Michelle Kunimoto นักศึกษา ป.เอก ค้นพบ Exoplanet ถึง 17 ดวงได้อย่างไร

เป็นเวลากว่า 4 ปี ที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ได้ปฎิบัติภารกิจเสาะแสวงหาเหล่าดาวเคราะห์ที่มีเกณท์อยู่ใน “Habitable Zones” ซึ่ง Habitable Zone ที่ว่าก็คือดาวเคราะห์ที่คาดว่าโคจรอยู่ในเขตที่เหมาะสมต่อการมีสภาพแวดล้อมบนดาวเคราะห์ที่เอื้อต่อการมีชีวิตนั่นเอง จากข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์นี้ทำให้ Michelle Kunimoto นักศึกษาปริญญาเอกจาก University of British Columbia ได้ค้นพบดาวเคราะห์ใหม่มากถึง 17 ดวง และการค้นพบนี้ก็ได้ถูกตีพิมพ์ลง The Astronomical Journal ในชื่อ Searching the Entirety of Kepler Data. I. 17 New Planet Candidates Including One Habitable Zone World

หนึ่งในเรื่องน่าสนใจจากการค้นพบนี้คือ 1 ใน 17 ดาวเคราะห์ที่ถูกค้นพบ มีอยู่ดวงหนึ่งที่เป็นดาวเคราะห์หายากเป็นพิเศษ นั่นคือ “KIC-7340288 b” มีขนาดใหญ่กว่าเป็น 1.5 เท่าของโลก เล็กพอที่จะถูกพิจารณาว่าเป็นดาวเคราะห์หินแทนที่จะเป็นก๊าซเหมือนดาวเคราะห์ยักษ์ของระบบสุริยะ และทั้งนี้ทั้งนั้นมันยังโคจรอยู่ในเขต Habitable Zone อีกด้วย

“ดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ห่างจากโลกไปราว 1000 ปีแสง ฉะนั้นเราจะไม่ได้ไปเยือนมันในเร็ว ๆ นี้ แต่ว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นจริง ๆ เพราะมีดาวเคราะห์เพียง 15 ดวงจากข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาสเคปเลอร์ที่ได้รับการยืนยันว่าอยู่ใน Habitable zone ” Michelle Kunimoto กล่าว

Michelle Kunimoto นักศึกษาปริญญาเอก ที่มา – University of British Columbia

KIC-7340288 b มี 1 ปีที่ยาวนานเพียงแค่ 142 ½วันโคจรรอบดาวฤกษ์ ซึ่งนั่นถือว่าน้อยพอตัวเมื่อเทียบกับ 365 วันของโลก มีระยะห่างวงโคจรจากดาวฤกษ์ของตัวมันเองที่ 0.444 AU (AU คือหน่วยวัดทางดาราศาสตร์ ที่ 1 AU เท่ากับระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ของเรา) ทำให้มันมีวงโคจรที่ไกลกว่าวงโคจรของดาวพุธ และประมาณหนึ่งในสามของโลก

ดาวเคราะห์อีก 16 ดวงที่เหลือ

1 ใน 16 ดวงนี้ มีอยู่ดวงหนึ่งที่มีขนาดเล็กมาก และถือว่าเล็กที่สุดใน 17 ดวงเลยและยังถือเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาสเคปเลอร์มี เพราะมีขนาดเพียงแค่ 2/3 ของโลกเท่านั้น ส่วนอีก 15 ดวงที่เหลือ มีขนาดใหญ่ถึง 8 เท่าของโลกกันเลยทีเดียว

ภาพจำลองขนาดของดาวเคราะห์ทั้ง 17 ดวง เทียบกับโลก ที่มา – University of British Columbia

Michelle Kunimoto ไม่ใช่หน้าใหม่ที่ดวงดีค้นพบดาวเคราะห์ทั้ง 17 ดวงทั้ง ๆ ที่ยังเรียนอยู่ แต่เธอมีผลงานการค้นพบดาวเคราะห์ 4 ดวงมาก่อน ตั้งแต่ที่เธอศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรีที่ University of British Columbia ซึ่งวิธีการที่เธอใช้คือ “Transit method” โดยหัวใจของวิธีการนี้ก็คือการตรวจสอบการลดลงของแสงที่เกิดจากการผ่านหน้าของดาวเคราะห์เป็นรอบ ๆ 

“ทุกครั้งที่ดาวเคราะห์ผ่านหน้าดาวฤกษ์มันจะกั้นแสงส่วนหนึ่งของดาวฤกษ์นั้นและทำให้ความสว่างของดาวลดลงชั่วคราว ขณะนั้นคุณจะสามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงนั้นได้ เช่น ขนาดของมันและระยะเวลาที่มันต้องโคจร” Michelle Kunimoto กล่าว

การเกิดปรากฎการณ์ Transit Photometry ที่มา – NASA, ESA, G. Bacon (STSci)

ทั้งนี้ Michelle Kunimoto ยังได้ร่วมมือกับเพื่อนศิษย์เก่าจาก UCC อย่าง Henry Ngo ในการถ่ายภาพดาวฤกษ์ที่เป็นใจกลางการโคจรของดาวเคราะห์ที่เธอค้นพบอีกด้วย โดยใช้ Near Infared Imager and Spectrometer (NIRI) กับกล้องโทรทรรศน์ Gemini North ขนาด 8 เมตร ที่ตั้งอยู่ ณ หมู่เกาะฮาวาย เพื่อให้ได้ภาพถ่ายที่คมชัด

“ฉันถ่ายภาพดวงดาวโดยใช้เลนส์ที่ปรับได้ ทำให้ฉันสามารถบอกได้ว่ามีดาวใกล้เคียงที่อาจส่งผลต่อการตรวจวัดของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์หรือไม่” Michelle Kunimoto กล่าว

นอกจากการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบทั้ง 17 ดวงแล้วเธอยังมีแผนการที่จะทำการสำรวจสำมะโนประชากรดาวเคราะห์นอกระบบทั้งหมด นั่นหมายความว่าเธอจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่กล้องโทรทรศสน์อวกาศเคปเลอร์รวบรวมได้ทั้งหมด นับว่าเป็นข้อมูลที่เยอะมาก และแม้นักดาราศาสตาร์จะรักการดูดาวแค่ไหน แต่ผู้เขียนมั่นใจว่ากระบวนการนี้ไม่ใช่เรื่องสนุกเอาซะเลย

หอดูดาว Gemini North บนเกาะฮาวาย ที่มา – Gemini Observatory

“เราจะประมาณว่ามีดาวเคราะห์กี่ดวงที่คาดว่าจะมีอุณหภูมิแตกต่างกัน ผลลัพธ์ที่สำคัญอย่างยิ่งคือการค้นหาอัตราการเกิดของดาวเคราะห์ใน Habitable Zone และดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกมีกี่ดวง” Jaymie Matthews หัวหน้างานและศาสตราจารย์ของ Michelle Kunimoto กล่าว

นับเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและน่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผู้คนทั่วโลกได้รับรู้การค้นพบอันน่าทึ่งนี้ แม้มันจะเป็นจุดเล็กๆ แต่ผู้เขียนก็มั่นใจว่าผู้อ่านทุกท่านคงพอจะมองเห็นลู่ทางที่เทคโนโลยีอวกาศจะนำมนุษย์ไปลงดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอันไกลแสนไกล และสามารถใช้ชีวิต รวมทั้งดำรงพันธุ์อยู่ได้ แม้วันนี้เราจะยังไม่มียานอวกาศที่ไวเท่าแสง และไวกว่าแสง แต่เมื่อวันข้างหน้ามาถึงและเราย้อนมองกลับมา นี่จะเป็นเพียงการค้นพบเล็ก ๆ ที่ไม่หวือหวาอะไร แต่ลึกลงไป นี่คือจุดเริ่มต้น

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

อ้างอิง

Searching the Entirety of Kepler Data. I. 17 New Planet Candidates Including One Habitable Zone World

กิ๊ก นิศาชล - ลาออกจากโรงเรียนเพราะไม่ชอบระบบการศึกษา ชอบอวกาศ เพราะอวกาศแสดงความเป็นหนึ่งเดียวของทุกสิ่งและทุกศาสตร์ รักแมวเหมียว ร้องเมี๊ยวๆเดี๋ยวก็มา