เบื้องหลังกำแพงสีแดงที่ไม่มีใครอาจเอื้อมถึง กำแพงที่สูงหนาที่ปิดกั้นการสำรวจอวกาศจากทั้งสองฟากโลกในช่วงระหว่างยุค 1950 จนถึงกลางทศวรรษ 1980s สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา คือศัตรู การสอดแนมด้วยเครื่องบินที่ออกแบบมาเป็นพิเศษอย่าง U-2 ทำให้พวกเขาได้ข้อมูลของฐานปล่อยเพียงน้อยนิด พวกเขารู้เพียงว่าพวกโซเวียตปล่อยจรวดกันกลางทะเลทรายในบริเวณที่ต่อมาถูกแบ่งเป็นเขตแดนของประเทศคาซักสถาน ยูริ กาการิน เดินทางขึ้นจากฐานปล่อยในไบคัวนอร์ คอสโมโดรม นำหน้าสหรัฐฯ เป็นชาติแรกในการสำรวจอวกาศ และพวกเขา (สหรัฐอเมริกา) ไม่รู้เลยว่าเมื่อเวลาผ่านไปครึ่งศตวรรษพวกเขาจะต้องเดินทางขึ้นสู่อวกาศจากฐานปล่อยเดียวกับกาการิน และจะต้องใช้ชีวิตในเมืองที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนศัตรู
“ซึโวสนึย” (Звёздный) ภาษารัสเซียที่แปลว่าดวงดาว ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างออกไปนับพันกิโลเมตรจากฐานปล่อย เมืองนี้เคยเป็นเมืองต้องห้ามราวกับว่ามันไม่เคยมีอยู่จริง อเมริกันรู้จักเมืองที่พวกเขาเรียกตามภาษารัสเซียว่า “Star City” นี้ในช่วงยุคความร่วมมือแรกระหว่างอเมริกากับโซเวียตในโครงการ Apollo-Soyuz ในปี 1985 เท่านั้น และหลังจากนั้นเป็นต้นมา มันคือบ้านให้กับนักบินอวกาศอเมริกันหลายต่อหลายคน
การปล่อยจรวด Falcon 9 ของ SpaceX ในเที่ยวบิน Crew Demo 2 ซึ่งเป็นการปล่อยจรวดพามนุษย์ขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกในรอบ 9 ปีจากแผ่นดินอเมริกาหลังจากการปลดระวางกระสวยอวกาศในปี 2011 เป็นการปิดฉากยุคที่พวกเขาจำเป็นต้องพึ่งพายานโซยุสของรัสเซีย ยานที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่อเมริกาเคยหวาดกลัวมากที่สุดแต่เมื่อไม่มีทางเลือกพวกเขาจึงต้องยอมจ่ายเงินหลายพันล้านเหรียญเพื่อโดยสารไปด้วย และการใช้ชีวิตใน Star City อย่างเต็มรูปแบบราวกับว่าอเมริกันคือลูกหลานของนักสำรวจอวกาศโซเวียตจึงเปิดฉาก
สามเมืองสำคัญที่เราจะพูดถึงกันในตอนนี้ได้แก่ ไบคัวนอร์ คอสโมโดรม อันเป็นที่ตั้งของฐานปล่อยและการทดสอบต่าง ๆ ซึโวสนึย โกโรด (Star City) อันเป็นบ้านหลังสุดท้ายของนักบินอวกาศก่อนการเดินทาง และมอสควา เมืองหลวงของรัสเซียอันเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของการสำรวจอวกาศ
Star City
ในหนังสือ Endurance ของ Scott Kelly นักบินอวกาศอเมริกัน ได้เล่าเรื่องราวในเมือง Star City ของรัสเซีย Kelly บอกว่าเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ครั้งหนึ่งเมืองนี้เคยเป็นเมืองที่ถูกบอกว่าไม่อยู่จริง แต่วันหนึ่งมันกลับต้องมาเป็นบ้านของเขา และนักบินอวกาศอเมริกันอีกหลายคน 8 เดือน คือเวลาที่พวกเขาจะต้องใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เรียนรู้ภาษารัสเซีย กิน อยู่ และซึมซับวัฒนธรรมหลาย ๆ อย่าง
การสร้างเมืองเพื่อมีวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งเป็นสิ่งที่พบได้มากในโซเวียต Star City ก็เช่นกัน นอกจากนักบินอวกาศแล้ว มันยังเป็นบ้านให้กับคนที่ทำงานที่เกี่ยวกับภารกิจสำรวจอวกาศ วิศวกร แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และอีกหลายต่อหลายตำแหน่งที่ใช้ชีวิตร่วมกันในเมืองที่มีจตุรัสกลางเมืองเป็นอนุเสารีย์จรวด
ในสารคดี 1 Year in Space ที่ TIME ถ่ายทำร่วมกับเที่ยวบินของ Kelly ภาพเผยให้เห็นถึงการใช้ชีวิตตามปกติของคนในเมือง มีเด็ก ๆ มาวิ่งเล่น คู่รักหนุ่มสาวกุมมือ ตกหลุมรัก และแต่งงานกัน รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ อาหาร เสียงดนตรี ความตลกสนุกสนานต่าง ๆ ที่เผยให้เห็นด้านของความเป็นมนุษย์ที่ครั้งหนึ่งเคยซ่อนอยู่หลังกำแพงหนาสีแดง
นอกจากการฝึกฝนแล้ว เรายังได้เห็นธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างที่เราบอกว่า ทำให้นักบินอวกาศสหรัฐฯ หรือชาติอื่น ๆ กลายเป็นลูกเป็นหลานของผู้บุกเบิกการสำรวจอวกาศ อนุเสารีย์ของนักบินอวกาศที่โด่งดัง เห็นได้ทั่วไปในเมือง Star City และเป็นเมืองที่บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้มากมาย
ชีวิต 8 เดือนใน Star City พวกเขาทุ่มเทไปกับการเรียนรู้การทำงานของระบบการสำรวจอวกาศรัสเซีย ยานโซยุส การทำงานในชุดนักบินอวกาศของรัสเซีย และ Docking ตัวยานเข้ากับสถานีอวกาศนานาชาติ โครงสร้างของตัวสถานี จรวด โดยเจ้าหน้าที่ของ NASA และ Roskosmos จะดูแลพวกเขาอย่างใกล้ชิด
พวกเขายังถูกฝึกให้ใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อน ๆ ในกลุ่ม กินด้วยกัน นอนด้วยกัน ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมธรรมดา ๆ ในแบบที่มนุษย์ทั่วไปจะทำ
จตุรัสแดง มอสโคว
นักบินอวกาศจะใช้ช่วงเวลาบางส่วนในการเดินทางไปเยือนกรุงมอสโคว เมืองหลวงของรัสเซีย ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเช่นกันมาตั้งแต่การเดินทางสู่อวกาศครั้งแรกของยูริ กาการิน พวกเขาจะไปวางดอกไม้ให้กับบุคคลสำคัญในวงการประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศ ณ จตุรัสแดง และเยี่ยมชมสถานที่สำคัญหลายต่อหลายที่
ฐานปล่อยในคาซักสถาน
หลังจากนั้นเมื่อวันปล่อยใกล้เข้ามาพวกเขาจะเดินทางด้วยเครื่องบินจาก Star City ไปยังฐานปล่อยที่ไบคัวนอร์ ในคาซักสถาน ซึ่งจะเป็นที่อยู่สุดท้ายของพวกเขาก่อนเดินทางขึ้นสู่อวกาศ
หนึ่งในธรรมเนียมที่น่าสนใจก็คือ นักบินอวกาศทุกคน ไม่ว่าจะชาติไหน เมื่อเดินทางขึ้นสู่อวกาศก่อนที่พวกเขาจะจาก แผ่นดินแห่งนี้ไป พวกเขาจะปลูกต้นไม้คนละ 1 ต้น ระหว่างที่พวกเขาเดินมายังจุดปลูกต้นไม้ พวกเขาจะเดินผ่านต้นไม้ของผู้บุกเบิกหลายต่อหลายคน ชื่อแล้วชื่อเล่า ยูริ กาการิน, วาเลนตินา เทเรสโคฟวา, อเล็กเซย์ เลโอนอฟ ที่แม้หลายคนจะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ต้นไม้ของเขายังเติบโตขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นร่มเงาให้กับนักสำรวจรุ่นถัดไป
ภาพของนักบินอวกาศนานาชาติ ถือดอกไม้ไปเคารพอนุเสารีย์ต่าง ๆ เป็นภาพที่อาจจะหาดูยากสำหรับใครที่ไม่ได้ติดตามการสำรวจอวกาศอย่างใกล้ชิด ซึ่งนี่เองก็เป็นอีกมุมนึงที่แสดงให้เห็นด้านของความเป็นมนุษย์มากขึ้น อย่างไรก็ดี ถ้าเราสังเกตข้างหลัง ก็จะเห็นทหารถืออาวุธคอยรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นภาพที่ดูแล้วก็ยังไม่ทิ้งกลิ่นอายความเป็นรัสเซียเท่าไหร่
ที่ไบคัวนอร์นี้เองที่เป็นฐานประกอบของจรวดโซยุสที่จะพาพวกเขาขึ้นสู่อวกาศ พวกเขาจะทำกิจกรรมต่าง ๆ เยี่ยมชมฐานปล่อย ทำความรู้จักกับวิศวกรที่ดูแลชีวิตของพวกเขา และท้ายที่สุดพวกเขาจะถูกกักตัวเพื่อป้องกันไม่ให้นำเชื้อโรคจากบนโลกขึ้นไปแพร่ระบาดบนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งจะได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
ในการกักตัวจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ พวกเขาจะไม่ได้รับอนุญาตให้สัมผัสกับบุคคลภายนอก เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโรค พวกเขาจะได้รับการดูแลจากแพทย์และนักระบาดวิทยาอย่างใกล้ชิดมาก ๆ ซึ่งปกติแล้วการเดินทางกับยานโซยุสจะมีนักบินอวกาศทั้งหมด 3 คนเดินทาง ดังนั้นพวกเขาจะทำกิจกรรมส่วนมากด้วยกันตั้งแต่อยู่บนโลกอยู่แล้ว ชีวิตของพวกเขาเพิ่งพากันและกัน
ในระหว่างกักตัวยานโซยุสก็จะถูกนำไปยังฐานปล่อยด้วยรถไฟ ซึ่งอย่างที่บอกว่าฐานปล่อยนี้คือฐานปล่อยเดียวกับที่ยูริ กาการิน เดินทางขึ้นสู่อวกาศ
และภาพที่โด่งดังก่อนการปล่อยจรวดโซยุสในเที่ยวบินที่มีมนุษย์เดินทางไปด้วยก็คือบาทหลวงออร์ทอดอกซ์ จะพรมน้ำมนต์ให้กับเจ้าหน้าที่ฐานปล่อย และจรวดโซยุส เพื่ออวยพรให้การเดินทางของพวกเขาเป็นไปอย่างปลอดภัย ภาพนี้เป็นภาพที่ทรงพลังและความเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ และมิติของความเป็นมนุษย์ จรวดพวกนี้ยังคงเป็นสุดยอดแห่งงานวิศวกรรมที่ปราณีตแต่ก็มนุษย์ก็ยังคงมีความกลัว และความเชื่อคือสิ่งที่พาพวกเขาก้าวข้ามความกลัวที่เป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์
ก่อนที่จะขึ้นยาน นักบินอวกาศจะแถลงข่าวเป็นครั้งสุดท้ายในห้องกระจกที่กั้นระหว่างบุคคลภายนอกกกับภายในเพื่อป้องกันการปนเปื้อน พวกเขาจะเซ็นชื่อ และเริ่มต้นการเดินทางของพวกเขาในฐานะลูกเรือของสถานีอวกาศนานาชาติ และเดินทางขึ้นยานโซยุส และพุ่งทะยานขึ้นจากฐานปล่อยประวัติศาสตร์ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงต่อมา
หลังจากความสำเร็จของยาน Dragon 2 ในการส่งนักบินอวกาศขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติได้อีกครั้ง และการฝึกฝนส่วนมากก็จะไปอยู่ที่ศูนย์ Johnson Space Center ในฮูสตัส มากกว่าการใช้ชีวิตอยู่ที่รัสเซีย ทำให้ภาพเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไปและกลายเป็นความทรงจำว่าครั้งหนึ่งชาติมหาอำนาจที่เป็นขั้วตรงข้ามต้องมาร่วมมือการสำรวจอวกาศกัน
อย่างไรก็ตามนั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะกลับมาเป็นศัตรูกันอีกครั้ง เพราะอย่างที่เห็นว่าการสำรวจอวกาศนั้นเมื่อชีวิตของนักบินอวกาศต้องพึ่งพากันและกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความถ้อยทีถ้อยอาศัย และความเมตตามองเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน แม้ว่าจะต่างวัฒนธรรม ภาษา ที่มา และแนวคิดทางการเมือง แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเผ่าพันธุ์ไหนอวกาศก็ยังคงเป็นพรมแดนสุดท้ายสำหรับพวกเราทั้งสิ้น
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co