16 สิงหาคม 2024 จรวด Falcon 9 ได้บินขึ้นจากฐานปล่อยในแคลิฟอร์เนียเพื่อนำส่งดาวเทียมมากกว่าร้อยดวงในภารกิจ Rideshare หรือการปล่อยดาวเทียมจากลูกค้าหลากหลายเจ้าพร้อมกันทีละเยอะ ๆ หนึ่งในดาวเทียมดวงที่ถูกปล่อยนั้นก็คือ Tanager-1 ดาวเทียมขนาดเล็กน้ำหนักประมาณ 150 กิโลกรัม ที่เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง Planet (Planet Lab) บริษัทสร้างและให้บริการภาพถ่ายดาวเทียม, Jet Propulsion Laboratory หรือ JPL และโครงการ Carbon Mapper ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่้ต้องการทำแผนที่คาร์บอนในบรรยากาศ เพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแถลงของภูมิอากาศของโลก
Carbon Mapper นั้นใช้การดำเนินการในรูปแบบเงินบริจาค (philanthropically) เพื่อตรวจจับการปล่อยมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก (เรียกว่า Super-emitters) เช่น ในภาคอุตสาหกรรม โรงงาน สายการผลิต การเกษตรเชิงอุตสาหกรรม และกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการรั่วไหลของท่อส่งแก๊ส เพื่อนำไปสู่การลดปริมาณหรือยับยั้งการปล่อยแก๊สเหล่านี้จำนวนมาก
โดยก่อนหน้านี้ JPL ได้มีการศึกษาและพัฒนาอุปกรณ์จำพวก Imaging Spectrometer ที่ชื่อว่า Earth Surface Mineral Dust Source Investigation (EMIT) และได้ถูกนำไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติตั้งแต่ปี 2022 สามารถอ่านรายละเอียดของการพัฒนา EMIT ได้ในเว็บไซต์ Earth Surface Mineral Dust Source Investigation (EMIT)
เราเคยเล่าเรื่องนี้ไว้ในบทความ JPL พัฒนา Carbon Mapper อุปกรณ์ตรวจวัดคาร์บอนไดออกไซด์จากอวกาศสำหรับดาวเทียม
ข้อมูลเหล่านี้ถูกใช้งานโดยกลุ่ม Carbon Mapper ตั้งแต่ช่วงปี 2022 เป็นต้นมา ซึ่งทาง JPL ก็มีแผนในการพัฒนาโครงการต่อ ๆ ไปเพื่อช่วยให้ข้อมูลการศึกษานั้นแม่นยำมากขึ้น
สำหรับดาวเทียม Tanager-1 นั้นถือว่าเป็นครั้งที่สองที่ JPL ได้ร่วมพัฒนาอุปกรณ์ตระกูลตรวจวัด Super-emitters โดยในครั้งนี้ JPL ได้สร้าง Imaging Spectrometer เพื่อนำไปติดตั้งบนดาวเทียมที่พัฒนาโดย Planet โดยยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ อีก เช่น California Air Resources Board, Rocky Mountain Institute, Arizona State University และ University of Arizona รวมตัวกันเป็นกลุ่มความร่วมมือที่นำโดย Carbon Mapper ในการรวบรวมข้อมูลและศึกษาการปล่อยแก๊สเหล่านี้และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับ Bus หรือตัวโครงสร้างและระบบต่าง ๆ ของดาวเทียม Tanager นั้นก็ใช้ตัว Bus ของดาวเทียมที่มีอยู่แล้วของ Planet ซึ่งมีคความเชี่ยวชาญในการพัฒนาดาวเทียมตระกูลถ่ายภาพโลกอยู่แล้ว รวมถึง Planet เองก็ยังมีส่วนช่วยในการใช้ข้อมูลจากกองดาวเทียมของตัวเองในการร่วมให้ข้อมูลกับโครงการ Carbon Mapper อีกด้วย
หากดูจากรูปเราจะเห็นว่าขนาดของ Imaging Spectrometer ที่ JPL พัฒนาขึ้นมานั้นค่อนข้างใหญ่ เพราะมันมีความละเอียดสูงมาก ๆ เพื่อใช้ในการตรวจวัดอย่างแม่นยำว่า Supper-emitters นั้นอยู่ตรงไหนกันแน่
อ่านรายละเอียดแบบเต็มของ Spectrometer และเทคนิคที่ใช้ได้ในเปเปอร์ Carbon mapper phase 1: two upcoming VNIR-SWIR hyperspectral imaging satellites
เรียกได้ว่าเป็นการใช้ศักยภาพที่ทั้ง JPL และ Planet เชี่ยวชาญ โดย JPL นั้นเรียกได้ว่าเชี่ยวชาญในการทำอุปกรณ์ตรวจวัดแบบ Imaging Spectrometer ซึ่งมีติดตั้งบนยานอวกาศต่าง ๆ รวมถึงยาน Europa Clipper ที่กำลังจะเดินทางไปยังดาวพฤหัสบดี และ Planet ที่เชี่ยวชาญในการทำดาวเทียมขนาดเล็ก
และจากความจริงที่ว่าโครงการนี้ เป็นการร่วมระดมทุนกันผ่านการบริจาค ทำให้โครงการ Carbon Mapper นับว่าเป็นอีกหนึ่งความพยายามของภาคประชาชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างการกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนอย่างมีนัยสำคัญ และพุ่งเป้าไปที่ Supper-emitters โดยตรง
โดยหลังจากการปล่อย ดาวเทียม Tanager-1 จะปรับวงโคจรของตัวเองให้ไปอยู่ที่วงโคจรแบบ Sun-Synchronous Orbit หรือวงโคจรสัมพันธ์กับแสงจากดวงอาทิตย์เนื่องจากอุปกรณ์พวกนี้จำเป็นต้องใช้แสงอาทิตย์ในการถ่ายภาพนั่นเอง
ในอนาคต Carbon Mapper ก็มีแผนที่จะทำดาวเทียมตระกูล Teneger นี้่ต่อไปเรื่อย ๆ โดยจะร่วมทำงานกันในกลุ่มองค์กรเหล่านี้ และเงินบริจาคที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co