ต้นเดือนกันยายน 2024 ช่วงเวลาก่อนการทดสอบเที่ยวบินแรกของจรวด New Glenn จรวดยักษ์ของบริษัท Blue Origin เรือสำหรับลงจอดจรวด Landing Platform Vessel 1 (LPV1) ที่ Blue Origin ตั้งชื่อว่า “Jacklyn” ก็ได้เดินทางมาถึงท่าเรือคะเนอเวอรัล ใกล้กับฐานปล่อย LC-36 ที่ Blue Origin ได้ไปเช่าต่อในพื้นที่ของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นฐานปล่อยจรวด New Glenn
จรวด New Glenn นั้นนอกจากจะเข้ามาทำตลาดในกลุ่ม Medium-Lift ถึง Heavy-Lift Launch Vehicle แล้ว ยังจะเป็นจรวดในระดับ Orbital Class (สามารถส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศได้ถึงวงโคจร) ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ (Reusable) ลำที่สองของโลก ต่อจากจรวด Falcon 9 ของ SpaceX ซึ่งก่อนหน้านี้ Blue Origin ได้เปิดเผยไว้แล้วว่า New Glenn จะใช้วิธีการลงจอดบนเรือกลางทะเล คล้ายกับเทคนิคการนำจรวดกลับมาใช้ใหม่ของ SpaceX
4 กันยายน 2024 Blue Origin นั้นก็ได้เผยภาพเรือโดรน Jacklyn เทียบท่าอยู่ ณ บริเวณท่าเรือ ซึ่งบริเวณนี้เองก็ตั้งอยู่ข้าง ๆ (แบบข้าง ๆ จริง ๆ) ของฐานปฏิบัติการทางทะเลของ SpaceX ในชายฝั่งแอตแลนติก ซึ่งเป็นจุดจอดทั้งเรือที่ SpaceX ใช้ในการเก็บกู้ฝาครอบส่วนบรรทุกจรวด Payload Fairing, ใช้เก็บกู้ยาน Dragon และที่สำคัญคือเรือโดรนทั้งสองลำได้แก่ Just Read the Instruction และ A Shortfall of Gravitas
ในบทความนี้เราจะชวนมาทำความรู้จัก วิเคราะห์ เจาะลึก ถึงความสามารถของเรือโดรนลำนี้ และเทคนิคการเก็บกู้จรวดที่ Blue Origin เลือกใช้ จากข้อมูลทั้งหมดที่เราพอจะรวบรวมมาได้จากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งหากการเก็บกู้จรวด New Glenn นั้นสำเร็จ ก็จะถือว่า Blue Origin จะกลายเป็นบริษัทเอกชนรายที่สองของโลกทันที ที่สามารถลงจอดจรวดท่อนแรกได้สำเร็จ ต่อจาก SpaecX
ย้อนกลับไป SpaceX เริ่มต้นการลองผิดลองถูกตั้งแต่ปี 2013 และมาประสบความสำเร็จในช่วงปลายปี 2015 ที่สามารถนำจรวด Falcon 9 กลับมาลงจอด ณ ฐานลงจอด Landing Zone 1 ตามมาด้วยความสำเร็จในการลงจอดจรวดบนเรือโดรน Of Course I Still Love You ในเดือนเมษายน 2016 ปีถัดมา
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่ Blue Origin บริษัทอวกาศที่นำโดยมหาเศรษฐี Jeff Bezos ได้เปิดเผยแผนการสร้างจรวด New Glenn เป็นจรวดรุ่นที่สองของบริษัท หลังจากที่ทางบริษัท ประสบความสำเร็จในการนำจรวด New Shepard มาให้บริการส่ง Payload ชุดการทดลองต่าง ๆ เดินทางสู่อวกาศ และตัวจรวดท่อนแรกสามารถกลับมาลงจอดได้สำเร็จในปี 2015 (ซึ่งเอาจริง ๆ สำเร็จก่อน SpaceX แต่ New Glenn นั้นนับเป็น Sub-Orbital Rocket เท่านั้น)
แผนการลงจอดของจรวด New Glenn เพื่อการนำกลับมาใช้ซ้ำ
จรวด New Glenn ในท่อนแรกนั้นมีความสูง 57 เมตร (เปรียเทียบกับ Falcon 9 ท่อนแรก มีความสูง 48 เมตร และ Super Heavy มีความสูง 70 เมตร) ดังนั้นพูดได้เต็มปากเลยว่า New Glenn นั้นทั้งสูงและใหญ่กว่าจรวด Falcon 9 มาก ประกอบไปด้วยเครื่องยนต์ BE-4 ทั้งหมด 7 ตัว ให้แรงขับรวมกันอยู่ที่ 17 ล้านนิวตัน ซึ่งมากพอที่จะส่ง Payload หนัก 45,000 กิโลกรัมขึ้นสู่วงโคจร Low Earth Orbit ได้
ระบบการลงจอดของ New Glenn นั้นถ้าดูรายละเอียดรวม ๆ ก็ไม่ต่างจากกรณีของ Falcon 9 มาก หลังจากที่ New Glenn บินขึ้น จรวดท่อนที่สองจะแยกตัวกับจรวดท่อนแรก และจรวดท่อนแรกจะตกกลับสู่โลก ในคู่มือของ Blue Origin ระบุว่า ตัวจรวด New Glenn จะหมุนตัวกลับ (เรียกว่า Reorient Maneuver) แล้วหันด้านเครื่องยนต์พุ่งเข้าสู่โลก อย่างไรก็ตามจรวด New Glenn นั้นไม่ได้มีระบบ Cold Gas Thruster สำหรับการช่วยพลิกตัวเหมือนกับ Falcon 9 ทาง Blue Origin ไม่ได้ระบุเป็นรายละเอียดว่า New Glenn จะพลิกตัวอย่างไร และไม่ได้พูดถึงการทำ Entry Burn (การติดเครื่องยนต์ขณะกลับสู่บรรยากาศเพื่อสร้างเกราะป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์เสียหาย) ซึ่งถ้าตามหลักฟิสิกส์แล้ว ยังไงก็ต้องทำ ในส่วนของการกลับมาลงจอดนั้น New Glenn จะใช้ครีบ (Fins) เป็น Aerodynamic Control Surfaces ในการบังคับทิศทางการตกกลับ (Falcon 9 ใช้ Grid Fins เป็นแผงไทเทเนียมที่รีดอากาศเพื่อควบคุมทิศทาง)
ในการลงจอด New Glenn มีขาตั้งไฮดรอลิกทั้งหมด 6 ตัว สำหรับประคองตัวจรวดขณะลงจอดบน Landing Platform Vessel โดยในระหว่างที่ลงจอดนั้น จะไม่มีลูกเรืออยู่บน Landing Platform Vessel หลังจากลงจอด Landing Platform Vessel จะเดินทางกลับมายังท่าเรือคะเนอเวอรัล บริเวณเดียวกับที่ SpaceX ใช้เป็นฐานปฏิบัติการเรือโดรน Just Read the Instruction และ A Shortfall of Gravitas ในการเก็บกู้ Falcon 9
และหลังจากนั้น New Glenn ก็จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในเที่ยวบินต่อไปนั่นเอง โดยนี่คือรายละเอียดทั้งหมดที่เราสามารถหามาได้จากทั้งบนเว็บไซต์และใน Payload User Guide ของ Blue Origin ข้อมูลทางวิศวกรรมอื่น ๆ ทาง Blue Origin ยังไม่ได้มีการเปิดเผยออกมา
ทีนี้หากเรามาโฟกัสที่ Landing Platform Vessel หรือเรือ Jacklyn เดิมที Blue Origin เคยไปซื้อเรือเฟอร์รีบรรทุกรถขนาดใหญ่ ยาว 182 เมตรมาเพื่อเตรียมทำเป็น Landing Platform Vessel และตั้งชื่อว่า Jacklyn เหมือนกัน แต่ภายหลังเรือลำนี้ถูกทำลายเพื่อชั่งกิโลขายไปในปี 2022 ที่ผ่านมา เข้าใจว่าไอเดียนี้ไม่เวิร์คและ Blue Origin ตัดสินใจที่จะสร้างเรือลำใหม่โดยตั้งแต่ต้น โดยเรือ Jacklyn ลำปัจจุบันที่เราเห็นนี้ถูกวางกระดูกงูในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2023 และต่อแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2024 มีความยาว 115 เมตร กว้าง 45 เมตร ตอนแรกเรือ Jacklyn จะถูกนำมาใช้สำหรับเที่ยวบินทดสอบจรวด New Glenn ในวันที่ 13 ตุลาคม 2024 แต่เนื่องจาก New Glenn ถูกเลื่อนการปล่อยออกไปเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน ทำให้เรายังไม่ได้เห็นการลงจอด
อย่างไรก็ดี Blue Origin นั้นค่อนข้างมั่นใจ กับความพยายามในการลงจอดจรวดของตัวเองมาก ก่อนหน้านี้ เราอาจเห็นภาพถ่ายมาจากตามแหล่งต่าง ๆ ที่มีคำว่า S/N 001 Freedom เขียนอยู่ภายในชิ้นส่วนโครงสร้าง Interstage ring ของบูสเตอร์ New Glenn ทำให้มีการสันนิษฐานว่านี่จะเป็นชื่อของบูสเตอร์ลำแรกของจรวดรุ่นใหม่ลำนี้
แต่กลับกลายเป็นว่าได้มีการตั้งชื่ออยากเป็นทางการให้กับบูสเตอร์ลำนี้ว่า “So You’re Telling Me There’s a Chance” ซึ่งให้ความรู้สึกที่คล้ายคลึงกับการตั้งชื่อในแต่ละภารกิจของบริษัท Rocket Lab แน่นอนว่าความหมายของชื่อก็ตรงตัวที่แปลว่า “งี้คุณก็กำลังจะบอกเราว่ามันมีโอกาส” โดยชื่อนี้เกิดจากไอเดียที่ว่าในตอนนี้ยังไม่เคยมีใครที่ประสบความสำเร็จในการทำจรวดให้กลับมาลงจอดให้ได้ตั้งแต่การบินครั้งแรก เพราะไม่ว่าจะเป็น Falcon 9 หรือแม้แต่ Super Heavy ของ SpaceX ก็ไม่ได้มีการนำบูสเตอร์กลับมาลงจอดตั้งแต่ครั้งแรก หรือแม้แต่ New Shepard ของ Blue Origin ก็ไม่ได้ลงจอดสำเร็จตั้งแต่ภารกิจแรก
Dave Limp CEO คนปัจจุบันของ Blue Origin ยังได้ระบุเพิ่มเติมอีกกว่า ทาง Blue Origin จะทำ (นำจรวดมาลงจอด) ต่อไป ด้วยความถ่อมตน และถ้าการลงจอดที่จะเกิดขึ้นไม่สำเร็จ ทางบริษัทก็จะทำพยายามต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co