SpaceX ปล่อยดาวเทียม Iridium NEXT ครั้งที่ 6 และดาวเทียมคู่หูที่คอยติดตามน้ำบนโลก

เมื่อเวลา 2:47 น. ของเช้าวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา SpaceX ได้ปล่อยจรวด Falcon 9 FT ขึ้นจากฐานปล่อย 4E ของฐานทัพอากาศ Vandenburg พร้อมกับดาวเทียม Iridium NEXT จำนวน 5 ลำ และดาวเทียม GRACE-FO 1-2 ขึ้นสู่วงโคจร Polar Orbit

และเพื่อเป็นการลดจำนวน Booster รุ่นเก่าลง การปล่อยในครั้งนี้จะไม่มีการเก็บกู้ตัว First Stage ของ Falcon 9 ซึ่งเคยขึ้นบินในภารกิจ ZUMA เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งดาวเทียมลึกลับดวงนี้ก็ลึกลับเกินกว่าที่เราจะสามารถหาเจอได้ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่) แต่ในภารกิจนี้ SpaceX ก็ได้ทดลองเก็บกู้ฝาครอบ ซึ่งในตอนนี้ยังไม่ทราบชะตากรรมว่าเป็นอย่างไร

อัพเดท 24 พฤษภาคม 13:49 น. | คุณ Eric Dalph ได้เผยแพร่ภาพที่เขาถ่ายเรือ Mr. Steven บนทวิตเตอร์ ซึ่งบนเรือจะเห็นฝาครอบทั้งสองข้างในสภาพที่ดีที่สุดเท่าที่ SpaceX ได้เคยพยายามมา

IRIDIUM-6/GRACE-FO MISSION

ภาพของจรวด Falcon 9 ขณะทะยานขึ้นจากฐานปล่อย – ที่มา SpaceX

สำหรับ Payload ของมันนั้นมีดาวเทียม Iridium NEXT จำนวน 5 ลำ ซึ่งนี่เป็นภารกิจที่ 6 ของ Iridium แล้ว โดยพวกเขาวางแผนจะส่งดาวเทียมทั้งสิ้น 75 ดวงขึ้นสู่วงโคจรไปทดแทนดาวเทียมสุดเข้า และดาวเทียมของ Iridium เป็นดาวเทียมสื่อสารเจ้าเดียวที่ครอบคลุมทั่วทุกมุมโลก

อีกชุดนึงที่เดินทางขึ้นไปด้วยก็คือดาวเทียม Gravity Recovery and Climate Experiment Follow-On หรือ GRACE-FO ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างนาซ่ากับ GFZ ของเยอรมัน ซึ่งตัวภารกิจ GRACE นั้นดำเนินมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว


GRACE-FO คือดาวเทียมฝาแฝดสองดวงที่โคจรไล่ตามกัน เพื่อใช้ตัวมันเองคอยติดตามการเคลื่อนที่ของน้ำบนโลก การเปลี่ยนแปลงในน้ำแข็งขั้วโลก น้ำใต้พื้นดินและปริมาณของน้ำในแม่น้ำและมหาสมุทร รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล

วิธีการทำงานของมันก็คือมันจะโคจริห่างกันในระยะ 220 กิโลเมตร และใช้อุปกรณ์วัดระยะระหว่างยานทั้งสองลำ ซึ่งมีความแม่นยำถึงขนาดของเซลล์เม็ดเลือดแดงเลยทีเดียว ซึ่งการเคลื่อนที่ของน้ำนั้นสามารถส่งผลต่อแรงจากความโน้มถ่วงที่กระทำกับยานได้ และการวัดระยะห่่างระหว่างยานทั้งสองนี้สามารถอธิบายการเคลื่อนที่และปริมาณของน้ำบนโลกได้

ที่มา :

SpaceX Press Kit

Phys.org

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138