ทำไมกระสวยอวกาศถึงเรียงลำดับตัวเลขภารกิจกันแปลก ๆ

เคยสงสัยกันไหม ว่าหลังจาก STS-9 ซึ่งเป็นภารกิจที่ 9 ของโครงการกระสวยอวกาศแล้ว ภารกิจต่อไปพวกเขาได้เลือกให้มันเป็น STS-41-B C D E ไล่ไปเรื่อย ๆ และยังมี STS-26-R STS-400 อีกด้วย ทำไมนาซ่าต้องเลือกตัวเลขแปลก ๆ มา ไม่ได้จะใบ้หวยอะไรใช่ไหม ไปดูคำตอบเรื่องวิธีการตั้งชื่อสุดพิศวงนี้กันได้เลย

เปลี่ยนเพราะกลัวเลข 13

ก่อนอื่นคือการตั้งชื่อกระสวยอวกาศในยุคแรก ๆ นั้นพวกเขาก็เรียงตามตัวเลขแบบปกติ คือไล่จาก 1-9 ซึ่งนั่นก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างไร แต่จนกระทั่งการมาของ STS-41-B ซึ่งมันเกิดขึ้นมาจากสองสาเหตุ คือเป็นการระบุข้อมูลของภารกิจลงไปให้ละเอียดยิ่งขึ้น เนื่องจากนาซ่ามีแผนจะปล่อยจรวดสูงถึง 50 เที่ยวบินต่อปี การไล่ตามตัวเลขแบบเดิมอาจจะดูยากเกินไป และความกลัวเลข 13 ของ James Beggs ผู้บริหารของนาซ่าในเวลานั้น (เพราะถ้าจำกันได้ภารกิจอพอลโล่ 13 นั้นเกือบทำให้ต้องเสียลูกเรือไปแล้ว) ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนระบบมา โดยระบบใหม่นี้สามารถระบุข้อมูลของภารกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้นดังนี้

ห้องควบคุมของภารกิจ STS-41-B ภารกิจแรกที่เปลี่ยนการเรียงลำดับภารกิจ – ที่มา NASA

 การตั้งชื่อรูปแบบใหม่จะเป็นแบบ STS-XX-A โดยให้ X แทนตัวเลข

STS นั้นย่อมาจาก Space Transportation System ซึ่งถูกใช้กับทั้ง 135 ภารกิจ
เลขตัวแรก คือปีงบประมาณที่ภารกิจนั้น ๆ ผ่านการอนุมัติ เช่น 4 ก็หมายถึงปี 1984 5 ก็หมายถึงปี 1985 เป็นต้น
ปล. ปีงบประมาณของสหรัฐนั้นเริ่มต้นที่วันที่ 1 ตุลาคม ไล่ไปจนถึง 30 กันยายน
เลขตัวที่สอง คือสถานที่ ๆ กระสวยอวกาศถูกปล่อยขึ้น ซึ่ง 1 หมายถึงฐานปล่อย 39-A และ 39-B ของ Kennedy Space Center สถานที่ปล่อยของมันมาโดยตลอด และ 2 หมายถึงฐานปล่อยที่ 6 จากฐานทัพอากาศ Vandenberg
ตัวอักษรอังกฤษ คือลำดับของภารกิจที่ถูกอนุมัติ ดังนั้น A คือภารกิจแรกไล่ไปเรื่อย ๆ
ดังนั้นแปลว่าภารกิจ STS-41-B ก็คือภารกิจที่สองในปีงบประมาณ 1984 ที่ถูกปล่อยจากฐานปล่อย 39A ของ Kennedy Space Center นั่นเอง ซึ่งระบบนี้ก็ได้ดำเนินไปเรื่อย ๆ จนถึงภารกิจ STS-51-L หรือภารกิจที่สูญเสียลูกเรือของกระสวยอวกาศชาเลนเจอร์ขณะกำลังเดินทางขึ้นสู่อวกาศ ทำให้นาซ่าต้องกลับมาคิดทบทวนแผนการของพวกเขาใหม่ทั้งหมด เนื่องจากในตอนนั้นกระสวยอวกาศเหลือเพียงแค่ 3 ลำเท่านั้น (Endeavour ถูกสร้างมาแทนที่ Challenger ในภายหลัง) ทำให้นาซ่ายอมแพ้กับการไล่ลำดับแบบแปลก ๆ และกลับมาเรียงตามตัวเลขแบบเดิม โดยเริ่มจาก STS-26-R ซึ่งตัว R ที่ต่อท้ายมานั้นเป็นการแสดงออกว่า Return to flight หรือเป็นการกลับมาสู่เที่ยวบินตามปกติอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปกว่า 2 ปีนั่นเอง และหยุดการใช้ระบบแบบใหม่ไปหลังจากผ่านไปเพียงแค่ 16 ภารกิจเท่านั้น

การทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าครั้งสุดท้ายของชาเลนเจอร์ กับภารกิจ STS-51-L – ที่มา NASA

ความยุ่งเยิงของระบบนี้

แม้การอธิบายในข้างต้นอาจทำให้ดูเหมือนว่าระบบนี้นั้นไล่ลำดับกันง่าย ๆ แต่แท้จริงแล้วเบื้องหลังของมันนั้นโคตรซับซ้อนมาก ๆ เหมือนกับนาซ่าพยายามจะตั้งชื่อโฟลเดอร์งานในคอมให้ไล่ลำดับกันดี ๆ แต่พอตั้งไปเยอะ ๆ แล้วก็ยอมแพ้กลางทางซะงั้น เช่นพวกเขามีภารกิจ STS-41-G แต่กลับไม่มีภารกิจ E และ F STS-94 ที่ปล่อยก่อน STS-93 ถึงสองปีเต็ม ๆ ยังไม่รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อ STS-41 STS-51 และ STS-61 ที่ได้ขึ้นบินจริง ๆ ในปี 1990 อีกด้วย ทำให้ระบบนี้มันชวนมึนหัวอย่างมาก แต่นาซ่าก็ยังพอมีคำอธิบายให้กับเราในเรื่องนี้อยู่บ้าง

เริ่มแรกคือพวกเขาไล่ลำดับภารกิจตามลำดับการอนุมัติ ไม่ใช่ลำดับการปล่อย โดยเฉพาะ STS-94 ซึ่งเป็นภารกิจแก้ตัวของ STS-83 ซึ่งเกิดปัญหาระหว่างขึ้นบิน และต้องกลับลงมายังโลกหลังจากขึ้นไปได้แค่ 3 วัน ทำให้นาซ่าอนุมัติภารกิจแก้ตัว คือเอายานลำเดิม ลูกเรือกลุ่มเดิมและภารกิจอันเดิมมอบให้พวกเขา และส่งขึ้นบินไปทำภารกิจต่อทันทีเมื่อยานของพวกเขาพร้อม ทำให้ STS-94 นั้นได้ทะยานขึ้นสู่อวกาศก่อน STS-85 เสียอีก

มี STS-300 STS-400 ด้วยหรอ

เหมือนกับครั้งที่แล้วที่ความเปลี่ยนแปลงมาพร้อมกับความสูญเสีย โดยในครั้งนี้เป็นของกระสวยอวกาศโคลัมเบีย ในภารกิจ STS-107 ที่แตกออกเป็นเสี่ยงระหว่างเดินทางกลับลงมายังโลก ซึ่งมันจะไม่เกิดความสูญเสียขึ้นถ้าลูกเรือได้ตรวจสอบข้อผิดพลาดนี้และมีภารกิจกู้ภัยสำรองอยู่ ทำให้ภารกิจกระสวยอวกาศนับตั้งแต่ STS-114 (เนี่ยไง เรียงลำดับกันแบบนี้อีกแล้ว) ต้องเดินทางไปยังสถานีอวกาศนานาชาติอย่างเดียวเท่านั้น ยกเว้นภารกิจ STS-125 ที่ไปซ่อมกล้องฮับเบิล และพวกเขาต้องทำภารกิจกู้ภัยสำรองไว้กับทุกภารกิจ แต่ยกเว้น STS-135 ที่เป็นภารกิจสุดท้ายของโครงการกระสวยอวกาศแล้ว พวกเขาเลยไม่มียานกู้ภัยรองรับ แต่จะค่อย ๆ กลับมาพร้อมกับยานโซยูสของรัสเซีย

กระสวยอวกาศกับสถานีอวกาศนานาชาติ จุดหมายปลายทางเดียวในบั้นปลายชีวิตของมัน – ที่มา esa

ภารกิจกู้ภัยเหล่านี้จะมีชื่อว่า STS-3XX ซึ่งลูกเรือที่เป็นทีมกู้ภัยนั้นคือลูกเรือกลุ่มที่จะได้บินขึ้นในภารกิจต่อไป เช่นลูกเรือที่เป็นทีมกู้ภัยของ STS-134 จะได้ชื่อ STS-335 และพวกเขาจะขึ้นบินกับภารกิจ STS-135 แต่อย่างที่กล่าวไว้ล่วงหน้าว่าระบบการตั้งชื่อก็ยังยุ่งยากเหมือนเคย ดังนั้นเราจะได้เห็น STS-300 มารอกู้ภัยสองภารกิจ ต่อจาก STS-301 คือ STS-117 และไม่มี STS-321 เป็นต้น

อ่านเรื่อง STS-400 ภารกิจกู้ภัยกลางอวกาศที่ไม่เกิดขึ้นจริง ได้ที่นี่

ที่จริงแล้วระบบการตั้งเลขของกระสวยอวกาศนั้นชวนให้ผู้เขียนมึนหัวกับมันมาก แต่เราก็ควรสงสารทีมงานของนาซ่าเช่นกัน เพราะเมื่อตัวเลขมันถูกตั้งขึ้นมาแล้วพวกเขาไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย แต่ก็เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ และสร้างความมันส์ให้กับการไล่ข้อมูลของทีมงานได้อีกด้วย (เราจะโดนตัวเลขเหล่านี้หลอนไปอีกนานแน่ ๆ)

ที่มา:

NASA

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138