หากใครยังไม่ทราบ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติหรือ NARIT (National Astronomical Research Institute of Thailand) กำลังก่อสร้างหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติหรือ “Thai National Observatory (TNRO)” ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดจาน 40 เมตรแห่งแรกของประเทศไทย
การทำงานของตัวกล้องและระบบต่าง ๆ เฉพาะของ TNRO สามารถอ่านได้ในบทความ Thai National Radio Telescope พาชมกล้องโทรทรรศน์วิทยุของคนไทย 40 เมตร เจาะลึกการทำงาน ในบทความนี้เราจะมาอธิบายกันว่ากล้องโทรทรรศน์วิทยุนั้นจริง ๆ แล้วมันทำงานยังกันแน่ แล้ว TNRO ทำงานเหมือนหรือแตกต่างกับกล้องโทรทรรศน์วิทยุอื่น ๆ อย่างไร
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบกล้องโทรทรรศน์วิทยุและจานรับสัญญาณ
- รู้จัก Telescope Array เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทั่วโลก เบื้องหลังการค้นพบทางดาราศาสตร์
- กว่าจะเป็นรูปถ่ายหลุมดำรูปแรก ฟิสิกส์ คอมพิวเตอร์ วิศวกรรม
- Deep Space Network คืออะไร เบื้องหลัง การสื่อสารของภารกิจสำรวจอวกาศห้วงลึก
มีไปทำไมกล้องโทรทรรศน์วิทยุ
กล้องโทรทรรศน์วิทยุ (Radio Telescope) ทำหน้าที่คล้ายกับกล้องโทรทรรศน์ใช้แสง (Optical Telescope) ในหลาย ๆ ด้าน หนึ่งในนั้นก็คือการโฟกัสคลื่นที่รับได้ให้เข้าสู่ตัวรับอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ตาหรือกล้องสำหรับกล้องใช้แสง ตัวรับสัญญาณ (Receiver) สำหรับกล้องโทรทรรศน์วิทยุ
กล้องโทรทรรศน์ใช้แสงนั้นอาศัย “กระจก” หรือ “ตัวสะท้อน” ในการสะท้อนแสงช่วงคลื่นที่ตามองเห็นได้ (Visible Light) ซึ่งก็คือสีต่าง ๆ ในสายรุ้งที่ตาเราสามารถมองเห็นได้มาเข้าตาของเราหรือเข้า Imager อย่าง CCD (Charged Coupled Device) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ถ่ายรูปชนิดหนึ่ง
ส่วนกล้องโทรทรรศน์วิทยุนั้นอาศัย “ตัวสะท้อน” ในการรับคลื่นในช่วงคลื่นวิทยุมา จากนั้นจึงสะท้อนคลื่นเหล่านั้นไปยังตัวรับสัญญาณหรือ Receiver หลักการเดียวกับกล้องโทรทรรศน์ใช้แสง แต่คลื่นวิทยุนั้นมีความถี่ต่ำมากและมีพลังงานต่ำกว่าคลื่นอื่น ๆ เป็นอย่างมากรวมทั้งสัญญาณวิทยุที่เราอาจรับได้จากวัตถุทางดาราศาสตร์นั้นน้อยมากเพราะระยะทาง ทำให้ตัวสะท้อนจะต้องมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรับสัญญาณที่อ่อนเหล่านี้จากนั้นจึงรวมหรือโฟกัสสัญญาณเข้าด้วยกันเป็นเหมือนลำสัญญาณแล้วจึงยิงเข้า Receiver เพื่อนำไปประมวลผล
หมายความว่ากล้องโทรทรรศน์วิทยุมีองค์ประกอบแทบจะเหมือนกับกล้องโทรทรรศน์ใช้แสงทุกประการเปลี่ยนแค่มันรับสัญญาณวิทยุและมันมีขนาดใหญ่กว่าเท่านั้นนั่นเอง
เมื่อเราทราบถึงความเหมือนและความแตกต่างของทั้งสองอย่างนี้แล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่าแล้วทำไมจึงต้องมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุ? ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นคำถามที่อธิบายยากพอสมควรเนื่องจากมันมีปัจจัยต่าง ๆ มากมายที่ทำให้เราต้องมีกล้องโทรทรรศน์สองแบบ แต่หลัก ๆ และก็เข้าใจได้ง่าย ๆ เลยก็คือ กล้องโทรทรรศน์วิทยุนั้นสำรวจคนละอย่างกับกล้องโทรทรรศน์ใช้แสง
กล้องโทรทรรศน์วิทยุทำงานโดยการรับคลื่นวิทยุจากวัตถุทางดาราศาสตร์มาประมวลผล ส่วนกล้องโทรทรรศน์ใช้แสงนั้นสำรวจแสงช่วงคลื่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Ultraviolet Infrared หรือคลื่นแสงที่มองเห็นได้ ซึ่ง 3 อย่างนี้รวมคลื่นวิทยุก็คือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าอย่างหนึ่ง แตกต่างกันที่พลังงาน ความถี่ และคุณสมบัติ การที่มันมีคุณสมบัติต่างกันหมายความว่ามันมีนัยสำคัญในการสำรวจคุณสมบัติ ๆ หนึ่งของวัตถุ ๆ หนึ่ง
ยกตัวอย่างเปรียบเทียบ เรามีกล้อง 2 ตัว ตัวแรกถ่ายรูปปกติเหมือนกล้องถ่ายรูปทั่วไป (Visible Light) กล้องตัวที่สองถ่ายรูปช่วงคลื่น Infrared เอาไปถ่ายวัตถุ ๆ หนึ่ง แน่นอนว่าข้อมูลที่เราได้จากทั้งสองกล้องย่อมไม่เหมือนกัน รูปจากกล้องตัวแรกอาจบ่งบอกถึงรูปร่าง ขนาด และลักษณะปรากฏ ในขณะที่กล้องตัวที่สองบ่งบอกถึงรังสี Infrared ที่วัตถุแผ่ออกมาซึ่งสามารถนำไปคำนวณหาอุณหภูมิได้ ซึ่งสิ่งที่ได้จากสองอย่างนี้แตกต่างกันแต่มันมาจากแหล่ง ๆ เดียวกัน หลักการเดียวประยุกต์ใช้กับคำถามว่าทำไมเราต้องมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุ
หากเราสำรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติและปฏิสัมพันธ์แตกต่างกันเราก็จะสามารถสังเกตวัตถุ ๆ หนึ่งในหลาย ๆ ด้านได้นั่นเอง
หลักการทำงานของกล้องโทรทรรศน์วิทยุ
อย่างที่เราทราบว่าหลักการของกล้องวิทยุนั้นใกล้เคียงกับหลักการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ใช้แสง แต่ทุกคนอาจจะไม่ทราบว่าบ้านเราหลาย ๆ หลังก็มีกล้องโทรทรรศน์วิทยุอันจิ๋วติดไว้อยู่เช่นกัน ใช่แล้วมันคือจานรับสัญญาณดาวเทียมสำหรับดูทีวีนั่นเอง
จานรับสัญญาณดาวเทียมของบ้านเรานั้นใช้เทคโนโลยีมาจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุของเราโดยตรงเลย เปลี่ยนแค่กล้องโทรทรรศน์วิทยุรับสัญญาณจากวัตถุทางดาราศาสตร์ จานดาวเทียมบ้านเรารับสัญญาณจากดาวเทียมแทน
หลักการทำงานของจานทีวีบ้านเราก็ง่าย ๆ เช่นกัน เราจะเห็นว่าจานทีวีนั้นจะมีรูปทรงเป็นจานที่มีส่วนโค้งเว้า ๆ ลงไป และตรงหน้าจานนั้นมักจะมีโครงสร้างมายึดสิ่งที่มีลักษณะเหมือนไมโครโฟนเอาไว้ซึ่งจริง ๆ แล้วมันคือ LNB หรือ Low Noise Blockdown Convertor สำหรับแปลงสัญญาณดาวเทียมให้มีสัญญาณรบกวนน้อยลงจากนั้นจึงเร่งสัญญาณให้เข้มขึ้น (Signal to Noise Ratio: SNR) จานทีวีบ้านเราเรียกว่า Front Feed (ในจานที่ LNB อยู่ตรงกลางพอดี) และ Offset Front Feed (ในจานที่ตัว LNB ไม่ได้อยู่ตรงกลางจาน) ซึ่งจาน Offset Front Feed นั้นจะมีตัวจานสะท้อนไม่สมมาตรเพื่อให้มันสะท้อนเข้าพอดีกับ LNB ที่ไม่ได้อยู่ตรงกลาง
ส่วนโค้งของจานนั้นเป็นรูปร่างที่เรียกว่า Parabolic Reflector Dish ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษด้วยความโค้งรูปร่าง Parabola ของมันจะทำให้ไม่ว่าสัญญาณใด ๆ ที่ลงมากระทบกับจานอันนี้ มันจะสะท้อนเขาจุด Focus จุดเดียวทั้งหมด จะมามุมไหนมาเลยทแยงยังไงก็ได้ขอแค่มันกระทบหน้าจานก็พอ ซึ่งแน่นอนว่าจุด Focus เป็นจุดที่สัญญาณจะเข้มที่สุดเพราะเป็นจุดที่จานสะท้อนรวมสัญญาณที่มันรับได้ไว้ทั้งหมด เราก็เอาตัวรับสัญญาณไปติดไว้ที่จุด Focus ก็เป็นอันเสร็จสิ้น
หลักการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ก็คล้ายคลึงกับจานทีวีบ้านเรา แต่ซับซ้อนกว่านั้นเพิ่มอีกนิดนึง เนื่องจากระยะทางของวัตถุทางดาราศาสตร์ต่าง ๆ นั้นห่างจากเรามาก ถึงมันจะแผ่สัญญาณวิทยุแต่ก็อ่อนกว่าสัญญาณจากดาวเทียมมากและอ่อนกว่าสัญญาณโทรศัพท์เราด้วยซ้ำ การที่จะรับสัญญาณที่อ่อนขนาดนั้นได้เราก็จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการรับสัญญาณของเราให้มากขึ้นนั่นก็คือเพิ่มขนาดของจานนั้นเอง
ให้นึกอย่างนี้ สมมุติว่าจานดาวเทียมเป็นเป้ายิงเลเซอร์ มีจานเล็กกับจานใหญ่ ให้ใครสักคน (เปรียบเป็นวัตถุทางดาราศาสตร์) ที่อยู่ห่างออกไปสัก 100 เมตร (ระยะทางของวัตถุทางดาราศาสตร์ส่งผลกระทบต่อการกระเจิงของคลื่น) สาดแสงเลเซอร์ (เปรียบเป็นสัญญาณวิทยุ) ออกมาทุกทิศทุกทางสัก 10,000 ลำแสงโดยแบ่งระยะแต่ละลำเท่า ๆ กัน คิดว่าจานไหนจะมีแสงเลเซอร์ตกกระทบเยอะสุด แน่นอนว่าต้องเป็นจานใหญ่ที่มีพื้นที่ผิวเยอะกว่า
ซึ่งจริง ๆ แล้วคลื่นวิทยุมันก็เดินทางเป็นลำเช่นกัน นั้นหมายความว่าหากเราอยากรับคลื่นที่เข้มขึ้นเราก็จะต้องขยายขนาดจาน นั้นเป็นที่มาว่าทำไมจานของกล้องโทรทรรศน์วิทยุถึงใหญ่หลัก 10 เมตรไปจนถึงหลัก 100 เมตร หรือใหญ่โคตร ๆ แบบจาน Spherical อย่าง Arecibo เส้นผ่านศูนย์กลาง 305 เมตร (แต่ถล่มไปแล้ว) หรือจาน FAST ที่ใหญ่ที่สุดตอนนี้ของโลกสร้างโดยประเทศจีนเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตร
แต่จานที่เราจะเห็นบ่อย ๆ นั้นคือจานแบบที่มีฐานตั้งขนาดประมาณ 10 ถึง 40 เมตร ซึ่งมันก็จะได้เปรียบจานขนาดใหญ่ ๆ อย่าง FAST เรื่องการเคลื่อนไหว เพราะจานพวกนี้มักจะหมุนได้ ถ้าจะหมุนจาน FAST คงต้องหมุนทั้งโลกเพราะมันติดอยู่กับพื้นโลก จานมีฐานตั้งเลยจะสามารถเลือกวัตถุทางดาราศาสตร์ที่มันจะสำรวจได้ตราบใดที่วัตถุดังกล่าวอยู่เหนือพวกมัน
แล้วถ้าอยากได้จานขนาดใหญ่ ๆ ที่มันหมุนได้ล่ะ? เรื่องนั้นไม่ต้องห่วงเพราะจานฐานตั้งถึงมันจะเล็กกว่าจาน Spherical แต่มันเอาจานหลาย ๆ อันมาต่อให้เสมือนเป็นจานใหญ่ได้ เรียกว่า Aperture Synthesis หรือจะเอามาทำ Interferometry ก็ได้
อ่านบทความเกี่ยวกับการทำ Interferometry ได้ที่นี่ – รู้จัก Telescope Array เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทั่วโลก เบื้องหลังการค้นพบทางดาราศาสตร์
การรับและส่งสัญญาณของกล้องโทรทรรศน์วิทยุ
เมื่อเราทราบหลักการทำงานคร่าว ๆ ของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแล้ว หลาย ๆ คนก็พอจะนึกภาพออกแล้วว่ามันทำงานยังไง การรับสัญญาณของกล้องโทรทรรศน์วิทยุนั้นแตกต่างกันไปในจานแต่ละแบบ ซึ่งจานแต่ละแบบก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป
จานรับสัญญาณนั้นส่วนใหญ่จะอาศัยหลักการเดียวกันก็คือใช้ Parabolic Reflector Dish เป็น Primary/Active Reflector ในการสะท้อนสัญญาณจากวัตถุทางดาราศาสตร์ที่มันกำลังสำรวจโดยตรง หันหน้าไปด้านไหนก็รับสัญญาณจากด้านนั้น ๆ มา (ซึ่งสัญญาณที่รับมาได้จริง ๆ แล้วเต็มจาน ไม่ใช่แค่เส้น ๆ แบนในภาพ) สัญญาณที่กระทบเข้ากับ Parabolic Reflector Dish จะถูกสะท้อนไปรวมกันที่จุด Prime Focus
จุด Prime Focus นี้เราอาจจะติดตั้ง Receiver ไว้โดยตรงเลยก็ได้ ก็จะเรียกว่าจานแบบ Front Feed ซึ่งถ้าติด Receiver ไว้ตรงนี้โดยตรงมันก็จะหลักการเดียวกับจานทีวีบ้านเราเลย แต่ข้อเสียคือเรื่องของการบำรุงรักษาจะทำได้ลำบากขึ้นเนื่องจาก Receiver นั้นจำเป็นต้องมี Amplifier หรือตัวเร่งสัญญาณที่จำเป็นต้องมีระบบหล่อเย็นอย่าง Cryogenic Cooling เพื่อลด Noise จากการแผ่รังสีของตัวมันเอง เช่น รังสี Infrared ซึ่งการจะบำรุงรักษาก็จะต้องเอาเครนมาปีนขึ้นไปบนตัว Receiver นั่นเอง
วิธีแก้ปัญหาหากเราไม่อยากไปติดตั้ง Receiver ที่จุด Prime Focus ก็คือการนำตัวสะท้อนอีกตัวที่เรียกว่า Hyperbolic Subreflector ไปติดตั้งไว้แทน Hyperbolic Subreflector จะทำหน้าที่สะท้อนสัญญาณที่ได้รับอีกทีผ่านอุโมงค์ที่เรียกว่า Feed horn (บริเวณที่สัญญาณใช้ผ่านทะลุเข้าไปหลังจาน) เข้าไปในโครงสร้างของตัวกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งการทำแบบเป็นโมเดลที่เรียกว่า “Cassegrain”
การโฟกัสสัญญาณแบบ Cassegrain นั้นเป็นหนึ่งในการโฟกัสที่ใช้หลากหลายที่สุดในวงการกล้องโทรทรรศน์วิทยุ เนื่องจากสัญญาณที่รับได้จะสะท้อนเข้ามาภายในโครงสร้างของยานทำให้ไม่ต้องไปติดตั้ง Receiver ที่บริเวณ Prime Focus แรก แต่สามารถมาติดตั้งที่จุด Focus ภายในได้นั่นเอง
และดีไซน์แบบนี้ก็ทำให้การส่งสัญญาณด้วยกล้องโทรทรรศน์เป็นไปได้ด้วย สามารถใช้เป็นจานสื่อสารได้ ซึ่งที่ใช้กันบ่อย ๆ ก็คือในจานสื่อสารของ Deep Space Network (DSN) นั่นเอง การส่งสัญญาณก็ไม่ซับซ้อนเพราะต้องทำเพียงแค่สลับขั้นตอนการรับสัญญาณเท่านั้น สลับเป็นส่งสัญญาณวิทยุออกมาจาก Feed Horn ให้ไปกระทบกับ Hyperbolic Subreflector จากนั้น Subreflector ก็จะสะท้อนสัญญาณออกไปกระทบ Primary Reflector แล้วจึงสะท้อนออกไปนอกอวกาศนั่นเอง
แต่ส่วนใหญ่แล้ว Cassegrain Focus นั้นจะใช้แบบ Off-axis กล่าวคือจุดที่คลื่นจะเดินทางผ่าน Feed Horn ไม่ได้อยู่ตรงกลางเป๊ะ ๆ อาจจะเอียงไปทางใดทางหนึ่ง Primary Reflector และ Subeflector ก็จะถูกออกแบบมาให้ไม่สมมาตรเพื่อให้มันสะท้อนคลื่นไปยัง Feed Horn ที่ไม่ได้อยู่ตรงกลางพอดี เรียกดีไซน์แบบนี้ว่า “Off-axis Cassegrain”
ประโยชน์ของ Off-axis Cassegrain คือ การที่เราสามารถติดตั้ง Receiver สำหรับคลื่นความถี่ที่แตกต่างกันหลาย ๆ ตัวไว้ด้านหลัง Feed Horn รอบ ๆ บริเวณกลางจาน จากนั้นก็ทำ Feed Horn หลาย ๆ รูให้คลื่นสามารถผ่านได้ แล้วจึงออกแบบให้ Subreflector สามารถหมุนตามแกนได้ซึ่งจะทำให้สัญญาณที่สะท้อนมาสามารถเปลี่ยนรูเข้า Feed Horn ได้ จึงสามารถเปลี่ยน Receiver ที่ต้องการใช้รับสัญญาณได้เพียงแค่หมุน Subreflector เท่านั้น ใช้ในกล้องโทรทรรศน์หลากหลายมาก เช่น VLA, VLBA, และ ALMA (ALMA เล่นใหญ่หมุน Primary Reflector แม่ง)
จากภาพข้างบนนั้นเป็นหลักการคล้าย ๆ กันที่ใช้ใน Off-axis Cassegrain (แต่อันนี้มันโชว์แค่ด้านเดียว) การหมุน Subreflector (M2) นั้นจะทำให้จุด M2 Focus นั้นเปลี่ยนไป ทั้งนี้เราสามารถติดตั้ง Feed Horn หลาย ๆ อันสำหรับแต่ละ Reflector ไว้ที่บริเวณแถว ๆ M2 Focus ได้เพื่อที่ว่าเมื่อเราหมุน Subreflector แล้ว คลื่นที่จะสะท้อนก็จะสะท้อนเปลี่ยนไปลง Feed Horn อันอื่น ๆ ได้ เพื่อเปลี่ยน Receiver นั้นเอง
ดีไซน์แบบนี้นิยมใช้ในกล้องที่ต้องเปลี่ยนคลื่นความถี่ที่มันสำรวจบ่อย ๆ ซึ่งการเปลี่ยนคลื่นความถี่จำเป็นต้องเปลี่ยน Receiver การทำแบบนี้จะทำให้การเปลี่ยนคลื่นความถี่สำรวจง่ายขึ้นเพียงแค่เอียง Subreflector เท่านั้น (Primary Reflector ในบางกล้อง)
หากสังเกตรูปของ Feed Horn ของกล้องโทรทรรศน์วิทยุ Karl G. Jansky Very Large Array หรือ VLA จะเห็นว่ามันมี Feed Horn หลายอันมาก ๆ เรียกว่า Feed Circle ซึ่งตัว Subreflector สามารถเอียงเพื่อให้สัญญาณตกลงบนอันใดอันหนึ่งได้นั่นเอง
นอกจากนี้ Cassegrain Focus ยังสามารถนำมาติดตั้งสิ่งที่เรียกว่า “Beam Wave Guide” หรือ “BWG” ได้ BWG คือ การใช้ตัวสะท้อนสัญญาณหลาย ๆ ตัวมาสะท้อนสัญญาณไปมาเพื่อให้มันสะท้อนลงไปที่ฐานของกล้องโทรทรรศน์
การสะท้อนแบบนี้คือการ “Guide” ลำคลื่นจนกว่ามันจะไปถึง Receiver มักใช้ในการสะท้อนคลื่นไปยัง Receiver ที่ต้องการการบำรุงรักษาสูง มีน้ำหนักมาก หรือระบบ Receiver ซับซ้อนเกินกว่าที่จะเอาไปไว้ใกล้ ๆ Feed Horn จึงจำเป็นต้องสะท้อนสัญญาณจนกว่ามันจะลงมาถึง Receiver ที่ชั้นล่าง
ซึ่งการสะท้อนทุกครั้งจะต้องแม่นยำพอสมควรเพื่อไม่ให้สัญญาณบางส่วนเกิดการ Distort ระบบแบบ BWG นี้จะจำเป็นใน Receiver ที่มีความไวสูงและต้องการการหล่อเย็นแบบมหาศาลเพื่อลดสัญญาณรบกวนอย่าง Cryogenic Cooling ซึ่ง Receiver ความไวสูงนั้นใช้สำหรับขยายสัญญาณที่มีกำลังอ่อนมาก ๆ และการขยายสัญญาณนั้นอาจทำให้ Noise เพิ่มขึ้นมาด้วย (อารมณ์เหมือนเอาภาพมืด ๆ มาเร่งแสง Noise ก็จะโผล่) Receiver Package จึงจำเป็นต้องมีการหล่อเย็นเพื่อลดสัญญาณรบกวนจากตัวพวกมันเอง ซึ่งจานที่ใช้ BWG ส่วนใหญ่จะเป็นจาน DSN ใน Deep Space Communication Network
และอีกดีไซน์ก็คือดีไซน์แบบ Nasmyth ที่จะมีตัวสะท้อนตัวที่ 3 หรือ Tertiary Reflector เพื่อสะท้อนสัญญาณจาก Feed Horn ไปยัง Receiver อีกที
จานที่ใช้ดีไซน์แบบ Nasmyth ก็อย่างเช่น Owens Valley Radio Observatory (OVRO) ของ Caltech
หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ (TNRO)
กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติหรือ TNRO ณ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ของ NARIT นั้นเป็นดีไซน์แบบ Cassegrain-Nasmyth ผสม Front Feed ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางจาน 40 เมตร มีต้นแบบมาจากกล้องที่ Yebes Observatory
Cassegrain-Nasmyth นั้นเป็นการผสมกันระหว่าง Design แบบ Cassegrain และ Nasmyth ซึ่งข้างในนั้นมี Receiver หลายตัวที่สามารถปรับระบบสะท้อนสัญญาณไปยัง Receiver ที่แตกต่างกันได้ นอกจากนี้ความพิเศษของกล้องอันนี้คือการที่มันผสมระบบแบบ Front Feed เข้ามาด้วยคือบริเวณ Subreflector นั้นมันสามารถพลิกเป็น L Band Receiver เพื่อรับสัญญาณช่วงคลื่น L Band ได้ จึงทำให้กล้องตัวนี้จะมีสองโหมดการทำงานคือ “Cassegrain Mode” และ “Front Feed Mode”
จึงทำให้กล้องตัวนี้สามารถติดตั้ง Receiver เพื่อให้มันครอบคลุมช่วงคลื่นได้เป็นจำนวนมากจากการผสมผสานกล้อง 3 แบบเข้าด้วยกันนั่นเอง นอกจากนี้กล้องตัวนี้ยังสามารถติดตั้งระบบสำหรับส่งสัญญาณเพื่อใช้ในการสื่อสารกับยานอวกาศสำหรับรองรับกับภารกิจอวกาศในอนาคตอย่าง Thai Space Consortium ได้อีกด้วย
ในตอนนี้เหลือเพียงแค่ทำการยึดจานเข้ากับตัวฐานของจานและแกนหมุนพร้อมกับการ Counterweight balance ของตัวจานเวลาหมุน การติดตั้งจาน VGOS (VLBI 2020 Global Observing System) ขนาด 13 เมตรเพิ่มเติมสำหรับการรองรับการทำงานร่วมกับ VLBI Network และการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในหอสังเกตการณ์ก็จะเป็นอันเสร็จสิ้นการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งแรกของไทย
สามารถอ่านได้ในบทความ Thai National Radio Telescope พาชมกล้องโทรทรรศน์วิทยุของคนไทย 40 เมตร เจาะลึกการทำงาน
บทความอื่น ๆ เกี่ยวกับจานวิทยุ
- รู้จัก Telescope Array เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทั่วโลก เบื้องหลังการค้นพบทางดาราศาสตร์
- กว่าจะเป็นรูปถ่ายหลุมดำรูปแรก ฟิสิกส์ คอมพิวเตอร์ วิศวกรรม
- Deep Space Network คืออะไร เบื้องหลัง การสื่อสารของภารกิจสำรวจอวกาศห้วงลึก
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO