2010 – 2019

ช่วงเวลา 1 ทศวรรษที่ผ่านพ้นไปนั้น ได้มีเรื่องราวอวกาศที่น่าสนใจอยู่มากมาย ทั้งจุดเริ่มต้นของการเดินทางก้าวใหม่ ๆ ไปจนถึงการบอกลาเพื่อนเก่าของเรา และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา

มาเดินทางย้อนเวลากลับไปดูเรื่องราวอวกาศช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ไปพร้อมกับลิสต์ที่ทีมงาน Spaceth.co ได้รวบรวมมาไว้ด้านล่างนี้กันได้เลย


2010

เราเปิดทศวรรษนี้มาด้วยก้าวกระโดดที่สำคัญของภาคเอกชนในด้านการสำรวจอวกาศ โดยฝั่ง SpaceX ได้ปล่อยจรวด Falcon 9 เที่ยวบินแรกได้สำเร็จ ในขณะที่ NASA กำลังมองหาทางเลือกอื่นที่จะมาแทนที่กระสวยอวกาศ ซึ่งกำลังจะถูกปลดประจำการไปในไม่ช้านี้

SpaceX ได้ปล่อยจรวด Falcon 9 ออกเดินทางขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรก พร้อมกับนำยาน Dragon ขึ้นไปทดสอบในสภาพแวดล้อมที่มันถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งแรก

ตัวอย่างหินจากดาวเคราะห์น้อย Itokawa เดินทางกลับสู่โลกได้สำเร็จ บนยาน Hayabusa 2 ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่เราได้นำตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยเดินทางกลับมาถึงโลกได้

เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น : ญี่ปุ่นปล่อยยาน Akatsuki ออกเดินทางสู่ดาวศุกร์ / จีนปล่อยยาน Chang’e 2 ออกเดินทางสู่ดวงจันทร์


2011

นี่คือปีสุดท้ายที่กระสวยอวกาศอันแสนคุ้นตาของพวกเราทุกคนได้ทะยานขึ้นสู่อวกาศจริง ๆ ก่อนที่จะถูกเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์มาจนถึงทุกวันนี้ แต่ในขณะที่เราต้องบอกลาเพื่อนเก่า เราก็ได้รู้จักกับเพื่อนใหม่ ๆ ที่ออกเดินทางไปไกลในคนละมุมของระบบสุริยะของเรา

STS-135 ภารกิจสุดท้ายของโครงการกระสวยอวกาศได้สิ้นสุดลง ณ วันที่ 21 กรกฏาคม 2011 ปิดตำนานที่สานต่อกันมาตลอดเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ภารกิจแรกเริ่มขึ้นบินในปี 1981 และสิ้นสุดการก่อสร้างสถานีอวกาศนานาชาติอย่างเกือบเป็นทางการไปโดยปริยาย เมื่อการขนส่งชิ้นส่วนหลัก ๆ ของสถานีนั้นสำเร็จเสร็จสิ้นไปในภารกิจ STS-134 ในปีเดียวกัน

นับจากวินาทีที่กระสวย Atlantis ร่อนลงจอดบนรันเวย์ ก็ยังไม่มีมนุษย์คนไหนได้เริ่มออกเดินทางไปสู่อวกาศจากมาตุภูมิของสหรัฐฯ อีกเลย ซึ่งนับจนถึงตอนนี้ก็ล่วงเลยมา 9 ปีแล้วด้วยกัน

และแม้เราจะต้องบอกลาให้กับกระสวยอวกาศ ภารกิจที่เคียงคู่กับโครงการสำรวจอวกาศมานานกว่า 3 ทศวรรษด้วยกัน แต่ในปีนี้ฝั่งสหรัฐฯ ก็มีการปล่อยสองยานสำรวจอวกาศที่สำคัญ

เริ่มจากยาน Juno ที่ถูกวางแผนให้ออกเดินทางไปสำรวจดาวพฤหัส กับยาน Curiosity รถโรเวอร์สำรวจดาวอังคารที่ล้ำสมัยที่สุดเท่าที่เราเคยส่งไปดาวอังคาร

เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น : จีนปล่อยสถานีอวกาศ Tiangong-1 ขึ้นสู่วงโคจร / ยาน Dawn เข้าสู่วงโคจรรอบดาวเคราะห์น้อย Vesta / ยาน MESSENGER เข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธได้สำเร็จ


2012

ปีนี้เป็นครั้งแรกที่วัตถุจากโลก ได้เดินทางไปสู่สุดขอบระบบสุริยะของเราได้สำเร็จ พร้อมกับความสำเร็จในการออกเดินทางสำรวจวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะ รวมไปถึงเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่ไม่มีสหรัฐร่วมส่งมนุษย์ออกเดินทางสำรวจอวกาศด้วยยานอวกาศของประเทศตัวเอง

หลังจากเริ่มออกเดินทางในช่วงปลายปีที่แล้ว ในที่สุดยาน Curiosity ก็ได้ไปลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายมากนัก เพราะเมื่อกางสถิติการสำรวจดาวอังคารแล้วนั้น มีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่ส่งยานไปแล้วรอดใช้งานได้ ยังไม่รวมถึงปัจจัยที่ว่ายาน Curiosity นั้นมีน้ำหนักมากที่สุด และต้องใช้ระบบลงจอดที่ซับซ้อนที่สุดนับจนถึงปัจจุบันอีกด้วย

การลงจอดของยานนั้นถูกหน่วงด้วยเวลา 7 นาที ที่สัญญาณจากดาวอังคารจะเดินทางมาถึงโลกด้วยความเร็วแสง และในช่วงเวลา 7 นาทีนั้นก็เทียบเท่ากับเวลาที่ยานเริ่มแตะชั้นบรรยากาศ ไปจนถึงลงจอดบนพื้นผิว

ในตอนนี้เราทราบดีว่า Curiosity ลงจอดได้สำเร็จ และมันก็ได้ทำงานอยู่บนนั้นมานานกว่า 7 ปีแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาวและพายุฝุ่นมากมายมาอย่างเข้มแข็งจนถึงตอนนี้

อีกหนึ่งความสำเร็จของ SpaceX นั้นก็คือการที่ยาน Dragon ได้เข้าไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติได้สำเร็จ กลายเป็นบริษัทภาคเอกชนบริษัทแรกที่สามารถนำยานไปเชื่อมต่อได้ ก่อนที่พวกเขาจะได้รับสัญญา COTS กับ NASA เพื่อเป็นยานที่ใช้ในการขนส่งเสบียงขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ

ปีแห่งการพลิกโฉมหน้าวงการฟิสิกส์ เมื่อ CERN ที่มาพร้อมกับเครื่องเร่งอนุภาคตัวใหม่ LHC ได้สร้างการค้นพบครั้งใหญ่ คือการยืนยันการค้นพบอนุภาค Higgs Boson เจ้าของฉายา Got Particle แม้การค้นพบครั้งนี้จะเน้นไปในทางฟิสิกส์ แต่ก็เป็นบทพิสูจน์ว่าเนื้อหาสุดเนิร์ดกลับกลายเป็นกระแสที่พูดคุยกันทั่วไปได้ และกลายเป็นกระแสในทาง Popular Culture มากมาย

เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น : เกาหลีเหนือปล่อยจรวดและดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ / ยาน Dawn ออกเดินทางสู่ดาวเคราะห์แคระ Ceres / ยาน Chang’e 2 บินผ่านดาวเคราะห์น้อย Toutatis


2013

ปีนี้เป็นปีแห่งการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารอย่างแท้จริง โดยเรามีส่งยานอวกาศเพียงสองลำออกไปสำรวจอวกาศลึกเท่านั้น จากสองชาติในทวีปเอเชีย และเช่นเคยกับการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ ที่ก็ยังมีเพียงแค่รัสเซียกับจีนที่สามารถปล่อยจรวดส่งคนออกเดินทางสู่อวกาศได้เท่านั้น

14 ธันวาคม 2013 หลังจากที่ไม่มีใครได้ส่งยานเดินทางกลับไปมานานเกือบ 40 ปีด้วยกัน ในที่สุดจีนก็สามารถส่งยาน Chang’e 3 ไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ พร้อมกับรถโรเวอร์ Yutu และนี่ทำให้จีนกลายเป็นชาติที่ 3 ที่สามารถส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้อย่างนุ่มนวล ต่อจากโซเวียต/รัสเซีย และสหรัฐ

ในขณะเดียวกัน ISRO หน่วยงานอวกาศของอินเดียก็ได้ปล่อยยาน Mangalyaan ออกเดินทางไปสำรวจดาวอังคาร ซึ่งนี่เป็นภารกิจสำรวจอวกาศลึกภารกิจแรกของประเทศ และยังใช้งบประมาณน้อยกว่าหนัง The Martian เสียอีก

เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น : Luca Parmitano นักบินอวกาศชาวอิตาลี เกิดน้ำรั่วในชุดอวกาศขณะกำลังทำงานอยู่นอกยาน และต้องกลับเข้าในสถานีเป็นการฉุกเฉิน


2014

การลงจอดครั้งแรกบนดาวหาง ก้าวแรกของการพามนุษย์ยุคใหม่ออกเดินทางกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง และภาพยนตร์ Interstellar ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลาย ๆ คน พร้อมกับยานอวกาศของอินเดียเดินทางไปถึงดาวอังคารได้สำเร็จ และเป็นชาติแรกจากฝั่งเอเชียที่สามารถทำได้

67P/Churyumov–Gerasimenko คือดาวหางดวงแรกที่ถูกยานอวกาศของมนุษย์ไปลงจอด ยาน Philae ค่อย ๆ แยกตัวออกจากยาน Rosetta เพื่อไปลงจอด แม้ว่ายาน Philae จะสัญญาณขาดหายทันทีหลังจากที่ลงจอด แต่ข้อมูลที่มันส่งกลับมา ได้เปลี่ยนความเข้าใจที่เรามีต่อพฤติกรรมของดาวหาง

ภาพยนต์ที่ดึงเอาเรื่องอวกาศ หลุมดำ และทฤษฎีสัมพัทธภาพมาเล่าในมุมของปรัชญา ความรัก และความเป็นมนุษย์ ภาพยนตร์เรื่อง Interstellar (2014) พาให้หลายคนกลับมาสนใจอวกาศอีกครั้ง รวมถึงกระตุ้นให้เกิดบทสนทนาทั้งในวงของคนทั่วไปหรือเหล่านักฟิสิกส์ เนื่องจากการสร้างภาพจำลองของหลุมดำและกฎทางฟิสิกส์ที่อิงจากความเป็นจริง ทำให้หนังเรื่องนี้ถูกนำมาวิเคราะห์และนำมาเขียนเป็นหนังสือชื่อ The Science of Interstellar

ภารกิจทดสอบยาน Orion ตัวต้นแบบ กับจรวด Delta IV Heavy ซึ่งนี่เป็นภารกิจแรกของยาน Orion ที่ในปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Artemis

ภารกิจนี้คล้ายคลึงกับภารกิจ Apollo 4 ที่ทดสอบระบบต่าง ๆ เพื่อยืนยันว่ายาน Orion นั้นพร้อมรับกับสภาพแวดล้อมในอวกาศได้

เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น : ESA ปล่อยดาวเทียม Galileo เพื่อใช้สำหรับการนำทางในทวีปยุโรป / ยาน Mangalyaan เดินทางไปโคจรรอบดาวอังคารได้สำเร็จ


2015

การเดินทางไปเฉียดใกล้ดาวเคราะห์แคระทั้งสอง ทั้งมุมในและมุมนอกของระบบสุริยะ และจุดเริ่มต้นของการสำรวจอวกาศแบบยั่งยืน โดยที่ภาคเอกชนได้เริ่มนำจรวดกลับมาลงจอด ก่อนที่มันจะถูกนำกลับมาใช้งานซ้ำได้อีกครั้ง

หลังจากเริ่มออกเดินทางจากโลกตั้งแต่ปี 2006 ในที่สุดยาน New Horizons ก็ได้เดินทางไปบินโฉบผ่านดาวพลูโตได้สำเร็จ และเป็นครั้งแรกที่พวกเราได้เห็นภาพถ่ายดาวพลูโตแบบความละเอียดสูงเสียที หลังจากที่ก่อนหน้านี้แม้แต่ภาพถ่ายที่ชัดที่สุดจากกล้องฮับเบิล ก็ทำให้เราสามารถเดาได้แค่ว่าสีของดาวนั้นเป็นแบบไหน

เนื่องจากยานเดินทางด้วยความเร็วที่สูงมาก (มากกว่า 80,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง) และไม่มีแผนที่จะชะลอความเร็วลงเพื่อไปโคจรรอบดาวพลูโต ทำให้การสำรวจส่วนใหญ่ต้องเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น เช่นภาพนี้ที่แสดงให้เห็นว่าดาวพลูโตกับดวงจันทร์แครอนนั้นโคจรรอบจุด Barycenter ระหว่างทั้งสองดวง ซึ่งถูกถ่ายก่อนหน้าที่ยานจะไปเฉียดใกล้ถึง 2 เดือนด้วยกัน

ภาพตัดมาที่ฝั่งของบริษัทเอกชน เทรนด์การนำจรวดกลับมาใช้งานใหม่ได้ถูกทดลองมาเป็นเวลา 2-3 ปีแล้วด้วยกัน ก่อนที่ทั้ง Blue Origin และ SpaceX จะสามารถทำได้ในที่สุด แม้ Falcon 9 จะไม่ใช้จรวดลำแรกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ในปัจจุบันมันก็ยังเป็นจรวดรุ่นเดียวที่ส่งวัตถุต่าง ๆ ขึ้นสู่วงโคจร และกลับมาลงจอดได้สำเร็จ

เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น : ยาน Dawn เข้าโคจรรอบดาว Ceres เป็นการสำรวจดาวเคราะห์แคระครั้งแรก / สิ้นสุดภารกิจของยาน MESSENGER ก่อนจะพุ่งชนลงดาวพุธ


2016

ปี 2016 เป็นปีที่เราส่งยานอวกาศออกไปสำรวจในดินแดนใหม่ ๆ ค้นพบเรื่องราวใหม่ ๆ และก็ยังได้ต้อนรับมนุษย์อวกาศที่ไปอาศัยอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักยาวนานกว่า 1 ปีหลับบ้าน รวมทั้งบอกลายานผู้โคจรรอบดาวหาง ที่หลับนิรันดร์บนนั้นไปตลอดกาล

คลื่นความโน้มถ่วง หรือ Gravitational Wave ถูกตรวจจับได้ครั้งแรก สิ่งนี้ยืนยันว่าการอวกาศมีความสัมพันธ์กับมวลของวัตถุที่อยู่บนนั้น และสามารถเกิดการกระเพื่อมเมื่อมีปรากฏการณ์ใหญ่ ๆ ในครั้งแรกนี้เราตรวจจับการชนกันของหลุมดำ ซึ่งคลื่นความโน้มถ่วงก็ได้เดินทางผ่านมายังโลก ทีมจาก LIGO จาก Hanford และ Livingstone เทียบสัญญาณกันพบว่า เป็น Gravitational Wave จริง ๆ เกิดเป็นการค้นพบครั้งแรกในประวัติศาสตร์

เมื่อปลายปี 2015 SpaceX ได้นำจรวด Falcon 9 กลับมาลงจอดบนบกได้แล้ว ครึ่งปีให้หลัง Falcon 9 ลำแรกก็สามารถลงจอดบนโดรนชิพนอกชายฝั่งได้สำเร็จตามมา ซึ่งในปัจจุบันการลงจอดทั้งบนโดรนชิพและฐานลงจอดบนบกนั้นก็แทบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

หลังจากการเดินทางมายาวนานกว่า 5 ปี ในที่สุดยาน Juno ก็ได้เข้าสู่วงโคจรรอบดาวพฤหัส และสำรวจอยู่ตรงนั้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยในตอนนี้ Juno คือยานอวกาศเพียงหนึ่งเดียวที่โคจรรอบดาวพฤหัส และเป็นภารกิจยานโคจรที่อยู่ไกลจากโลกมากที่สุดอีกด้วย

ภารกิจของยาน Rosetta-Philae รอบดาวหาง 67P/Churyumov–Gerasimenko มาถึงคราอวสาน เมื่อยาน Rosetta ถูกลดระดับให้ค่อย ๆ ร่อนลงสู่พื้นผิวดาวหาง และหลับไหลบนนั้นไปตลอดกาล

เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น : ยาน Schiaparelli ของภารกิจ ExoMars ตกกระแทกสู่พื้นผิวดาวอังคาร / NASA ปล่อยยาน OSIRIS-REx ไปดาวเคราะห์น้อย Bennu / สิ้นสุดภารกิจ 1 ปีบนอวกาศของ Scott Kelly


2017

ปีแห่งการบอกลาภารกิจอันเป็นที่รักอย่างยิ่งใหญ่ ก่อนจะส่งมันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดาวแห่งวงแหวนอันแสนสวยงาม และการค้นพบวัตถุผู้มาเยือนจากนอกระบบสุริยะเป็นครั้งแรก

ยาน Cassini ที่เชื้อเพลิงบนยานกำลังจะหมดลง ได้ถูกตัดสินใจให้ปฏิบัติภารกิจสุดท้ายของยาน ด้วยการพุ่งเข้าไปเฉียดใกล้ดาวเสาร์ยิ่งกว่าทุกทีที่เคยมา เพื่อเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุดในแบบที่ไม่สามารถทำได้จากวงโคจรปกติ

และแล้วในวันที่ 15 กันยายน 2017 ยานก็ได้เข้าสู่วงโคจรสุดท้ายของภารกิจ ก่อนจะพุ่งลงไปในบรรยากาศของดาวเสาร์ และแหลกสลายกลายเป็นส่วนหนึ่งกับดาวนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปลายปีมีการค้นพบวัตถุผู้มาเยือนจากนอกระบบสุริยะของเราเป็นครั้งแรก แม้ไม่ทราบแน่ชัดว่ามันมาจากไหน แต่เนื่องจากความเร็วและลักษณะวงโคจรของมัน ทำให้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าที่มาของมันไม่ได้อยู่ในระบบดาวของเรา ทว่าน่าเสียดายที่มันก็กำลังเดินทางออกไปจากระบบสุริยะของเราอยู่ และไม่หวนกลับมา

เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น : SpaceX นำจรวดที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ซ้ำได้สำเร็จเป็นครั้งแรก / อินเดียปล่อยดาวเทียมพร้อมกันมากกว่า 73 ดวงในหนึ่งภารกิจ เป็นสถิติมาจนถึงปัจจุบัน


2018

การสำรวจอวกาศกลับมาคึกคักอีกครั้งในปีนี้ ทั้งจรวดที่ทรงพลังที่สุด การสำรวจดาวอังคาร ดวงอาทิตย์ และเป็นครั้งที่สองที่เราสามารถส่งวัตถุออกไปสู่นอกระบบสุริยะได้สำเร็จ นี่ยังเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปีที่มีการปล่อยจรวดรวมกันจากทั่วโลกมากกว่า 100 ครั้ง

SpaceX ทดสอบจรวด Falcon Heavy จรวดที่ทรงพลังที่สุดในปัจจุบันเป็นภารกิจแรก โดยมีการนำรถ Tesla Roadster และหุ่น Starman ขึ้นไปเป็น Payload ทดสอบในภารกิจนี้ พร้อมกับถ่ายทอดสดการเดินทางของ Starman กลางห้วงอวกาศเป็นเวลายาวนานถึงกว่า 6 ชั่วโมงอีกด้วย

หลังจากภารกิจนี้เสร็จสิ้นลง SpaceX ได้มีการปล่อย Falcon Heavy เพิ่มอีกสองรอบด้วยกัน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จลงด้วยดี ก่อนที่จะเบนเข็มทรัพยากรและการพัฒนาไปที่ยาน Starship เพื่อให้เป็นจรวดขนส่งแบบ Heavy รุ่นถัดไป

เดือนสิงหาคม ยาน Parker Solar Probe ภารกิจแรกที่ถูกวางแผนให้ไปสำรวจดวงอาทิตย์ ได้เริ่มออกเดินทางจากโลก ก่อนจะไปเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์เป็นครั้งแรกในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน

ยาน InSight ได้เริ่มออกเดินทางจากโลกในเดือนพฤษภาคม และไปลงจอดบนดาวอังคารในเดือนพฤศจิกายน โดยนี่คือยานอวกาศลำแรกที่ถูกวางแผนให้สำรวจทางธรณีวิทยาของดาวอังคาร โดยยานได้ไปลงจอดและสำรวจในบริเวณ Elysium Planitia พื้นที่ ๆ มีความราบเรียบสูงของดาว

ในวันเดียวกันกับที่ยาน Parker Solar Probe เข้าไปเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ยาน Voyager 2 ก็ได้เดินทางออกจากระบบสุริยะของเราไป ตามหลัง Voyager 1 ไปราว 6 ปีด้วยกัน

เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น : ยาน Hayabusa 2 ออกเดินทางถึงดาวเคราะห์น้อย Ryugu / ยาน Chang’e 4 ลงจอดบนด้านไกลของดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก / สิ้นสุดโครงการ Lunar X Prize โดยไม่มีผู้ชนะ


2019

ปีสุดท้ายของทศวรรษนี้เปิดมาด้วยการสำรวจวัตถุที่ไกลที่สุดในระบบสุริยะ พร้อมกับการเปิดตัวแผนการกลับไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้งของมนุษยชาติจากนานาประเทศ

เปิดปีใหม่มาด้วยการที่ยาน New Horizons ได้ไปบินผ่าน Ultima Thule วัตถุในแถบไคเปอร์ชิ้นแรกที่เราได้ส่งยานไปสำรวจได้สำเร็จ และนี่ก็เป็นภาพถ่ายความละเอียดชุดแรกและชุดเดียวที่เรามี

ในเดือนเมษายน มีการเปิดเผยภาพถ่ายที่ได้มาจากโครงการ Event Horizons Telescope ซึ่งเป็นความร่วมมือในการใช้งานกล้องโทรทรรศน์จากทั่วทุกมุมโลก เพื่อเปิดเผยภาพถ่ายภาพแรกของหลุมดำ M87 ที่ถูกถ่ายขึ้นได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ครบรอบครึ่งศตวรรษของภารกิจอพอลโล 11 การออกเดินทางไปลงจอดบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกของมนุษยชาติ ซึ่งก็ได้มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั่วทั้งโลก รวมทั้งในประเทศไทยของเรา โดยทีมงาน Spaceth.co ได้มีถ่ายทอดสดตามเวลาจริง และได้ร่วมจัดนิทรรศการ Mission to the Moon ในสัปดาห์วิทยาศาสตร์ด้วยเช่นกัน

เหตุการณ์สำคัญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น : เปิดตัวโครงการ Artemis / เปิดตัวยาน Starship / สิ้นสุดภารกิจของยาน Opportunity


Next Decade

มีเรื่องราวมากมายรอคอยเราอยู่ มีถนนเส้นใหม่ ๆ ที่รอให้เราก้าวเดินไปอีกมากมาย และแม้เรายังไม่ทราบว่าปลายทางของเราจะไปอยู่ตรงไหน แต่ในวินาทีนี้ เราทุกคนกำลังเดินทางอยู่ 

We are going