“ความเป็นชาติไม่เคยสร้างเสร็จ” คำนี้คุณเติ้ล ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน ได้กล่าวไว้ (ผมเอง) ทดลองทำตัวเป็นบุคคลสำคัญซะบ้าง (ฮา) แต่ผมคิดแบบนี้จริง ๆ สมมติมีคนเดินมาแล้วบอกว่า เห้ย ทำไมคุณแม่งไม่คนไทยเลยวะ คำว่า “ไทย” ที่ว่านั้นคืออะไร กำหนดเมื่อไหร่ คิดโดยใคร จะแปลกมั้ยถ้ามีคนเดินมาบอกว่า คนไทยต้องกิน “ต้มยำกุ้งทุกวันสิ” ทั้งที่จริง ๆ เมนูหลักของเราทุกวันนี้คือ “กะเพราหมูกรอบ” หรือบอกว่า ทำไมคุณหน้าฝรั่งจัง ต้องไม่ใช่คนไทยแน่เลย ทั้งที่จริง ๆ คนที่พูด (อย่างคุณ) หน้าดูก็รู้ว่าอากง อาม่าเป็นคนจีน ดังนั้น ความเป็นชาติเป็นสิ่งที่ไหลลื่นตามสายธารแห่งการเวลาว่าในตอนนั้น ใครเข้า ใครออก ซึ่งนั่นคือนิยามของ “การสร้างชาติ” การสร้างชาติไม่ได้สร้างโดย กษัตริย์ หรือรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งผู้ปกครอง แต่สร้างโดยกิจกรรมใด ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลา ณ ตอนนั้น และด้วยอารัมบทดังกล่าว บทความนี้จะพาทุกคนมายังชาติเกิดใหม่ที่อายุสองร้องกว่าปีอย่าง “สหรัฐอเมริกา”
ในบทความเรื่อง พาชม Lick Observatory หอดูดาวที่วางรากฐานฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ให้สหรัฐฯ ตอนนั้นผมได้เล่าเรื่องของการสร้าง “รากฐาน” ให้กับฟิสิกส์ในสหรัฐฯ เอาแบบเร็ว ๆ ก็คือในตอนนั้นหลังจากการเกิดขึ้นของรัฐแคลิฟอร์เนีย ในยุคตื่นทองช่วงประมาณ 1850 ที่คนเดินทางมายังฝั่งตะวันตกเผื่อหาอาชีพใหม่ ๆ จนเกิดขนาดเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ดีขึ้นในฝั่งตะวันตก ก็ได้มีมหาเศรษฐีบริจาคเงินเพื่อสร้างหอดูดาว เพื่อดึงเอานักฟิสิกส์ทั้งจากในฝั่งตะวันออก และจากยุโรป เข้ามาทำงานในแคลิฟอร์เนีย จนปัจจุบันแคลิฟอร์เนียกลายเป็นรัฐฯ ที่มีกิจกรรมทางดาราศาสตร์เยอะมาก และมีมหาวิทยาลัยด้านดาราศาสตร์ชั้นนำมากมาย นับเป็นการ “สร้างชาติ” ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งแรก ๆ ของสหรัฐฯ
ในตอนนี้ ผมอยากเล่าสิ่งที่เป็นเหมือนภาคต่อของการสร้างชาติด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยังเกิดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนียเช่นกัน นั่นก็คือเรื่องราวของหอดูดาว Griffith Observatory ที่คงบอกได้ว่า เป็นหนึ่งในหอดูดาวที่โด่งดังที่สุดในสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งในโลกเลยก็ว่าได้ ตอนนี้ผมพาทุกคนมาอยู่ที่เมือง “กรุงเทพฯ” หรือ Los Angeles รัฐแคลิฟอร์เนียในฤดูร้อนปี 2024 กันครับ
หอดูดาว Griffith Observatory เมื่อเห็นภาพแล้วหลายคนก็จะอ๋อทันที เพราะถ้าคุณไม่เคยเห็นจากโปสเตอร์ต่าง ๆ โบชัวร์ประชาสัมพันธ์เมือง คุณก็น่าจะได้เห็นจากสื่อกระแสหลักอย่างเกม Grand Thef Auto หรือภาพยนตร์เรื่อง Lalaland ที่สองตัวเอกก็มาเต้น (หรือมายิงคนเล่น สำหรับ GTA) อยู่บนหอดูดาวแห่งนี้นี่แหละ บางคนอาจจะเคยเข้าไปเที่ยวกันบ้างแล้ว แต่ในบทความนี้ผมจะมาเจาะลึกและเล่าเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังหอดูดาวแห่งนี้
หอดูดาวอะไรไม่เหมือนหอดูดาว
Griffith Observatory ตั้งอยู่บนภูเขาเตี้ย ๆ ในเขต Los Feliz ของเมือง Los Angeles อยู่ที่ระดับความสูง 346 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ไม่ห่างจากถนนดัง Hollywood Boulevard และ Thai Town ที่ขับรถขึ้นมาใช้เวลาเพียงแค่ 15-20 นาทีเท่านั้น เรียกได้ว่าอยู่ในจุดที่สำคัญและใจกลางเมืองมาก ๆ มันถูกสร้างระหว่างปี 1933-1935 ซึ่งในช่วงนั้น ได้เกิดนโยบายในการสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างงานศิลปะภายใต้นโยบาย “New Deal” ภายใต้รัฐบาลของ Franklin Roosevelt ซึ่งต้องการสร้างชาติอเมริกาให้เข็มแข็งอีกครั้งหลังจากเหตุการณ์ Great Depression
ก่อนอื่น ผมอยากชี้ให้ดูความแปลกของหอดูดาว Griffith Observatory ที่ถ้าหากถอดสมองออกไปแล้วมาลองนึกถึงความสมเหตุสมผลดู
- ทำไม Griffith Observatory ถึงมาอยู่ในใจกลางเมืองขนาดนี้ หอดูดาวมันต้องอยู่ไกล ๆ ความเจริญไม่ใช่เหรอ ถ้าดูจาก Lick Observatory ที่ผมพาไปดู หรือแม้กระทั่งหอดูดาวของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ก็ไปอยู่ถึงดอยอินทนนท์
- ทำไม Griffith Observatory ไม่เห็นเหมือนหอดูดาวเลย แต่กลับใช้สถาปัตยกรรมแบบ Art Deco มีโดม มีเสา มีบันไดวน ดูเหมือนสร้างขึ้นมาโดยเน้นจากความสวยงาม ทั้งที่จริง ๆ หอดูดาวมันควรจะเน้น “Form Follows Function” มากกว่า
- ทำไม Griffith Observatory ถึงดูเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าที่ทำงาน และเราไม่เห็นนักดาราศาสตร์เดินเข้า ๆ ออก ๆ Griffith Observatory เหมือนกับที่เห็นจากหอดูดาวทั่วไปเลย
คำถามเหล่านี้ตอบได้ง่ายมาก นั่นก็คือเพราะว่า Griffith Observatory เป็นหอดูดาวแบบ “Public Observatory” หรือหอดูดาวสำหรับประชาชนทั่วไปได้มาดูดาว ไม่ใช่หอดูดาวของนักดาราศาสตร์ และแนวคิดการสร้างหอดูดาวให้ชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปได้มาดูดาวนั้น ก็เกิดขึ้นมาพร้อมกับการสร้าง Griffith Observatory นี่เอง และถามว่าทำไมเราจะต้องสร้างหอดูดาวให้คนทั่วไปมาดูด้วย เดี๋ยวผมจะค่อย ๆ เล่าไประหว่างพาชมนะครับ
รูปลักษณ์ภายนอกและสัญญะที่ซ่อนอยู่ในการออกแบบ
Griffith Observatory มีโครงสร้างหลัก ๆ คือเห็นอาคารรูปสมมาตรซ้ายขวา ตรงกลางเป็นโดมขนาดใหญ่ ซ้ายและขวามีโดมขนาดเล็กสองโดม (ซึ่งหากดูดี ๆ จะพบว่า เป็นโดมหอดูดาว ไม่ได้แค่เป็นโดมหลังคา) ด้านหน้ามีอนุเสารีย์ที่หยิบยืมเอาความเป็น “เสาโอเบลิสก์” หรือการทำเสาเป็นแท่งตรง ๆ ขึ้นมาที่เราพบเห็นได้ตามสถานที่สำคัญทั้งในยุคโบราณ และร่วมสมัยทั่วโลก เช่น อียิปต์โบราณ ไปจนถึงนครรัฐวาติกัน หรือแม้กระทั่งในกรุงวอชิงตัน ดีซี
ยิ่งดูยังไงก็ยิ่งชัดว่า Griffith Observatory ถูกสร้างเพื่อให้เหมือนกับสถาปัตยกรรมในยุคโบราณ เหมือนกับอาคารในสหรัฐฯ ที่ล้วนแต่หยิบยืมสถาปัตยกรรม ทั้งกรีก โรมัน ต่าง ๆ เข้ามาด้วยกัน ซึ่งถ้าเราดูเราก็จะมองเห็นถึง “ความอเมริกา” เหมือนกับอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ หรือทำเนียบขาว ที่มันไม่ได้เป็นความอเมริกันแท้ ๆ แต่เป็นอเมริกันที่เกิดจากการหยิบยืมวัฒนธรรมอื่นมา ทีนี้น่าจะพอเข้าใจที่ผมพูดไปตอนต้นบทความแล้วว่าการสร้างชาติมันไม่จบไม่สิ้นจริง ๆ
หากเรามองไปทางด้านซ้ายของอาคาร เราก็จะเห็นป้าย Hollywood อันโด่งดัง บ่งบอกว่าหอดูดาวแห่งนี้ ตั้งอยู่ท่ามกลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมบันเทิง ทำให้ในบริเวณนี้ไม่แปลกที่เราจะเห็นนักท่องเที่ยว มาถ่ายภาพกับป้าย Hollowood กันเป็นปกติ รวมถึงถูกใช้ในการถ่ายภาพยนตร์ Lalaland ด้วยเช่นกัน (สังเกตุเห็นเสาไฟและม้านั่งมั้ย)
จุดแรกที่อยากชี้ให้เห็นคือที่เสาโอเบลิสก์นี้ หากเราเดินมาดูใกล้ ๆ จะพบว่ามันคือรูปสลักของนักดาราศาสตร์เอกของโลกอันได้แก่
- Johannes Kepler ผู้อธิบายกฏการโคจร
- Galileo Galilei ที่สร้างการค้นพบทางดาราศาสตร์มากมาย เช่น ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีฯ หรือภูเขาบนดวงจันทร์ รวมถึงการสนับสนุนแนวคิดแบบโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล
- Nicolaus Copernicus นักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ผู้ยืนยันแนวคิดโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาล
- Hipparchus นักดาราศาสตร์ในยุคกรีกโบราณ ผู้ใช้คณิตศาสตร์ในการวางรากดาราศาสตร์ปัจจุบัน
- Issac Newton ผู้อธิบายแรงดึงดูดระหว่างมวลเป็นรากแห่งฟิสิกส์ยุคปัจจุบัน
- William Herschel นักดาราศาสตร์เอกแห่งโลกยุคใหม่ ที่สร้างการค้นพบมากมาย
โดยทั้ง 6 คนนี้จะยืนทำท่าคล้ายกับการทำมือให้พร หรืออวยพร เรียกได้ว่าสร้างล้อกับภาพของนักบุญต่าง ๆ ที่เรามักจะเห็นกันตามศาสนสถาน ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งนี้ก็เป็นการหยิบยืมเอาองค์ประกอบด้านศาสนามาใช้เพื่อเป็นสัญญะในการยกย่งนักดาราศาสตร์ที่วางรากให้กับองค์ความรู้ของมนุษยชาติ และสิ่งนี้ถูกเรียกว่า Astronomers Monument
และเมื่อเดินเข้ามาในตัวอาคาร สิ่งที่เราจะเห็นคือโดมขนาดใหญ่ ที่ด้านบนให้ความรู้สึกเหมือนกับเป็นศาสนสถานอีกแล้ว มีการวาดฝาผนังและเพดานสองชั้นด้วยกัน โดยบนเพดานจะเป็นเรื่องราวปกรณัม หรือ Mythology ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดวงดาว ส่วนด้านล่างจะเป็นภาพการค้นพบทางดาราศาสตร์และการสังเกตการณ์ธรรมชาติ
อันนี้หากให้ตีความเองอาจมองได้ว่าด้านบนคือเพดานที่ทะลุไปยังสวรรค์ คล้ายกับภาพเขียนบนเพดานของศาสนสถาน เช่น วิหาร (เห็นแล้วนึกถึง Sistine Chapel ในวาติกัน) ในขณะที่ภายใต้นั้นคือวิทยาการที่ศึกษาเรื่องราวที่อยู่บนนั้นผ่านมุมมองของปรัชญาธรรมชาติ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์
และเบื้องล่างก็คือลูกตุ้ม Foucault Pendulum ซึ่งเป็นเหมือนกับของต้องมี ของที่ต้องมีทุกหอดูดาวและมิวเซียมวิทยาศาสตร์ไปแล้ว ซึ่ง Foucault Pendulum นี้ก็จะแกว่งตามการหมุนของโลก ถ้าเรายืนดูนาน ๆ เราจะพบว่าลูกตุ้มแกว่งและชี้ไปในองศาที่เปลี่ยนไปจากการหมุนของโลก
จริง ๆ สถาปัตยกรรมในลักษณะนี้นั้นเกิดขึ้นกับอเมริกาในช่วงประมาณปี 1930 เป็นต้นมาที่เกิดกระแสที่เรียกว่า Democratize the Arts หรือการทำให้ใครก็สามารถสร้างงานศิลปะได้ อธิบายง่าย ๆ มันคือช่วยเดียวกับที่เกิดยุค Modern นั่นเอง ก็คือใครจะทำอะไรก็ทำ และสามารถหยิบยกเอาสถาปัตยกรรมในอดีตมาใช้ได้ (และอาจมองได้ว่าเพราะอเมริกาเป็นชาติเกิดใหม่ นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติในแง่ของศิลปะ) โดยเราจะเห็นสถาปัตยกรรมแนว ๆ นี้ได้ทั่วทั้งสหรัฐฯ
สร้างหอดูดาวสำหรับประชาชน ไม่ใช่แค่สำหรับนักดาราศาสตร์
ในหัวข้อด้านบนเราได้พูดถึงว่าการสร้าง Griffith Observatory นั้นอยู่ภายใต้การสร้างชาติผ่านนโยบาย New Deal แต่จริง ๆ แล้ว แนวคิดหลักในการก่อตั้งหอดูดาวแห่งนี้เกิดจากมหาเศรษฐี Griffith J. Griffith ผู้อพยพจากเวลส์ที่เข้ามาต้ังถิ่นฐานในสหรัฐฯ ในปี 1865 ในรัฐเพนซิลวาเนีย หลังจากนั้นในปี 1873 นั้น Griffith ได้ย้ายมายังรัฐแคลิฟอร์เนีย และทำธุรกิจด้านการทำเหมือง (อย่างที่บอกว่าแคลิฟอร์เนียคือรัฐแห่งการค้นพบทอง) จนร่ำรวย และได้บริจาคที่ดินจำนวนหนึ่งให้กับเมือง Los Angeles อย่างไรก็ดี Griffith มีประวัติอาชญากรรมและความรุนแรงในการเอาปืนยิงภรรยาของเขาในปี 1903 ที่เชื่อกันว่าเกิดจากการติดเหล้าอย่างหนักและอาการหลอนจากความเครียด จนเขาต้องติดคุกอยู่หลายปี ภายหลังที่ดินของเขาที่บริจาคให้กับเมือง Los Angeles ได้ถูกนำมาสร้างเป็น Greek Theatre และ Griffith Observatory หลังจากเขาเสียชีวิต
ในห้องโถงนี้ ก็จะมีการเล่าถึงประวัติการก่อสร้าง Griffith Observatory ผ่านแนวคิดของ Griffith ว่า “ถ้ามนุษย์ทุกคนได้ดูดาวผ่านกล้องโทรทรรศน์ มันก็คงจะเปลี่ยนโลกใบนี้ได้”
Griffith เชื่อว่าควรมีการสร้างหอดูดาวให้ประชาชนทั่วไปสามารถมาดูดาวได้ เพื่อประโยชน์ในการสร้างแรงบันดาลใจและการทำให้ดาราศาสตร์เป็นที่ถูกเข้าถึงได้ โดยเขาได้รับคำปรึกษาจาก Walter Sydney Adams หนึ่งในนักดาราศาสตร์ที่โด่งดังแห่งยุค ซึ่ง Adams ก็เป็นผู้อำนวยการสร้าง Mount Wilson Observatory หอดูดาวที่ถูกสร้างขึ้นในปี 1917 โดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของ George Ellery Hale ซึ่งเป็นผู้สร้างหอดูดาวอีกหลายแห่งในสหรัฐฯ (ได้แก่ Yerkes Observatory ในวิสคอนซิน และที่สำคัญในแคลิฟอร์เนียคือ Palomar Observatory และ Hale Solar Laboratory) เป็นหอดูดาวที่ทำให้ Edwin Hubble ศึกษาการเคลื่อนที่ของวัตถุในอวกาศอันไกลโพ้น จนสร้างเป็นทฤษฏีการกำเนิดจักรวาลได้ (เห็นไหมว่าอิทธิพลจากการสร้างหอดูดาวในแคลิฟอร์เนีย เปลี่ยนโลกดาราศาสตร์แค่ไหน)
และนี่ก็คือเรื่องราวว่าที่เฉลยว่าทำไม Griffith Observatory ถึงได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็น “หอดูดาวของเมือง” ที่ใคร ๆ ก็ขึ้นมาดูดาวได้ ไม่ใช่แค่นักดาราศาสตร์นั่นเอง โดยแนวคิดนี้ ถูกแพร่กระจายไปยังหอดูดาวในลักษณะเดียวกันทั่วโลก และเป็นอิทธิพลสำคัญให้กับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ในการบริการดาราศาสตร์ให้กับประชาชน เพื่อให้คนธรรมดาทั่วไปได้ดูดาว และสร้างแรงบันดาลใจ ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ในสังคม
พาดูนิทรรศการทางดาราศาสตร์ใน Griffith Observatory
เล่าถึงประวัติและปรัชญาเบื้องหลังกันไปแล้ว Griffith Observatory นั้นด้านในก็จะเต็มไปด้วยนิทรรศการด้านดาราศาสตร์จำนวนหนึ่ง และที่สำคัญคือ “หอดูดาว” สองหอ ซึ่งถ้าดูจากภายนอกมันคือโดมสองฝั่งซ้ายและขวาที่สมมาตรกันนั่นเอง โดยหอสองหอนี้ ฝั่งซ้ายจะเป็นหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ที่มีกล้องโทรทรรศน์ให้ประชาชนทั่วไปได้ขึ้นไปชมเป็นกล้องหักเหแสงขนาด 12 นิ้ว (30 เซนติเมตร) ในขณะที่หอด้านขวาจะเป็นกล้องโทรทรรศน์สำหรับส่องดูดวงอาทิตย์
ซึ่งในตอนนี้เราจะพาไปชมนิทรรศการดาราศาสตร์ก่อน ซึ่งอยู่ในฝั่งของกล้องโทรทรรศน์หักเหแสงขนาด 12 นิ้ว ในตรงนี้ผมจะไม่ได้มาอธิบายว่าอะไรคืออะไรในเชิงหลักการนะครับ แต่ว่าจะชวนดูวิธีการเล่าเรื่อง และการนำเสนอมากกว่า
โซนแรกที่จะพามาดูก็คือโซนที่พูดถึงเรื่อง “การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์” ซึ่งก็คือเราดูดาวได้อย่างไร มีเครื่องมืออะไร และแสงในแต่ละย่านบ่งบอกอะไรกับเรา ตลอดไปจนถึงวิวัฒนาการในการใช้อุปกรณ์ช่วยดูดาว จากเดิมที่นักดาราศาสตร์ดูดาวและจดบันทึกด้วยมือ กลายมาเป็นใช้กล้องโทรทรรศน์ และเทคโนโลยีปัจจุบันอย่างการใช้ Detector อย่าง CCD ในการรับแสงจากวัตถุบนท้องฟ้า
ภาพด้านล่างนี้ก็จะอธิบายว่า เราเห็นแสงในแต่ละย่านคล่นเป็นอย่างไรบ้าง ตั้งแต่คลื่นวิทยุ ไมโครเวฟ อินฟราเรด แสงที่มองเห็นได้ ตลอดไปจนถึงเอ็กซ์เรย์ และรังสีแกมม่า ด้านล่างก็จะมีแผ่นป้ายบอกว่าการสังเกตการณ์แต่ละย่านนั้นบอกอะไร และส่งผลต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจกับจักรวาลอย่างไร
ด้านล่านี้ก็จะเล่าเรื่องว่า เราสังเกตแล้วเราบันทึกมันได้อย่างไร ก็จะพูดถึงตั้งแต่สมัยก่อนที่ใช้มือจดบันทึก จนถึงปัจจุบันที่มีการบันทึกภาพในรูปแบบดิจิทัลผ่านอุปกรณ์ CCD หรือกล้องถ่ายภาพแบบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ที่ช่วยให้การเก็บข้อมูลแม่นยำและนำมาใช้ได้ง่ายขึ้น
ต่อมาก็จะเป็นการอธิบายว่า แล้วจากดาวดวงเล็ก ๆ บนท้องฟ้าเราทำอย่างไรให้มาปรากฎใหญ่ให้เห็นได้ อันนี้ก็จะเล่าเรื่องการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ ตั้งแต่กล้องของ Galileo มาจนถึงกล้องดูดาวที่เราใช้กันในปัจจุบันว่ามีวิวัฒนาการมาเป็นอย่างไรบ้าง
ก็จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแสง อุปกรณ์ขยายภาพตามที่เราเรียนกันมาว่ากล้องโทรทรรศน์ประเภทต่าง ๆ เป็นอย่างไร ชนิดหักเหแสง (Refracting Telescope) คืออะไร เป็นการเอาหลักการทำงานของกล้องโทรทรรศน์มาให้เราได้เห็นภาพ
โซนที่แสดงถึงวิวัฒนาการทางดาราศาสตร์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
เมื่อซักครู่เราได้เกริ่น ๆ ถึงเรื่องของประวัติศาสตร์หอดูดาวในแคลิฟอร์เนียกันมาบ้างแล้ว ตั้งแต่การเปิดบทความด้วยการพูดถึง Lick Observatory และการบุกเบิกหอดูดาวในสหรัฐฯ โดย George Hale ใน Griffith Observatory มีโซนทั้งโซนที่พูดถึงประวัติศาสตร์และการตั้งหอดูดาวที่ได้วางรากฐานให้กับดาราศาสตร์ในสหรัฐฯ
สิ่งที่เป็นใจความสำคัญของนิทรรศการนี้ถูกสรุปเอาไว้ในภาพด้านล่างนี้ นี่คือแผนที่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขา ริมทะเล อยู่ไม่ไกลจากเมืองสำคัญ และที่สำคัญคือมีความชื้นที่เหมาะสมในการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ โดยเราจะเห็นว่าในภาพ ได้อธิบายว่าการก่อกำเนิดหอดูดาวในแคลิฟอร์เนียเกิดตั้งแต่การสร้าง Lick Observatory ชานเมือง San Jose ในช่วงยุคตื่นทอง ประมาณปี 1888 หลังจากนั้นก็มีการก่อสร้างหอดูดาว Mount WIlson Observatory ชานเมือง Los Angeles ในปี 1904 และการสร้างหอดูดาว Palomar ชานเมือง San Diego ในปี 1949 ซึ่งทั้งหมด ล้วนแต่เคยครองสถิติ “กล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุด” ทั้งในสหรัฐฯ และในโลก
ภาพด้านล่างอยากให้ลองอ่านดู เขาบอกว่าในช่วงยุคปี 1800 เป็นต้นมา นักดาราศาสตร์เริ่มเข้ามายังแคลิฟอร์เนียและเริ่มใช้ภูเขาในการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ แต่หอดูดาวแห่งแรกที่สร้างขึ้นแบบจริงจังบนภูเขา (Moutaintop Observatory) จริง ๆ ก็คือ Lick Observatory
หลังจากนั้นนิทรรศการก็จะอธิบายต่อว่าพอเกิดหอดูดาวขึ้นใหม่ ก็มีแนวโน้มในการสร้างกล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่กว่าเดิม ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมอเมริกาถึงเป็นเจ้าด้านการทำกล้องโทรทรรศน์ให้ใหญ่ ๆ ไว้ก่อน เพราะยิ่งใหญ่ก็จะยิ่งมีกำลังขยายมากขึ้น มีการจัดแสดงชิ้นส่วนกระจกขนาดเล็ก 1 เมตร ที่เป็นส่วนประกอบของกระจกรวมแสงบานใหญ่ที่มีขนาดกว่า 5 เมตร ที่เคยถูกใช้กับกล้อง Hale ใน Palomar Observatory ที่ถือว่าเป็นสุดยอดเทคโนโลยีกระจกในยุคนั้น
สมัยก่อนเทคโนโลยีการเคลือบกระจกนั้นไม่เหมือนกับในปัจจุบัน กระจกของกล้อง Palomar จึงถูกสร้างขึ้นด้วยการเอากระจกขนาดเล็กหลาย ๆ อันมารวมกัน และใช้วิถีขัดด้วยมือ บางทีใช้เวลานานกว่า 10 ปี ในภาพด้านล่างเราจะเห็นการผลิตกระจกสำหรับกล้อง Hooker Telescope ใน Mount Wilson Obseratory และกล้อง Hale ใน Palomar Obseratory
ปัจจุบันการทำกล้องพวกนี้เราใช้เครื่องจักรในการขึ้นรูปและระบบการเคลือบด้วยวิธีการอย่างเช่น Evaporation หรือ Sputtering Process ซึ่งช่วยทุนแรงไปได้มาก อย่างเช่นสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ของไทยเราก็มีความสามารถในการเคลือบกระจกได้เองและสามารถทำให้หน่วยงานพันธมิตรในต่างประเทศได้ด้วย
ในโซนนี้เองเรายังจะเห็นแบบจำลองภายในของ Griffith Observatory ว่าด้านในมีอะไรบ้าง ซึ่งจะเห็นว่าโซนที่เราอยู่คือโซนนิทรรศการที่อยู่ทางปีกซ้ายและขวา ใต้กล้องโทรทรรศน์สองฝั่ง ในขณะที่โดมใหญ่ ๆ ตรงกลางนั้นก็คือ “ท้องฟ้าจำลอง” ที่ชื่อว่า Samuel Oschin Planetarium นั่นเอง แถมใต้ดินยังมีห้องฉายภาพยนตร์ขนาดเล็กสำหรับใช้ในการฉายวิดีโอหรือจัดงานบรรยายต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ซึ่งทั้งหมดนี้น่าจะพอทำให้เราได้เห็นภาพว่าการสร้างหอดูดาวในแคลิฟอร์เนียหลาย ๆ แห่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นอิทธิพลที่ส่งผลต่อ ๆ กันมาตั้งแต่ยุคตื่นทอง มาจนถึงการที่คนร่ำคนรวยมาสนับสนุนวิทยาศาสตร์ อุดหนุนค้ำชูการถ่ายทอดความรู้ให้กับคนทั่ว ๆ ไป และนำมาสู่การตื่นรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประชาชนคนในชาติ
นิทรรศการดาวฤกษ์และกล้องโทรทรรศน์ส่องดวงอาทิตย์
เมื่อเดินมายังปีกอีกฝั่งของอาคาร เราก็จะเจอกับโซนที่จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ ซึ่งในส่วนนี้จะอยู่ด้านใต้กล้องโทรทรรศน์สำหรับส่องดวงอาทิตย์นั่นเอง
สิ่งที่เป็นจุดเด่นอยู่ตรงกลางด้านหน้าเมื่อเดินเข้ามาก็คือภาพฉายจากแสงของดวงอาทิตย์ที่เกิดจากการรวมแสงผ่านกระจกด้านบนที่เรียกว่า “Triple Beam Coelostat” โดยตัวกระจกด้านบนจะหมุนตามดวงอาทิตย์ในแต่ละช่วงเวลาของวัน ทำให้ภาพที่ปรากฎด้านล่างคือภาพ ณ ปัจจุบันของดวงอาทิตย์ ซึ่งเราจะเห็นรายละเอียดของจุดดำบนดวงอาทิตย์ได้อย่างชัดเจน
ในตรงนี้ก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความรู้กับคนที่เข้ามาเยี่ยมชม อย่างเช่นในภาพด้านบนเจ้าหน้าที่ก็กำลังอธิบายว่า Coelostat นั้นทำงานอย่างไร
ซึ่งนอกจากบริเวณนี้แล้ว แสงของดวงอาทิตย์ยังถูกสะท้อนไปยังส่วนจัดแสดงของนิทรรศการรอบข้างด้วย อย่างในภาพด้านล่างเราจะเห็นว่าตัว Coelostat สะท้อนดวงอาทิตย์ไปยังสามจุดด้วยกัน ได้แก่ฉากตรงกลางของห้อง และอุปกรณ์ Spectroscope ที่ให้ความรู้ด้านคลื่นแสงด้านข้าง และอีกแห่งในบริเวณนิทรรศการที่อยู่ในห้องชั้นใต้ดิน ที่เดี๋ยวเราจะพาไปดูต่อไป
และเนื่องจากตรงนี้เป็นโซนที่อธิบายเรื่องดาวฤกษ์ แน่นอนว่าเราจะต้องเห็นการอธิบาย Hertzsprung-Russell Diagram ซึ่งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างขนาด มวล และสีของดาวฤกษ์ ว่าดาวฤกษ์แต่ละขนาดแต่ละสีนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งก็อย่างที่ทราบกันว่าดวงอาทิตย์ของเรานั้นจัดอยู่ในดาวฤกษ์แบบ Yellow Dwarf Star และมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 700,000 กิโลเมตร
ในบทความนี้เราอาจะไม่ได้พาเข้าไปในโซนท้องฟ้าจำลอง Samuel Oschin Planetarium ที่มีการจัดแสดงฉายดาว แต่เราจะพาลงไปยังห้องใต้ดินที่มีนิทรรศการด้านดาราศาสตร์อีกส่วนหนึ่งจัดแสดงไว้ พร้อมกับของโชว์ต่าง ๆ ที่ถือว่าน่าสนใจพอสมควรเลยทีเดียว
โซนใต้ดินจะเป็นการจัดแสดงลักษณะทางกายภาพและความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์พื้นฐาน ซึ่งตรงนี้ถ้าสังเกตก็คือจะมีการตกแต่งที่ดู “ใหม่” กว่าด้านบน นั่นก็เพราะว่าโซนนี้ถูกสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาทีหลังจากการก่อตั้ง Griffith Observatory นั่นเอง
ยังมีการจัดแสดง “หินดวงจันทร์” ที่ไม่ใช่แค่เศษดิน แต่ว่าเป็นหินเป็นก้อน ๆ ใหญ่ ๆ แบบนี้เลย ซึ่งในสหรัฐฯ มีการนำหินดวงจันทร์มาจัดแสดงอยู่ในหลายพื้นที่ เนื่องจากโครงการ Apollo ได้นำหินมากกว่า 382 กิโลกรัมกลับมายังโลก อย่างหินที่จัดแสดงอยู่นี้ได้รับการนำกลับมาในภารกิจ Apollo 14 ซึ่งทาง NASA ได้ให้หยิบยืมมาจัดแสดง
นอกจากดินดวงจันทร์แล้วก็จะมีการจัดแสดงอุกาบาตต่าง ๆ ที่ถูกค้นพบตกลงมาบนโลก อย่างด้านล่างเป็นอุกกาบาตประเภทโลหะ ที่ตกลงมายังโลกเมื่อกว่า 50,000 ปีก่อน และได้รับการค้นพบในหลุมอุกกาบาตกลางทะเลทรายในรัฐแอริโซนา ได้ถูกนำมาจัดแสดงร่วมกับวัตถุจากนอกโลกอื่น ๆ ซึ่งก็ได้มีการให้ความรู้ถึงอุกกาบาตประเภทต่าง ๆ
ในโซนนี้เองก็จะมีการจัดแสงนิทรรศการอื่น ๆ ที่เราน่าจะคุ้นเคยกันหากใครที่ไปมิวเซียมด้านอวกาศบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตำแหน่งของดวงดาวที่มองจากโลกแล้วเกิดเป็นรูปกลุ่มดาวต่าง ๆ แม้ว่าดาวเหล่านั้นอาจจะไม่ได้อยู่ใกล้กันเลยก็ตาม หรือแม้กระทั่ง Cloud Chamber ที่ใช้ในการตรวจจับอนุภาคในอวกาศ
พาออกไปชมด้านนอกบนดาดฟ้า จุดชมวิว และกล้องโทรทรรศน์
สิ่งที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี (จนกลายเป็นมีม) ก็คือจุดชมวิวนคร Los Angeles เบื้องล่างเมื่อมองจากหอดูดาว ซึ่งทางเดินวนรอบหอดูดาวก็จะพาให้เราสามารถมองลงมายังตัวเมืองและเห็นโซนศูนย์กลางเมืองได้อย่างชัดเจน
ในบริเวณนี้ก็จะยังมีกล้องส่องทางไกล (แบบหยอดเหรียญ) ให้ได้ชมวิวเมืองกันเป็นระยะ ๆ เป็นจุดที่ใครที่มาต้องมาถ่ายรูปกันตรงนี้ เพราะแค่เห็นโซนนี้ก็รู้แล้วว่ามา Griffith Observatory
ในการขึ้นมายังหอดูดาวและดาดฟ้านั้น สามารถเดินขึ้นมาได้ทั้งจากในส่วนของอาคาร และจากด้านหน้าอาคาร จะเป็นบันไดวนให้เราสามารถขึ้นมายังกล้องโทรทรรศน์ทั้งสองฝั่งได้
การออกแบบตัวโดมของกล้องนั้นค่อนข้างน่าสนใจ คือถ้าดูไกล ๆ จะดูไม่ออกเลยว่าเป็นโดมหอดูดาว เพราะดูเหมือนเป็นส่วนหลังคาโดมของสถาปัตยกรรมมากกว่า ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจของ Griffith Observatory
ด้านในโดมฝั่งซ้าย อย่างที่บอกไปว่าจะเป็นกล้องโทรทรรศน์ขนาด 12 นิ้วแบบหักเหแสง ซึ่งกล้องนี้จะถูกใช้สำหรับบริการประชาชนคนทั่วไปในการขึ้นมาดูดาวในตอนกลางคืน ก็คือใคร ๆ ก็สามารถเข้ามาดูได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ในแต่ละคืนก็จะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไปว่าคืนนั้นจะมีการส่องดูวัตถุบนท้องฟ้าอะไร
โดยกล้องที่ถูกติดตั้งเข้ากับฐานจริง ๆ แล้วก็จะมีหลายตัวด้วยกัน บางตัวก็เชื่อมต่อกับ CCD ไว้ บางตัวก็จะไว้สำหรับต่อกับ Eye Piece ให้คนธรรมดาทั่วไปมาดูด้วยตาได้เลย แต่เนื่องจากตอนนี้เรามาในช่วงเวลากลางวัน จึงยังไม่มีกิจกรรมดูดาวเกิดขึ้น
บริเวณนี้นั้นออกมาด้านนอก ก็จะยังมีจุดสวย ๆ ให้สามารถออกมาถ่ายรูปกันได้ และยังคงมีกล้องส่องทางไกลสำหรับชมวิวไว้ให้อยู่เป็นระยะ ๆ
ส่วนโดมอีกฝั่งก็จะเป็นโดมที่ด้านในติดตั้ง Coelostat สำหรับดูดวงอาทิตย์ ซึ่งในภาพที่เห็นด้านล่างนี้ตั้งใจถ่ายให้ติดป้าย Hollowood ที่อยู่ในภูเขาลูกถัดไป และนี่ก็คือเอกลักษณ์ของหอดูดาว ที่เปรียบเหมือนเป็นภาพจำของเมือง Los Angeles ไปแล้ว
นอกจากในบริเวณดาดฟ้าเรายังสามารถลงไปยังส่วนที่เป็นคาเฟ่ ร้านอาหารและโซนขายของที่ระลึกของ Griffith Observatory ได้ด้วยเช่นกัน สามารถรับประทานอาหาร พักเหนื่อยและชมวิวป้าย Hollywood และนคร Los Angeles จากบนนี้ได้ โดยจะมีทั้งโซนนั่งในฝั่ง Indoor และฝั่ง Outdoor ให้ได้เลือกกัน แต่แอบบอกว่าช่วงกลางวันแม้จะไม่ร้อนเกินไปแต่แอบแดดแรงเล็กน้อย
โซนร้านของที่ระลึกถือว่าไม่ได้เล็กไม่ได้ใหญ่ และมีสินค้าขายหลากหลายตั้งแต่หนังสือ เสื้อผ้า โมเดลต่าง ๆ ของเล่นเด็ก ไปจนถึงสินค้าจากหน่วยงานอื่น ๆ ที่มาฝากขาย เช่น NASA อย่างพวกพวงกุญแจ สติกเกอร์ หรือเสื้อลายภารกิจต่าง ๆ อย่างโครงการ Artemis ก็มีขายในนี้ด้วยเช่นกัน
และทั้งหมดนี่ก็คือทัวร์อย่างคร่าว ๆ ของสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่บทความนี้ยังไม่ได้พาไปดูก็คือด้านในท้องฟ้าจำลอง Samuel Oschin Planetarium และส่วนห้องฉายหนังที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าใครที่ต้องการไปเข้าชมท้องฟ้าจำลอง ก็จะมีค่าเข้าชมและเปิดให้ชมเป็นรอบ ๆ และมีค่าเข้าสำหรับตั๋วผู้ใหญ่อยู่ที่ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ และตั๋วเด็ก นักเรียน นักศึกษา และผู้สูงอายุอยู่ที่ 8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าราคาไม่แพงมาก และได้ช่วยอุดหนุนกิจการของ Griffith Observatory
สรุปใจความสำคัญและการสร้างชาติผ่านการดูดาว
สรุปใจความสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ เราอยากจะบอกว่าภายใต้สถาปัตยกรรม หรือฟังชันก์ มันมีเรื่องราวซ่อนอยู่ในนั้นว่าทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น หากเรามองว่า Griffith Observatory เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่ง หรือแม้กระทั่งมองว่าเป็นหอดูดาวแห่งหนึ่ง มันก็จะเป็นแค่นั้น แต่ถ้าเราตั้งคำถามจากสิ่งที่เห็น ทำไม Griffith Observatory ไม่เหมือนหอดูดาวทั่วไป ทำไม Griffith Observatory มักจะปรากฎในสื่อบันเทิงต่าง ๆ ทั้งที่จริง ๆ มันเป็นหอดูดาวไม่ใช่มิวเซียมสวย ๆ หรือห้างร้าน โรงละคร เราจะเริ่มเข้าใจแนวคิดการมีอยู่ของมันมากขึ้น
ถ้าสรุปสั้น ๆ Griffith Observatory เกิดจากยุคตื่นทองในสหรัฐฯ ที่ทำให้มีคนมาตั้งถิ่นฐาน ตั้งรกรากและขยายขนาดของเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และเมื่อคนรวยขึ้นคนรวจก็จะบริจาคเงินเพื่อทำสิ่งต่าง ๆ ในทางการกุศล ก่อตั้งมูลนิธินู่นนี่นั่น รวมไปถึงบริจาคที่ดินในการสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ประจวบเหมาะกับในช่วงที่ดาราศาสตร์เริ่มเจริญรุ่งเรืองในอเมริกา และการที่ Griffith ได้เจอกับ Adams นักดาราศาสตร์คนสำคัญของสหรัฐฯ ช่วยนั้น และ Adams ได้ป้ายยา Griffith ให้เข้าสู่วงการดูดาว ก็กลายมาเป็นผลที่ทำให้เกิด Facility ด้านดาราศาสตร์สำหรับประชาชนในเมืองใหญ่อย่าง Los Angeles
ทุกวันนี้แคลิฟอร์เนียกลายเป็นรัฐแห่งดาราศาสตร์ มีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น Stanford หรือตระกูล University of California ที่ล้วนแต่มีชื่อเสียงด้านงานวิจัยการดูดาว
ย้อนกลับไปที่เรื่องของการสร้างชาติ ผมจึงอยากบอกว่า การสร้างชาตินั้นคือการสร้างเมือง การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การปลูกฝังกระบวนการคิดให้กับคน ความเป็นชาติจึงเป็นสิ่งที่ลื่นไหลไปตามกาลเวลา ไม่ได้ถูกยึดติดอยู่กับแค่ประวัติศาสตร์หรือค่านิยมแค่ช่วงเวลาหนึ่ง สุดท้ายทุกอย่างก็เลยร้อยเรียงมาเป็นเหตุผลให้สหรัฐฯ กลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจด้านดาราศาสตร์ และมีสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสัญลักษณ์และบันทึกเรื่องราวเอาไว้ อย่างเช่น Griffith Observatory เราเลยอยากชวนให้ทุกคน หากได้มีโอกาสแวะผ่านมาที่เมือง Los Angeles ได้ลองขึ้นมาชมและมองดูเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ใน Griffith Observatory แห่งนี้กัน
Griffith Observatory เปิดทุกวัน เวลาเที่ยงตรง 12:00 จนถึงสี่ทุ่ม 10:00 ไม่เว้นวันหยุด (ยกเว้นการประกาศอย่างเป็นทางการ ซึ่งตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์ของหอดูดาว) ข้อแนะนำคือ ใครเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะจะสามารถนั่งรถเมล์ขึ้นมายังหอดูดาวด้านบนได้เลยขึ้นจากตรงถนน Hollywood ตรวจสอบรอบได้จาก Google Maps หรือ Apple Maps
ส่วนใครที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวสามารถนำขึ้นมาจอดด้านบนหอดูดาว (เสียค่าจอด) ได้เลยไม่ต้องเดิน หรือหากต้องการจอดฟรี สามารถจอดได้ที่บริเวณลานจอดรถของ Greek Theatre ด้านล่าง จอดฟรี แต่จะมีตัวเลือกคือต้องรอรถเมล์ (สายเดียวกับที่วิ่งเข้าเมือง) ขึ้นไปด้านบนหอดูดาวได้เลย หรือก็สามารถเดินขึ้นได้เช่นกัน ใช้เวลาเดิน (ขึ้นเขา) ประมาณ 15 นาที
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co