พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะขนาดใกล้เคียงโลก ในเขตอยู่อาศัยได้ เป็นดวงแรกของกล้อง TESS

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS หรือ Transiting Exoplanet Survey Satellite ได้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีขนาดใกล้เคียงกับโลก ซึ่งโคจรอยู่ในเขตที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหรือ Habitable Zone เป็นดวงแรกของภารกิจได้สำเร็จ และนี่ยังเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ดวงที่เราเคยค้นพบได้อีกด้วย

ดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวนั้นคือ TOI 700 d หรือก็คือดาวเคราะห์ดวงนอกสุด (เท่าที่เราค้นพบได้) ของระบบดาว TOI 700 ที่อยู่ห่างจากโลกของเราไปราว 100 ปีแสง ในกลุ่มดาวปลากระโทงแทงของซีกฟ้าใต้ โดยดาวฤกษ์ของมันนั้นมีขนาดและมวลเพียง 40% ของดวงอาทิตย์ของเราเท่านั้น ซึ่ง TOI 700 d นั้นถูกค้นพบโดยวิธีการดูแสงที่หรี่ลงของดาวฤกษ์ ขณะที่ถูกดาวเคราะห์เคลื่อนผ่านหน้า หรือก็คือการ Transit นั่นเอง

อ่าน 5 วิธีที่นักดาราศาสตร์ใช้ในการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

อันที่จริงตอนแรกข้อมูลของดาว TOI 700 ถูกประเมินไว้ว่ามีขนาดใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ของเรามากกว่านี้ ซึ่งข้อผิดพลาดดังกล่าวถูกตรวจพบโดยนักดาราศาสตร์หลาย ๆ คน และหนึ่งในนั้นก็มี Alton Spencer นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ทำงานร่วมกับทีมของภารกิจ TESS

ภาพจำลองของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ TESS – ที่มา NASA

เมื่อข้อมูลของดาวฤกษ์ของมันถูกแก้ไข ทำให้ขนาดของดาวเคราะห์ดวงต่าง ๆ ก็ถูกตรวจสอบและปรับให้ถูกต้องตามไปด้วย นั่นทำให้นักดาราศาสตร์พบว่าดาวเคราะห์ดวงนอกสุดอย่าง TOI 700 d นั้นมีขนาดใหญ่กว่าโลกเพียง 20% และโคจรอยู่ในเขตที่มีสภาพเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต โดยมันใช้เวลา 37 วันในการโคจรรอบดาวฤกษ์หนึ่งรอบ

มาดูดาวเคราะห์อีกสองดวงกันบ้าง อย่าง TOI 700 b นั้นมีขนาดเกือบเท่ากับโลกของเราเลย แต่โคจรค่อนข้างใกล้กับดาวฤกษ์ของมัน โดยใช้เวลาเพียง 10 วันในการโคจรครบหนึ่งรอบเท่านั้น ส่วนของ TOI 700 c นั้นมีขนาดใหญ่กว่า 2.6 เท่าของโลก (ขนาดคือกึ่งกลางระหว่างโลกและดาวเนปจูน) ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่ามันจะเป็นดาวเคราะห์แก๊สมากกว่าดาวเคราะห์หิน และทั้งสามดวงถูกคาดการณ์ว่าโคจรรอบดาวฤกษ์แบบ Tidally locked หรือก็คือจะหันฝั่งเดียวเข้าหาดาวฤกษ์ของมันตลอดเวลา (เหมือนกับดวงจันทร์โคจรรอบโลก)

ภาพจำลองของระบบดาว TOI 700 และดาวเคราะห์ทั้งสาม – ที่มา NASA

การค้นพบในครั้งนี้ถูกนำเสนอในงานประชุม American Astronomical Society ครั้งที่ 235 ซึ่งในงานจะมีนักวิทยาศาสตร์มาร่วมกันนำเสนอการค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ ในด้านดาราศาสตร์ สำหรับการค้นพบนี้ถูกนำทีมโดย Emily Gilbert ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก

และนอกจากจะถูกค้นพบด้วยข้อมูลของกล้องโทรทรรศน์ TESS แล้ว นักดาราศาสตร์อีกกลุ่มที่นำโดย Joseph Rodriguez ยังได้ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Spitzer เพื่อช่วยยืนยันความถูกต้องของข้อมูลไปอีกทางด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อมูลจากกล้อง Spitzer ทำให้เราทราบขนาดของดาว และคาบการโคจรของมันได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

ข้อมูลที่ได้จากกล้อง Spitzer และ TESS จากการเคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์ของ TOI 700 d – ที่มา NASA

เนื่องจาก TOI 700 d นั้นอยู่ไม่ห่างไปจากโลกของเรามากนัก และดาวฤกษ์ของมันก็ค่อนข้างสว่าง รวมทั้งไม่มีการปล่อย Stellar flares หรือเปลวดาวฤกษ์ออกมา ทำให้เป็นหนึ่งในตัวเลือกชั้นดีสำหรับการสำรวจโดยกล้องโทรทรรศน์บนภาคพื้น รวมทั้งภารกิจกล้องต่าง ๆ ที่จะถูกส่งขึ้นไปสู่วงโคจรในอนาคต

ในตอนนี้เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าลักษณะบนพื้นผิวของดาวนั้นเป็นอย่างไร หรือมีชั้นบรรยากาศและส่วนประกอบแบบไหน แต่ด้วยข้อมูลที่เรามีอยู่ตอนนี้ นักดาราศาสตร์ก็ได้จำลองลักษณะสภาพของดาวขึ้นมาเป็นโมเดลต่าง ๆ ซึ่งไล่ตั้งแต่ดาวที่ปกคลุมไปด้วยน้ำ หรือไม่ก็ปกคลุมไปด้วยแผ่นดินทั้งหมด รวมไปถึงสภาพแบบดาวอังคารในยุคแรก ๆ ของระบบสุริยะ แต่ไม่ว่าจะเป็นโมเดลใด ๆ ก็ตาม สิ่งที่มีอยู่บน TOI 700 d นั้นจะแตกต่างจากสภาพที่เราพบบนโลกใบนี้อย่างแน่นอน

เรียบเรียงโดยทีมงาน Spaceth.co

อ้างอิง:

NASA Planet Hunter Finds Earth-Size Habitable-Zone World

TESS Mission’s First Earth-size World in Star’s Habitable-zone

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138