ในปี 2019 ที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีครบรอบ 50 ปีที่ นีล อาร์มสตรอง ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก พร้อมกับกล่าวประโยคอมตะที่ว่า “นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่สามารถรวบรวมจิตใจก็คนทั้งโลกให้จดจ่ออยู่กับนักบินอวกาศทั้งสามคนผู้ที่ได้ทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศในวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 1969 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกใจที่ว่าในปี 2019 ได้มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง First Man เกิดขึ้น ซึ่ง First Man เป็นภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของ นีล อาร์มสตรอง และบอกเล่าถึงการไปเหยียบดวงจันทร์ของมนุษยชาติ แสดงนำโดย Ryan Gosling นักแสดงดาวเด่นจาก La la land ที่ได้กวาดรายได้ไปกว่า 105.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,550 ล้านบาท) ทั่วโลก
และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองได้มีภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับ อะพอลโล 11 ขึ้นมาฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลก (ที่ไม่ได้ฉายในประเทศไทย) ที่ได้นำฟิล์ม 65มม. ความละเอียดสูงและเป็นของราคาแพงมากในสมัยที่มีการบันทึกเมื่อ 50 กว่าปีก่อน มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวของการปฏิบัติการภารกิจ อะพอลโล 11 อีกครั้งตั้งแต่วันแรกที่ปล่อยจนเหล่าวีรบุรุษทั้งสามกลับสู่โลก รวมเป็นเวลา 8 วันถ้วน ลงไปในสารคดีความยาว 93 นาที โดยม้วนฟิล์มเหล่านี้ถูกเก็บอยู่ในคลังเอกสารของ NASA ยาวนานกว่า 50 ปีซึ่งไม่เคยถูกเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน
และทาง Netflix ประเทศไทยก็ได้นำสารคดีประวัติศาสตร์นี้มาลง Netflix ให้พวกเราได้รับชมกันตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2021 ซึ่งในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกถึงกระบวนการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของ อะพอลโล 11 และความสุดยอดของสารคดี อะพอลโล 11 ที่ได้ถ่ายทอดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญมาให้เรารับชมกันในปี 2019
การค้นพบม้วนฟิลม์ประวัติศาสตร์โดยบังเอิญ
เมื่อปี 2018 Dan Rooney ผู้จัดเก็บเอกสารและทีมของเขาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ไปเจอกล่องเก็บม้วน ฟิล์ม 65 มม. ขนาดใหญ่เข้าโดยบังเอิญขณะที่ตรวจสอบคลังม้วนฟิล์มเก่าในโกงดังชานเมืองของรัฐแมรี่แลนด์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกล่องฟิล์มทั้งหมด 61 ม้วนถูกติดฉลากไว้ว่าเกี่ยวกับโครงการอะพอลโล 11 แบบคร่าว ๆ เท่านั้น โดยไม่ได้บอกรายละเอียดอื่นเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ด้วยความสงสัยพวกเขาจึงเปิดม้วนฟิล์มเหล่านั้นมาตรวจสอบ ซึ่งทีมงานก็ต่างต้องประหลาดใจที่ม้วนฟิล์มถูกรักษาไว้ในสภาพที่ดีมากอย่างเหลือเชื่อ จนคุณ Dan Rooney ผู้ค้นพบม้วนฟิล์มจึงรีบทำการติดต่อ Todd Douglas Miller ผู้กำกับภาพยนตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องแผ่นขนาดฟิล์มขนาดใหญ่ในทันที เมื่อทางทีมงานภาพยนตร์มาถึงแล้วทำการตรวจสอบด้วยตนเอง พวกเขาต่างรู้ทันทีว่าพวกเขาเจอกับขุมทรัพย์ของมนุษยชาติเข้าให้แล้ว
“ภาพจำนวนครึ่งหนึ่งจากม้วนฟิล์มเหล่านี้ไม่เคยมีใครได้เห็นและที่แน่ ๆ คิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่มีใครเคยเห็นการบันทึกที่มีคุณภาพดีเยี่ยมขนาดนี้มาก่อน” Todd Douglas Miller ผู้กำกับภาพยนตร์กล่าวกับสื่อ หลังจากที่ตนและทีมงานได้หอบม้วนฟิล์มเหล่านี้ไปยังสตูดิโอ Final Frame ที่มหานครนิวยอร์กในทันทีเพื่อดำเนินการแสกนฟิล์มเข้าให้เป็นรูปแบบของดิจิตอล แต่ความโชคร้ายก็คือว่าในปัจจุบันไม่มีบริษัทไหนบนโลกที่ผลิตเครื่องแสกนฟิล์ม 65 มม. ออกมา เนื่องจากเป็นฟิล์มที่ราคาแพงและหายากในยุคสมัยนั้น ปัจจุบันอย่างภาพยนตร์ IMAX ที่เราดูก็เป็นแผ่นฟิล์ม 70 มม. ไม่ใช่ 65 มม. แต่อย่างใด
ดังนั้นคุณ Todd Douglas Miller กับทีมงานในสตูดิโอ Final Frame เลยสร้างเครื่องแสกนฟิล์ม 65 มม. ขึ้นมาเองซะเลย โดยมีเป้าหมายในการร้อยเรียงเหตุการณ์อะพอลโล 11 ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งจากม้วนฟิล์มที่น่าทึ่งเหล่านี้ อีกทั้งพี่แกยังอยากได้คลังภาพเดิมที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นด้วย จึงได้ทำการแปลงฟิล์มที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญในโครงการอะพอลโล 11 ทุกขนาดอย่าง 8, 16, 35 มม. โดยใช้เทคโนโลยีแสกนและแปลงฟิล์มเหล่านั้นให้เป็น 70 มม. จนสุดท้ายก็ได้แสกนฟิล์มทั้งหมดลงในฟอร์แมตดิจิตอล โดยได้คุณภาพที่ระดับความคมชัด 16K ที่มีรายละเอียดมากกว่า 4K ถึง 4 เท่า ซึ่งไม่มีโรงภาพยนตร์ไหนหรือจอโทรทัศน์ไหนบนโลกสามารถฉายภาพความละเอียดชัดขนาดนี้ได้ ขณะที่ Netflix ประเทศไทยได้ลงไว้ที่ความชัด Full HD หรือ 1K เท่านั้น ซึ่งทางคุณ Todd Douglas Miller เจ้าของโครงการให้เหตุผลว่าเพื่อให้ง่ายต่อการจัดวางเฟรมภาพและการเกรดสีใหม่ ส่วนในอนาคตถ้าหากมีเครื่องฉายไฟล์คุณภาพ 16K ผลิตขึ้นมา คนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาภายหลังก็จะได้สัมผัสเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นนี้อีกด้วย
หลังจากที่ คุณ Todd Douglas Miller และทีมงานร้อยเรียงลำดับภาพจากแผ่นฟิล์มเสร็จเรียบร้อย ก็ยังต้องไปรื้อไฟล์เสียงเก่าที่เคยมีการบันทึกไว้กว่า 10,000 ชั่วโมงจากเทปบันทึกเก่าที่ได้มีการบันทึกการสนทนาของฝ่ายภาคพื้นดินกว่า 60 ช่วงคลื่นสัญญาณวิทยุ ณ โกดังของ NASA มานั่งกลอเทปฟังเสียงเป็นเวลานานหลายเดือนซึ่งถือว่าเป็นงานที่ยากและท้าทายมาก เพื่อที่จะเชื่อมเสียงให้ตรงกับภาพในสารคดี (ขอคารวะทีมงานหนึ่งจอก) แล้วแปลงเสียงจากเทปเหล่านั้นให้อยู่ในรูปแบบของดิจิตอลเช่นเดียวกับแผ่นฟิล์ม
ทำไมม้วนฟิล์มเหล่านี้ถึงหายไปนานเกือบ 50 ปี
อย่างไรก็ตามจากการที่ให้เห็นงานภาพที่มีคุณภาพดีเยี่ยมจากสารคดีนี้แล้ว ก็ทำให้มีผู้คนบางกลุ่มต่างสงสัยว่า NASA ถึงไม่เอาภาพฟิล์มที่คมชัดเหล่านี้มาเผยแพร่ตั้งแต่ทีแรก ซึ่งคำตอบก็คือในยุคสมัยนั้นช่วงทศวรรษที่ 1960 NASA ไม่สามารถใช้ภาพจากฟิล์ม 65 มม. มาใช้ในการประชาสัมพันธ์ต่อสาธาณชนได้ เพราะไม่อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ดีและเพียงพอต่อการนำไปใช้จริง ดังนั้นทาง NASA จึงแปลงฟิล์มขนาด 65 มม. เหล่านั้นให้เหลือเพียง 35 มม. กับ 16 มม. โดยการตัดขอบของภาพและลดคุณภาพลง เพื่อที่สามารถนำไปใช้ออกอากาศในโทรทัศน์ได้ทั่วโลกและมีความคุ้มค่าทางด้านการขนส่งมากกว่า
ส่วนสาเหตุที่ NASA ไม่ได้เลือกใช้ฟิล์มขนาด 35 มม. หรือ 16 มม. ตั้งแต่ตอนแรกที่ถ่ายทำก็เพราะว่า NASA ไม่ได้เป็นคนตัดสินใจเลือกที่จะใช้ฟิล์มชนิดนี้เอง แต่เป็นผู้กำกับที่ NASA จ้างวานมาอีกทีต่างหาก หากจะเล่าถึงเรื่องนี้ก็ต้องย้อนไปในปี 1968 หนึ่งปีก่อนหน้ากำหนดการปล่อยตัวของโครงการอะพอลโล 11 ทาง NASA ได้มีการติดต่อผู้กำกับชื่อดังในสมัยนั้น Francis Thompson ให้มีการถ่ายทำสารคดีเดี่ยวกับอะพอลโล 11 ขึ้น ซึ่งภายหลังมีการทำสัญญากับค่าย Metro Goldwyn Mayer (ค่ายหนังที่มีภาพจำเป็นสิงโตโผล่หัวคำราม) มาช่วยลงทุนในการถ่ายทำ
แต่ก่อนหน้าภารกิจเพียง 6 สัปดาห์ก็ได้เกิดปัญหาภายในค่าย Metro Goldwyn Mayer ขึ้น จนทำให้ต้องถอนตัวจากงานสารคดีนี้ได้ ซึ่งทาง NASA ก็ไม่อยากให้เหตุการณ์ครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์นี้หายไปโดยไม่มีการบันทึกอย่างมืออาชีพ NASA จึงเสนอเงินจำนวน 350,000 ดอลล่าห์สหรัฐ (หรือราว 11 ล้านบาทซึ่งเป็นค่าเงินเมื่อ 50 กว่าปีก่อน) ให้ผู้กำกับคนเดิม Francis Thompson มาช่วยถ่ายทำด้วยวิธีการอะไรก็ได้ แต่ผู้กำกับของเราดันติดงานกองถ่ายอื่นอยู่เสียอย่างนั้น
คุณ Francis Thompson จึงได้ติดต่อหาเพื่อนสนิทและนักตัดต่อภาพยนตร์มือฉมังของเขาที่ชื่อว่าคุณ Theo Kamecke ให้มารับงานแทน และ Theo Kamecke เองนี่แหละที่เป็นคนต้นคิดอยากถ่ายสารคดีบันทึกเหตุการณ์ด้วยฟิล์ม 65 มม. โดยเขาให้เหตุผลว่าเขาอยากถ่ายเก็บไว้เป็นที่ระลึกเป็นแคปซูลกาลเวลาเพราะมันคือประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของมนุษยชาติ ถึงแม้ตัวสารคดีจะต้องนำฉายด้วยฟิล์ม 35 มม. ก็ตาม ส่วนทาง NASA ก็ไม่ได้ว่าอะไรอยากถ่ายก็ถ่ายไป เพียงแค่กำชับว่า 6 สัปดาห์นี้เตรียมตัวให้ทันก็แล้วกัน
เทคนิคการถ่ายทำ
ด้วยเวลาที่เหลือเพียงแค่ 6 สัปดาห์ คุณ Theo Kamecke ผู้กำกับของเราจึงรวบรวมทีมงานมาได้แค่ไม่กี่สิบคนเท่านั้นซึ่งส่วนมากเป็นฝ่ายเคลื่อนย้ายกล้องถ่ายวีดีโอจากฟิล์มขนาดใหญ่ 2 ตัวและเลนส์ทั้งหมด อีกทั้งด้วยขนาดที่ใหญ่ของกล้องถ่ายทำจึงมีความจำเป็นที่ต้องตั้งกล้องด้วยขาตั้งกล้องตลอดเวลา ทำให้ภาพที่ได้มานั้นมีการจัดองค์ประกอบที่สวยงามและค่อนข้างนิ่งแต่ก็อาจทำให้อาจไม่สื่ออารมณ์ผ่านการเคลื่อนไหวของภาพในบางฉากออกมาได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งผู้กำกับของเราก็ได้วางแผนมาแล้วเพราะเขาไปได้ลูกทีมคนหนึ่งที่ชื่อว่า Urs Furrer มา โดยที่เขาสามารถควบคุมกล้องได้บนหัวไหล่โดยไม่ต้องใช้ขาตั้ง
Theo Kamecke จึงแบ่งออกเป็นสองกองย่อยในวันถ่ายทำ ตัวเขาเองเข้าไปถ่ายที่ศูนย์ควบคุมปล่อยจรวดโดยที่เจ้าทางของ NASA คอยควบคุมกล้องให้ ส่วน Urs Furrer ให้ยืนถ่ายบรรยากาศอยู่ข้างนอก และหลังจากการปล่อยจรวดอีก 7 วันต่อมา กองถ่ายของ Theo Kamecke ก็ได้ขึ้นไปในเรื่อบรรทุกเครื่องบิน USS Hornet เพื่อรอรับการกลับมาของเหล่านักบินอวกาศผู้กล้าหาญทั้ง 3 คน ณ ใจกลางมหาสมุทรแปซิฟิกอีกด้วย
จนกระทั่ง 1 ปีหลังจากนั้นในปี 1970 ภาพยนตร์สารคดีของ Theo Kamecke ก็ได้ถูกฉายในโรงภาพยนตร์และออกอากาศทางโทรทัศน์ในชื่อว่า Moon Walk 1 ในรูปแบบฟิล์ม 35 มม. ส่วนฟิล์ม 65 มม. ต้นฉบับที่ Theo Kamecke ต้องการเก็บไว้ให้คนรุ่นหลังก็ถูกยัดเข้าโกดังของ NASA ซึ่งมีการสับเปลี่ยนย้ายที่ไปมาตลอดช่วงเวลาเกือบ 50 ปี จนม้วนฟิล์ม 61 กล่องนี้ก็ได้ถูกค้นพบอีกครั้งหนึ่งในปี 2018 ตามที่กล่าวไปในช่วงต้นของบทความ แต่ก็แอบน่าเสียดายไม่น้อยที่ตัวภาพยนตร์สารคดีอะพอลโล 11 ฉบับฟิล์ม 65 มม. นั้นได้ออกฉายเมื่อปี 2019 หลังจากที่คุณ Theo Kamecke หัวโจกเรื่องการถ่ายทำได้เสียชีวิตไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อนหน้าในปี 2017
ส่วนทางด้านคุณ Todd Douglas Miller ผู้ที่ได้นำแผ่นฟิล์ม 65 มม. มาเรียงลำดับภาพใหม่ ก็ยังได้มีการไปสรรหาฟุตเทจที่บันทึกเหตุการณ์ในมุมมองอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ทีมงานของคุณ Theo Kamecke ได้ถ่ายทำมาเพิ่มเติมด้วย อย่างการนำภาพจากกล้องวงจรปิดที่ถูกติดตั้งไว้ในระยะใกล้จากฐานปล่อย โดยอาศัยหลักการสะท้อนแสงจากกระจกที่สามารถกันความร้อนสูงได้เพื่อป้องกันความร้อนที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับกล้องอีกทีหนึ่ง ทำให้เราได้ภาพเปลวเพลิงอันทรงพลังของจรวด Saturn V ที่พามนุษย์ไปดวงจันทร์ออกมาให้ชมกันอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวของจรวด Saturn V ขณะที่กำลังพุ่งขึ้นสู่อวกาศ ผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า Cine-Sextant Optical Tracking Mount ที่ในช่วงแรกถูกพัฒนามาจากปืนต่อต้านอากาศยาน แต่ภายหลังเอากล้องไปใส่แทนในเวลาต่อมา เพื่อให้ได้ภาพความละเอียดสูงในการถ่ายทอดสดการปล่อยตัวของจรวดไปทั่วโลก
และการบันทึกภาพจากแหล่งสุดท้ายที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือการนำฟุตเทจจาก Camera Pods หรือกล้องที่ถูกบรรจุในหีบห่อกันกระแทกคล้ายกับกล่องดำบนเครื่องบินในปัจจุบันแต่สามารถถ่ายวีดีโอได้ มาใช้ในสารคดีอีกด้วย ซึ่งอุปกรณ์ตัวนี้จะถูกติดตั้งอยู่ภายในจรวดเพื่อศึกษาการแยกตัวของจรวดแต่ละท่อนว่าเป็นไปได้ด้วยดีตามการออกแบบมาหรือไม่ ก่อนที่จะดีดตัวออกจากจรวดแล้วตกลงสู่ชั้นบรรยากาศโลกพร้อมระบบกางร่มชูชีพและส่งสัญญาณวิทยุอัตโนมัติเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของ NASA สามารถมาเก็บกู้ม้วนฟิล์มได้ในภายหลัง
หากจะพูดถึงภาพเคลื่อนไหวที่โด่งดังที่สุดจากการบันทึกของ Camera Pods ก็คงหนีไม่พ้นการแยกตัวของจรวดท่อนที่ 1 และ 2 ของจรวด Saturn V ในโครงการอะพอลโล 4 ที่มีการทดสอบจรวด Saturn V อย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกและมีการบันทึกเหตุการณ์นี้เพียงโครงการเดียว แต่ในขณะที่ช็อตนี้ที่มีจุดประสงค์ในการถ่ายมาเพื่อการศึกษาด้านวิศวกรรม กลับกลายเป็นที่ชื่นชอบของใครหลาย ๆ คนเสียอย่างนั้น จนทำให้มันถูกนำไปประยุกต์ใช้ในสารคดีและภาพยนตร์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก จึงเกิดความเข้าใจผิดว่าฟุตเทจนี้ถ่ายมาจากโครงการอะพอลโล 11 แทนที่จะเป็นอะพอลโล 4 ซึ่งเรื่อง First Man ก็ยังได้นำไปใช้อีกด้วย
ส่วนที่มาของฟุตเทจที่กล่าวไปเบื้องต้นทั้งหมดที่เอามาแสดงให้เห็นนั้นอยู่แค่ในส่วนของต้นเรื่องของสารคดีเท่านั้น ยังมีภาพส่วนอื่น ๆ ตลอดทั้งเรื่องที่อลังการงานสร้างและต้องอาศัยเทคนิคที่เหลือเชื่อในการถ่ายทำไม่แพ้กับส่วนแรกเช่นกัน
จนท้ายที่สุดภาพยนตร์สารคดีอะพอลโล 11 จากม้วนฟิล์มที่หายสาปสูญไปเกือบ 50 ปีก็ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนครั้งแรกเมื่อต้นปี 2019 ที่เทศกาลภาพยนตร์ Sun Dance ก่อนที่จะถูกนำมาฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลกและได้รับคำวิจารณ์ในแง่ดีเป็นจำนวนจากผู้ชม จนคะแนนในเว็บมะเขือเน่า Rotten Tomatoes พุ่งสูงถึงร้อยละ 99 มากกว่าภาพยนตร์อื่น ๆ ที่ฉายในปีเดียวกันหลายร้อยเรื่อง
เอาจริง ๆ แล้วภาพที่สวยงามจากฟิล์ม 65 มม. ก็อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้สารคดีอะพอลโล 11 เรื่องนี้มีความพิเศษกว่าภาพยนตร์สารคดีเรื่องอื่นไปซะทั้งหมด ส่วนตัวผู้เขียนมีทรรศนะว่า ส่วนที่ทำให้สารคดีเรื่องนี้มีมนต์ขลังน่าติดตาม ก็เพราะว่าโครงการอะพอลโล 11 นั้นเกิดขึ้นจริง ๆ และเป็นความสำเร็จครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษยชาติจะบรรลุได้ในกลางศตวรรษที่ 20 ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งมนุษย์จะได้ไปเดินบนดวงจันทร์ เหมือนดั่งความฝันที่กลายเป็นความจริง ซึ่งได้พลิกโฉมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของมนุษย์ไปตลอดหลังจากนั้น โดยที่สารคดีอะพอลโล 11 นี้ก็ได้ถ่ายทอดเรื่องราวการผจญภัยของมนุษย์ออกมาได้อย่างสวยงาม จึงควรค่าต่อการรับชมเป็นอย่างยิ่ง
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co
อ้างอิง