Perseverance พบว่าหินบริเวณ Jezero Crater นั้นมีสารอินทรีย์หลงเหลืออยู่และเคยมีปฏิสัมพันธ์กับน้ำมาก่อน

หลังจากที่ Perseverance เริ่มภารกิจ Science Campaign มา มันก็ได้เดินทางอยู่บริเวณ Jezero Crater เพื่อศึกษาหาจุดที่น่าสนใจสำหรับทำการเก็บตัวอย่างไว้ให้ภารกิจ Mars Sample Return นำมันกลับโลกเพื่อศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

หนึ่งในการค้นพบที่น่าสนใจของ Perseverance ก็คือ มันพบว่าหิน Bedrock บริเวณ Jezero Crater ที่มันอยู่มาตลอดตั้งแต่การลงจอดของมันนั้นน่าจะก่อตัวมาจากแมกมาร้อน (red-hot magma) ในอดีตที่เย็นตัวลงและเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็ง นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าหินเหล่านี้น่าจะเคยมีปฏิสัมพันธ์กับน้ำมาหลายครั้ง และน่าจะยังมีสารอินทรีย์ลงเหลืออยู่

วิดีโอแสดงพื้นที่ที่ Perseverance กำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบัน – ที่มา NASA

ซึ่งการค้นพบนี้เรียกได้ว่าเป็นคำตอบของปริศนาก่อนการลงจอดของ Perseverance ที่ทีมนักวิทยาศาสตร์ของภารกิจตั้งไว้เลยก็ว่าได้ เพราะก่อนการลงของมันนั้น เราไม่มีข้อมูลจากโรเวอร์บนพื้นผิวเลยแม้แต่น้อย

ทำได้แต่เพียงคาดเดาว่าหินเหล่านี้เป็นผลจากการตกตะกอน การอัด การสะสมของแร่ธาตุ จากแม่น้ำโบราณที่เคยมีอยู่บนพื้นผิวของดาวอังคารในอดีตหรือไม่ หรือว่าหินพวกนี้อาจจะเป็นหินอัคนี (igneous) ซึ่งเกิดมาจากการแข็งตัวของลาวาที่ไหลมาจากพื้นผิวของภูเขาไฟดาวอังคารที่ดับไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์ทำได้แต่เพียงตั้งสมมติฐานและทฤษฎีที่เป็นไปได้จนกว่าจะมียานลงไปสำรวจและเก็บข้อมูลเพิ่มเติม

River Delta บริเวณ Jezero Crater ถ่ายจากยาน MRO (Mars Reconnaissance Orbiter) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่ามันเคยเป็นแม่น้ำโบราณมาก่อนที่ดาวอังคารจะเสียน้ำของมันไปทั้งหมด เนื่องจากข้อมูลวิเคราะห์ของยานวงโคจรพบหลักฐานของการเปลี่ยนแปลงด้วยน้ำในหินตกตะกอนเหล่านี้ ระบุว่ามันเคยทำปฏิกิริยากับน้ำมาก่อน – NASA/JPL-Caltech/ASU

จนกระทั่งการใช้อุปกรณ์อย่าง PIXL (Planetary Instrument for X-ray Lithochemistry) ซึ่งอาศัยเทคนิคการใช้ X-ray fluorescene เพื่อแสดงองค์ประกอบของหินนำมาวิเคราะห์หินที่ถูกขัดโดยอุปกรณ์บนแขนกลของ Perseverance บริเวณ South Séítah เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2021 นั้น นักวิทยาศาสตร์ก็พบเข้ากับหิน “Brac“ ที่มีองค์ประกอบของ Olivine Crystal ขนาดใหญ่คลุมด้วย Pyroxene Crystal ทับไว้

ภาพแสดงอุปกรณ์ PIXL (Planetary Instrument for X-ray Lithochemistry) ขณะกำลังทำการสแกนพื้นผิวของหิน – ที่มา NASA/JPL-Caltech

ซึ่ง Texture ของหินแบบนี้หมายความว่าหินเหล่านี้ก่อตัวขึ้นระหว่างที่ Crystal เกิดและติดอยู่ในแมกมาที่กำลังเย็นตัวอย่างช้า ๆ ยกตัวอย่าง เช่น ธารลาวาหนา, ทะเลสาบลาวา หรือกะเปาะแมกม่า (magma chamber) จากนั้นหินเหล่านี้ก็ถูกทำปฏิกิริยาโดยน้ำหลายครั้งทำให้มันมีลักษณะเช่นนี้ หมายความว่าบริเวณเหล่านี้เคยมีน้ำเป็นจำนวนมากมาก่อน และเรียกได้ว่าเป็นแหล่งสมบัติของนักวิทยาศาสตร์ให้เก็บตัวอย่างส่งกลับโลกไปวิเคราะห์เพิ่มเติม

นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องวิเคราะห์ว่าหินที่ค้นพบนี้ก่อตัวขึ้นบนพื้นผิวโดยตรงหรือว่าก่อตัวขึ้นใต้พื้นผิวแต่โผล่ขึ้นมาบนพื้นผิวจากการกัดกร่อน

ภารกิจ Mars Sample Return นั้นเป็น Science Campaign ที่ประกอบไปด้วยภารกิจแยกย่อยหลายภารกิจ (multi-mission) โดยมี Perseverance เป็นภารกิจแรกที่จะทำหน้าที่เก็บตัวอย่างพื้นผิวด้วยหลอดเก็บตัวอย่าง 43 หลอด ซึ่งเมื่อปิดผนึกแล้วจะถูกนำไปทิ้งไว้ที่จุดรับตัวอย่างแต่ละจุด เพื่อให้ภารกิจในอนาคตมาเก็บกลับโลก

หลอดเก็บตัวอย่างอีกชุดที่เหมือนกันกับที่ใช้ใน Perseverance ซึ่งถูกจัดแสดงไว้บนโลกเพื่อระบุจำนวนของหลอดเก็บตัวอย่างที่ Perseverance เก็บไปแล้ว – ที่มา NASA/JPL-Caltech

อีกหนึ่งในการค้นพบของ Perseverance มาจากอุปกรณ์ SHERLOC (Scanning Habitable Environments with Raman & Luminescene for Organics & Chemicals) ซึ่งค้นพบสารอินทรีย์ในหินตัวอย่างทั้งในหินที่ถูกขัดแล้ว (อยู่ข้างในหิน) และหินที่ไม่ถูกขัด (ข้างนอกหิน)

ภาพแสดงการทำงานของอุปกรณ์ HERLOC (Scanning Habitable Environments with Raman & Luminescene for Organics & Chemicals) ซึ่งใช้เทคนิค Luminescene ในการระบุธาตุหรือารเคมีภายในหิน – ที่มา NASA/JPL-Caltech

อย่างไรก็ตาม ถึงการค้นพบนสารอินทรีย์ไม่สามารถบอกได้ว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวอังคารมาก่อน เนื่องจากสารอินทรีย์นั้นมีทั้งสารอินทรีย์ที่เกี่ยวของกับสิ่งมีชีวิต (biological) และไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต (non-biological) แต่มันก็เป็นการบอกว่าสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารในอดีตยังเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะว่าหากเราค้นพบสารอินทรีย์โบราณที่หลงเหลืออยู่ได้ ก็หมายความว่าร่องรอยของสิ่งมีชีวิต (Biosignature) อาจจะหลงเหลือรอให้เราไปค้นพบอยุ่ก็ได้เหมือนกันนั่นเอง

แต่กว่าที่เราจะตอบคำถามเหล่านี้ก็คงจะต้องรอจนกว่าภารกิจ Mars Sample Return เป็นจริงก่อน เนื่องจากอุปกรณ์ของ Perseverance เองนั้นไม่ได้มีความสามารถในการวิเคราะห์ได้ละเอียดเท่าห้องปฏิบัติการจริง ๆ บนโลก

อุปกรณ์ RIMFAX (Radar Imaging for Mars’ Subsurface Experiment) ของ Perseverance ซึ่งทำหน้าที่เป็น Radar เพื่อสแกนใต้พื้นผิวลึก 10 เมตร ซึ่งถูกใช้ในการสำรวจบริเวณพื้นผิว “Crater Floor Factured Rough” ของ Séítah นั้น ยังพบการก่อตัวของหินที่มีลักษณะเอียงลงเป็นจำนวนมาก บ่งบอกว่าหินบริเวณ Séítah นั้นเกิดก่อน crater Floor Fractured Rough ซึ่งตรงกับสมมติฐานก่อนหน้านี้ของนักวิทยาศาสตร์

ยังมีปริศนาอีกจำนวนมากบนดาวอังคารที่กำลังรอให้เราไปค้นพบอยู่ และ Perseverance เป็นเพียงแค่หนึ่งในความพยายามของมนุษยชาติในการแก้ไขปริศนาเหล่านั้น

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

NASA’s Perseverance Mars Rover Makes Surprising Discoveries

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.