อพอลโล 10 ภารกิจบุกเบิกการลงดวงจันทร์ กุญแจสำคัญสู่รอยเท้าแรกบนนั้น

21 กรกฏาคม 1969 Neil Armstrong และ Buzz Aldrin ลูกเรือของภารกิจอพอลโล 11 ก้าวลงจากยานลงดวงจันทร์ เพื่อออกไปสำรวจบนพื้นผิวดาวดวงที่ต่างไปจากโลกเป็นครั้งแรก ซึ่งนี่คือเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ใครหลายคนสามารถจดจำได้เป็นอย่างดี

ทว่าสองเดือนก่อนหน้านั้น Thomas Stafford และ Eugene Cernan ก็ได้ทำสิ่งเดียวกันกับที่อพอลโล 11 เกือบหมดทุกอย่าง ขาดไปก็แค่ระยะทาง 14 กิโลเมตรสุดท้ายจากพื้นผิวดวงจันทร์เพียงเท่านั้นเอง

ลูกเรืออพอลโล 10 ทั้งสามคน (ซ้ายไปขวา) Cernan, Young และ Stafford – ที่มา NASA

ภารกิจของอพอลโล 10 นั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายเสียเลย เพราะโครงการอพอลโลเพิ่งเผชิญกับความสูญเสียในภารกิจอพอลโล 1 ไปแค่สองปีก่อนหน้าเท่านั้น แถมนี่ยังเป็นการเดินทางสู่ดวงจันทร์หนที่สองของมนุษยชาติ ต่อจากภารกิจอพอลโล 8 แต่อพอลโล 10 จะต้องทดสอบทุกอย่างที่จำเป็นต่อการลงจอดของดวงจันทร์ในภารกิจต่อไป โดยมีข้อแม้ว่า อพอลโล 10 จะไม่ได้ลงดวงจันทร์

ย้อนไปในปี 1961 ประธานาธิบดี John F. Kennedy ได้กล่าวคำประกาศท้าทายให้ประเทศของเขานั้นส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์ และพาเขากลับโลกให้ได้อย่างปลอดภัย ก่อนที่จะสิ้นสุดทศวรรษนี้ลง ซึ่งนั่นก็คือภายในปี 1969 นาซาต้องส่งใครสักคนไปลงเดินบนนั้นให้ได้ และพาเขากลับมาโลกแบบเป็น ๆ

นับตั้งแต่วันที่ JFK กล่าวต่อสภาคอนเกรสในวันที่ 25 พฤษภาคม 1961 ซึ่งตอนนั้นสหรัฐเพิ่งส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้เพียงแค่คนเดียวเท่านั้น (เพียง 20 วันก่อนที่ JFK จะกล่าวส่งคนไปดวงจันทร์ Alan Shepard เดินทางขึ้นอวกาศกับยาน Freedom 7) แต่ช่วงเวลา 8 ปีให้หลังจากนั้น นาซาได้รับงบประมาณสูงสุดเป็นประวัติกาล และการปล่อยจรวดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบจะรายเดือนเลย เพื่อให้ทุกอย่างทันตามกำหนดที่ประธานาธิบดีผู้ล่วงลับตั้งเอาไว้

จากโครงการเมอร์คิวรี ที่พิสูจน์ว่ามนุษย์สามารถเดินทางขึ้นสู่อวกาศได้อย่างปลอดภัย สู่โครงการเจมิไน ที่ทดสอบการอยู่อาศัยและปฏิบัติภารกิจบนอวกาศในระยะยาว จนมาถึงโครงการอพอลโล ซึ่งมีเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าโครงการนี้แหละที่จะพามนุษย์ไปลงเดินบนดวงจันทร์ และอพอลโล 10 ถือเป็นภารกิจที่ต้องก้าวข้ามอุปสรรคสุดท้ายไปให้ได้ ก่อนที่อพอลโล 11 จะได้รับมอบหมายให้ลงดวงจันทร์ได้เสียที

ยานอพอลโลแบบครบเซ็ท (ยานบังคับการ ยานบริการ และยานลงดวงจันทร์) จะได้ออกเดินทางสู่ดวงจันทร์พร้อมกันครั้งแรก รวมทั้งยานลงดวงจันทร์จะได้ไปทดสอบที่หน้างานแบบจริง ๆ หนแรกอีกด้วย โดยลูกเรือทั้งสามในภารกิจนี้อย่าง Stafford, Young และ Cernan ได้ตั้งชื่อยานบังคับการว่า Charlie Brown และยานลงดวงจันทร์ว่า Snoopy ตามชื่อตัวละครจากการ์ตูน Peanuts (ซึ่งนี่เป็นภารกิจเดียวของโครงการอพอลโลที่ชื่อยานถูกตั้งตามตัวละคร เพราะทุกภารกิจหลังจากนี้ไปลงดวงจันทร์หมด และนาซาอยากให้ชื่อมีความจริงจังขึ้นมานิดนึง)

มาสคอตและชื่อของยานอย่าง Snoopy และ Charlie Brown บนแผงของทีมควบคุมบนโลก – ที่มา NASA

Snoopy แยกตัวออกจาก Charlie Brown เพื่อลดระดับลงสู่ดวงจันทร์ในวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งพวกเขาจะทดสอบระบบทุกอย่างของยานว่าพร้อมต่อการลงจอด และที่ระยะ 14 กิโลเมตรจากพื้นดิน นั่นเป็นระยะที่ไกลจากพื้นมาที่สุด ที่เรดาร์ลงจอดของยานจะถูกทดสอบได้ ซึ่งนั่นคือความสูงเดียวกันกับที่เครื่องบินพาณิชย์บนโลกบินกัน ก่อนที่ยานจากปลดส่วนล่างออก และจุดเครื่องยนต์กลับมาพบกับ Charlie Brown ในวงโคจร

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าลูกเรืออพอลโล 10 คิดอะไรอยู่ตอนอยู่ห่างจากพื้นผิวแค่ 14 กิโลเมตร แต่เชื่อได้เลยว่าพวกเขาต้องมีแอบคิดว่าคงจะดีกว่านี้ถ้าได้ไปลงจอดจริง ๆ โดย Cernan ได้พูดว่า “ยานของพวกเราไม่มีปัญหาอะไรเลยนะ เว้นแค่ว่ามันก็คงดีถ้าได้กลับมาที่นี่บ่อย ๆ”

อย่างไรก็ตาม นาซาก็ตัดไฟตั้งแต่ต้นลมเสียเลย อ้างอิงจาก Craig Nelson ผู้เขียนหนังสือ “Rocket Men” ที่ได้พูดถึงเรื่องที่ยานลงดวงจันทร์ Snoopy ซึ่งมีเชื้อเพลิงน้อยกว่าปกติ ว่านี่คือสิ่งที่ผู้คนที่นาซาตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว “อย่าให้โอกาสพวกนี้ได้ลงดวงจันทร์โดยเด็ดขาด เพราะพวกเขาอาจจะทำจริง ๆ”

ภาพถ่ายของดวงจันทร์จากยาน Snoopy ซึ่งถือว่าใกล้ที่สุดเท่าที่มนุษย์จะเคยเห็นแล้ว (ในตอนนั้น) – ที่มา NASA

อพอลโล 10 เป็นเหมือนพระรองตั้งแต่ต้นแล้ว แม้แต่ฐานปล่อยก็ยังต้องไปใช้ฐาน 39-B เนื่องจากฐานปล่อยหลักอย่าง 39-A กำลังเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจอพอลโล 11 อยู่ แต่ความเสียสละและความกล้าหาญของลูกเรือทั้งสามก็ไม่ได้ถูกทิ้งไว้โดยปราศจากความสนใจจากนาซา

John Young ได้กลับมาดวงจันทร์อีกครั้ง เพื่อสานต่ออีก 14 กิโลเมตรที่ขาดหายไป ในฐานะผู้บัญชาการภารกิจอพอลโล 16 และยังเป็นผู้บัญชาการภารกิจแรกของกระสวยอวกาศอีกด้วย

Eugene Cernan กลับมาเป็นคนสุดท้ายที่ลงเดินบนดวงจันทร์กับภารกิจอพอลโล 17 พร้อมกับ Harrison Schmitt นักธรณีวิยาผู้ที่เขาพูดถึง ขณะมาดวงจันทร์เมื่อ 7 ภารกิจก่อนหน้า และเขายังคงเป็นคนเดียวในประวัติศาสตร์ ที่ได้ขึ้นยานลงดวงจันทร์มากกว่า 1 ภารกิจด้วยกัน

แม้ Thomas Stafford จะไม่ได้ลงเดินบนดวงจันทร์ แต่เขาก็ได้มาเป็นผู้บัญชาการยานอพอลโล ในภารกิจ Apollo-Soyuz Test Project ภารกิจที่เป็นดั่งสัญญาณการสงบศึกแข่งขันของสองมหาอำนาจด้านอวกาศอย่างสหรัฐและโซเวียต และเปลี่ยนเป็นการร่วมมือกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมนั่นเอง

ลูกเรืออพอลโล 10 ขณะกำลังพูดคุยกับลูกเรืออพอลโล 11 หลังจากสิ้นสุดภารกิจ – ที่มา NASA

อพอลโล 10 อาจเป็นภารกิจที่ถูกบดบังโดยภารกิจที่มาทีหลัง แต่การออกเดินทางสำรวจของพวกเขานั้นเต็มไปด้วยความกล้าหาญ และความเสี่ยงมากมายที่ต้องเผชิญ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้มนุษยชาติได้เฉลิมฉลองความสำเร็จในการลงดวงจันทร์ ดังนั้นในโอกาสครบรอบ 50 ปี ของเหตุการณ์สำคัญนี้ เราก็สามารถเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จของพวกเขาได้ด้วยเช่นกัน

เรียบเรียงโดยทีมงาน SPACETH.CO

อ้างอิง:

The New York Times | Why Apollo 10 Stopped Just 47,000 Feet From the Moon

Houston we have a podcast: Apollo 10 | NASA

อวกาศ การเมือง กีฬา เพลง | Spaceth.co | Main Stand | แฟนพันธุ์แท้ระบบสุริยะ | Bangkok Uni. Int'l | OSK138