Public Space หรือพื้นที่สาธรณะเป็นอีกหนึ่งในสิ่งที่ประเทศไทยต้องการ ในเมืองที่เราเดินไปไหนก็เจอแต่ห้าง แล้วถ้าจะอ่านหนังสือต้องไปที่ไหน ถ้าจะซ้อมเต้นต้องไปที่ไหน ถ้าจะดูดาวต้องไปที่ไหน โชคดีที่ในไทยของเรามีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติหรือ NARIT คอยสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้ด้วยการสร้างหอดูดาวภูมิภาคที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้บริการ และมีกิจกรรมดูดาวกับกล้องโทรทรรศน์กันได้ฟรีทุกวันเสาร์ รวมถึงโรงเรียนในบริเวณนั้นสามารถพาเด็ก ๆ เข้าไปทัศนศึกษากันได้
NARIT สร้างหอดูดาวที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปใช้บริการและสนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเรื่อย ๆ มาแล้วกว่า 3 แห่ง ตั้งแต่อุทยานดาราศาสตร์ สิรินธร ที่เชียงใหม่, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา และที่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวก็คือ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดสงขลา
พาเที่ยวหอดูดาวสำหรับประชาชน สถานที่ท่องเที่ยวทางดาราศาสตร์ ฟรี
วันนี้ทีมงาน Spaceth ได้รับเชิญพิเศษมาจากทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ บินมาที่จังหวัดสงขลา เพื่อเยี่ยมชมหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ก่อนเปิดให้เข้าชมได้จริง และก่อนการเสด็จฯ เปิดอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2562
นั่นทำให้สิ่งที่เราจะได้เห็นนี้ทุกอย่างล้วนใหม่แกะกล่อง เรียกได้ว่าเป็นสื่อเจ้าแรก ๆ ที่ได้เดินทางเข้ามาเยี่ยมชม แม้กระทั่งกล้องโทรทรรศน์ที่เราใช้ในการดูดาวกันในวันนั้นก็เพิ่งจะประกอบกันยังไม่ได้ทำ Polar Alignment เลย ทำให้ต้องใช้ระบบ Manual หมด
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นี้ ตั้งอยู่บนภูเขาไม่ห่างจากตัวเมืองสงขลาและสามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถรับส่งของทาง NARIT ขึ้นมา ด้วยตำแหน่งที่ตั้งในภาคใต้ บริเวณละติจูด 7 องศาเหนือ ส่งผลให้หอดูดาวแห่งนี้ มีจุดเด่นคือ สามารถศึกษาวัตถุในซีกฟ้าใต้ได้ดีกว่าหอดูดาวในภูมิภาคอื่น รวมถึงสามารถมีวิวที่มองเห็นทั้งตัวเมืองสงขลา ทะเลสาบสงขลา และอ่าวไทยได้ในมุมเดียวกัน
หอดูดาวแห่งนี้มีความเป็นพิเศษตรงที่ว่า สามารถมาเที่ยวในเวลากลางวันได้ เนื่องจากไม่ได้มีกิจกรรมดูดาวอย่างเดียว แต่มีความพิเศษก็คือเป็นแหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์อย่างอื่นได้ด้วย โดยในบริเวณหอดูดาวจะมีอาคารหลายอาคารด้วยกัน และจะมีกิจกรรมให้ทำแตกต่างกันไป ตั้งแต่
- ท้องฟ้าจำลอง กับเครื่องฉายดาวในระบบ Full Dome Digital ซึ่งนอกจากใช้ฉายดาวแล้วยังสามารถปรับเปลี่ยนให้รองรับงาน Event ต่าง ๆ หรือ Talk ได้ด้วย
- อาคารนิทรรศการ จัดแสดงนิทรรศการต่าง ๆ ให้ความรู้ด้านดาราศาสตร์ เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม ๆ
- ร้านอาหาร คาเฟ่ ชมวิวเมืองสงขลา บรรยากาศยิ่งกว่า Rooftop พร้อมจุดชมวิวต่าง ๆ สวยทั้งเวลากลางวันและกลางคืน
ซึ่งท้องฟ้าจำลองของหอดูดาวแห่งนี้นั้นรองรับที่นั่งมากกว่า 50 ที่นั่ง และใช้เครื่องฉายแบบดิจิทัลกับเทคนิคพิเศษคือใช้ Gray Screen คือฉากฉายสีดำ ที่ทำให้ภาพที่ปรากฏมีสีดำที่ดำสนิท (Contrast Ratio สูง) ฉายดาวได้สวยงามสมจริง รวมถึงเก้าอี้ที่ได้รับการออกแบบองศามาอย่างเป็นพิเศษ เหมาะแก่การนอนดูดาวโดยเฉพาะ
ซึ่งค่าบริการของท้องฟ้าจำลองนั้น เรียกได้ว่าถูกมาก ๆ เพียงแค่ 50 บาทสำหรับประชาชนทั่วไป และ 30 บาทสำหรับนักเรียนนักศึกษา โดยจะมีภาพยนต์ต่าง ๆ ผลัดเปลี่ยนกันมาฉายตามโอกาส อัพเดทใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ในส่วนของนิทรรศการจัดแสดงนั้น จะเป็นการรวมรวมเอาความรู้ต่าง ๆ ในทางดาราศาสตร์มาจัดแสดง มีของเล่นให้เล่นได้ศึกษากันมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ หรือแม้กระทั่งเครื่อง Cloud Chamber สำหรับการตรวจจับอนุภาค Cosmic Ray ก็มีการนำมาจัดแสดงพร้อมเปิดให้ดูกันด้วย
พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สามารถทำนิทรรศการอื่น ๆ มาลงเพิ่มได้อีก ดังนั้นเราหวังว่าจะได้เห็นนิทรรศการต่าง ๆ เข้ามาจัดแสดงเป็นแหล่งเรียนรู้กันได้อีกมากในอนาคต
สำหรับใครที่จะเดินทางมาชมแนะนำให้เผื่อเวลามานาน ๆ เพราะก่อนพระอาทิตย์ตกดินแล้วเริ่มดูดาว ก็จะมีกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ชมภาพยนตร์ในท้องฟ้าจำลอง ชมนิทรรศการ หรืออื่น ๆ อีกมากมายให้ได้ทำกัน ไม่ใช่แค่ดูดาวอย่างเดียว
ความสวยงามของหอดูดาวยามค่ำคืน และกิจกรรมดูดาว
หลังจากที่ชมบริเวณกิจกรรมต่าง ๆ กันแล้วความพิเศษของหอดูดาวแห่งนี้ก็คือการได้ดูดาวซึ่งจะเน้นไปที่การสังเกตการณ์ท้องฟ้าในซีกฟ้าใต้ซึ่งเป็นหอดูดาวภูมิภาคที่อยู่ใต้ที่สุดของประเทศไทย และเป็นบริเวณที่ท้องฟ้าค่อนข้างดีเนื่องจากอยู่ริมทะเลส่วนหนึ่ง และยังสามารถสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในช่วงฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนได้
สำหรับในส่วนของอาคารหอดูดาว จะใกล้เคียงกับกล้องขนาด 0.7 เมตรที่อำเภอแม่ริมจังหวัดเชียงใหม่ และมีเทคนิคการก่อสร้างที่ใกล้เคียงกันคือแยกตัวเสาเข็มของกล้องกับเขาเข็มของตัวอาคารต่างกัน ทำให้เวลาที่มีคนเดินกล้องจะไม่สั่น
ตัวกล้องที่เป็นกล้องสังเกตการณ์หลักของหอดูดาวแห่งนี้คือกล้อง 0.7 เมตร ที่เปิดให้ใช้งานมาได้พอสมควรแล้ว และมีส่วนสำคัญในงานวิจัยดาราศาสตร์ไทยทั้งของระดับเยาชนและสถาบันวิจัย, มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สามารถ Remote เข้ามาใช้งานได้
ที่เพิ่มเข้ามาก็คือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีกหลายตัวที่เราสามารถเข้ามาใช้บริการ ส่องดูวัตถุท้องฟ้ากันได้ โดยมีการออกแบบมาให้ประชาชนเข้ามาใช้บริการได้ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย และจะมีเจ้าหน้าที่ของสถาบันคอยให้ความรู้ ในทุกคืนวันเสาร์ หรือ NARIT Public Night
และถ้าโชคดีกล้องไม่มีการใช้งานทางดาราศาสตร์ เราก็มีโอกาสที่จะได้ส่องดูวัตถุท้องฟ้าจากกล้อง 0.7 เมตรด้วยตาเปล่า ทำให้เห็นวัตถุท้องฟ้าได้ชัดกว่าเดิม และด้วยขนาดของกล้องที่ปกติจะใช้งานกับเซนเซอร์รับภาพเท่านั้น ทำให้การชมวัตถุท้องฟ้าด้วยตาเปล่ากับกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่หาชมได้ยาก
ทีมงานมีโอกาสได้ลองเล่นกล้องโทรทรรศน์ตัวใหม่แกะกล่องที่ยังไม่ได้ทำการ Polar Aligment ด้วยซ้ำในการสังเกตวัตถุท้องฟ้าดู วันที่เราไปนั้นเป็นช่วงครบรอบ 50 ปีการเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ของภารกิจ Apollo 11 จึงได้ลองใช้กล้องดังกล่าวถ่ายภาพดวงจันทร์เล่น ๆ ดู ซึ่งภาพที่ได้เกิดจากการนำโทรศัพท์ iPhone ปกติถ่ายผ่าน Eyepiece
จะสังเกตว่าแม้ไม่ได้เป็นกล้องตัวหลัก 0.7 เมตร แต่ก็สามารถเห็นรายละเอียดบนผิวของดวงจันทร์ ภูเขา หลุมและบ่อต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน ดังนั้นประสบการณ์ที่เราจะได้รับจากการมองผ่านกล้องโทรทรรศน์กว่า 3-4 ตัวที่เปิดให้ประชาชนมาลองเล่นกันได้ฟรี ๆ นั้นคุ้มค่ามาก ๆ กับการเดินทาง เพราะปกติเราคนธรรมดาทั่วไปคงไม่ได้เป็นเจ้าของกล้องเหล่านี้อยู่แล้ว
ดังนั้นเพื่อให้ได้ประสบการณ์การชมดาวที่หาที่ไหนไม่ได้ โดยเฉพาะสำหรับคนที่อยู่ในภาคใต้ควรหาโอกาสมาเยี่ยมเยือนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้กันซักครั้ง
ตั้งอยู่ที่ไหน เดินทางอย่างไร เปิดวันไหนบ้าง
สำหรับการเดินทางมายังหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ อยู่ไม่ห่างจากตัวเมืองสงขลาและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ สามารถเดินทางมาได้ด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือใช้บริการรถรับส่งของทางหอดูดาวขึ้นมาบนเขา
- เปิดให้บริการแก่ประชาชนในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป โดยเปิดให้บริการวันอังคาร – อาทิตย์
- ท้องฟ้าจำลองระบบฟูลโดมดิจิทัล ค่าธรรมเนียม นักเรียน/นักศึกษา 30 บาท บุคคลทั่วไป 50 บาท
- ส่วนนิทรรศการดาราศาสตร์ไม่เสียค่าธรรมเนียม และมีกิจกรรมดูดาว (NARIT Public Night) ทุกวันเสาร์ 18.00 – 22.00 น. ไม่มีค่าใช้จ่าย