ในวันนี้ SpaceX ก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ในภาคเอกชนของอุสาหกรรมอวกาศ พร้อมกับความสำเร็จในการนำจรวด Falcon 9 ที่ปล่อยแล้วกลับมาลงจอด จากนั้นนำกลับมาใช้งานใหม่อีกครั้ง ไปจนถึงการสร้างจรวดที่ทรงพลังที่สุดในยุคนี้อย่าง Falcon Heavy จนกระทั่งล่าสุดทาง SpaceX เองก็มีแผนที่จะส่งนักท่องเที่ยวไปยังดวงจันทร์กับจรวดลำใหม่ของพวกเขาที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งนั่นก็คงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครนึกเมื่อพูดถึงคำว่า SpaceX เมื่อสิบปีที่แล้ว
เพราะเมื่อตอนนั้นพวกเขากำลังจะล้มละลายอยู่แล้ว และทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับเที่ยวบินที่ 4 ของจรวด Falcon 1 นี้ ว่าพวกเขาจะได้ออกไปเปลี่ยนโลก หรือต้องออกไปเปลี่ยนงานกันแน่
วันแรกของ SpaceX
ย้อนไปในปี 2001 Elon Musk ได้มีไอเดียที่จะส่งเรือนกระจกบรรจุเมล็ดพันธุ์ไปปลูกบนดาวอังคารกับยานอวกาศ โดยหวังว่าไอเดียนี้จะช่วยกระตุ้นความสนใจในด้านอวกาศของภาคประชาชน และช่วยให้งบประมาณของนาซาเพิ่มขึ้นนั่นเอง แต่ Musk เองก็ฉุดคิดได้ว่าการไปดาวอังคารก็ยังเป็นการเดินทางราคาแพงอยู่ดี หากไม่มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาแทน
และในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เขาได้ร่วมเดินทางไปยังรัสเซีย เพื่อหวังจะไปซื้อจรวด ICBM ที่ไม่ใช้งานแล้วกลับมา ซึ่งในตอนนั้น Musk ได้ถูกมองว่าเป็นแค่มือใหม่ในวงการ และสุดท้ายก็ต้องเดินทางกลับไปอย่างมือเปล่า ก่อนที่จะกลับมารัสเซียอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2002 ด้วยเป้าหมายเดิม ซึ่งในครั้งนี้ทางรัสเซียเสนอที่จะขายให้กับ Musk ในราคา 8 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งตัวเขาเองมองว่ามีราคาแพงเกินไป ก่อนจะออกจากการประชุมในทันที
ระหว่างเที่ยวบินกลับจากรัสเซียนั้น Musk เองได้ลองคำนวณต้นทุนที่จะต้องใช้ในการทำจรวด และได้พบว่าพวกเขาสามารถหั่นค่าปล่อยลงได้ถึง 10 เท่า ในขณะที่ยังคงได้กำไรขั้นต้นอยู่ถึง 70% ด้วยกัน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Space Exploration Technologies หรือที่รู้จักกันในนาม SpaceX ซึ่งถูกก่อตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2002 พร้อมกับเป้าหมายระยะยาวที่จะทำให้มนุษย์นั้นเป็นเผ่าพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนดาวหลากดวงในจักรวาลได้สำเร็จในสักวัน
สิ่งที่หวังที่ไม่เป็นดั่งหวัง
Musk ได้ตั้งชื่อจรวดรุ่นแรกของบริษัทไว้คือ Falcon 1 ซึ่งชื่อของมันได้รับแรงบันดาลใจมาจากยาน Millennium Falcon ในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars พร้อมกับกำหนดปล่อยครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2003 โดยการพัฒนาและปล่อยจรวด Falcon 1 ก่อนนั้นเพื่อเป็นการลดปัญหาทางการเงินในกรณีที่โปรเจคนี้ไม่สำเร็จ แต่แล้วปัญหาแรกก็ซัดเข้าใส่ SpaceX ตั้งแต่ยังไม่มีฐานปล่อยเลยด้วยซ้ำ
เพราะในตอนแรกพวกเขาอยากปล่อยจรวดจากฐานปล่อยที่ Vandenberg ซึ่งขับรถไปไม่กี่ชั่วโมงจากสำนักงานใหญ่ก็ถึงแล้ว แต่ที่นั่นก็ถูกบรรดายักษ์ใหญ่ในวงการจองคิวปล่อยไว้อย่างแน่นเอียดแล้ว และนั่นทำให้ SpaceX ต้องออกทะเลไปยังฐานทัพสหรัฐที่ตั้งอยู่ใจกลางมหาสมุทรแปซิฟิก และนั่นก็คือที่ตั้งของฐานปล่อยจรวด Falcon 1 บนเกาะ Omelek
24 มีนาคม 2006 เพียงสี่ปีหลังจากก่อตั้งบริษัท จรวด Falcon 1 ลำแรกได้ทะยานขึ้นจากฐานปล่อย แต่เพียง 33 วินาทีให้หลังก็พบว่ามีเชื้อเพลิงรั่วอยู่ในตัวจรวด และมันก็เผาไหม้จรวด Falcon 1 ไปอย่างช้า ๆ ก่อนที่จะตกลงสู่พื้นโลก ความพยายามครั้งแรกของ SpaceX ไม่ประสบผลสำเร็จดั่งที่คาดไว้
แต่ถ้านั่นยังเลวร้ายไม่พอ ความพยายามอีกสองครั้งในปี 2007 และปี 2008 ก็จบลงด้วยความล้มเหลวทั้งคู่ โดยในเที่ยวบินที่สองนั้นถูกปล่อยในวันที่ 21 มีนาคม 2007 และครั้งนี้จรวด Falcon 1 เดินทางออกไปแตะอวกาศเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ แต่มันก็ยังไปไม่ถึงวงโคจรที่ยานต้องการ ความพยายามครั้งที่สามเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2008 ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี จนกระทั่งตัว First Stage พุ่งเข้าชนกับ Second Stage หลังจากแยกตัว ตามคลิปที่เห็นด้านล่างนี้
ฤดูใหม่ ในพรหมแดนใหม่
เมื่อฤดูใหม่มาถึงในเดือนกันยายน ก็ถึงเวลาที่ SpaceX จะต้องลงไพ่ใบสุดท้าย โดยนำความผิดพลาดจากสามครั้งก่อนมาปรับแก้ให้ดีที่สุด พวกเขามีเวลาเพียงแค่ 8 อาทิตย์เท่านั้นที่จะผลิกชะตากรรมของบริษัท พวกเขาจะเดินตามเป้าหมายระยะาวที่จะทำให้มนุษย์เป็นสปีชี่ยส์ที่พบได้ทั่วไปในระบบสุริยะ หรือจะพับความฝันเหล่านั้นเก็บไว้ในลิ้นชัก แล้วออกไปทำงานอื่นแทน
28 กันยายน 2008 คือวันตัดสินชะตากรรม…
5…4…3…2…1…0…Liftoff
ภาพของจรวดที่ทะยานขึ้นจากฐานปล่อย และค่อย ๆ เร่งความเร็วขึ้นระหว่างไต่ระดับความสูงขึ้นไป จนการแยกตัวของ First Stage และ Second Stage ที่สมบูรณ์แบบ ต่อด้วยการเบิร์นได้ครบถ้วนตามที่ต้องการ ในตอนนี้ SpaceX ได้กลายเป็นบริษัทเอกชนเจ้าแรกที่สามารถส่งจรวดเชื้อเพลิงเหลวไปโคจรรอบโลกสำเร็จ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการพลิกโฉมการสำรวจอวกาศยุคใหม่อย่างเป็นทางการ
หลังจากภารกิจนั้นจรวด Falcon 1 ก็ได้พาดาวเทียมสำรวจโลกของมาเลเซียชื่อ RazakSAT ขึ้นสู่วงโคจรโลกได้สำเร็จในปี 2009 โดยนี่ถือเป็นดาวเทียมดวงแรกที่ SpaceX สามารถส่งขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ และเป็นดวงเดียวที่ถูกปล่อยโดย Falcon 1 อีกด้วย
หมื่นเส้นทางสู่สุดขอบฟ้า
จากบริษัทที่กำลังจะหมดตัว ในตอนนี้ทุกอย่างได้เป็นใจให้กับทาง SpaceX แล้ว โดยในเดือนธันวาคม 2006 พวกเขาได้รับสัญญามูลค่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐจากนาซา เพื่อทำการขนส่งเสบียงขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ แทนที่กระสวยอวกาศซึ่งกำลังจะปิดฉากลงในปี 2011 ซึ่งนี่ถือเป็นงบก้อนสำคัญที่ช่วยให้ SpaceX สามารถพัฒนาจรวด Falcon 9 และยาน Dragon ตามเป้าหมายได้สำเร็จ และในปี 2014 ก็ได้รับสัญญามูลค่า 2,600 ล้านเหรียญ เพื่อส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติอีกด้วย
โดย SpaceX นั้นเป็นบริษัทเอกชนเจ้าแรกที่สามารถนำยานอวกาศไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ พายานกลับสู่โลก ตามมาด้วยความสำเร็จในการนำจรวด Falcon 9 กลับมาลงจอด และนำมาใช้งานใหม่อีกครั้งได้สำเร็จ และนับจนถึงวันนี้ (22 กันยายน) SpaceX ได้ปล่อยจรวดมาแล้วทั้งสิ้น 67 ครั้งสู่เป้าหมายต่าง ๆ มากมายในอวกาศ
หากย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มันยากที่จะนึกว่าบริษัท ๆ หนึ่งที่กำลังจะหมดตัว จะเดินทางมาถึงจุดที่พวกเขามีเป้าหมายส่งคนไปดาวอังคารกับจรวดที่ใหญ่เชี่ย ๆ หรือ BFR นี้ได้ และเมื่อมองย้อนไปเราก็ได้เห็นว่าแค่ช่วงเวลา 10 ปีเท่านั้นพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงอุสาหกรรมการปล่อยจรวดได้มากมาย ซึ่งก็น่าคิดว่าอีกทศวรรษที่รออยู่ข้างหน้านี้เราจะได้เห็นอะไรบ้าง
สุดท้ายนี้มาดูสองคลิปจาก SpaceX ที่ห่างกันไม่ถึง 10 ปีเท่านั้น โดยคลิปแรกคือภารกิจที่ 4 ของจรวด Falcon 1 จรวดเชื้อเพลิงเหลวลำแรกที่ภาคเอกชนสามารถส่งขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ และคลิปที่สองก็คือการปล่อยจรวด Falcon Heavy จรวดที่ทรงพลังที่สุดแห่งยุคนี้
เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง:
NASA Spaceflight | SpaceX at 50 – From taming Falcon 1 to achieving cadence in Falcon 9
Ars Technica | Inside the eight desperate weeks that saved SpaceX from ruin
NASA | Commercial Orbital Transportation Services Demonstrations