2018 VP1 ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กที่กำลังจะเฉียดโลกในวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ข้อมูลจากฐานข้อมูลวัตถุใกล้โลกของ JPL หรือ JPL Small-Body Database ระบุว่าดาวเคราะห์น้อย 2018 VP1 ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุใกล้โลก (near-Earth object) ขนาดเล็ก กำลังจะพุ่งเฉียดโลกในวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2020 ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ พอดี โดยอัตราความเสี่ยงต่อการพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกของ 2018 VP1 คือ 1 ใน 240 หรือ 0.41% โดย 2018 VP1 ถูกตรวจพบเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2018

ตำแหน่งของ 2018 VP1 ที่คาดการณ์ไว้ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2020 จากฐานข้อมูล JPL Small-Body Database – ที่มา JPL/NASA

2018 VP1 มีขนาดที่เล็กเพียงแค่ 2 เมตรเท่านั้น และไม่ถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายเพราะด้วยขนาดที่เล็กของมันซึ่งต้องให้ชนโลกก็คงเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศหมดก่อนอยู่ดี โดยก่อนหน้านี้มันก็เคยเฉียดโลกมาแล้วรอบหนึ่งในปี 2018 ซึ่งก็คือในตอนที่มันถูกค้นพบและมันมีคาบการโคจร 2 ปี หมายความว่ามันจะมาเฉียดโลกอีกครั้งในปีนี้และอาจจะเฉียดด้วยระยะทางที่ใกล้กว่าเดิมมาก

คาบการโคจรของ 2018 VP1 จากฐานข้อมูล JPL Small-Body Database – ที่มา JPL/NASA

2018 VP1 มีเส้น LOV (Line of Variation) หรือเส้นการแปรผันของเส้นทางพาดผ่านเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกของโลก จากการคาดการณ์มันจะเฉียดโลกที่ระยะห่างประมาณ 420,000 กิโลเมตร หรืออาจไกลถึง 3,700,000 กิโลเมตร แต่มีความเป็นไปได้ว่ามันอาจจะมาใกล้กับโลกมากที่สุดถึง 5,800 กิโลเมตรซึ่งเข้ามาใกล้กว่ารัศมีของโลกจากพื้นผิวเองด้วยซ้ำหรือเลวร้ายสุดก็อาจจะพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก อย่างไรก็ตามด้วยขนาดที่เล็กของมันทำให้ NASA ไม่ได้จัดกลุ่มมันอยู่ในวัตถุอันตรายและความเสียหายอย่างมากสุดบนพื้นโลกก็แค่แรงสั่นสะเทือนเล็กน้อยจาก Air Burst หรือการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศของ 2018 VP1 ในขณะทีมันกำลังตกลงโลก

ภาพจำลองการคาดการณ์ตำแหน่งของ 2018 VP1 – ที่มา WikiCommons

อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ไม่สามารถถ่ายรูป 2018 VP1 ได้เพราะส่วนใหญ่มันอ้อมไปอยู่ในตำแหน่ง Opposition กับดวงอาทิตย์พอดีกล่าวคืออยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์พอดีทำให้ไม่สามารถถ่ายจากโลกได้โดยมีความสว่างปรากฏเพียงแค่ 31 แมกนิจูดเท่านั้น ซึ่งถือว่ามืดมากขนาดที่กล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินขนาดใหญ่ทั่วโลกก็ไม่สามารถถ่ายได้ หรือแม้แต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลก็จะต้องเปิดหน้ากล้องไว้กว่า 3 อาทิตย์ หากต้องการจะถ่าย 2018 VP1 (ซึ่งมันทำไม่ได้) แค่นั้นยังไม่พอ เพราะว่าตอนที่มันกำลังจะเฉียดโลกในเดือนพฤศจิกายน 2020 มันจะพุ่งเข้ามาจากฝั่งที่ดวงอาทิตย์อยู่พอดี เพราะฉะนั้นความพยายามใดก็ตามที่จะหันหน้ากล้องโทรทรรศน์ไปหามัน เท่ากับหันหน้ากล้องไปถ่ายดวงอาทิตย์ ซึ่งนอกจากจะถ่ายไม่เห็นอะไรเพราะแสงดวงอาทิตย์กลบแล้ว ยังจะสร้างความเสียหายต่อระบบกระจกสะท้อนของกล้องด้วย เป็นเหตุที่เราไม่มีรูป 2018 VP1 มาให้ดูนั่นเอง แต่สามารถเทียบขนาดได้โดย 2018 VP1 มีขนาดเลฏกว่า Eros NEO กว่าหลายพันเท่า 2018 VP1 เล็กจนเป็นดาวเคราะห์น้อยของเล่นไปเลย

near-Earth asteroid Eros ซึ่งใหญ่กว่า 2018 VP1 หลายพันเท่า – ที่มา NASA/JPL

ไม่แน่ว่า 2018 VP1 อาจจะทำลายสถิติดาวเคราะห์น้อยที่เฉียดใกล้โลกมากที่สุดโดยไม่ตกลงโลกอย่าง 2020 QG ที่เฉียดโลกในวันที่ 16 สิงหาคม 2020 ที่ผ่านมาด้วยระยะทางเพียงแค่ 2,950 กิโลเมตรเท่านั้น

เรียบเรียงโดย ทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง

JPL Small-Body Database Browser 2018 VP1

Chief Science | A 20-year-old biologist with a passion for space exploration, science communication, and interdisciplinarity. Dedicated to demystifying science for all - Since 2018.