ความยึดโยงของดวงดาวต่อชาวอียิปต์โบราณ

บทความได้รับการสนับสนุน

หลายคนคงจะเห็นตรงกันว่าอียิปต์โบราณเป็นอารยธรรมที่มีเสน่ห์และน่าค้นหาไม่น้อย เรื่องราวของอารยธรรมอันยิ่งใหญ่แห่งลุ่มแม่น้ำไนล์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเป็นผลของการประกอบสร้างและวิวัฒนาการของวัฒนธรรมที่กินเวลาหลายสหัสวรรษ ตั้งแต่ในช่วงแรกเริ่มเมื่อกว่าห้าพันปีก่อนคริสตศักราช ลากยาวไปจนถึงยุคสิ้นสุดที่อารยธรรมได้ถูกกลืนกินเข้ากับจักรวรรดิโรมันในหลักร้อยปีหลังคริสตศักราช

และด้วยมนต์เสน่ห์ของความยิ่งใหญ่นี้เอง ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมานักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยได้ทุ่มเทเวลาทั้งชีวิตเพื่อคลี่คลายเรื่องราวและปริศนาที่ถูกซุกซ่อนอยู่ภายในโบราณวัตถุและสถานที่ต่าง ๆ มากมาย และหนึ่งในแง่มุมที่นักอียิปต์วิทยาเหล่านี้ได้ค้นพบ ก็คือพวกเขาในอดีตเหล่านี้ให้ความสำคัญกับท้องฟ้าและดวงดาวไม่น้อย

ภาพบนเพดานของวิหารเดนเดรา – ที่มา Olaf Tausch

ในโลกเก่าที่รากฐานของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา การศึกษาธรรมชาติไม่ได้เป็นเพียงความต้องการในการค้นหาความจริงเชิงประจักษ์เพียงเท่านั้น แต่มันยังเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อและส่งผลกับวิถีชีวิตของมนุษย์โดยตรงเลยก็ว่าได้ การศึกษาท้องฟ้าทำให้ชาวอียิปต์โบราณได้รับรู้ถึงเวลาและฤดูกาล ทำนายเหตุการณ์ธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงการเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของความเชื่อที่นับถือกันในสมัยนั้น วันนี้เราจะมาสำรวจบางแง่มุมทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจของอารยธรรมอียิปต์โบราณกัน

The Book of Nut

บันทึกทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจที่สุดชิ้นหนึ่งของอียิปต์โบราณคือ The Book of Nut หรือ The Fundamentals of the Course of the Stars ที่ปรากฎขึ้นอยู่ตามที่ต่าง ๆ ตั้งแต่สุสานของเซติที่ 1 แห่งราชวงศ์ที่ 19 รามเสสที่สี่แห่งราชวงศ์ที่ 20 ไปจนถึงสุสานของหญิงชนชั้นสูงในช่วงราชวงศ์ที่ 26 อย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่ปรากฎบนบันทึก ปรากฎให้เชื่อได้ว่า The Book of Nut นั้นเก่าแก่ไม่น้อยไปกว่าสมัยราชวงศ์ที่ 12 ในสมัยราชอาณาจักรกลาง (อียิปต์โบราณประกอบไปด้วยสามสิบกว่าราชวงศ์แบ่งเป็นยุคต่าง ๆ คือก่อนราชวงศ์เมื่อกว่าสามพันปีก่อนคริสตศักราช ราชวงศ์เริ่มแรก ราชอาณาจักรเก่า-กลาง-ใหม่ ยุคปลาย ไปจนถึงยุคเฮเลนิสติกที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรีก-โรมันก่อนล่มสลายไป) ในช่วงประมาณเกือบสองพันปีก่อนคริสตกาล และเนื้อหาของมันก็ได้ถูกวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ

Ancient Egyptian Science, Volume 2: Calendars, clocks, and astronomy

ภาพวาดของเทพีนัตและภาพคล้ายมนุษย์เป็นตัวแทนของกลุ่มดาวต่าง ๆ ในสุสานของรามเสสที่ 6 – ที่มา Hans Bernhard

ชื่อของ The Book of Nut มีที่มาจากชื่อของเทพีนัตที่เป็นเทพแห่งท้องฟ้าตามความเชื่อในสมัยนั้น โดนเนื้อหาหลักของบันทึกมีการพูดถึงการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และหมู่ดาวเล็ก 36 หมู่ที่เรียกว่า Decans ที่ใช้เป็นเครื่องในการแบ่งทรงกลมฟ้าออกเป็น 36 ส่วน ส่วนละ 10 องศา เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการบอกวันเวลา บันทึก The Book of Nut ทำให้นักอียิปต์วิทยาในยุคถัด ๆ มาได้เข้าใจถึงแนวคิดของมนุษย์กับท้องฟ้าในยุคนั้นรวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากมันมากยิ่งขึ้น และจากแนวทาง depiction ของตัวบันทึกเองที่เกี่ยวโยงกับเทพเจ้าและเรื่องเหนือธรรมชาติ ก็ทำให้เราเข้าใจถึงความยึดโยงระหว่างดาราศาสตร์กับตำนานและความเชื่อในสมัยนั้น (อย่างภาพวาดของเทพีนัตและเทพ Decans ทั้งหลาย) อย่างแนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน ต่างจากในยุคปัจจุบันที่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่จะเป็นข้อมูลและไม่เกี่ยวโยงกับเรื่องเล่าต่าง ๆ สักเท่าไหร่

Cosmic Space and Archetypal Time: Depictions of the Sky-Goddess Nut in Three Royal Tombs of the New Kingdom and Her Relation to the Milky Way

พิรามิดและดวงดาว

ความยึดโยงของดวงดาวต่อชาวอียิปต์โบราณยังถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่เชื่อได้ว่าถูกสร้างขึ้นโดยเรียงตัวเลียนแบบหรือมีหลักการในการวางทิศทางจากดาว กรณีศึกษาที่น่าสนใจของเรื่องนี้คือกลุ่มพีระมิดแห่งกีซา ที่เป็นที่ตั้งของพีระมิดคูฟู พีระมิดคาเฟร และพีระมิดเมนคูเรอันโด่งดัง ที่เชื่อได้ว่าการสร้างของมันสัมพันธ์กับดาวสองดวงชื่อ Kochab และ Mizar ที่โคจรรอบแกนขั้วโลกเหนือและดาว Thuban ซึ่งเป็น Pole Star ในขณะนั้น (ปัจจุบันคือ Polaris หรือดาวเหนือแต่จากแกนโลกที่องศาไม่คงที่ทำให้ Pole Star จะมีการเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ) ที่ถูกเรียกว่า The Indestructibles หรือดาวที่ไม่อาจถูกทำลาย สอดคล้องกับความเชื่อที่ว่าแกนขั้วโลกที่ดวงดาวหมุนรอบเป็นประตูสู่โลกหลังความตายที่จะเป็นที่พักอาศัยของฟาโรห์ผู้วายชนม์ เป็นที่มาของความเชื่อว่าทำไมทิศในการสร้างถึงสอดคล้องกับดาวในจุดนั้นที่ทางเข้าของสุสานจะหันไปทางเหนือโดยไม่บดบังดาวเหล่านั้น

ดาว Pole Star ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ Thuban อยู่บริเวณตำแหน่ง -2000 ที่ตำแหน่ง Pole Star ได้เปลี่ยนจาก Thuban มาเป็น Kochab และ Polaris ในปัจจุบันตามลำดับ – ที่มา Tauʻolunga

American Scientist – Marginalia: Astronomy And The Great Pyramid (มี Figure ที่น่าสนใจของ Thuban ที่เรียงตัวกับ Kochab และ Mizar เมื่อประมาณสองพันปีก่อนคริสตกาล)

อีกหนึ่งในปริศนาที่เกิดขึ้นมาจากการสำรวจพีระมิดคูฟู (หรือมหาพีระมิดแห่งกิซา) คือการค้นพบ “ช่องลม” ปริศนาที่ชี้จากห้องฝังพระศพไปยังทิศเหนือและใต้ที่เป็นที่สันนิษฐานว่าช่องทางทิศเหนืออาจชี้ไปยัง The Indestructibles และช่องทางทิศใต้ชี้ไปยัง Orion ที่เป็นสัญลักษณ์ของเทพโอซิริส (Osiris) หรือ Sirius ของเทพโซปเดท (Sopdet) ที่ตำแหน่งในสมัยนั้น นอกจากนี้ในยุคหนึ่งยังได้มีการตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของตำแหน่งที่ตั้งของพีระมิดทั้งสามในกลุ่มพีระมิดแห่งกิซา ว่าเลียนแบบตำแหน่งของดาวสามดวงใน Orion Belt อีกด้วยโดยเรียกว่า Orion correlation theory อย่างไรก็ตามเป็นที่เชื่อกันในปัจจุบันว่าทฤษฎีนี้ไม่น่าเป็นความจริง

Astronomy – Are the Egyptian pyramids aligned with the stars?

ภาพแสดงตำแหน่งภายในของพิรามิดคูฟู จะเห็นช่องลม (Air Shaft) ที่หมายเลย 10 จากห้องฝังพระศพของฟาโรต์คูฟู และหมายเลข 7 จากห้องของพระมเหสี – ที่มา Flanker

นอกจากกลุ่มพีระมิดแห่งกิซาแล้ว ในยุคหลังยังได้มีการศึกษาและค้นพบความเชื่อมโยงของเทห์ฟากฟ้าต่าง ๆ กับตำแหน่งที่ตั้งและทิศทางของสถานที่สำคัญทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นวิหารหรือสุสานต่าง ๆ เช่นกันอีกด้วย ซึ่งอ่านเพิ่มเติมได้ที่ Astronomy, landscape and symbolism: a study of the orientation of ancient Egyptian temples

ความเชื่อและเทพเจ้า

และประเด็นสุดท้ายที่คงจะไม่พูดถึงไปไม่ได้เลยก็คงเป็นเรื่องของเทพเจ้าของชาวอียิปต์โบราณโดยตรง จากที่เล่ามาทั้งหมดก็คงจะเป็นเครื่องยืนยังได้ในระดับหนึ่งของประเด็นที่เสนอไปในข้างต้นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นของดาราศาสตร์กับความเชื่อ ว่าในยุคสมัยนั้นก่อนการเข้ามาของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่แยกความเชื่อและเรื่องเหนือธรรมชาติออกจากข้อมูลเชิงประจักษ์ซึ่งได้จากการสังเกตหรือการทดลองโดยตรง เรื่องราวและมุมมองต่อธรรมชาติของคนในยุคโบราณนั้น ไม่ได้เป็นสองเรื่องที่แยกออกจากกันดังเช่นในปัจจุบันแต่กลับเป็นเรื่องเดียวกันที่สอดคล้องและส่งอิทธิพลซึ่งกันและกัน

อารยธรรมของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันล้วนพยายามที่จะอธิบายสิ่งรอบตัวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีอยู่ของสรรพสิ่ง ไปจนถึงการเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ต่าง ๆ และคำอธิบายที่ดูจะเป็นที่นิยมที่สุดอย่างหนึ่งในโลกสมัยเก่าก็คือการมีอยู่ของทวยเทพที่เป็นผู้ควบคุม เป็นตัวแทน หรือรับผิดชอบสิ่งหนึ่ง ๆ สิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของดินฟ้าอากาศ​ การเกิดการตาย หรือเรื่องที่ดูเป็นนามธรรมอย่างความอุดมสมบูรณ์ ครอบครัว หรือความยุติธรรม เพราะการมีอยู่ของเทพเหล่านั้น อาจจะเป็นคำอธิบายที่ดูย่อยง่ายที่สุดแล้วแถมยังสามารถสอดแทรกเรื่องของความเชื่อการเมืองการปกครองเพื่อการควบคุมความสงบสุขของบ้านเมืองไปได้ง่ายอีกด้วยเมื่อมองผ่านเลนส์ของชนชั้นปกครอง ก็คงเป็นสาเหตุที่ทำให้แนวคิดเหล่านี้แผ่ไปได้อย่างรวดเร็วและกว้างไกล

ภาพวาดของโอซิริส อนูบิส โฮรัส ไอสิส และฟาโรห์โฮเรมเฮบแห่งราชวงศ์ที่ 18 ภายในสุสานของพระองค์ในหุบผากษัตริย์ – ที่มา Jean-Pierre Dalbéra

เราก็คงเคยได้ยินชื่อของเทพเจ้าอียิปต์โบราณมาบ้างไม่มากก็น้อย เทพเจ้าบางองค์อย่างเร อนูบิส โอซิริส หรือโฮรัส (หรือแม้แต่คอนชูและอัมมิตที่ปรากฎใน Moon Knight) ก็เป็นที่รู้จักกันพอสมควรในปัจจุบันจากสื่อและป๊อปคัลเจอร์จำนวนไม่น้อย ที่ได้นำชื่อและเรื่องราวของเทพเหล่านี้ไปสร้างหรือดัดแปลงออกมาในรูปแบบมากมาย

ซึ่งเราอาจเข้าถึงเรื่องราวของเทพเหล่านี้ได้ตั้งแต่ในระดับพื้น ๆ อย่างการมองมันเหมือนเป็นคอลเลคชั่นง่าย ๆ ของเหล่าเทพที่แต่ละองค์มีเรื่องราวและความสามารถของตัวเอง แต่เราก็อาจสามารถดำลึกลงไปสู่เทวตำนานที่ถูกสร้างและพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเป็นเวลาหลายพันปี รวมไปถึงการทำความเข้าใจกับอิทธิพลของการเมืองที่ส่งผลต่อเรื่องราวของเทพและสถานที่ต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน เราก็จะเห็นถึงวิวัฒนาการ การเปลี่ยนแปลง ตำนานที่แตกต่าง ความสำคัญของเทพเจ้าแต่ละองค์ที่เพิ่มลดลงไปตามกาลเวลา รวมถึงการควบรวมเทพเจ้า (อย่างเช่นกรณีของอมุน-เร) หรือยึดโยง ตีความสัญญะของตำนานเหล่านี้ในหลากหลายรูปแบบ

คอนซู (Khonsu) หนึ่งในเทพเจ้าแห่งดวงจันทร์ ตามภาพวาดในสมัยอียิปต์โบราณ (ซ้ายบน – ที่มา Jeff Dahl) Comic Moon Knight vol.8 เล่มที่ 10 (ขวาบน – ที่มา Marvel Comics) และซีรีย์เรื่อง Marvel Studios’ Moon Knight (ล่าง – ที่มา Disney/Marvel Studios)

ตัวอย่างที่อาจจะทำให้เราเห็นภาพมากขึ้นก็คงเป็นพุทธศาสนาที่ในช่วงเวลาแค่สองพันกว่าปี สั้นกว่าเวลาของเทวตำนานอียิปต์ ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงและเกิดเป็นแขนงลัทธิและนิกายที่แตกต่างกันจำนวนมาก ที่เชื่อในเรื่องที่แตกต่างกัน ซึ่งเราก็อยากให้มองภาพตำนานอียิปต์โบราณเป็นแบบนั้นเช่นกัน

สุดท้ายนี้เราคงต้องบอกว่าเรื่องราวที่เรายกขึ้นมาพูดก็ยังคงเป็นเพียงแค่บางแง่มุมเล็ก ๆ ในเรื่องราวของอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของมนุษยชาติ ที่สุดท้ายแล้วก็ยังคงเต็มไปด้วยปริศนามากมายที่รอการไขคำตอบ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมคนยุคปัจจุบันถึงยังชอบและหลงใหลในโลกโบราณที่กินเวลากว่าครึ่งหมื่นปีของมนุษย์นี้

สามารถสตรีม Marvel Studios’ Moon Knight บน Disney+ Hotstar ได้แล้ววันนี้ Marvel Studios’ Moon Knight เป็นออริจินัลซีรีส์เรื่องแรกจาก 6 ภาพยนตร์และออริจินัลซีรีส์จักรวาลมาร์เวล หรือ Marvel Cinematic Universe ในปีนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง #ยุคแห่งมาร์เวล ที่แฟนๆ จะได้สนุกไปกับจักรวาลมาร์เวลในเฟสใหม่ตลอดทั้งปี

บทความได้รับการสนับสนุน

แมว วาราบิโมจิ ปิศาจสปาเกตตี้บินได้