ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ผมเป็นคนชอบดูหนังผีมาก อาจจะฟังดูขัดกับการเป็นคนทำงานในแวดวงวิทยาศาสตร์หรืออวกาศ แต่การดูหนังผีมันเป็นการเล่นกับจิตใต้สำนึกของคนเราได้ดีมาก แม้ในสเปซทีเอช ผมจะไม่ได้เอาภาพยนตร์หรือซีรียส์อวกาศมาเล่าให้ฟัง หรือถอดใจความ หรือเบื้องลึกเบื้องหลังให้เห็นกันบ่อย ๆ แต่สำหรับซีรีส์เรื่องใหม่บน Apple TV+ เรื่องนี้ ผมไม่สามารถปฏิเสธที่จะนำมันมาเล่าได้จริง ๆ
เพราะนี่คือซีรียส์อวกาศ ที่ผมดูแล้วไม่รู้จะต้องหยิบเอาความรู้สึกตรงไหนออกมาก่อน ทั้งความเนิร์ดอวกาศ ความสมจริงของบทพูด ศัพท์เทคนิค และภาพที่ถ่ายทอดออกมา หรือความเป็นแฟนหนังผี ที่ชอบดำดิ่งไปกับอารมณ์ ความหลอน และปมปริศนาที่ตัวละคนแต่ละตัวซุกซ่อนเอาไว้
Constellation เป็นซีรีส์สั้น ๆ ความยาว Episode ละ 1 ชั่วโมง รวมทั้งสิ้น 8 Episods ที่เป็น Apple Original คือดูแลการผลิตโดย Apple คล้ายกับซีรีส์อวกาศเรื่องอื่น ๆ ที่ Apple นั้นใส่ความเนิร์ดในการผลิตออกมา โดยเฉพาะสองซีรีส์ที่ทุกคนต่างล้วนพูดถึงอย่าง For All Mankind และ Foundation ซึ่งผมไม่ได้จะบอกว่า Constellation นั้นดีกว่า หรือนำมาเปรียบเทียบแต่อย่างใด แต่ผมอยากจะบอกว่า ถ้า For All Mankind คือประวัติศาสตร์ฉบับปรับปรุงใหม่ (Alternative History) งั้น Constellation ก็คือ ภาพการสำรวจอวกาศในยุคปัจจุบันที่มีอดีตอันน่าขนลุกตามหลอกหลอน
เนื้อเรื่องของ Constellation นั้นตรงไปตรงมา เป็นการพูดถึงตัวละครนักบินอวกาศ Jo Ericsson นักบินอวกาศสัญชาติสวีเดน แห่งองค์การอวกาศยุโรปหรือ ESA ที่ต้องเผชิญกับอุบัติเหตุครั้งใหญ่บนสถานีอวกาศนานชาติ จนเพื่อนร่วมงานของเธอเสียชีวิต จนตัวสถานีต้องเข้าสู่มาตรการฉุกเฉิน และนำนำพานักบินที่เหลือเดินทางกลับโลก แต่ปัญหาก็ดันมาเกิดซ้ำซ้อน เมื่อเธอต้องพบกับประสบการณ์แปลกประหลาดในระหว่างที่ตัวเอง ต้องซ่อมแซมสถานีอวกาศนานชาติเพื่อพาตัวเธอเองกลับ ซึ่งประสบการณ์นี้เราอาจนิยามกันบ้าน ๆ ได้ว่า คือ “ประสบการณ์ผีหลอก”
แค่ฟังดูก็น่าสนใจแล้วใช่มั้ยครับ ผีหลอกบนสถานีอวกาศนานชาติ สถานที่ดูจะมีผีน้อยที่สุด เพราะโดยปกติการส่งของไปอวกาศนั้นเป็นเรื่องซีเรียสจริงจังมาก ปกติผีมักจะมากับอะไรที่เป็นของเก่า เฟอร์นิเจอร์เก่า สมุดบันทึกเล่มเก่า ของที่วิญญาณมีจิตผูกพันธ์ หรือเป็นสถานที่ที่มีเหตุฆาตกรรมเกิดขึ้น แต่บนสถานีอวกาศนานชาตินั้น ก็ไม่ได้มีของเก่า (และมีมนุษย์ขึ้นไปประจำการตั้งแต่ปี 2000) และที่สำคัญก็คือ “ไม่มีใครเคยเสียชีวิตบนอวกาศ”
เขียนมาแบบนี้แล้ว ก็น่าจะเอ๊ะกันแล้วนะครับ จริงเหรอที่ไม่เคยมีใครเสียชีวิตบนอวกาศ หากเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์จริง ๆ เราอาจจะนึกถึงกรณีการเสียชีวิตของลูกเรือ Apollo 1 หรือเหตุการณ์กระสวยอวกาศ Columbia และ Challenger ที่ได้คร่าชีวิตนักบินอวกาศ แต่หากมองกันจริง ๆ แล้ว ไม่มีมนุษย์คนใดเลยที่ถูกทอดทิ้งให้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวบนนั้น แม้ในโครงการ Apollo 11 จะมีการเตรีมบทพูดไว้หากนักบินอวกาศจะต้องเสียชีวิตบนดวงจันทร์ แต่ก็โชคดีที่บทพูดนั้น ไม่ถูกนำมาใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง
แต่คำว่า ไม่เคยมีใครเสียชีวิตบนอวกาศนั้นอาจไม่สามารถถูกยืนยันได้ทั้งหมด จากฝั่งสหภาพโซเวียต เป็นที่ทราบกันดีว่าโครงการอวกาศในยุคโซเวียตนั้น เต็มไปด้วยความลับและปริศนา เอกสารหลายอย่าง ความจริงหลาย ๆ เรื่อง เพิ่งถูกเปิดเผยออกมาหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต เราอาจจะเคยได้ยินถึงข้อเท็จจริงของกรณี “ไลก้า” หมาอวกาศที่ถูกสหภาพโซเวียตปล่อยทิ้งและไม่มีวันได้กลับลงมาพร้อมกับชีวิต หรืออีกหลายชีวิตของหมาตัวอื่น ๆ ที่ต้องสังเวยกับความมืดมิดเบื้องบนนั้น เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นและได้รับการยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง แต่ตำนานเรื่องเล่าที่เรียกได้ว่ายังคงเป็นปริศนาดำมืดและคอยหลอกหลอนเป็น Urban Legend ที่ผมเชื่อว่าน่าขนลุกที่สุดเลยก็คือ “หากสหภาพโซเวียต ทิ้งใครไว้บนนั้นจริง ๆ หล่ะ”
สิ่งที่ผมกำลังจะเล่าต่อไปนี้ อาจจะมองว่าเป็นการเปิดเผยเนื้อหาของซีรียส์แต่จริง ๆ แล้วเรื่องราวมันซับซ้อนไปมากกว่านั้น ดังนั้นเราจะถือว่ารู้ไปก็ไม่ได้ส่งผลกับห้วงอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นมากนัก
ในยุคที่การสำรวจอวกาศเป็นไปอย่างสวยงาม สถานนีอวกาศนานาชาติเป็นเหมือนกับบ้านอันอบอุ่น แต่สิ่งร้าย ๆ ก็มาเกิดขึ้นเมื่อ Jo Ericsson ตัวเอกของเราได้ตกอยู่ในสถานการประหลาด อย่างแรก การทดลองทางควอนตัมฟิสิกส์จาก RPL หรือ Rocket Propulsion Laboratory (ใช่ครับ ล้อมาจาก Jet Propulsion Laboratory) ที่พาให้เธอต้องพบกับประสบการณ์ประหลาด และอย่างที่สอง สิ่งที่เธอเห็นมันคืออะไร เมื่อ Jo ได้เห็นกับ “ศพ” ในชุดนักบินอวกาศสีส้มที่คุ้นเคยของสหภาพโซเวียต ที่คนอื่นกลับไม่เห็น จนนำไปสู่เรื่องราวใน Episode ที่เหลือ
ในกรณีนี้ผู้สร้างได้หยิบยกเอา Urban Legend นี้ในโลกแห่งความเป็นจริง มาผูกโยงเข้ากับการสำรวจอวกาศยุคปัจจุบัน The Lost Cosmonaut เป็นตำนานเมืองที่ถูกพูดถึงจากการที่มีนักวิทยุสมัครเล่น (Amature Radio) ที่อ้างว่า สามารถบันทึกเสียงของนักบินอวกาศนิรนาม ถูกไฟครอกและร้องโหยหาความช่วยเหลือจากวงโคจร ซึ่งสุดท้ายไม่มีใครรู้ว่าเจ้าของเสียงนั้นคือใคร
ภายในเรื่อง The Lost Cosmonaut เป็นปริศนาชิ้นแรกที่ถูกหยิบขึ้นมาเพื่อดำเนินเรื่องต่อ เรียกได้ว่าใน Episode แรกนั้นเราจะได้เห็นความหลอนนี้อย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงประสบการณ์ของ Jo ที่จะต้องอยู่ในสถานีอวกาศนานาชาติ ในช่วงสัญญาณขาดหาย (Loss of Signal) กับ “ศพ” เพื่อนร่วมงานของเธอที่เพิ่งเสียชีวิตในยานโซยุส ที่ปิดไฟมืด ซึ่งก็แน่นอนว่านำมาสู่ความหลอนอื่น ๆ จนเรียกได้ว่า แทบจะเป็นบ้ากันไปเลยทีเดียว
พูดมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะคิดว่าความหลอนหลักของเรื่องนั้น อยู่ที่ “ผีของ The Lost Cosmonaut” แต่ไม่ใช่ครับ ผีนักบินอวกาศนิรนามแห่งสหภาพโซเวียต และการทดลองทางควอนตัมที่เหนือจินตนาการนั้น เป็นเพียงประตูที่เปิดพาตัวละครทุกตัวในเรื่องเข้าสู่ความลึกลับของ “ความจริง” ว่าความจริงจริง ๆ คืออะไรกันแน่
หลังจากที่ Jo กลับมาที่โลกโดยเธอได้ลงจอดฉุกเฉิน ณ ทะเลทรายในคาซักสถานได้สำเร็จ เธอก็ต้องพบเจอกับประสบการณ์แปลก ๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเกิดกับนักบินอวกาศหลายคน “การสำรวจอวกาศนั้นทำให้คนเป็นบ้าได้” ในห้วงอวกาศที่มืดมิด “พวกเขาเห็นอะไรบางอย่างบนนั้น” นี่คือประโยคหลักที่ถูกนำมาพูดบนเวียนตลอด Episode ที่เหลือ ในระหว่างที่ Jo ต้องเจอกับสถานที่แปลก ๆ ความรู้สึกแปลก ๆ และปริศนาหลายอย่างที่ค้างคา รวมถึงการที่ลูกสาวของเธอ Alice มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยเรายังจะได้เห็นการดำเนินเรื่องจากมุมของ Alice ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการไขปริศนามั้งหมดอีกด้วย
หลังจากการเปิดปริศนาใน Episode ที่ 1-3 ที่เหลือ จะเป็นการมองย้อนกลับไปยังสถานการทุกอย่างที่เกิดขึ้น และพาทุกคนร่วมตั้งคำถามว่า อะไรคือความจริงที่เป็นกันแน่ ซึ่งเราจะได้เห็นความหลอนต่าง ๆ ในสไตล์ “หนังผี” แต่ก็ยังได้เห็นความกล้าหาญและ Coming of Age ของ Alice ที่คอยเรียกน้ำตาได้ ใช่ครับ เรื่องนี้มีฉากเดียวที่ทำให้ผมร้องไห้ได้ และนั่นคือฉากที่ Alice พยายามจะปิดกั้นตัวเองออกจากความเป็นจริง ฝืนตัวเองบางอย่าง และสุดท้ายเธอก็ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากกับแม่ของเธอมาได้
เวลาที่ผมบอกว่า ภาพยนตร์เรื่องไหนสมจริง มันไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างสมจริงแบบเอามาสวมทับบนโลกแห่งความเป็นจริงนะครับ แต่หมายถึงว่า ประเด็นไหนที่ผู้สร้างอยากจะใส่ให้สมจริงต่างหาก ในกรณีของ Constellation นั้น ผมนับถือความพยายามในการสร้างโมเดลของสถานีอวกาศนานชาติออกมาได้สมจริง โมดูลต่อโมดูล และอาจเรียกได้ว่า Constellation น่าจะมีสถานีอวกาศนานชาติสมจริงที่สุดเลยก็ว่าได้ (หากไม่นับ The Challenge ที่ดำเนินการสร้างโดย Roscosmos และไปถ่ายบนสถานีอวกาศจริง ๆ)
เนื้อเรื่องของ Constellation ถูกเซ็ตอยู่ในช่วงปี 2021 ดังนั้น เราจะได้เห็นโมดูลของสถานีอวกาศนานาชาติอัพเดทเหมือนปัจจุบัน เช่น มีโมดูลรัสเซียใหม่คือ Nauka และ Prichal ไปเชื่อมต่อ ได้เห็นยานอวกาศยุคใหม่อย่าง Crew Dragon หรือแม้กระทั่งรายละเอียดเกี่ยวกับแผง Solar Array ของสถานีรุ่นใหม่อย่าง I-ROSA ก็มีปรากฎให้เห็นอย่างชัดเจน แถมในการดำเนินเรื่อง ก็ยังวางการเคลื่อนที่ของตัวละครในสถานีได้อย่างสมจริง และบทพูดก็ถูกเขียนมาอย่างสมจริง
หากใครเคยอ่านบทความ การติดต่อสื่อสาร และจัดการงานกับลูกเรือบนสถานีอวกาศนานาชาติ ผมได้เล่ารายละเอียดเรื่องของเรียกชื่อทางวิทยุ เช่นนักบินอวกาศจะเรียกตัวเองว่า “Station” ในขณะที่ฝ่ายภาคพื้นจะเรียกตัวเองว่า “Houston” หรือ “TsUP” ในเรื่องนี้ถือว่าทำการบ้านมาอย่างดีมาก หรือแม้กระทั่งหน้าจอและ Interface ที่ปรากฎทั้งบนสถานีและศูนย์ควบคุมต่าง ๆ ก็ยังสมจริงแทบจะจับวาง เช่น การใส่ ตารางเวลาของนักบินอวกาศที่เรียกว่า “Short-Term Plan” ซึ่งคนดูธรรมดาทั่ว ๆ ไป ใครจะไปสังเกตครับว่ามันจะต้องสมจริงขนาดนี้
นอกจากรายละเอียดเกี่ยวกับตัวสถานีแล้ว ก็ยังใส่พวก Procedure ต่าง ๆ ได้อย่างสมจริง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปรับนักบินอวกาศหลังจากกลับโลก การเลือกใช้ชื่อหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานอวกาศจริง ๆ เช่น ESA, NASA, Roscosmos และมีการนำเอาเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงมาประกอบด้วย เช่น โครงการ Apollo ที่ในจักรวาลของ Constellation นั้น มีไปถึงภารกิจ Apollo 18
แต่ที่เรียกได้ว่าประทับใจที่สุดเลยก็คือฉากการทำ CPR ในอวกาศ ที่ถ้านึกออกผมว่านี่น่าจะเป็นหนังเรื่องแรกที่หยิบประเด็นนี้มาใช้ โดยเราได้เคยเขียนบทความ นักบินอวกาศทำ CPR ในสภาวะไร้น้ำหนักอย่างไร ว่าหากมีกรณีที่ต้องมีการกู้ชีพบนสถานีอวกาศนาชาติขึ้นมานักบินอวกาศผู้ทำ CPR จะต้องใช้ขายันผนังยานอีกฝั่งไว้ ซึ่งใน Constellation เราก็ได้เห็นท่าทางดังกล่าวอย่างสมจริงและน่าประทับใจ
นอกจากรายละเอียดของตัวสถานีอวกาศแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกยังได้อ้างอิงจากสิ่งที่มีอยู่จริง ๆ เช่น โครงการของ ESA ที่ให้นักบินอวกาศมาอ่านนิทานก่อนนอนให้เด็กฟัง หรือชั้นหนังสือในเรื่องที่เลือกใช้หนังสือจริง ๆ (แอบมีเห็น The Demon Hunted World ของ Carl Sagan ด้วยนะ)
และแม้บางจุดของหนังจะมีความ “ไม่สมจริง” ความไม่สมจริงนั้นก็เพื่อปูให้เกิดความฉิบหายในเรื่อง ดังนั้นเราอาจมองข้ามมันไป เพราะจริง ๆ แล้ว หลาย ๆ อย่างในโลกแห่งความเป็นจริง มันก็อาจจะมีความ “ไม่สมจริง” อยู่ในตัวมันก็ได้เหมือนกัน ใครที่ชอบดูภาพยนตร์หลอน ๆ แนว ๆ สองบุคคลิก หรือประวัติศาสตร์ทางเลือก น่าจะเข้าใจวิธีการดำเนินเรื่องของ Constellation ได้ไม่ยากนัก
ในสองตอนท้าย ๆ เราจะได้เห็นการคลี่คลายปมของสถานการณ์ “ผี” ที่เกิดขึ้นมาตลอด ที่อาจจะบอกได้เลยว่าพอรู้ความจริงแล้ว ทุกอย่างกลับหลอนกว่าอีก น่าแปลกที่คำอธิบายบางทีก็นำไปสู่ความสยอดสยองมากกว่าเดิมได้ อารมณ์ประมาณเวลาเราฟังเรื่องผีที่ดูไร้เหตุผล แต่ตอนท้ายดันมีการเฉลยว่า “ทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น”
และฉากสุดท้ายของเรื่อง ที่เรียกได้ว่าทำผมหลอนโมดูล “Cupola” บนสถานีอวกาศนานชาติไปหลายวัน และคิดว่าจะเป็นภาพที่ติดตากับโมดูล Cupola ที่อยากจะลืม ซึ่งบอกไว้เลยว่าถ้าใครที่ฟังไปพร้อมกับบท Monologue ปิดฉาก Season 1 ของซีรียส์เรื่องนี้ ก็น่าจะหลอนอย่างสุดขั้วเมื่อรู้ว่า “เบื่องบนนั้น มีใครกำลังเฝ้ามองเราอยู่ ในทุก ๆ วงโคจร”
และด้วยวิธีการเล่าเรื่องสไตล์หนังยุโรป สแกดิเนเวียน ใช้การเล่าเรื่องแบบมืด ๆ ทึม ๆ ดนตรีแสกดิเนเวียนหลอน ๆ ประกอบกับความเป็นอวกาศและหนังผี จึงทำให้ Constellation เป็นซีรียส์ที่มีความแปลกใหม่และน่าสนใจในมุมของศิลปะอย่างมากด้วยเช่นกัน
สุดท้ายก็ต้องบอกว่าในยุคที่ใครก็ต่างทำหนังอวกาศ ต้องชื่นชม Apple มาก ๆ ที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์และ Experiment ไปกับงานชิ้นต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นมา จนกลายเป็นซีรียส์อีกเรื่องที่รู้สึกอยากหยิบมาเล่าให้ทุกคนได้ฟังกัน โดยเราสามารถดู The Constellation ได้ผ่าน Apple TV+
เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co