ตุ๊กตา Barbie นักบินอวกาศ เพราะผู้หญิงไม่ใช่แค่ต้องรอเจ้าชาย

เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ของตุ๊กตาขวัญใจเด็กหญิงทั่วโลกอย่าง “บาร์บี้” บริษัทผลิตของเล่นยักษ์ใหญ่สัญชาตอิตาลี่อย่าง Mattel จึงได้ร่วมมือกับ ESA ( The European Space Agency ) สร้างตุ๊กตาบาร์บี้สุดพิเศษ 2 ตัว 2 แบบ ไม่ซ้ำกัน โดยได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างมาจาก Samantha Cristoforetti นักบินอวกาศหญิงคนแรกของอิตาลี่ และได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในงานวันเด็กหญิงสากล เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2018 ที่ผ่านมา

ตุ๊กตาตัวหนึ่ง (ขวา) สวมชุด Extravehicular Mobility Unit ของนาซ่าซึ่งเป็นชุดที่นักบินอวกาศสวมใส่บน Spacewalk และตุ๊กตาบาร์บี้อีกตัว (ซ้าย) สวมชุดนักบิน ESA สีน้ำเงินพร้อมด้วยแพทช์จากตัวแทน ที่มา – Mattel

มีเรื่องที่น่าสนใจก็คือจากงานวิจัยชื่อ Gender stereotypes about intellectual ability emerge early and influence children’s interests ที่ถูกตีพิมพ์ลงใน Science Magazine พบว่าเด็กผู้หญิงในวัยประมาณ 6 ขวบ จะเริ่มมีความเชื่อว่าเพศของตนมีขีดจำกัดทางความสามารถ เลิกเชื่อว่าตนเองฉลาดและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ขึ้นชื่อว่ามีไว้สำหรับคนที่ฉลาด จากการค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อเรื่องความฉลาดของเพศมีผลต่อความสนใจของเด็กเป็นอย่างมาก Mattel จึงได้มีโปรเจคที่ช่วยลดช่องว่างความฝันของเด็ก ๆ ที่ชื่อว่า The Dream Gap Project ขึ้นมา ซึ่งตุ๊กตาบาร์บี้ Samantha ก็เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโปรเจคนี้ด้วย

โลโก้ The Dream Gap Project
https://barbie.mattel.com/en-us/about/dream-gap.html

แม้จะยังไม่มีการเปิดขายตุ๊กตาบาร์บี้รุ่นนี้ แต่ทาง Mattel ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการที่เด็กผู้หญิงได้เห็นนักบินอวกาศหญิงแบบคนจริงในตุ๊กตาที่พวกเธอชอบ จะทำให้พวกเธอกล้าที่จะมีความฝัน และเชื่อว่าตนเองสามารถทำสิ่งต่างๆได้ ไม่ต่างจากเด็กผู้ชาย

Samantha Cristoforetti เธอกล่าวในงานแถลงการณ์ของ ESA ว่าเธอภูมิใจที่ความคล้ายคลึงของเธอกับตุ๊กตาจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ กล้าที่จะมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ และเธอดีใจที่ตุ๊กตาบาร์บี้ในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงรูปร่างหน้าตาและสีผิวที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กๆสามารถเห็นตนเองในตุ๊กตา แต่บาร์บี้ยังมีอาชีพที่หลากหลายอีกด้วย “ฉันหวังว่านี่จะสามารถช่วยให้เด็กหญิงและชายสามารถจินตนาการถึงตนเองในอนาคตได้โดยปราศจากข้อจำกัดที่ไม่มีอยู่จริงในยุคของเรา”

นักบินอวกาศ Samantha Cristoforetti ที่มา – ESA

แม้ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำทางเพศจะยังมีอยู่ แต่ผู้หญิงหลายคนก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเธอเองก็สามารถมีความฝัน และสามารถเป็นตนเองในแบบที่ฝันได้ ไม่จำเป็นต้องคอยหลบมังกรร้ายอยู่แต่ในปราสาท รอเจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วย อย่างในนิทาน เธอก็สามารถหยิบดาบขึ้นมาพิชิตมังกรร้ายได้เช่นกัน

ทุกวันนี้เราจะเห็น Project ต่าง ๆ ที่พูดถึงความเท่าเทียมและพยายามทำให้เรื่องเพศนั้นกลายเป็นเรื่องปกติ อย่างที่เราอาจจะเคยเห็นกันก็คือหนังสือ Good Night Stories for Rebel Girls ที่เอาความสำเร็จของผู้หญิงมาเป็นนิทานก่อนนอนให้เล่าให้ลูกสาวฟัง จากเดิมที่เราอาจจะเล่านิทานอย่าง Cinderella หรือ Snow White แต่เล่มนี้จะเล่าเรื่องของ Michelle Obama เรื่องของ Malala Yousafzai หรือนักบินอวกาศ Valentina Tereshkova ที่บอกว่า ผู้หญิงนั้นมีความสามารถและไม่ใช่แค่ assets ของผู้ชาย

สุดท้ายเราก็หวังว่าสังคมจะหันมาให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม ที่ไม่ใช่แค่การแสดงออกหรือการเรียกร้อง แต่เป็นมาจากการกระทำของเรา เราหวังให้สังคมเป็นแบบไหนเราก็แค่ทำสิ่งนั้น ถ้าเราอยากให้สังคมเห็นความเท่าเทียม กรณีต่าง ๆ ที่เราไปเรียกร้องเช่น การไปด่า NASA ที่ยกเลิกการทำ Spacewalk โดยนักบินอวกาศหญิงล้วนว่าเหยียดเพศนั้นก็เป็นเรื่องไร้สาระ (เพราะเหตุผลว่าชุดไม่พอ) แสดงว่าเราไม่ได้เข้าใจแนวคิดของความเท่าเทียมเลยแม้แต่นิดเดียว

รียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

อ้างอิง
Mattle Barbie Project
Science Magazine


กิ๊ก นิศาชล - ลาออกจากโรงเรียนเพราะไม่ชอบระบบการศึกษา ชอบอวกาศ เพราะอวกาศแสดงความเป็นหนึ่งเดียวของทุกสิ่งและทุกศาสตร์ รักแมวเหมียว ร้องเมี๊ยวๆเดี๋ยวก็มา