SpaceX ได้ปล่อยดาวเทียมน้ำหนัก 5,200 กิโลกรัมขึ้นสู่วงโคจร GTO จากฐานปล่อย LC-39A, ศูนย์อวกาศ Kennedy, รัฐฟลอริดา, ประเทศสหรัฐอเมริกาสำเร็จ โดยเป็นการนำจรวดท่อนแรกจากภารกิจ CRS-10 กลับมาใช้ใหม่ได้สำเร็จและยังกลับมาลงจอดบน Of Course I Still Love You ได้สำเร็จอีกด้วย
วันที่ 12 ตุลาคม 2017 เวลา 0553 ตามเวลาท้องถิ่นในประเทศไทย SpaceX ได้ทำการปล่อยจรวด Falcon 9 รหัส B1031 โดยเป็นการกลับมาใช้เป็นเที่ยวบินที่สองของจรวดท่อนนี้ พร้อมทั้งดาวเทียม SES-11/Echostar 105 น้ำหนัก 5,200 กิโลกรัม สู่วงโคจร GTO โดยดาวเทียมจะเข้าสู่วงโคจรค้างฟ้า (GEO) ด้วยเครื่องยนต์ของดาวเทียมที่ตำแหน่ง 105 องศาตะวันตกหลังจากแยกตัวจากจรวดท่อนที่ 2 ของ Falcon 9
รายละเอียดของ SES-11/Echostar 105
SES-11/Echostar 105 น้ำหนัก 5,200 กิโลกรัม ถูกสร้างและประกอบโดย Airbus Defence and Space SAS โดยใช้ดาวเทียมรุ่น Eurostar E3000 เป็นแม่แบบ เป็นภารกิจร่วมของ SES และ Eurostar โดยช่องสัญญาณ Ku-band แบบ 36Mhz ของ Echostar จำนวน 24 ช่องสัญญาณและ C-band ของ SES จำนวน 24 ช่องสัญญาณ จะไปทดแทนช่องสัญญาณ AMC-15 และ AMC-18 ที่กำลังจะปลดประจำการตามลำดับ
วงโคจร GTO คืออะไร
การปล่อยดาวเทียมไปยังความสูงค้างฟ้านั้่นใช้เชื้อเพลิงจำนวนมาก เราจึงนิยมปล่อยเข้าวงโคจร GTO แทนซึ่งสามารถเพิ่มน้ำหนักบรรทุกของจรวดได้ถึง 2 เท่าและช่วยลดปัญหาของขยะอวกาศที่เกิดจากจรวดท่อนบนอีกด้วย (หมายเหตุ : Falcon 9 ไม่มีการเข้า Parking Orbit เมื่อท่อนที่สองถึง Apogee ครั้งแรกที่ความสูง 275 km จะจุดเครื่องยนต์เพื่อเปลี่ยน Apogee ไปเป็นความสูงข้างฟ้าเลย)
การลงจอดสำเร็จ
หลังจากภาพหายไปชั่วครู่ ภาพของ B1031 (รหัสของจรวดท่อนแรกในเที่ยวบินนี้) (รายละเอียด) จอดนิ่งอยู่บน Of Course I Still Love You ที่ลอยอยู่กลางมหาสมุทรแอตแลนติก นับเป็นการลงจอดที่สำเร็จเป็นครั้งที่ 18
ข้อมูลเชิงสถิติของเที่ยวบินนี้
- เที่ยวบินที่ 43 ของ Falcon 9
- เที่ยวบินที่ 2 ของ B1031
- เที่ยวบินที่ 15 ที่ปล่อยโดย SpaceX ในปี 2017
- เที่ยวบินที่ 11 ที่ปล่อยโดย SpaceX จากฐาน LC-39A
- เที่ยวบินที่ 4 ที่ SES ซื้อการปล่อยจาก SpaceX
- เที่ยวบินที่ 4 ที่ SES ซื้อการปล่อยจาก SpaceX
- เที่ยวบินที่ 2 ที่ Echostar ซื้อการปล่อยจาก SpaceX
- เที่ยวบินที่ 3 ที่นำจรวดท่อนแรกที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เป็นครั้งที่ 2 ของ SES ครั้งที่ 1 ของ Echostar
- เที่ยวบินที่ 23 ที่พยายามนำจรวดท่อนแรกมาลงจอด
- เที่ยวบินที่ 18 ที่ลงจอดสำเร็จครั้ง โดยต่อเนื่องกันมาแล้ว 14 ครั้ง