่อประเมินต้นเหตุที่ทำให้การเก็บตัวอย่างล้มเหลว

ภารกิจหลาย ๆ ภารกิจก่อนหน้านี้ที่มีการเก็บตัวอย่างบนดาวอังคารเหมือน Perseverance ก็เผชิญปัญหาการเก็บตัวอย่างเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ภารกิจ Phoenix ในปี 2008 ซึ่งพบว่าดินที่จะเก็บตัวอย่างนั้นมันเหนียวกว่าที่คิดไว้ และกว่าจะเก็บไปยัดอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ได้ก็งัดแงะกันหลายรอบ หรืออย่าง Curiosity ที่มีสว่านสำหรับเจาะหินเหมือนกันก็พบว่าหินมันแข็งและเปราะกว่าที่คิดไว้ ล่าสุดก็ Heat Probe ในยาน InSight ที่ไม่สามารถเจาะลงไปในดินดาวอังคารได้จนต้องเอาที่ตักดินมาทุบ แต่ก็ยังไม่ได้อยู่ดีจนต้องล้มเลิกไป

อ่านบทความเกี่ยวกับ Heat Probe HP3 บนยาน InSight ได้ที่นี่ – ตอกไม่ลงก็ไม่ตอกก็ได้ วิศวกรยาน InSight เลิกพยายามตอกหมุด HP3 แล้ว

แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็เชื่อว่ามันจะต้องสำเร็จแน่นอน แค่อาจจะใช้ความพยายามและการแก้ไขเฉพาะหน้าเยอะหน่อยเพราะอุปกรณ์บนดาวอังคาร ส่งไปแล้วมันส่งคนไปแก้ไม่ได้ (ฮา)

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

NASA’s Perseverance Team Assessing First Mars Sampling Attempt

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.