รู้จักกับกลุ่มดาววัว จากตำนานสู่กลุ่มดาวยามค่ำคืน

กลุ่มดาววัว (Taurus) ถือเป็น 1 ใน 13 กลุ่มดาวจักรราศีที่เป็นกลุ่มดาวทางผ่านของดวงอาทิตย์ โดยกลุ่มดาวนี้มีความน่าสนใจหลายอย่างคือ เป็นกลุ่มดาวที่มีดาวสว่างที่สุดในบรรดาจักรราศี มีกระจุกดาวลูกไก่ที่คนไทยรู้จักกันดี รวมถึงยังเป็นส่วนหนึ่งของ “หกเหลี่ยมฤดูหนาว” ที่นักดูดาวมือใหม่ใช้ฝึกหากลุ่มดาวอีกด้วย

ในบทความนี้จะพาทุกท่านรู้จักกลุ่มดาวนี้ให้มากขึ้น ทั้งด้านดาราศาสตร์ที่จะรู้จักดาวต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นกลุ่มดาวนี้ รวมถึงเรื่องเล่าประวัติความเป็นมา ตำนานต่าง ๆ จนกลายเป็นกลุ่มดาววัวที่เรารู้จักกันครับ

ภาพจาก IAU

รู้จักตำนานของกลุ่มดาววัวกันก่อน

ก่อนที่จะส่องกล้องดูดาว ลองมาฟังเรื่องราวของวัวตัวนี้กันก่อน เพื่อเพิ่มอรรถรสในการดูมากขึ้น โดยวัวตัวนี้ไม่ใช่แค่วัวธรรมดา แต่เป็นถึงเทพ Zeus จำแลงกายเลยทีเดียว

เรื่องมันเป็นงี้ มันเริ่มจากนาง Europa กำลังเดินเก็บดอกไม้ลั้นลาอยู่ริมทะเล ด้วยหน้าตาที่อ่อนหวานเอวบางร่างน้อย ซุสเข้ามาเห็นก็โดนตกทันที แต่ด้วยความเป็นเทพสูงสุดอยากทำอะไรก็ต้องได้ อยากเอายูโรป้าเป็นเมีย ดังนั้นซุสเลยจำแลงกายเป็นวัวเผือกเข้ามายั่ว ยูโรปาเห็นวัวสีขาวก็ลองเข้าไปเล่น ลูบ ๆ คลำ ๆ พอติดใจทีเด็ดของวัวซุสแล้ว เลยตบท้ายด้วยการขึ้นขี่ ซุสหัวเราะในใจว่า เสร็จกู

ว่าแล้ววัวเผือกก็ซิ่งไปเลยจ้า วิ่งแล่นไปทั่วทวีป พร้อมทั้งข้ามน้ำข้ามทะเลมาปล่อยในเกาะครีต และอยู่กินจนมีลูกด้วยกัน 3 คน พร้อมทั้งแต่ตั้งให้เป็นราชินีแห่งเกาะครีตให้ด้วย และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องไป ซุสได้มอบของขวัญ 3 อย่าง และสร้างกลุ่มดาววัวบนท้องฟ้าให้ยูโรปาดูเล่น เพื่อให้นางระลึกถึงผัวที่กำลังจะกลับไป (คงเพราะโดน Hera เมียหลวงจับได้เลยต้องรีบกลับแหง)

ซุสในร่างวัวพายูโรปาหนี ที่มา – National Gallery of Art

จากเหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นต้นกำเนิดของ Taurus หรือกลุ่มดาววัวที่เราเห็นบนฟ้านี่เอง อย่างไรก็ตามก็มีความแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นวัวที่มีแค่ครึ่งตัว! ใช่ โดยปกติแล้วกลุ่มดาวรูปสัตว์มักจะวาดกันครบทั้งตัว มีหัวมีหาง แต่กลุ่มดาววัวดันมีแค่ครึ่งตัว คือแค่ส่วนหัวกับขาหน้า นับว่าเป็นความแปลกอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มดาวนี้

นอกจากนี้ จากที่ซุสพายูโรปาทัวร์ทั้งทวีป ทำให้ทวีปนั้นได้ชื่อว่า Europe แบบที่เราเรียนกัน นอกจากนี้กาลิเลโอยังเอาชื่อ Europa ไปตั้งเป็นชื่อดวงจันทร์ของดาวพฤหัสที่เขาค้นพบในปี 1610 ด้วย เพราะว่า Jupiter คือชื่อโรมันของ Zeus นั่นเอง และปัจจุบันนักดาราศาสตร์คาดหมายว่าดวงจันทร์ยูโรปาจะเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต เพราะค้นพบน้ำในรูปน้ำแข็งในปริมาณมหาศาล รู้จักดวงจันทร์ยูโรปาเพิ่มเติมที่นี่

ทวีป Europe และดวงจันทร์ Europa ต่างมีที่มาจากนางยูโรปา ที่มา – Wikimedia และ NASA

กลุ่มดาววัวหาไม่ยาก

อ่านตำนานเทพจบแล้ว ได้เวลาดูกลุ่มดาวนี้ซักที โดยปกติแล้ว คนที่ฝึกดูดาวจะเริ่มดูจากกลุ่มดาวนายพราน (Orion) เพราะถือเป็นกลุ่มดาวที่มีดาวสว่างจำนวนมาก หากรู้ตำแหน่งและทิศทางของดาวในกลุ่มดาวนี้แล้ว กลุ่มดาววัวจะอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีจุดเด่นคือดาว 5 ดวงเรียงกันเป็นรูปตัว V โดยจะมีดาวสว่างที่สุดอยู่ที่ปลาย ดาวนั้นคือ Aldebaran ซึ่งถือเป็นดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาววัว

กลุ่มดาววัวอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนายพราน ที่มา – Stellarium

เมื่อรู้ตำแหน่งของมันแล้ว ลองหากลุ่มดาวอื่นรอบๆ ซึ่งด้านขวาเป็นกลุ่มดาวแกะ (Aries) และด้านซ้ายจะเป็นกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini) ซึ่งทั้งสองเป็นกลุ่มดาวจักรราศีทั้งคู่ และทิศเหนือมีกลุ่มดาวสารถี (Auriga) กับดาว Capella ที่สว่างลำดับที่ 7 บนท้องฟ้า

เนื่องจากเป็นกลุ่มดาวจักรราศี ทำให้ดวงอาทิตย์เข้ามาสถิตในกลุ่มดาวนี้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม – 19 มิถุนายน (39 วัน) ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่สามารถเห็นกลุ่มดาวนี้ได้ และจะเห็นได้ตลอดคืนในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม

เดือนที่จันทร์เพ็ญที่เกิดในกลุ่มดาววัว จะเรียกว่า กัตติกามาส ซึ่งจะตกในเดือนพฤศจิกายน หรือวันเพ็ญเดือน 12 น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง♪ เอาเป็นว่าวันลอยกระทงครั้งต่อไป นอกจากชมจันทร์แล้ว ก็มาชมดาวด้วยล่ะกันนะ

 

รู้จักดาวและวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ ในกลุ่มดาววัวกัน

1 Aldebaran

เป็นดาวที่เห็นได้ชัดเจนมากเพราะอยู่ตำแหน่งตาวัว มีสถานะเป็นดาวยักษ์แดง อยู่ห่างจากโลก 65 ปีแสง มีความสว่างปรากฏ 0.86 เป็นดาวสว่างลำดับที่ 15 บนท้องฟ้า และเป็นดาวสว่างที่สุดในกลุ่มดาวจักรราศีทั้งหมด

ชื่อดาวนี้เป็นภาษาอาหรับ الدبران แปลว่าผู้ติดตาม เพราะดาวนี้จะวิ่งตามกระจุกดาวลูกไก่ที่ขึ้นมาก่อนนั่นเอง ซึ่งดาวนี้มีชื่อไทย ๆ ด้วย (ที่ยืมมาจากสันสกฤตอีกที) คือ “โรหิณี रोहिणी” แปลว่าสีแดง ซึ่งตรงกับสเปกตรัมดาวที่เห็นอยู่ในช่วงสีแดง

เปรียบเทียบขนาด Aldebaran กับดวงอาทิตย์ โดยอีก 5000 ล้านปีข้างหน้าดวงอาทิตย์ก็จะมีสภาพแบบนี้เช่นกัน ที่มา – Wikimedia

2 กระจุกดาว Hyades

อ่านว่าไฮยาเดส คือดาวต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นหัววัว (ยกเว้น Aldebaran) เป็นกระจุกดาวเปิดอยู่ห่างจากโลก 153 ปีแสง โดยจะสังเกตได้ว่าจะมีมันเรียงกันเป็นรูปตัว V และง่ายต่อการระบุว่าคุณมองเห็นกลุ่มดาววัวเรียบร้อย ขณะที่ชื่อ Hyades มาจากตำนานเทพกรีก เป็นกลุ่มพรายให้กำเนิดฝน (The Rainmaker)

3 กระจุกดาวลูกไก่ (Pleiades)

ภาษาอังกฤษอ่านว่า ไพล-อะ-เดส หรือ Messier 45 เป็นกระจุกดาวเปิดที่มีดาวฤกษ์อายุน้อยจำนวนมาก อยู่ห่างจากโลก 136 ปีแสง ซึ่งกระจุกดาวลูกไก่นี้มักจะเป็นบททดสอบความตาดีของมนุษย์ว่า มีกี่ดวง โดยปกติจะเห็น 7 ดวง แต่ที่จริงแล้วมันมีดาวอีกมากมายในกระจุกนั้น โดยทั้งหมดเป็นดาวสีฟ้าขนาดใหญ่ ที่ร้อนกว่าดวงอาทิตย์เสียอีก เรียกได้ว่าเป็นกระจุกดาวที่มีความร้อนแรงมากเลยทีเดียว

กระจุกดาวลูกไก่ มองด้วยตาเปล่าจะเห็นได้ 7 ดวง แต่ที่จริงแล้วมีดาวฤกษ์มากมายในนั้น ที่มา – NASA

กระจุกดาวลูกไก่นั้นถือว่ามีตำนานในหลายเวอร์ชั่นกันเลยทีเดียว สำหรับเวอร์ชั่นไทยแล้ว ดวงดาวก็คือลูกไก่ทั้ง 7 ตัวที่กระโดดเข้ากองไฟ เมื่อได้รู้ว่าแม่ตัวเองกำลังจะถูกเชือดเพื่อเป็นอาหาร และดวงวิญญาณลูกไก่ก็ขึ้นไปประดับเป็นดาวบนท้องฟ้า

ขณะที่เวอร์ชั่นยุโรปนั้นหนีไม่พ้นตำนานกรีก ซึ่งดาวทั้ง 7 ถูกเรียกว่า Seven Sisters หรือพี่น้องทั้ง 7 ประกอบด้วย Maia, Electra, Taygete, Alcyone, Celaeno, Sterope, Merope (อ่านว่า ไมอา, อิเล็กทรา, เทเจติ, อัลไซโอนี, ซีลีโน, สเตอโรปี, เมโรปี) โดยทั้ง 7 คนเป็นลูกของเทพ Atlas กับพรายน้ำ Pleione (ไพลโอนี) ทำให้ถูกเรียกว่า Pleiades และยังเป็นน้องสาวของ Hyades ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ด้วย ซึ่งทั้ง 7 นางต่างก็เป็นเป็นข้ารับใช้ของ Artemis ทั้งหมด

วันหนึ่ง Orion นายพรานที่ออกล่าสัตว์ตามปกติ (Orion เดียวกับกลุ่มดาวนายพรานนั่นแหละ) เข้าป่าไปเจอสาวงามจากวง Pleiades และนั่นแหละ โดนตกจากทั้ง 7 คน เรียกได้ว่า DD กันยกวงกันเลยทีเดียว ด้วยความอยากจับมือด้วย(หรือมากกว่านั้น) โอไรออนวิ่งไล่พวกนางไปรอบป่ารอบเขา ซึ่งทั้งหมดเห็นว่ายังไงก็โดนจับแน่ ๆ เลยขอให้อาร์เทมิสช่วย นางเลยจัดให้ เสกให้เป็นนกแล้วบินหนีขึ้นฟ้า กลายเป็นกระจุกดาว Pleiades ในที่สุด

นอกจากนี้ ดาวลูกไก่ในในภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า 昴 (Subaru) ซึ่งเป็นหนึ่งในยี่ห้อรถ และโลโก้ของซุบารุก็เป็นรูปดาวลูกไก่ด้วย แต่มี 6 ดวงจากปกติ 7 ดวง

โลโก้รถ Subaru เอามาจากดาวลูกไก่ ที่มา – Subaru

4 เนบิวลาปู (Crab Nebula)

หรือ Messier 1 เป็นเศษซากซุเปอร์โนวา หรือวาระสุดท้ายของดาวฤกษ์ ที่ระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อปี 1054 หรือเกือบ 1000 ปีที่แล้ว โดยมีหลักฐานจากบันทึกของชาวจีนและอาหรับในสมัยนั้น และมีความสว่างมากกว่าดาวศุกร์ถึง 6 เท่าในช่วง 23 วันแรก และมองเห็นได้ด้วยตาเปล่านานถึง 2 ปีเลยทีเดียว

ต่อมาในปี 1731 John Bevis นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษเข้ามาศึกษาเนบิวลานี้ และตั้งชื่อว่า Crab Nebula เพราะตอนส่องกล้องเห็นลักษณะคล้ายปู ก่อนที่ปี 1758 Charles Messier จะจัดเข้าในแคตาล็อกของวัตถุท้องฟ้าในชื่อ M1

ถ้าอยากจะดูเนบิวลาปู ต้องหากล้องโทรทรรศน์ดี ๆ ส่องในท้องฟ้าที่มืดสนิทไร้แสงรบกวน เพราะมีความสว่างแค่ 8.4 โดยมันจะอยู่ใกล้ ๆ กับดาว Zeta Tauri ที่อยู่ในตำแหน่งเขาวัว

สภาพหลังซุเปอร์โนวาของเนบิวลาปู มีสีสันที่สวยงาม ที่มา – NASA

5 ดาวอื่น ๆ

ดาวที่น่าสนใจดวงอื่น ๆ ในกลุ่มดาววัว เช่น Beta และ Zeta Tauri เป็นดาวในตำแหน่งเขาวัว Xi และ Omicron Tauri เป็นดาวในตำแหน่งขาหน้า อย่างไรก็ตามกลุ่มดาววัวนี้เป็นวัวแค่ครึ่งตัว มีแค่ส่วนหน้าเท่านั้น ไม่มีส่วนหลังหรือหางแบบกลุ่มดาวรูปสัตว์อื่น ๆ

 

สรุป

นับว่ากลุ่มดาววัวเป็นกลุ่มดาวที่มีความน่าสนใจหลายอย่าง ทั้งดวงดาวและวัตถุท้องฟ้าหลากหลายประเภท รวมทั้งตำนานเทพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เรียกได้ว่าได้ความรู้ทั้งทางดาราศาสตร์ และเทพปกรณัมกันเลยทีเดียว

หากใครที่ส่องกล้องดูกลุ่มดาวนี้ ลองดูวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ ให้เห็นด้วยตาตัวเองดูนะครับ ทั้งกระจุกดาวลูกไก่, เนบิวลาปู เพราะภาพที่เห็นจากตาตัวเองย่อมสวยงามกว่าภาพที่ถ่ายจากแหล่งอื่นเสมอ

 

อ้างอิง

Taurus Constellation | space.com

The Crab Nebula | space.com

Pleiades star cluster | EarthSky

The myth of Europa | greeka.com

สื่อออนไลน์ คอนเทนต์ด้านอวกาศ การสํารวจอวกาศ และการค้นพบใหม่ ๆ โดยเน้นสร้างสรรค์เนื้อหาที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย และสนุกไปกับความรู้ที่ได้รับ