2021 นับว่าเป็นปีที่งานสื่อด้านอวกาศออกมาเยอะซะเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นงานระดับครูอย่าง Foundation ที่ Apple นำมาทำ และ Dune ซึ่งมาปรากฎในรูปแบบภาพยตร์อีกครั้งในปีนี้ (แถมยังทำได้ดียอดชมถล่มทลาย) ยังไม่รวมภาพยตร์อื่น ๆ หน้าใหม่ที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น Space Sweeper หรือ Silence Sea จากทางฝั่งเกาหลีที่ส่งเข้าประกวด นอกจากนี้ ยังมีงานสื่อเกี่ยวข้องกับอวกาศอีกเยอะแยะพูดถึงกันไม่หมด เช่น การนำภารกิจ Inspiration4 มาทำเป็นสารคดี Countdown ฉายบน Netflix และการถ่ายทำภาพยนตร์บนอวกาศครั้งแรกจากฝั่งรัสเซีย
ที่พูดมาหลายคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นความบังเอิญหรือเปล่า แต่สำหรับเราแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเราคิดว่าคงไม่ใช่ความบังเอิญ เพราะก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าวัฒนธรรมอวกาศ และการทำสื่อ นั้นเป็นสิ่งที่ทรงอิทธิพลมาก ๆ ใครที่อ่านบทความของเรามาบ่อย ๆ ก็คงจะชินกับการที่เราชอบเล่ากรณีของ Walt Diesney ที่ก้าวเข้ามาช่วยทำสื่ออวกาศในช่วงยุค 60s จนเกิดกระแสที่ทำให้เกิดการสำรวจอวกาศโดยพลเรือน รวมถึงการเดินทางไปดวงจันทร์จริง ๆ ขึ้น
ในยุค 2020s นั้นอิทธิพลของสื่อกับอวกาศนั้นเรียกได้ว่าแยกกันไม่ออก โดยเฉพาะในเมื่อยุคนี้เป็นจุดเปลี่ยนของอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น จุดเริ่มต้นของโครงการ Artemis ปี 2025, การที่รัสเซียถอนตัวออกจากโครงการสถานีอวกาศนานาชาติและ Artemis เพื่อไปร่วมมือกับจีนในการสำรวจดวงจันทร์, การเกิดขึ้นของบริษัทเอกชน ไปจนถึงการที่ชาติที่เรียกว่า Space Emmerging Country เริ่มเข้ามาทำงานอวกาศอย่างจริงจัง (แม้กระทั่งไทยเอง ที่ประกาศโครงการ Thai Space Consortium) ทำให้ภาพใหญ่ของวงการอวกาศอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ทำไมปี 2022 จะเป็นปีแห่งสื่ออวกาศ
จริง ๆ ต้องบอกว่าอวกาศกับสื่อเป็นสิ่งที่หลบซ่อนและส่งเสริมกันมาโดยตลอด เหมือนที่เราเกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศในยุค 60s และกรณีของ Sci-Fi ต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการรับรู้ของมนุษย์ที่มีต่ออวกาศ แต่เหตุผลที่เราบอกว่าปี 2022 จะเป็นปีแห่งสื่ออวกาศ ก็มาจากการมองแมวโน้มจากปีที่แล้ว ซึ่งเกิดภาพยนตร์สื่อ หรืองานบันเทิงที่เกี่ยวกับอวกาศเยอะเหลือเกิน
จะให้ยกตัวอย่างหมดก็คงไม่ไหว เอาเป็นว่าทุกคนก็คงจะจำเรื่อง Foundation นวนิยายวิทยาศาสตร์ชั้นครูของ Issac Asimov ซึ่งไม่เคยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์มาก่อน ก็ถูกนำมาสร้างและฉายตอนแรกไปในช่วงปลายปี 2021 ที่ผ่านมาบน Apple TV+ , Dune นวนิยายวิทยาศาสตร์ที่แทรกสอดเรื่องการเมืองลงไปในภาพของการสำรวจอวกาศของมนุษย์ในอนาคตที่กลายมาเป็นภาพยนตร์โรง รวมถึงสารคดีต่าง ๆ มากมาย
กระแสทางฝั่ง Popular Culture ยังคงโหนอยู่กับ Artemis ด้วยเช่นกัน เมื่อ Snoopy กับอวกาศก็จะกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ Apple ประกาศทำซีรีส์ชุด Snoopy in Space ร่วมกับทางต้นสังกัดของการ์ตูน Peanuts แล้ว เราก็จะเห็น Snoopy ได้ไปอวกาศจริง ๆ กับเที่ยวบินทดสอบ Artemis 1 ที่จะเกิดขึ้นในปี 2022 ด้วย (สาเหตุที่เป็น Snoopy เพราะ Snoopy มีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับยุค Apollo ตรงที่มันเคยถูกนำมาตั้งเป็นชื่อยานลงดวงจันทร์ และปรากฎภาพเด็กผู้หญิงถือตุ๊กตา Snoopy ยืนมองนักบินอวกาศเดินทางไปดวงจันทร์) ดังนั้นเดาได้เลยว่า 2022 Snoopy จะเป็นอะไรที่มาแรงมาก ๆ ยังไม่ต้องพูดถึง OMEGA Speedmaster รุ่นพิเศษลาย Snoopy ที่ออกไปเมื่อมีที่ผ่านมา และรางวัลที่ชื่อว่า Silver Snoopy award ที่ NASA มอบให้กับนักบินอวกาศด้วย
พูดถึงฝั่งตะวันตกไปเยอะแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองมาก ๆ ก็คือฝั่งเกาหลีใต้ ภาพยนตร์ ซีรีส์เกาหลี คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายึดครองวัฒนธรรม Pop ของโลกมาได้ซักพักนึงแล้ว ทุกวันนี้เด็ก ๆ ในสหรัฐฯ กรี๊ดกับวง BTS ไม่ต่างกันกับเด็กเอเชียนเท่าไหร่ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองก็คือ การที่เกาหลี เริ่มหันมาสร้างภาพยนตร์ที่หลากหลายมากขึ้น นับตั้งแต่ปรากฎการณ์ของ Train to Busan ที่เกาหลีหันมาทำหนังแนวซอมบี้และขายดีถล่มทลาย มาสู่การสร้างภาพยนตร์แนว Sci-Fi และใช้ดาราชื่อดังที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอยู่แล้ว มารับบทที่แตกต่างออกไป แต่ยังคงความเท่ในฉบับเกาหลี
Space Sweeper เป็นภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องอนาคต Dystopian เมื่อมีบริษัทเอกชนต้องการจะสร้างโลกที่สวยงามเพื่อเหล่าคนรวย โดยที่เหล่าคนจนเป็นเพียงแค่แรงงานเก็บขยะ (อวกาศ) เท่านั้น ซึ่งเนื้อเรื่องแบบนี้ไม่ได้พูดถึงเกาหลีเพียงอย่างเดียว แต่พูดถึงแนวโน้มของโลกทั้งใบ โดยที่มีพระเอก และกลุ่มดำเนินเรื่องหลัก (Protagonists) เป็นคนเกาหลีเท่านั้น ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถชักจูงคนดูให้เห็นถึงความสมเหตุสมผลได้
นอกจากการพูดถึงอวกาศเป็นฉากหลังในเรื่องแล้ว ยังได้มีการพูดถึงเทคโนโลยีอย่าง Synthetic Biology การสร้าง Nanobots เพื่อปรับสภาพร่างกายของมนุษย์ให้เหมาะกับการเดินทางในอวกาศ การนำคอมพิวเตอร์ AI เข้ามาใช้ในการสำรวจอวกาศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปกติเราจะเห็นกันเฉพาะในภาพยนตร์ฝั่งตะวันตกเท่านั้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง Sisyphus และ The Silent Sea ซึ่งมีทั้งการนำเอาหลักการทางฟิสิกส์ มิติต่าง ๆ เข้ามาเล่นกับเรื่อง แถมเราเองก็ยังมองว่าทำได้ดีไม่แพ้จากฝั่งตะวันตกด้วย
ดังนั้นเราจึงเชื่อว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นแผนของเกาหลีที่ตั้งใจขยายขอบเขตการทำคอนเทนต์ของตัวเองให้กินเข้ามาในวงวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการสำรวจอวกาศมากขึ้น
สิ่งนี้บอกอะไรเรา
เวลาที่เราพูดคำว่าสื่อ (Media) เราไม่ได้หมายความว่ามันเป็นภาพยนตร์ หรือหนัง หรือซีรี่ส์ หรือเพลง หรือละคร หรือสารคดี แต่เราอยากให้มองคำว่าสื่อในที่นี่เป็นคำว่าตัวกลาง หรือ Medium นั่นแหละ พอเรามองมันเป็นตัวกลาง เราก็จะเริ่มเข้าใจว่าอวกาศถูกใช้เป็นสื่อกลางได้อย่างไรบ้าง เหมือนกับที่เรา (Spaceth) พยายามใช้อวกาศเป็นสื่อกลางเพื่อบอกเล่าอะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งแต่สังคม การเมือง วัฒนธรรม ปรัชญา จนถึงหลอกด่านายก
ในปี 2022 ซึ่งเป็นปีที่จะมีกิจกรรมทางอวกาศเกิดขึ้นหลากหลายมาก ตั้งแต่ Artemis จนถึงการเข้าสู่ยุคอวกาศเอกชนที่เต็มรูปแบบมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้ “สื่ออวกาศ” ถูกนำมาใช้ ดังนั้น มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นสื่อแบบ สื่อออนไลน์ สื่อภาพยนตร์ หนัง ละคร แต่มันอาจจะเป็นอะไรที่แตกต่างออกไปเช่น Thomas Pesquet เป่าแซกโซโฟนในพิธีปิดกีฬาโอลิมปิก 2021 ลงมาจากอวกาศ หรือ การที่ Richard Branson สามารถเดินทางขึ้นอวกาศได้ในที่สุด หรือการที่ผู้รับบท “Captian Kirk” จาก Star Trek คุณ William Shatner ได้เดินทางขึ้นสู่อวกาศจริง ๆ ก็อาจจะนับเป็นสื่ออวกาศเช่นกัน
โดยที่วัตถุประสงค์ของงการสื่อสารจะเป็นอะไร อันนี้ขึ้นอยู่กับกรณี
เพราะสื่อคือสิ่งที่ส่งผ่านข้อมูลบางอย่างจากผู้ส่งถึงผู้รับ การใช้อวกาศเป็นตัวกลางจึงเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นและจะเป็นสิ่งที่เราต้องจับตามองอย่างมาก ไม่ใช้แค่ในปี 2022 นี้ แต่อีกหลาย ๆ ปีต่อไป เพราะในทศวรรษนี้มนุษย์น่าจะสร้างการค้บพบและวางหมุดหมายการเดินทางหลาย ๆ อย่าง ไม่แพ้ช่วงเวลาอื่นใดในประวัติศาสตร์เลย
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co