หลังจากที่สำนักข่าวที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ ได้นำข่าวเกี่ยวกับการเข้าใกล้โลกของดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 เข้ามาใกล้โลกนั้น ข่าวดังกล่าวก็ได้สร้างความแตกตื่นและแรงกระเพื่อมบน Social Media และกระแสว่าการมาของดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวมีความอันตรายต่อโลก และถูกโยงมั่วเข้ากับสนามแม่เหล็กโลก ลมสุริยะ ภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่นิดเดียว
ในตอนนี้เราจะไม่มาพูดถึงว่าทำไม เราถึงไม่ควรตื่นตระหนกกับกรณีนี้ เพราะเราได้พูดกันไปในบทความ วันเสาร์นี้ไม่มีดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก สรุปทุกข้อสงสัยจากข่าวลือบนโลกออนไลน์ ไปแล้ว แต่เราจะมาดูกระแสที่เกิดขึ้น และ Dysfunction ของการนำเสนอข่าวในรูปแบบที่ไม่มีวิทยาศาสตร์กัน
เมื่อนักดาราศาสตร์ สื่อออนไลน์ ต่างต้องมาแก้ความเข้าใจผิด
แน่นอนว่าหลังจากที่สื่อที่ว่า ได้นำเสนอข่าวดังกล่าวไป ก็เกิดกระแสต่าง ๆ ขึ้นมาโดยที่ผู้คนต่างคิดว่าสิ่งที่ NASA รายงานมานั้นน่าเชื่อถือ ตามสไตล์คนที่ที่ชอบใช้คำว่า “เขาว่ากันว่า” โดยไม่ได้สนใจถึงที่มาของมันจริง ๆ และใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล เชื่อในตัวบุคคลโดยไม่มีหลักเหตุผลประกอบ และเกิด #ดาวเคราะห์น้อย ขึ้นบน Twitter
และด้วยความไม่รู้นี้เอง ทำให้หน่วยงานวิทยาศาสตร์ในไทย ตั้งแต่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ซึ่งมีหน้าที่สร้างความรู้ความเข้าใจในด้านดาราศาสตร์ให้กับคนไทยต้องออกแถลงเพื่ออธิบายเหตุการณ์ดังกล่าว
และหน่วยงานด้านดาราศาสตร์อีกหนึ่งแห่งที่เข้ามาร่วมให้ข้อมูลก็ได้แก่ สมาคมดาราศาสตร์ไทย ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักข่าวดังกล่าวที่รายงานเรื่องนี้ ใช้หน้าของอาจารย์อารี สวัสดี นายกสมาคมฯ ประกอบข่าวแล้วพาดหัวว่า “อีก 4 วันโลกอันตราย ดาวเคราะห์พุ่งเฉียดโลก ระทึก” เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่ความเข้าใจผิดว่าผู้เชี่ยวชาญในไทยสนับสนุน Fake News ดังกล่าว ทางสื่อออนไลน์ Spaceth.co จึงขอทักท้วงให้สื่อออนไลน์ดังกล่าวแสดงความรับผิดชอบต่อการพาดหัวข่าวที่ขัดต่อหลักวารสารสนเทศวด้วย และแจ้งย้ำอีกรอบว่าอาจารย์อารี สวัสดี ได้พูดข้อมูลที่ถูกต้องทุกประการ โดยใช้หลักการและเหตุผล
และเมื่อ 2 หน่วยงานด้านอวกาศของประเทศออกมาประกาศดังนี้แล้วว่าไม่อันตราย เท่านี้ยังไม่พอบรรดานักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ วิชาการ ฝ่ายเหตุผล ก็ต่างช่วยกันแจ้ง ย้ำเตือน แก้ความเข้าใจผิดดังกล่าว เพจ Antares StarExplorer นักดาราศาสตร์สมัครเล่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการสังเกตวัตถุท้องฟ้าออกมาบอกว่า “ไม่ต้องแตกตื่น นี่คือเรื่องธรรมดา (แบบโคตร ๆ ) ครับ” ในขณะที่สมาชิกกองบรรณาธิการสื่อออนไลน์ Spaceth.co ก็ได้ใช้ Social Media ส่วนตัวในการช่วยกระจายความเข้าใจที่ถูกต้องดังกล่าว ทั้ง @Kornkt บรรณาธิการบริหาร และแฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ ได้ออกมาทวีตติดตามแก้ไขความเข้าใจผิดดังกล่าวเป็นระยะ
เหตุผลที่เราไม่ควรไปกังวลกับข่าวดาวเคราะห์น้อย 2006 QQ23 เฉียดผ่านโลกวันพรุ่งนี้…
— KornKT (@kornkt14) August 9, 2019
1. เข้าใกล้โลกสุดก็ยังห่าง 19 เท่าของระยะโลก-ดวงจันทร์
2. มีความเร็ว 16,800 km/h แต่ยังช้ากว่าฝนดาวตกบางครั้งอีก
3. ที่ว่าผอ. NASA ออกมาเตือน อันนั้นไปโยงข่าวเก่ามาปั่นกระแสกับข่าวนี้
(มีต่อ)
รวมถึง @AmineWISHDOM บรรณาธิการและนักเขียน ก็ได้ออกมาเขียนแก้ไขความเข้าใจผิดดังกล่าวบนเพจส่วนตัว ซึ่งมีการแชร์ต่อไปมากกว่าห้าพันการแชร์ในเวลาไม่ถึง 12 ชั่วโมง เป็นหนึ่งในโพสต์บน Facebook ที่ถูกแชร์ออกไปมากที่สุดในหัวข้อ 2006 QQ23
ทางด้านของสองสื่อออนไลน์ขวัญใจคนรุ่นใหม่อย่าง The Standard และ The MATTER ก็ได้อ้างอิงรายงานจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และสื่อออนไลน์ Spaceth.co ในการช่วยแก้ไขความเข้าใจผิดดังกล่าวเช่นกัน
ไม่แต่เพียงเท่านั้น สื่อวิทยาศาสตร์รายอื่น ๆ นักฟิสิกส์ นักดาราศาสตร์ อีกหลายท่านก็มาร่วมช่วยกันแก้ไขความผิดพลาดในการรายงานและ Misleading ที่รุนแรงของการพาดหัวข้อ การใช้รูป และการสำเสนอที่ไม่ได้อ้างอิงข้อมูลในเชิงตรรกะ (Logical) แต่เป็นการใช้ความเป็นบุคคล (Ethos) เป็นหลัก
กลายเป็นว่าการแก้ความเข้าใจผิด กลับโดนด่าแทน ว่าไม่ตื่นตัว
นับตั้งแต่ที่มีการสำเสนอข่าวความเข้าใจที่ถูกต้อง หลังจากที่ทางสื่อไทย ได้นำการรางานของ Express.co.uk ซึ่งทาง Press Gazette เคยออกมาเขียนบทความเรื่องกรณีการรายงานข่าวที่ Misleading อย่างรุนแรง และขึ้นชื่อด้าน Fake News มารายงาน (และถ้าอ่านถึงตรงนี้ เราขอรวม Daily Mail เป็นหนึ่งในแหล่งข่าวที่ไม่ควรเอามาอ้างอิงด้วย) ก็ได้มีกระแสตอบกลับจากออนไลน์บอกว่า นักวิชาการไทยนั้นมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า NASA และเลือกที่จะเชื่อ NASA
ประเด็นก็คือการพูดเช่นนี้ ไม่ใช่การเชื่อ NASA แต่เป็นการเชื่อแหล่งข่าวที่นำข้อความของ NASA มายำจนเละอีกที กระตุ้นความ Misleading เข้าไปอีก บางรายถึงขั้นเอาไปโยงกับประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องอย่างเหตุการณ์วัตถุระเบิดในกรุงเทพมหานคร การประชุมสภาพ หรือแม้กระทั่งกรณีงานวิจัยไทย หรือประเทศไทยไม่ได้มีผลงานด้านดาราศาสตร์
แม้กระทั่งบนหน้าเพจของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเอง ก็ยังคงมีข้อความในแนว ๆ เดียวกัน ส่วนมากจะเน้นเรื่องบอกว่า นักดาราศาสตร์ไทยมั่นใจ ไม่แตกตื่น ไม่ตระหนก
เราควรตระหนักถึงปัญหา ความอ่อนวิทยาศาสตร์ของสื่อไทย และกระบวนได้รับข่าวสารอย่างจริงจัง
ทางเราก็ไม่ทราบว่าผู้ที่มองว่านักดาราศาสตร์ไทยไม่เก่ง ไม่ตื่นตัวไม่ตระหนัก มีความต้องการอะไร แต่อย่างที่บอกว่า การตระหนักนั้นไม่ได้แปลว่าต้องแตกตื่น @Nutn0n บรรณาธิการบริหารสื่ออนไลน์ Spaceth.co และนักเขียน บล็อกเกอร์สายวิทยาศาสตร์ ก็ออกมาโพสต์ข้อความลงบน Facebook ส่วนตัวถึงกรณีดังกล่าวบอกว่า “คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะดูถูก หรือบอกว่านักวิทยาศาสตร์ไทยที่มีผลงานจริง ๆ ทำงานจริงๆ ไม่ฉลาดที่ไม่ตื่นตระหนกเรื่องโลกแตกอะไรนั่น หรือไม่มีความสามารถ ในขณะที่ตัวคุณเองยังเชื่อ Fake News อยู่”
และ “เราว่าไม่เกี่ยวครับ “นาซ่าออกมาวิตกกังวล” คำว่าวิตกกังวลที่ว่าหมายถึง aware หรือ paranoid ครับ เราว่า NASA ไม่ได้ paranoid สิ่งที่ NASA พูดคือการ aware หรือการรับรู้ ตระหนัก ซึ่งมาพร้อมกับความเข้าใจ ถ้าอันตราย อันตรายอย่างไร ถ้าปลอดภัย ปลอดภัยอย่างไร ทำไมถึงไม่ต้องห่วง แต่สิ่งที่คุณกำลังจะบอกคือ การระรื่นเป็นสิ่งที่ผิด ซึ่งเราว่าไม่ใช่ครับและตรรกะวิบัติมาก เป็นการเอาเรื่อง information หรือข้อมูล มาโยงกับความต้องหวาดระแวง”
ทั้งนี้ถ้าเราสังเกต เราจะเห็นว่าแม้กระทั่ง NASA หรือหน่วยงานอวกาศอื่น ๆ เองก็ไม่ได้ตื่นตระหนก เนื่องจาก NASA มีฐานข้อมูลดาวเคราะห์น้อยจำนวนมาก หรือแม้กระทั่งมีโครงการ Astroid Day (ซึ่งหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคือนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และมือกีตาร์วง Queen คุณ Brain May) มาช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องดาวเคราะห์น้อย รวมถึงทาง JPL หน่วยงานด้านอวกาศของ NASA โดยตรง ก็ได้นำ Database ของดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวออกมา Public ทาง IAU หรือสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลก็ทำเช่นกัน ข้อมูลทั้งหมดไม่มีตรงไหนที่บอกว่าให้ระวัง
อธิบายแบบง่าย ๆ ก็คือ เรารู้ว่าทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็ง แต่มีบางคนเท่านั้นที่เป็นมะเร็ง การรู้สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เราต้องกลัวหวาดระแวงตลอดเวลาว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ แต่สิ่งที่ควรทำคือการทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง
หลายคนใช้การอ้างว่า ต่อให้ดาวไม่ชนแต่โอกาสของสะเก็ตอาจตกสู่ชั้นบรรยากาศ แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ต้องแตกตื่นอยู่ดี สิ่งที่ทำคือการไปหาข้อมูลเพิ่มเติม และช่วยกันอธิบายความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วเราจะพบว่า สะเก็ดที่กล่าวถึงแทบจะเป็นเรื่องปกติ มีดาวเคราะห์น้อยเฉียดโลกตลอด ผ่านตลอด สะเก็ดมาตลอด ฝนดาวตกมาตลอด ส่วนมากเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ และโอกาสที่เราจะถูกมันชนน้อยกว่าถูกรถชนเสียอีก
ให้ลองวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นอาจลองสรุปประเด็นหลัก ๆ ได้ดังนี้
- สำนักข่าวในไทยบางแห่ง ยังไม่มีความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ที่ดี และอาศัยการนำข่าวมาแปล ไม่ได้เข้าใจความหมายของมันจริง ๆ และไม่แยกแยะระหว่างแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ อัตวิสัย ภววิสัย และบทบาทของสื่อในการเป็น Gatekeeper เลือกข่าวสารที่ประชาชนควรจะได้รับ ไม่ใช่การหยิบจับข้อมูลขยะที่ไม่เป็นประโยชน์มาให้ผู้อ่าน
- ความเชื่อในตัวบุคคล (Ethos) ที่มากในบริบทสังคมไทย ทำให้การอ้างแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น NASA กลายเป็นมายาคติที่ทำให้คนไทยเลือกเชื่อ
- กระบวนการคิดวิทยาศาสตร์ของไทยที่ไม่ได้ปลูกฝังกันมาอย่างดีตั้งแต่ในโรงเรียน วิทยาศาสตร์เป็นวิชาท่องจำ ทำการทดลองก็ทำตามแบบเรียน ควบคุมตัวแปรไม่เป็น ผลการทดลองผิด ๆ ก็ลอกผลการทดลองที่ถูกต้องจากครูลงกระดาษโดยที่ไม่เข้าใจ
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่เกิดจากบริบททางสังคมที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่าประเทศอื่นเขาก็วุ่นวายเช่นกัน (มีกรณีเดียวกันเกิดขึ้นในต่างประเทศจากการรายงานข่าวเช่นนี้ กรณีนี้ด้วย 2006 QQ23 นี่แหละ) แต่ในเมื่อเราเลือกได้ที่จะ “ตระหนักรู้” ไม่ใช่ตื่นตระหนก ทำไมเราจึงเลือกที่จะไม่ทำ
เราเคยเห็นกรณีแนว ๆ นี้มาแล้วตั้งแต่เรื่องถ้ำหลวง เพราะขาดความรู้จึงมั่วกันเละเทะ กรณีสหรัฐใช้ดาวเทียมช่วยเด็กติดถ้ำ ซึ่งก็เกิดจากสาเหตุเดิม ๆ คือสื่อขาดความรู้ ความเข้าใจและมั่วข่าวขึ้นมา
สุดท้ายสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ มันไม่สำคัญว่าใครจะพูด แต่ถ้าการพูดนั้นไร้ซึ่งหลักเหตุผล การพูดนั้นไม่น่าเชื่อถือ เราก็ได้แต่หวังว่าจะฝากสื่อไทยหลาย ๆ แห่งให้พิจารณาถึงผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการรายงานที่ขัดต่อทั้งหลักวิทยาศาสตร์และวารสารศาสตร์ว่าส่งผลร้ายต่อสังคมไทยเพียงใด
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co
Disclaimer: *บทความนี้เป็น Opinion โปรดใช้ความเข้าใจด้านภววิสัยและอตวิสัย ในการอ่าน เราไม่ได้ต้องการจะโจมตีใคร แต่เราต้องสะท้อนภาพของสังคมที่แท้จริงออกมาโดยไม่โกหก
** @kornkt, @aminewishdom และ @nutn0n เป็นสมาชิกกองบรรณาธิการสื่อออนไลน์ Spaceth.co