ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ปี 2022 สรุปทุกข้อมูล จันทรุปราคา ฝนดาวตก ดาวเคราะห์

โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในทุก ๆ วัน จนใกล้จะเข้าสู่รอบใหม่ นับเป็นสัญญาณว่าใกล้จะขึ้นศักราชใหม่ (หรือที่เราเรียกกันว่าปีใหม่) อีกเช่นเคย แน่นอนว่าผู้คนก็ต่างรอคอยที่จะรับชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ในทุก ๆ ปี และในปี 2022 นี้ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กับปี 2021 เลยนะ

ทีมงานได้รวบรวมข้อมูลจาก Time and Date, 2022 Calendar of astronomical events และ Moon Data Table นำเอาปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจในปี 2022 ที่จะเห็นได้จากท้องฟ้าเมืองไทย มารวบรวมไว้สำหรับผู้ที่สนใจ

อุปราคาที่สังเกตได้ในไทยในปี 2022

อุปราคาคือปรากฏการณ์ที่มีการบดบังกันระหว่างวัตถุขนาดใหญ่ที่สังเกตเห็นได้ชัดบนท้องฟ้าซึ่งอุปราคาที่เราจะคุ้นชินกันนั้นก็ได้แก่สุริยุปราคา คือปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ และปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่ดวงจันทร์ถูกเงาของโลกบดบัง เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าและสังเกตได้ง่ายที่สุด

ภาพจันทรุปราคาเต็มดวงในคืน Supermoon ที่มา – NASA/Bill Ingalls

ย้อนกลับไปในปี 2021 ที่ผ่านมานั้น เราได้รับชมเฉพาะจันทรุปราคาบางส่วนที่มีแค่ครั้งเดียวในประเทศไทย และในปี 2022 ก็ไม่ต่างจากปี 2021 เลย เพิ่มเติมคือจันทรุปราที่เราเห็นได้นั้นจะเป็นแบบเต็มดวง แต่ก็ยังไม่มีสุริยุปราคาให้เราได้รับชมอยู่ดี (เศร้าเนอะ)

จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) 8 พฤศจิกายน 2022 ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2022 โดยจะเกิดขึ้นตามเวลาของไทย ดังนี้

  • 17:44 น. – ดวงจันทร์เพิ่งขึ้นจากขอบฟ้า
  • 17:59 น. – ดวงจันทร์อยู่ในบริเวณเงามืดมากที่สุด (ช่วงกึ่งกลางคราส)
  • 18:41 น. – ดวงจันทร์กำลังเริ่มเคลื่อนที่ออกจากเงามืด (ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงสิ้นสุดลง)
  • 19:49 น. – ดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดทั้งหมด (ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนสิ้นสุดลง)
  • 20:56 น. – ดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามัวทั้งหมด (สิ้นสุดปรากฏการณ์) 
  • รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง 12 นาที

จากตารางเวลาดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้ว่าเราไม่สามารถเห็นจันทรุปราคานี้ตั้งแต่เริ่มจนจบได้ เนื่องจากดวงจันทร์ขึ้นสู่ขอบฟ้าช้า แต่หากใครอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกจะสามารถเห็นปรากฏการณ์นี้ได้ตั้งแต่เริ่มจนจบเลย

ปรากฏการณ์ฝนดาวตก

ฝนดาวตก (Meteor Shower) เป็นเศษหินจากดาวหางที่ทิ้งเอาไว้ในขณะที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ซึ่งเศษหินเหล่านี้จะถูกแรงโน้มถ่วงจากโลกดึงดูดเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศเกิดเป็นลำแสงที่มีสีสันต่าง ๆ วาบขึ้นให้เห็นตอนกลางคืน 

ภาพถ่ายปรากฏการณ์ฝนดาวตก หรือ Meteor Shower ซึ่งในการเกิดฝนดาวตกเราจะได้เห็นการตกในปริมาณมาก ที่มา – Jeff Dai

หลาย ๆ คนต่างรอคอยกับการดูฝนดาวตก เนื่องจากเป็นปรากฏการณ์ที่โรแมนติก (โดยเฉพาะดูกับคนที่เรารักหรือคนที่เราแอบชอบ) แม้จะสังเกตได้ยากในเขตเมืองโดยเฉพาะบริเวณที่มีแสงไฟเยอะ ๆ แต่การได้ดูกับเพื่อนก็สนุกไม่แพ้กันเลย เพราะเขาว่ากันว่าถ้าเราเห็นฝนดาวตกคนเดียวเท่ากับว่าน้องไม่ใช่ฝนดาวตกนั่นเอง ซึ่งถ้าเห็นกันหลาย ๆ คน เพื่อนหรือคนที่เราไปด้วยก็ต่างกันดีใจยกใหญ่เลยทีเดียว

ถ้าอยากดูฝนดาวตกอย่างเต็มอิ่มและสนุกที่สุด อยากจะแนะนำว่าให้หาสถานที่ที่มีแสงไฟน้อยที่สุด หรือไม่ก็ขึ้นไปดูบนดอย แล้วปูเสื่อนอนลงไปเลย เพราะการนอนดูเป็นวิธีที่ทำให้สังเกตฝนดาวตกได้ง่ายที่สุด เนื่องจากฝนดาวตกกระจายตัวทั่วฟ้านั่นเอง

  • 3-4 มกราคม – ฝนดาวตกควอดแดรนต์ (Quadrantids) อัตราการตก 40 ดวงต่อชั่วโมง
  • 22-23 เมษายน – ฝนดาวตกไลริดส์ (Lyrids) อัตราการตก 20 ดวงต่อชั่วโมง
  • 6-7 พฤษภาคม – ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์ (Eta Aquarids) อัตราการตก 30 ดวงต่อชั่วโมง
  • 28-29 กรกฎาคม – ฝนดาวตกเดลต้า-อควอริดส์ (Delta Aquarids) อัตราการตก 20 ดวงต่อชั่วโมง
  • 12-13 สิงหาคม – ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids) อัตราการตก 60 ดวงต่อชั่วโมง

หลังจากนั้นในช่วงท้ายปีฤดูหนาว เราก็จะได้เห็นฝนดาวตกที่สำคัญ ๆ ได้แก่

  • 7 ตุลาคม – ฝนดาวตกดราโคนิดส์ (Draconids) อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง
  • 21-22 ตุลาคม – ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ (Orionids) อัตราการตก 20 ดวงต่อชั่วโมง
  • 4-5 พฤศจิกายน – ฝนดาวตกทอริดส์ (Tuarids) อัตราการตก 5-10 ดวงต่อชั่วโมง
  • 17-18 พฤศจิกายน – ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) อัตราการตก 15 ดวงต่อชั่วโมง
  • 13-14 ธันวาคม – ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids) อัตราการตก 120 ดวงต่อชั่วโมง
  • 21-22 ธันวาคม – ฝนดาวตกเออร์ซิดส์ (Ursuds) อัตราการตก 5-10 ดวงต่อชั่วโมง

เราจะเห็นได้ว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์นั้น มีอัตราตกสูงที่สุดในบรรดาฝนดาวตกทั้งหมด นั่นหมายความว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์ เป็นฝนดาวตกที่สังเกตได้ง่ายที่สุด ซึ่งถ้าหากจะดูอย่างเต็มอิ่มแนะนำให้รอรับชมเหล่าน้อง ๆ ฝนดาวตกเจมินิดส์ได้เลย

ปรากฎการณ์เกี่ยวกับดาวเคราะห์

นอกจากอุปราคาและฝนดาวตกแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจเหมาะแก่การสังเกตและการถ่ายภาพลงโซเชียลมีเดีย หรือเก็บไว้เป็นที่ระลึก เช่น ปรากฏการณ์ดาวเคราะห์ใกล้โลก (Opposition) ซึ่งจะเกิดขึ้นกับดาวเคราะห์วงนอก ประกอบไปด้วยดาวอังคาร, ดาวพฤหัสม ดาวเสาร์, ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน

  • 13 สิงหาคม – ดาวเสาร์ใกล้โลกมากที่สุด ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนเด่นที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ นับว่าจะเป็นอะไรที่ดีมาก หากเราได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ส่องเพื่อดูวงแหวนของดาวเสาร์
ภาพถ่ายดาวเสาร์และดวงจันทร์ของเขาในตำแหน่ง Opposition ที่มา – NASA, ESA, A. Simon (GSFC) and the OPAL Team, and J. DePasquale (STScI)
  • 17 กันยายน – ดาวเนปจูนใกล้โลกมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามดาวเนปจูนอยู่ห่างจากโลกมาก ซึ่งเป็นเรื่องยากมากหากเราจะส่องดาวเนปจูน นอกจากว่าจะใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่มีกำลังขยายสูง ๆ จะเห็นเป็นจุดสีฟ้า
  • 27 กันยายน – ดาวพฤหัสใกล้โลกมากที่สุด ดาวพฤหัสนับว่าเป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล และมีจุดเด่นคือจุดยักษ์แดง นอกจากนี้ยังมีดาวบริวารทั้งสี่ดวงหรือที่เรียกว่าดวงจันทร์กาลิเลียน หากเรานำกล้องโทรทรรศน์ส่องดาวพฤหัสเราจะเห็นจุดยักษ์แดง และเหล่าดวงจันทร์กาลิเลียนได้ชัดยิ่งขึ้น
  • 10 พฤศจิกายน – ดาวยูเรนัสใกล้โลกมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตามก็ยังไกลสำหรับเราอยู่ดี ซึ่งนับว่าสังเกตได้ยากเช่นกัน ยกเว้นว่าใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่มีกำลังขยายสูง ๆ จะเห็นเป็นจุดสีเขียวฟ้า
  • 1 ธันวาคม – ดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุด ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ถัดจากโลก ซึ่งความเป็นสีแดง (บางคนอาจบอกว่าสีส้มเข้ม) ของน้องนั้นทำให้สามารถสังเกตได้ง่ายในท้องฟ้ากลางคืน และหากเราได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ก็จะสามารถเห็นรายละเอียดที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อื่น ๆ 

นอกจากอุปราคา ฝนดาวตก และปรากฏการณ์ที่เกี่ยวกับดาวเคราะห์แล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกเช่นกัน ซึ่งปรากฏการณ์นี้สามารถมองเห็นได้ง่ายและน่าสนใจไม่แพ้ปรากฏการณ์ที่ผ่านมา โดยความพิเศษในปีนี้คือ สามารถเห็น Super Full Moon ได้ถึง 2 ครั้งเลยนะ

  • 14 มิถุนายน – Super Full Moon เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์เต็มดวงและเข้าใกล้โลกมากที่สุด (357,658 กิโลเมตร) ทำให้มีแสงสว่างและมีขนาดใหญ่กว่าปกติ
  • 13 กรกฎาคม – Super Full Moon ครั้งที่สองในรอบปี (357,418 กิโลเมตร) 

สุดท้ายนี้อย่าลืมดูแลสุขภาพตัวเอง ขอให้รอดพ้นปลอดภัยจากโควิด เพื่อมานั่งดูดาวหรือขอพรจากฝนดาวตกกับคนข้าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว คนที่เราชอบ หรือเพื่อนร่วมงาน ไว้เรามาข้ามปีใหม่ด้วยกัน คงหวังว่าโลกจะใจดีกับเรามากขึ้นนะ =)

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

โฟร์ท รัตติยากร รัตนใส นักศึกษาเมเจอร์ฟิสิกส์ ไมเนอร์การตลาด แห่งมหาวิทยาลัยภาคเหนือที่ชื่นชอบดวงดาว ชาเชียว และแมวชโรดิงเจอร์ นอกจากนี้ยังอยากเป็นประธานบริษัทอีกด้วย