เมื่อปี 2020 หากใครได้ติดตามข่าวจะต้องเคยได้ยินอย่างแน่นอนว่าดาว Betelgeuse นั้นมีความสว่างน้อยลงหรือจางลง จนถึงขั้นที่ว่ามีข้อสันนิษฐานว่า Betelgeuse อาจจะระเบิดไปแล้วก็ได้ (ซึ่งเราได้ยืนยันไปแล้วว่าเป็นไปไม่ได้) ดาว Betelgeuse มีความสว่างดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายอาทิตย์ ก่อนที่ความสว่างของมันจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
อ้างอิงจากงานวิจัย The Mass-loss History of the Red Hypergiant VY CMa เหตุการณ์เดียวกันเคยเกิดขึ้นกับดาวที่เรียกได้ว่าใหญ่มาก ๆ และใหญ่กว่าดาว Betelgeuse เป็นอย่างมาก ดาว Betelgeuse เป็นดาวยักษ์แดงขนาดใหญ่ อยู่บริเวณกลุ่มดาว Orion แต่ดาวที่เรากำลังพูดถึงนี้ใหญ่กว่ามันเสียอีก มีชื่อว่า VY Canis Majoris
VY Canis Majoris เป็นดาว Red Hypergiant หรือจะเรียกว่ามหาดาวยักษ์แดงก็ได้ มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเรามาก ถ้าเอา VY Canis Major มาไว้แทนดวงอาทิตย์ ขนาดของมันจะครอบคลุมไปจนถึงวงโคจรของดาวพฤหัสและดาวเสาร์เลยทีเดียว นอกจากนี้มันยังสว่างกว่าดวงอาทิตย์ของเราถึง 300,000 เท่า
VY Canis Majoris ยังมีเส้นแม่เหล้กที่นำพาแก๊สและพลาสมาที่ร้อนยิ่งยวดพุ่งขึ้นสู่อวกาศอีกด้วย ซึ่งอาจพุ่งไปไกลกว่าระยะทางจากโลกไปดวงอาทิตย์ถึง 1,000 เท่าเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในดาวฤกษ์ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เราเคยรู้จักมาเลยก็ได้ว่าได้
อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานมานี้นักดาราศาสตร์พบว่า VY Canis Majoris กำลังประสบพบเจอกับชะตากรรมที่ Betelgeuse เคยเจอ นั้นก็คือ “ความสว่างที่ลดลง” แต่การมืดลงของ VY Canis Majoris นั้นรุนแรงกว่าครั้งที่เกิดขึ้นกับ Betelgeuse เป็นอย่างมาก ซึ่งน่าจะเป็นเพราะขนาดที่ใหญ่ของ VY Canis Majoris เองด้วย
ในกรณีของ Betelgeuse กล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble พบว่าที่มันมีความสว่างลดลงเกิดจากการที่มีฝุ่นมืดมาบดบังหน้าดาวฤกษ์ซึ่งเกิดจากการหมุนเวียนของแก๊สภายในดาวที่อาจคายฝุ่นพวกนี้ออกมา ทำให้เมื่อมองจากโลกถูกฝุ่นพวกนี้มาบังจึงมีความสว่างลดลง
สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับ Betelgeuse ได้ที่ – สรุปคลายข้อสงสัยบีเทลจุสสว่างลดลง ข้อมูลจากฮับเบิลเผย เพียงแค่มีฝุ่นบัง
แต่สิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับ VY Canis Majoris นั้นมีสเกลที่ใหญ่กว่ามาก เพราะว่าขนาดที่ใหญ่ของมัน จากข้อมูลของ Hubble พบว่า VY Canis Majoris มีการพ่นแก๊สและพลาสมาต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และอาจเกิดขึ้นมานานกว่า 100 – 200 ปีแล้ว ซึ่งกล้อง Hubble ถูกนำมาใช้ในการวัดและสังเกตทิศทาวของแก๊สพวกนี้รวมถึงคุณสมบัติต่าง ๆ ของมัน ซึ่งมีหลายการเคลื่อนที่ของแก็สมนอดีตที่สอดคล้องกับการลดลงของความสว่างของดาวช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่ VY Canis Majoris มีความสว่างลดลงเหลือ 1 ใน 6 ของความสว่างเดิม
VY Canis Majoris อาจเคยมืดจนถึงขั้นที่มีความสว่างปรากฏน้อยกว่าที่ตาเปล่าจะมองเห็นได้แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เราสามารถมองเห็น VY Canis Majoris ด้วยตาเปล่าได้ที่บริเวณกลุ่มดาวสุนัขใหญ่ (Canis Major) แต่ตอนนี้ทางเดียวที่จะมองเห็นมันได้คือต้องใช้กล้องโทรทรรศน์เท่านั้นแล้ว
โดย VY Canis Majoris นั้นใช้เชื้อเพลิงในการทำนิวเคลียร์ฟิวชั่นมากกว่า Betelgeuse ถึง 100 เท่า และการพ่นสสารแก๊สหรือพลาสมาของมันแต่ละครั้งนั้นอาจมีมวบมากกว่าดาวพฤหัสทั้งดวงถึง 2 เท่า
นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า VY Canis Majoris นั้นอาจจะมีความซับซ้อนมากกว่าที่เราคิดพอสมควร ในอดีตมันอาจเคยเป็นดาวในลำดับหลักธรรมดามาก่อน ก่อนที่เชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะหมดและขยายตัวกลายเป็นดาว Supergiant หลังจากนั้นจึงยุบตัวอีกครั้งเมื่อแกนกลางเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการฟิวชั่น จนเชื้อเพลิงใหม่ดังกล่าวหมดจึงขยายตัวอีกครั้งกลายเป็น Hypergiant ดังทุกวันนี้ ที่เรียกว่า Second-stage red supergiant
หมายความว่า VY Canis Majoris ในตอนนี้มีมวบเพียงครึ่งเดียวเทียบกับตอนที่มันเกิดนั่นเอง ที่มวบระดับนี้ เมื่อมันสิ้นอายุไขมันอาจจะไม่ระเบิดกลายเป็นซูเปอร์โนวาแต่ยุบตัวกลายเป็นหลุมดำโดยตรงเลยก็เป็นได้เช่นกัน
เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง