Sentinel-6 Michael Freilich และ ภารกิจการวัดระดับนำทะเลต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1992

ดาวเทียม Sentinel-6 Michael Freilich (S6MF) หรือ Jason-CS เดิมชื่อว่า Sentinel-6A เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Copernicus ภายใต้ความร่วมมือของ ESA, EUMETSAT, NASA และ NOAA ซึ่งถูกปล่อยเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2020 หลังใช้เวลากว่า 6 เดือนในการปรับวงโคจรขึ้นไปที่ Low Earth Orbit ที่ความสูง 1,336 กิโลเมตรเนื้อพื้นดิน ตอนนี้มันก็พร้อมแล้วสำหรับการเริ่มภารกิจของมัน

Sentinel-6 Michael Freilich เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Sentinel-6 ซึ่งประกอบไปด้วยดาวเทียมแบบเดียวกัน 2 ดวงปล่อยห่างกัน 5 ปี โดยดวงแรก คือ Sentinel-6 Michael Freilich หรือ Sentinel-6A ซึ่งถูกปล่อยเมือปี 2020 ส่วนดวงที่สอง คือ Sentinel-6B ซึ่งมีแผนจะปล่อยในปี 2025 ตามไปสมทบ Sentinel-6A

ภาพจำลองของดาวเทียม Sentinel-6 Michael Freilich – ที่มา NASA

โครงการ Sentinel-6 นั้นเป็นโครงการสานต่อ (Continuity of Service) ภารกิจการวัดระดับนำทะเลของโลกครอบคลุมพื้นที่กว่า 90% ทั่วโลกซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ภารกิจ TOPEX/Poseidon เมื่อปี 1992 ตามมาด้วยภารกิจ Jason-1, Jason-2, Jason-3, Sentinel-3A และ Sentinel-3B ตามลำดับ โดยก่อนหน้าของการปล่อย S6MF นั้น เหลือดาวเทียมสำรวจมหาสมุทรเพียงแค่ไม่กี่ภารกิจเท่านั้นที่ยังทำงานอยู่ซึ่งก็คือ Jason-3 และ Sentinel-3 ที่เลยอายุภารกิจ 5 ปีของมันไปแล้ว นอกนั้นเสียหรือถูกปลดระวางไปหมดแล้ว ทำให้จะต้องหาดาวเทียมอย่าง Sentinel-6 มาสานต่อภารกิจนั่นเอง

หลังการปล่อยเมื่อปี 2020 S6MF ใช้เวลากว่า 6 เดือนในการปรับวงโคจรของมันขึ้นไปตาม Jason-3 โดยมันถูกปรับให้อยู่ห่างจาก Jason-3 ประมาณ 30 วินาที หมายความว่าดาวเทียม S6MF จะเคลื่อนที่ตาม Jason-3 แต่ตำแหน่งจะตามหลังช้าประมาณ 30 วินาที หลังจากนั้นวิศวกรของดาวเทียมทั้งสองจะทำการ Cross-calibration เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่ได้จากทั้งสองดาวเทียมนั้นแม่นยำ ก่อนที่จะใช้ S6MF เป็นดาวเทียมสำรวจมหาสมุทรหลักแทน Jason-3

ข้อมูลการเพิ่มลดจากระดับน้ำทะเลปานกลางจากดาวเทียม Sentinel-6 Michael Freilich (S6MF), Jason-3 (JA3), Sentinel-3A (S3A) และ Sentinel-3B (S3B) – ที่มา NASA

ข้อมูลระดับน้ำทะเลที่ถูกส่งกลับมายังโลกจาก S6MF สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชุดข้อมูล คือ ข้อมูลระดับน้ำทะเลค่าความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 5.8 เซนติเมตร ข้อมูลชุดที่สองจะเป็นข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อนไม่เกิน 3.5 เซนติเมตร ซึ่งจะถูกใช้ในการพยากรณ์สภาพอากาศและความรุนแรงของคลื่นในแต่ลที่ที่ของโลกซึ่งจะช่วยให้เราสามารถพยากรณ์การก่อตัวของพายุเฮอริเคนล่วงหน้าได้นั่นเอง

ภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลจากระดับน้ำทะเลปานกลางระหว่างวันที่ 5 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน โดยสีแดง คือพื้นที่ที่มีระดับน้ำทะเลสูงกว่าปกติ สีน้ำเงิน คือ พื้นที่ที่มีระดับน้ำทะเลต่ำกว่าปกติ – ที่มา NASA Earth Observatory

เนื่องจากพลังงานกว่า 90% จากดวงอาทิตย์ถูกดูดซับโดยมหาสมุทรบนโลกรวมกับการที่ความเข้มข้นของแก๊สเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้พลังงานที่ผ่านชั้นบรรยากาศของโลกเข้ามาไม่สามารถสะท้อนออกไปได้ตามปกติ ซึ่งเราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Radiative Forcing ทำให้มหาสมุทรได้รับพลังงานความร้อนมากกว่าปกติและเกิดการขยายตัวทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อการก่อตัวของพายุโดยตรง

อ่านบทความเกี่ยวกับ Radiative Forcing ได้ที่นี่ – รู้จักกับ Radiative Forcing เมื่อโลกเสียสมดุลทางพลังงานจากการแผ่รังสี

นอกจากนี้การติดตามข้ออมูลระดับน้ำทะเลยังสามารถให้ข้อมูลกับนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มของระดับน้ำทะเลจากการละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกซึ่งมีแน้วโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

Major Ocean-Observing Satellite Starts Providing Science Data

NASA, US, European Partner Satellite Returns First Sea Level Measurements

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.