รู้จักกล้องทั้ง 24 ตัว ในภารกิจ Artemis I ที่บันทึกทุกช่วงสำคัญของภารกิจ

เมื่อ 50 ปีที่แล้วในยุคของโครงการ Apollo เทคโนโลยีการบันทึกภาพในสมัยนั้น ยังเป็นกล้องฟีล์ม อย่างไรก็ตามผู้ชมที่นั่งอยู่ทางบ้านและศูนย์ควบคุม สามารถที่จะรับชมผ่านการถ่ายทอดสัญญาณแบบ Analog ผ่านกล้อง TV ที่ใช้การส่งสัญญาณภาพกลับมาในลักษณะของเส้น ทำให้ภาพการลงจอดดวงจันทร์หรือการบินขึ้นของจรวด Saturn V นั้น ไม่ได้คมชัดและเห็นรายละเอียดที่ชัดเจนมากนัก วิดีโอและภาพที่คมชัดนั้นต้องรอหลังจากภารกิจเมื่อฟีล์มถูกนำมาล้างและผ่านกระบวนการต่าง ๆ

แต่ในยุคปัจจุบันคงไม่ต้องมีใครตั้งคำถามอีกแล้วว่าเทคโนโลยีการถ่ายภาพและวิดีโอของเราก้าวไปไกลแค่ไหน ทุกวันนี้เราสามารถถ่ายวิดีโอแบบ 4K 60 FPS ได้บนโทรศัพท์มือถือของเรา ในขณะที่กล้องระดับโปร สามารถถ่ายวิดีโอได้ละเอียดสูงมากกว่า 8K หรือ 12K กันไปแล้ว แน่นอนว่าสิ่งนี้นำมาซึ่งจุดเปลี่ยนในภารกิจการสำรวจดวงจันทร์ในยุคถัดไปของมนุษย์ในโครงการ Artemis ทำให้มั่นใจได้ว่า เราจะได้เห็นภาพที่ชัดเจนและมีคุณภาพมากกว่าในยุคที่คนรุ่น Apollo ได้เห็นอย่างแน่นอน

ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึงเทคโนโลยีการบันทึกภาพถ่ายและวิดีโอ ที่จะทำให้เราไม่พลาดทุกสถานการณ์สำคัญในภารกิจ Artemis โดยเน้นไปที่ภารกิจ Artemis I ซึ่งเดินทางขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2022 นับเป็นการเปิดฉากโครงการ Artemis โดยสมบูรณ์

เมื่อ NASA ตัดสินใจถ่ายทอดสดแบบ 4K

ถ้าใครที่ได้ดูการถ่ายทอดสดการปล่อย Artemis I อาจจะสังเกตว่าในรอบนี้ NASA ถ่ายทอดสดด้วยความละเอียดระดับ 4K (ซักที) ซึ่งแม้ว่าในยุคปัจจุบัน การถ่ายทอดสดด้วยความละเอียดระดับ 4K จะไม่ใช่เรื่องยากอะไรอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าทำไม NASA ยังคงใช้ความละเอียดภาพแบบ Full HD อยู่ และแม้ในภารกิจ Artemis I นี้ จะเป็นการปล่อยในช่วงกลางคืน (ซึ่งทำให้คุณภาพของภาพดร็อปลงเล็กน้อย) แต่การถ่ายทอดแบบ 4K ก็ช่วยให้เราได้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ มากขึ้นจริง ๆ

ส่วน Footage ในช่วงเวลาการปล่อย และช่วงอื่น ๆ อันนี้ก็ไม่ต้องห่วงอยู่แล้ว เพราะปกติ NASA จะเก็บ Footage ไว้อย่างละเอียด แถมเก็บเป็น 4K ทำให้มั่นใจได้ว่า เราจะได้ภาพช่วงเวลาประวัติศาสตร์บันทึกไว้ด้วยคุณภาพของภาพและเสียงที่ดีที่สุด ยังไม่รวม Footage จากแฟน ๆ ช่างภาพ หรือนักข่าวอีกหลายสำนัก ที่ NASA เปิดให้เข้าไปถ่ายหรือตั้งกล้องในลักษณะ Remote Camera ไว้ ณ ฐานปล่อย นอกจากคุณภาพแล้ว ความรวดเร็วก็ไม่แพ้กัน เมื่อเราได้เห็นภาพสวย ๆ แนบจะในหลักวินาทีหลังการปล่อยจากบรรดาช่างภาพต่าง ๆ

ดังนั้นปรากฎการณ์ที่เราเห็นจึงทำให้เรามั่นใจได้ว่า ในภารกิจ Artemis อื่น ๆ หลังจากนี้ เราจะไม่พลาดช็อตสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน ซึ่งนอกจากเหตุผลด้านการสื่อสารแล้ว ในทางวิศวกรรม การที่มีกล้องต่าง ๆ บันทึกภาพไว้อย่างละเอียด ช่วยให้เราสามารถย้อนกลับมาดูได้เมื่อเกิดปัญหาด้วย (คล้ายกับในวงการการบินที่จะมีเหล่าบรรดา Plane Spotter ถ่ายภาพเครื่องบินรวบรวมไว้)

กล้องทั้ง 24 ตัวที่ติดอยู่บนจรวด SLS และยาน Orion

นอกจากบรรยากาศบนฐานปล่อย NASA ยังได้ออกมาเปิดเผยว่าบนจรวด SLS และยาน Orion นั้น มีการติดกล้อง 4K ไว้มากถึง 24 ตัว ประกอบไปด้วยกล้อง 8 ตัวบนจรวด SLS และอีก 16 ตัวบนยาน Orion (เป็นยานอวกาศที่มีกล้องติดไปด้วยเยอะที่สุด)

ซึ่งก็แอบน่าเสียดายที่การปล่อยเป็นช่วงกลางคืน ทำให้กล้องบน SLS อาจจะไม่ได้แสดงศัยภาพ อวดโฉมสิ่งที่เกิดขึ้นในระหว่างการปล่อยให้เราได้เห็นชัดเจนมากนัก แต่ก็มั่นใจได้ว่าในภารกิจหน้า ๆ เราจะมีภาพและวิดีโอสวย ๆ ให้ได้ชมกันแน่นอน โดยกล้องบน SLS นั้น มีตั้งแต่ หันไปให้เห็นตัวยาน Orion, ถ่ายให้เห็นระหว่างที่ Booster แยกตัวออก, หรือเหตุการณ์สำคัญ ๆ อื่น ๆ บนตัวจรวด

ส่วนบนยาน Orion นั้น ก็จัดเต็มมาก ๆ กล้องทั้ง 16 ตัว แทบจะครอบคลุมภาพในส่วนต่าง ๆ ของยานเกือบทั้งหมด สิ่งที่น่าจะเป็นไฮไลต์มากที่สุดก็คือกล้อง “Selfie” ที่ติดอยู่บริเวณปลายแผง Solar Array ทั้ง 4 ของตัวยาน ที่ทำหน้าที่บันทึกภาพแต่ละด้านของยาน

โดยในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2022 ประมาณสองวันหลังจากการปล่อยในระหว่างที่ยาน Orion กำลังเดินทางเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ NASA ก็ได้เปิดเผยภาพจากกล้องทั้ง 4 ให้เห็นยาน Orion ในแต่ละด้านด้วย ซึ่งความละเอียดของภาพนั้นก็จัดว่าโหดมาก ๆ สามารถเห็นรายละเอียดของ Orion ได้อย่างชัดเจน ซึ่งวิศวกรก็จะได้ประโยชน์อย่างมากในการวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการเดินทางในอวกาศห้วงลึกกับตัวยาน

และสิ่งที่ถูกปล่อยออกมาเป็นภาพถ่ายสำคัญในภารกิจนี้ ระหว่างที่ Orion กำลังเดินทางไปดวงจันทร์ก็ได้แก่ภาพของโลกที่ลอยเคว้งคว้างอยู่ในอวกาศ ซึ่งเป็นภาพที่นักบินอวกาศในภารกิจ Artemis II, III และหลังจากนี้ จะได้เห็น น่าทึ่งตรงที่ภาพลักษณะนี้ ไม่มีมนุษย์คนใดเลยได้เห็นในช่วงเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่โครงการ Apollo ได้สิ้นสุดลง

นอกจากนี้ยังมีการนำเอาเทคโนโลยีที่ชื่อว่า Callisto ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับการทำ Video Call ร่วมพัฒนาโดย Lockheed Martin, Alexa (Amazon) และ WebeX (Cisco) ติดตั้งขึ้นไปบนยาน โดยหวังว่าในอนาคน เราจะพูดคุยกับนักบินอวกาศที่อยู่บนยาน และช่วยเหลือการทำงานต่าง ๆ ได้งานขึ้น (เหมือนการ Share Screen เวลาเราคุยงานกัน) ในขณะที่ Amazon ก็นำเอา Alexa ขึ้นไปเป็นผู้ช่วยนักบินอวกาศอีกด้วย (เอาเข้าไป)

ซึ่งทุกอย่างจะติดต่อกับโลกผ่านระบบ Deep Space Network นั่นเอง อ่าน – Deep Space Network คืออะไร เบื้องหลัง การสื่อสารของภารกิจสำรวจอวกาศห้วงลึก

ถ้าเทียบย้อนกลับไปในยุค Apollo ในภารกิจ Apollo 11 มีการนำกล้องถ่ายทอดสด (Apollo TV Camera) ไปเพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้น ที่เหลือจะเป็นกล้องฟีล์มของ Hasselblad ที่ใช้ฟีล์ม 70 มิลลิเมตร เป็นภาพนิ่ง (แน่นอน ไม่ได้มีการเอากล้องฟีล์มวิดีโอไปบนดวงจันทร์แต่อย่างใด) เนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี แต่ในโครงการ Artemis นี้ เรียกได้ว่า เราจะได้เห็นทุกซอก ทุกมุมของยานอวกาศ ทั้งในยาน นอกยาน รวมถึงการลงจอดบนพื้นผิวของดวงจันทร์ ก็จะเป็นการถ่ายทอดสดในแบบความคมชัดสูง ให้เราได้เห็นกันสด ๆ อย่างละเอียด

เป็นที่แน่นอนว่าภาพเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นความตื่นเต้นให้กับผู้คนทั่วโลก และกล้องทั้ง 24 ตัวนี้ ภาพของมันจะถูกนำไปอยู่บนภาพยนตร์, สารคดี, ปกนิตยสาร, หนังสือ, Social Media ต่าง ๆ Facebook, Instagram, TikTok หรือภาพหน้าจอโทรศัพท์มือถือของคนอีกมหาศาลทั่วโลก และส่งต่อแรงบันดาลใจอีกมหาศาลสำหรับการเดินทางของมนุษย์ที่ไกลออกไปยิ่งขึ้น

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.