วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2021 เพียงเกือบปีหลังการเริ่มต้นภารกิจ Solar Orbiter ซึ่งเป็นภารกิจร่วมกันระหว่าง ESA และ NASA ยาน Solar Orbiter สามารถถ่ายรูปการปลดปล่อยก้อนมวลสารจากดวงอาทิตย์ หรือ Coronal Mass Ejection (CME) ได้เป็นครั้งแรกจากกล้อง SoloHI (Solar Orbiter Heliospheric Imager) ของยานซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวังฝุ่นลมสุริยะและ Cosmic Ray ในบริเวณระหว่างดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์
และก็นับว่าเป็นโชคดีของยานที่สามารถจับภาพ CME อันแรกของมันได้ เนื่องจากยาน Solar Orbiter ยังไม่ได้เข้าสู่โหมดการทำงานทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ โดย Sensor ของ SoloHI ทั้ง 4 อันของยานทำงานที่เพียง 15% ของความสามารถทั้งหมดของมันเท่านั้น ยาน Solar Orbiter มีแผนเข้าสู่โหมดการทำงานทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2021
นอกจากที่ระบบการทำงาน SoloHI ของ Solar Orbiter ยังไม่พร้อม ณ ตอนที่มันถ่ายภาพ CME ได้แล้ว ตอนที่ทีมวิศวกรได้รับภาพถ่าย CME ดังกล่าว ยาน Solar Orbiter พึ่งจะโคจรผ่านด้านหลังของดวงอาทิตย์มาพอดีซึ่งระหว่างที่ Solar Orbiter ถูกดวงอาทิตย์บังนั้น มันจะไม่สามารถสื่อสารกับโลกได้และทีมของภารกิจก็ไม่ได้หวังว่ายานจะไปถ่ายอะไรได้ตอนที่มันอยู่หลังดวงอาทิตย์ด้วย เนื่องจากยานยังอยู่แค่ในขั้น Setup เท่านั้น
CME อันเดียวกันนี้เองก็ถูกยานอีกหลายลำถ่ายรูปไว้ได้ไม่ว่าจะเป็นยาน Extreme Ultraviolet Imager and Metis ของ ESA ที่ถ่ายภาพเคลื่อนไหวของ CME วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2021 ได้สอดคล้องกับเวลาตอนที่ Solar Orbiter ถ่ายได้พอดี
ยาน STEREO-A (Solar Terrestrial Relations Observatory) ของ NASA เองก็สามารถตรวจจับการเกิด CME ดังกล่าวได้ด้วย Sensor COR2 ของมันที่อาศัยหลักการนำแผ่นจาน (Coronagraph) มาบังตรงดวงอาทิตย์เพื่อบังแสงที่สว่างของมันเพื่อให้สามารถมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ดวงอาทิตย์ได้นั่นเอง
จากข้อมูลดังกล่าว ทีมนักวิทยาศาสตร์บนโลกจาก Moon to Mars Space Weather Analysis Office ของ NASA ก็ได้พล็อตโมเดลทิศทางของ CME ดังกล่าวโดยอิงข้อมูลจากยานต่าง ๆ มาพล็อตเพื่อให้เห็นว่ามวลสารจาก CME ถูกปล่อยไปโดนยานลำไหนบ้างซึ่งการที่เราทราบว่ายานลำใดถูก CME เคลื่อนที่ผ่านจะทำให้เราสามารถใช้ Sensor บนยานเหล่านี้ศึกษา CME เพิ่มเติมได้นั่นเอง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง