นาซาเป็นหน่วยงานที่เป็นเจ้าของภาพถ่ายสวย ๆ ของจักรวาล และการสำรวจอวกาศของมนุษยชาติอยู่มากมายหลายรูป และด้วยความสวยงามของมัน ก็ไม่แปลกที่ภาพถ่ายเหล่านี้จะถูกร้องขอนำไปใช้ประกอบการรายงานข่าว ในหนังสือ เพื่อการศึกษา และด้านอื่น ๆ อีกมากมาย แต่รู้หรือไม่ว่าจะหลายล้านภาพถ่ายในคลังของนาซา ภาพถ่ายไหนถูกนำออกมาใช้มากที่สุดกันบ้าง
ทาง Google Arts & Culture ได้สัมภาษณ์กับคุณ Connie Moore ผู้ได้รับสมญานามว่าเป็น “Google Girl” ของนาซาเลยทีเดียว ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปีในฐานะผู้ค้นหาภาพถ่ายอาวุโส (ใช่แล้ว นาซามีตำแหน่งงานนี้อยู่จริง ๆ) เธอสามารถค้นหาแทบจะทุกภาพที่ถูกร้องขอจากหลากหลายล้านรูปในคลังภาพได้ และเธอก็ได้รวบรวม 10 อันดับภาพถ่ายที่ถูกร้องขอมาใช้มากที่สุด ตลอดช่วงเวลาการทำงานของเธอที่ผ่านมา โดยจัดเรียงตามปีที่ภาพถูกถ่ายขึ้น ไม่ได้ตามอันดับความนิยมของภาพ
นักบินอวกาศ 7 คนแรกสุดของนาซา
นี่คือภาพถ่ายของนักบินอวกาศกลุ่มแรกของนาซา ที่ถูกถ่ายขึ้นในปี 1960 โดย 6 จาก 7 คนในภาพนี้ได้กลายมาเป็นนักบินอวกาศในโครงการเมอร์คิวรี โครงการอวกาศแรกแบบมีมนุษย์ควบคุมของสหรัฐ เว้นเพียงแค่ Deke Slayton ที่ถูกตรวจพบว่าเป็นโรค และถูกสั่งห้ามบิน ก่อนที่เขาจะรักษาโรคของเขาได้ และได้ขึ้นบินในภารกิจ Apollo-Soyuz Test Project 15 ปีให้หลังนั่นเอง
จุดที่น่าสนใจของภาพนี้คือสีรองเท้าของนักบินอวกาศที่ไม่เหมือนกัน (ตอนแรกผู้เขียนก็ไม่ได้สังเกตเช่นกัน)
โลกที่ขึ้นจากขอบฟ้าดวงจันทรา ในภารกิจแรกสู่ดวงจันทร์ของมนุษยชาติ
คริสมาสต์อีฟปี 1968 มีมนุษย์สามคนออกเดินทางไปไกลจากบ้านของพวกเขากว่าที่ใครเคยไปมาก่อน ลูกเรือของอพอลโล 8 ได้เป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่เห็นดวงจันทร์อยู่เบื้องล่างพวกเขา เห็นด้านไกลของดวงจันทร์ และเห็นโลกขึ้นจากขอบฟ้าดวงจันทร์ ซึ่งนั่นทำให้เกิดเป็นภาพ Earthrise ขึ้นมาในภาพด้านต้นนั่นเอง
อ่านเรื่องราวของภารกิจอพอลโล 8 ได้ที่นี่
ครั้งแรกที่มนุษย์ลงเดินบนดวงจันทร์
นี่เป็นภาพที่คุณ Connie Moore รับรองเองเลยว่าถูกนำไปใช้มากที่สุด ซึ่งเราก็มักจะคุ้นตากับภาพ ๆ นี้เวลาดูในหนังสือเรียน หรือสื่อต่าง ๆ เวลาพูดถึงมนุษย์บนดวงจันทร์และภารกิจอพอลโล 11 แต่นี่คือภาพของ Buzz Aldrin ชายคนที่สองที่ลงเดินบนดวงจันทร์ ส่วน Neil Armstrong นั้นอยู่ในภาพสะท้อนบนหมวกนักบินอวกาศของ Aldrin เท่านั้น
อีกเรื่องก็คือภาพนี้ถูกปรับแต่งเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย โดยภาพด้านล่างคือภาพต้นฉบับเพื่อการเปรียบเทียบ
ลูกแก้วสีน้ำเงิน ในท้องทะเลแห่งความมืดมิด
ระหว่างที่ยานอพอลโล 17 กำลังออกเดินทางไปดวงจันทร์ ก็เป็นช่วงที่แสงอาทิตย์ส่องเข้ามาที่โลกทั้งใบในฝั่งที่หันเข้าหายานอพอลโล 17 พอดี ทำให้ยานสามารถถ่ายภาพโลกทั้งใบแบบชัด ๆ ได้นั่นเอง (ภารกิจก่อนหน้านี้ก็มีภาพแนวนี้ แต่จะมีเสี้ยวบางส่วนที่อยู่ในตอนกลางคืนติดมาด้วย)
เรื่องที่พีคก็คือฝั่งสหรัฐก็เรียกร้องให้ถ่ายให้ติดประเทศของเขาบ้างเซ่ ไม่ใช่ไปถ่ายทวีปอื่น ทำให้ในภายหลังมีการทำภาพ Blue Marble ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็ติดอยู่ในลิสต์นี้ด้วยเช่นกัน
การล่องลอยอย่างไร้ซึ่งพันธนาการของนักบินอวกาศ
ในปี 1984 Bruce McCandless II ได้ออกไปเดินอวกาศหรือ Spacewalk แบบไม่ผูกสายเข้ากับยาน โดยใช้อุปกรณ์ชื่อ MMU ซึ่งใช้แก๊สไนโตรเจนในการบังคับทิศทางในอวกาศ และทำให้เกิดเป็นภาพของนักบินอวกาศที่ล่องลอยอยู่อย่างโดดเดียว ท่ามกลางความอ้างว้างของอวกาศ และโลกในเบื้องล่างนั่นเอง
น่าเสียดายที่ MMU ถูกใช้แค่ไม่กี่ครั้งเท่านั้น ก่อนที่มันจะถูกแทนที่ด้วย SAFER ซึ่งถูกนำไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น และทำให้ภาพการล่องลอยอย่างไร้ซึ่งพันธนาการของนักบินอวกาศอย่างภาพนี้จะยังคงเป็นตำนานต่อไป
เสาหลักแห่งการก่อสร้าง ของเนบิวลานกอินทรี
ภาพถ่ายของเนบิวลานกอินทรี ได้แสดงให้เห็นเสาหลักทั้งสาม ที่ประกอบขึ้นจากแก๊สไฮโดรเจนและฝุ่นผง โดยเสาที่สูงที่สุดนั้นมีขนาดมากถึง 4 ปีแสงเลยทีเดียว (ระยะทางจากดวงอาทิตย์ไปยัง Proxima Centauri ดาวฤกษ์ที่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด)
Connie กล่าวว่าภาพนี้ได้ถูกนำไปใช้อ้างอิงในเชิงศาสนาตามคันภีร์ไบเบิลอีกด้วย และนี่เป็นภาพที่ได้รับความนิยมที่สุดจากกล้องฮับเบิลอย่างไร้ข้อสงสัย
วันที่โลกทั้งใบกำลังยิ้ม
ก่อนที่ภาพนี้จะถูกถ่ายขึ้นมา นาซาได้ประกาศว่าพวกเขาจะถ่ายภาพนี้ในวันที่ 19 กรกฏาคม 2013 และได้สนับสนุนให้ทุกคนออกมาโบกมือทักทายหรือยิ้มให้กับกล้องบนยานแคสซินี ที่กำลังโคจรอยู่รอบดาวเสาร์อยู่
นอกจากจะเป็นภาพถ่ายที่ติดโลกเป็นจุดเล็ก ๆ ในเฟรมแล้ว นี่ก็ยังเป็นภาพถ่ายสีจริงที่ชัดที่สุดของดาวเสาร์ในประวัติศาสตร์อีกด้วย
ภาพถ่ายที่มองลึกลงไปในกาลเวลา
ในปี 2009 กล้องฮับเบิลได้ถ่ายภาพ Hubble Utra Deep Field ซึ่งเป็นภาพถ่ายที่มองย้อนลึกลงไปไกลที่สุดเท่าที่เคยถ่ายมาได้ โดยในภาพนี้เราสามารถมองเห็นกาแล็คซีที่เกิดขึ้นเพียง 600 ล้านปีหลังจากบิ๊กแบงได้ และแต่ละจุดเล็ก ๆ ในภาพนี้นั้นคือกาแล็คซีและเนบิวลาต่าง ๆ ที่ทำให้ภาพนี้ดูเหมือนไร้ที่สิ้นสุดนั่นเอง
Blue Marble V.2
และหากจำกันได้กับภาพของ Blue Marble ที่ถ่ายโดยลูกเรืออพอลโล 17 ซึ่งนาซาถูกเรียกร้องว่าให้ทำภาพ Blue Marble แบบที่เห็นสหรัฐขึ้นมานั้น ทำให้ในปี 2012 พวกเขารวบรวมข้อมูลของภาพที่ถ่ายจากยาน Suomi NPP และสร้างเป็นภาพ Blue Marble ที่ถ่ายเห็นประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก และประเทศในทวีปอเมริกาส่วนใหญ่ขึ้นมา โดยมันถูกเข้าชมมากกว่า 6 ล้านครั้งบน Flickr อีกด้วย
แสงสว่างในยามราตรี
เรานั้นต่างคุ้นตากับภาพของโลกในยามกลางวันกันมาแล้ว แต่ถ้าแผนที่โลกในยามค่ำคืนละมันจะเป็นอย่างไร โดยภาพนี้ถูกถ่ายจากยาน Suomi NPP เช่นเดียวกับภาพบน และภาพนี้นั้นสร้างขึ้นจากการโคจรรอบโลกของยานมากกว่า 312 รอบ จากข้อมูลมากกว่า 2.5 TB เลยทีเดียว
ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้ 10 ภาพถ่ายข้างต้นนี้อาจถูกเปลี่ยนแปลงก็เป็นได้ หากมนุษย์ได้กลับไปดวงจันทร์อีกครั้ง หรือการลงดาวอังคารครั้งแรก และยังไม่รวมทั้งการสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่ไม่แน่ว่าในอนาคตเราจะได้เห็นภาพของดาวเคราะห์เหล่านี้แบบชัด ๆ เสียที
แล้วคุณล่ะ ชอบภาพไหนมากที่สุด?
เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO
อ้างอิง: