ช่วงเที่ยงของวันที่ 6 พฤศจิกายน 2024 ตามเวลาประเทศไทย ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกมาแล้วว่า Donald Trump ผู้สมัครจากพรรค Republican ได้รับคะแนนรวมสูงสุด เป็นที่แน่ชัดว่าประธานาธิบดีคนถัดไปของสหรัฐฯ ได้กลับมาเป็น Donald Trump อีกครั้ง หลังจากที่เขาเคยเป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐฯ ในช่วงปี 2017-2021
บรรยากาศนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความดุเดือดของการเมืองสหรัฐฯ ในช่วงหลัง ที่เต็มไปด้วยสถานการณ์มากมาย รวมถึงการถูกลอบสังหารในเดือนกรกฎาคม 2024 และการสลับเปลี่ยนตัวแคนดิเดทของฝั่ง Democrat จาก Joe Biden มาเป็น Kamala Harris แทน
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลการเลือกตั้งดังกล่าว ส่งผลต่ออนาคตของสหรัฐฯ อย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ ทั้งในประเทศ นโยบายต่างประเทศ รวมถึงในแวดวงอวกาศด้วย ดังนั้นบรรยากาศการเลือกตั้งสหรัฐฯ นั้นไม่ได้สะท้อนผ่านแค่การลงคะแนนเลือกตั้งในอวกาศอย่างเดียว แต่รวมถึงท่าที มุมมองทางการเมือง และความเป็นไปได้ของนโยบายอวกาศต่อจากนี้ด้วย
บรรยากาศการเลือกตั้งในอวกาศ
ในบรรยากาศการเลือกตั้งรอบนี้ ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2024 มีนักบินอวกาศชาวอเมริกัน อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติมากถึง 4 คน ได้แก่ Butch Wilmore, Suni Williams ที่เดินทางขึ้นไปสถานีอวกาศฯ ในภารกิจ Starliner Crew Flight Test ก่อนที่จะต้องอยู่ยาวเป็นลูกเรือกลุ่ม Expedition 72 ร่วมกับ Nick Hague จากภารกิจ Crew-9 และ Don Pettit ที่เดินทางขึ้นสู่อวกาศมากับยาน Soyuz MS-26 ทั้งสี่ ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งผ่านบนสถานีอวกาศ เพียงแค่ 1 คนได้แก่ Kathleen Rubins เป็นชาวอเมริกันคนเดียวที่ไม่ได้อยู่บนโลก ซึ่งเธอก็ได้เลือกตั้งผ่านอินเทอร์เน็ตลงมายังศูนย์ควบคุมที่ NASA Johonson Space Center
ตัวเลขนี้ถือว่าแตกต่างจากการเลือกตั้งปี 2020 ที่ Biden เอาชนะ Trump อย่างมาก ในตอนนั้น สหรัฐฯ มีลูกเรือบนสถานีอวกาศ เพียงแค่ 1 คนได้แก่ Kathleen Rubins ลูกเรือกลุ่ม Expedition 63/64 เป็นชาวอเมริกันคนเดียวที่ไม่ได้อยู่บนโลก นั่นเพราะว่าตอนนั้นภารกิจการทดสอบ Crew Demo-2 ที่นำส่งลูกเรืออเมริกันขึ้นสู่สถานีอวกาศฯ เพิ่งเกิดขึ้นและสองนักบินทดสอบ Doug Hurley และ Bob Behnken ได้กลับโลกไปแล้ว
ส่วนในการเลือกตั้งปี 2016 ที่เป็นการเลือกตั้งที่ Trump เอาชนะ Hillary Clinton ก็มีนักบินอวกาศคนเดียวอยู่ในอวกาศเช่นกัน ก็คือ Shane Kimbrough ลูกเรือ Expedition 49/50 ซึ่งก็ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งในอวกาศเช่นกัน
ส่วนกรณีในอดีตนั้น David Wolf เป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกันคนแรกที่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกโลกในการเลือกตั้งปี 1997 ตอนนั้นเขาเป็นลูกเรือสถานีอวกาศ Mir ของรัสเซีย ซึ่งก็ได้เปิดโอกาสในการเลือกตั้งนอกโลกให้กับการเลือกตั้งในยุคต่อ ๆ มา มาดูวิธีการเลือกตั้งของนักบินอวกาศที่อยู่นอกโลกในวันเลือกตั้ง
ดังนั้นเราจะเห็นว่าหลังจากที่สหรัฐฯ กลับมามีศักยภาพในการส่งนักบินอวกาศเดินทางสู่สถานีฯ ด้วยตัวเองอีกครั้ง เราได้เห็นชาวอเมริกันเดินทางสู่อวกาศมากขึ้นจริง ๆ ซึ่งนี่ก็ได้สะท้อนออกมาผ่านจำนวนของนักบินอวกาศที่ใช้สิทธิ์เลือกตั้งบนวงโคจรด้วยเช่นกัน
ในปีนี้ NASA ก็ได้ออกมาเขียนบทความ How NASA Astronauts Vote from Space Aboard International Space Station เล่าเรื่องการเลือกตั้งในอวกาศเช่นเคย
Elon Musk กับแนวคิดทางการเมืองสุดขั้วฝั่ง Trump
ในทุกการเลือกตั้ง เราจะได้เห็นบรรดาคนดัง นักการเมือง นักธุรกิจ ออกมาเชียร์แนวคิดทางการเมืองที่ตัวเองชื่นชอบ แต่สำหรับรอบนี้ ที่เด่นชัดและน่าหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุดเลยก็คือ Elon Musk แห่ง SpaceX ที่ออกมาประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุน Donld Trump อย่างเต็มรูปแบบ และมีการโพสต์ข้อความต่าง ๆ ลงบน X ของเขาเองอย่างต่อเนื่อง โดย Musk นั้นปรากฎภาพร่วมกับ Trump หลายครั้ง โดยเฉพาะภาพที่เขากระโดดอยู่บนเวทีขณะ Trump กำลังหาเสียง
ซึ่งในบรรยากาศการเลือกตั้งนี้เอง Musk ก็ได้บอกว่าเขาไปใช้สิทธิ์ในเท็กซัส ซึ่งเป็นรัฐที่ตั้งของฐานปล่อย Starbase ของ SpaceX ที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการนำเอา Booster จรวด Super Heavy กลับมาลงจอด SpaceX ทดสอบ Starship เที่ยวบินที่ 5 ลงจอดบนแขนกลช่วยจับสำเร็จกลางอากาศสำเร็จ
Elon Musk นั้น มักจะพูดถึงเหตุผลในการสนับสนุน Trump ในด้านเสรีภาพของสื่อ และเสรีภาพการเป็นนักสร้าง ในบทความ How Elon Musk Changed Course to Go All Out for Trump ของ The New York Times ได้บอกว่า Elon Musk นั้นได้ใช้ X ในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จจำนวนมาก ขัดแย้งกับที่ก่อนหน้านี้ Musk เคยกล่าวว่าเขาเป็นกลางทางการเมือง (และเคยด่า Donald Trump ด้วยซ้ำ)
ในบรรยากาศการฉลองชัยชนะของ Trump ในช่วงค่ำของคืนวันเลือกตั้งเรายังได้เห็น Elon Musk นั่งโต๊ะรับประทานอาหารข้าง ๆ ว่าที่ประธานาธิบดี Donald Trump และ Dana White มหาเศรษฐีและ CEO ของ UFC ท่ามกลางบรรดามหาเศรษฐี นักการเมือง และบุคคลสำคัญในสหรัฐฯ
ในขณะที่ตัวละคนอื่น ๆ ในแวดวงอวกาศ เรายังไม่ได้เห็นการออกมาแสดงความเห็นกันผ่านโซเชียลมีเดียมากนัก เว้นแต่การชักชวนออกไปเลือกตั้งเพียงเท่านั้น
จับตานโยบายอวกาศเมื่อ Trump กลับมา
ในสมัยของ Trump เราได้เห็นการดำเนินนโยบายด้านอวกาศที่หนักหน่วง และได้เห็น Trump เองเดินทางเยือน NASA ในเหตุการณ์สำคัญคือ การส่งยาน Dragon ในภารกิจ Demo-2 ซึ่งเป็นการพาชาวอเมริกันเดินทางกลับสู่อวกาศจากแผ่นดินสหรัฐฯ ในรอบ 9 ปี หลังยุคกระสวยอวกาศ
เรายังได้เห็น Trump มีบทบาทสำคัญในการนำเอา National Space Council ขึ้นมาช่วยดูนโยบายอวกาศของชาติ ยังมีการก่อตั้ง Space Force เป็นเหล่าทัพใหม่แยกมาจากกองทัพอากาศเดิม สร้างความคล่องตัวให้กับการทหารกับอวกาศ และที่สำคัญคือ Artemis Accords ที่เป็นข้อตกลงว่าด้วยเรื่องการสำรวจดวงจันทร์ ซึ่งเกิดขึ้นในยุคของ Trump ด้วยเช่นกัน ตอนนั้น Trump ได้เลือกให้ Jim Bridenstine เป็นผู้อำนวยการของ NASA ตั้งแต่ปี 2017 จนถึง 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ NASA กำลังดันโครงการ Artemis
แม้นโยบายต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นผลพวงมาจากนโยบายจากหลากหลายยุคประธานาธิบดี (เช่นโครงการ Commercial Crew ก็มาจากยุค Obama) แต่ท่าทีการดำเนินนโยบายสานต่อของรัฐบาล Trump ก็ถือว่าน่าสนใจเลยทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อ NASA กำลังเดินหน้าโครงการใหญ่อย่าง Artemis
น่าสนใจว่าในสมัยนี้ของ Trump เราจะได้เห็นนโยบายแบบใดออกมา เพราะ Trump นั้นแสดงออกถึงความสนใจด้านอวกาศมากพอสมควร
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co