ทำไมการยกเลิก EVA โดยนักบินอวกาศหญิงล้วน ไม่ควรเป็นประเด็นดราม่า

ในวันที่ 29 มีนาคม NASA ได้ประกาศว่าจะมีเหตุการณ์สำคัญคือการทำ EVA หรือการออกไปนอกตัวสถานีหรือยานอวกาศ เพื่อทำภารกิจในการจัดการและซ่อมบำรุงส่วนนอกของสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งความสำคัญของ EVA ในครั้งนี้คือการที่นักบินอวกาศสองคนได้แก่คุณ  Christina Koch และ Anne McClain เป็นนักบินอวกาศผู้หญิงทั้งหมดในภารกิจ ทำให้การ EVA ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการทำโดยผู้หญิงทั้งหมด

แม้ว่าการทำ EVA ครั้งแรกโดยนักบินอวกาศหญิงจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1984 โดยคุณ Svetlana Savitskaya นักบินอวกาศชาวโซเวียตที่ทำ EVA ในการเดินทางไปที่สถานีอวกาศ Salyut 7 ของโซเวียต ร่วมกับนักบินอวกาศชายคือคุณ Vladimir Dzhanibekov ทำให้เธอเป็นนักบินอวกาศหญิงคนแรกที่ทำ EVA แต่ก็ยังไม่นับเป็นภารกิจ EVA ที่ทำโดยผู้หญิงทั้งหมด

Anne McClain กับตุ๊กตาน้อง Earth ที่ถูกส่งไปกับยาน Dragon ที่มา – NASA

สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้กลายมาเป็นดราม่าประเด็นร้อนในโลกอินเทอร์เน็ตในวันที่ 26 มีนาคม 2019 ที่ผ่านมา ก็คือ NASA ประกาศเปลี่ยนตัวนักบินอวกาศที่จะออกไปทำ EVA ในวันที่ 29 จากคุณ Anne McClain เป็นคุณ Nick Hague นักบินอวกาศชายแทน โดยให้เหตุผลว่าขนาดของชุดนั้นไม่เหมาะกับเธอ สื่อต่าง ๆ ก็หยิบยกประเด็นนี้ไปพาดหัวกันว่า NASA ยกเลิกการ EVA ครั้งแรกโดยนักบินอวกาศหญิง

ทันใดนั้นก็เกิดดราม่าไร้สาระขึ้นทันที

และแน่นอนว่าหลังจากข่าวนี้ออกไป ก็ได้เกิดกระแสตอบกลับเข้ามาในเชิงดราม่า (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเพื่ออะไร) ซึ่งดราม่าแรกก็เริ่มต้นเมื่อคุณ Loren Grush บรรณาธิการข่าวอวกาศจาก The Verge ได้ทวีตลงใน Twitter ของเธอว่ามีการปรับเปลี่ยนภารกิจนี้ (ซึ่งเธอก็คงไม่ได้คิดอะไรหรอกตอนนั้น) แต่ปรากฎสิ่งที่ตามมาก็คือคนไปบอกว่า NASA กีดกันทางเพศ หรือบอกว่าก็เปลี่ยนสถานีอวกาศให้มีแต่นักบินอวกาศผู้หญิงไปเลยสิ หรือบางคนก็บอกว่าก็อวกาศมันถูกออกแบบมาให้ผู้ชายนิ ซึ่งคุณ Loren เธอก็ทวีตต่อทันทีเลยว่า “Oh no this thread is a disaster” หมายความว่า ชิบหายแล้ว นั่นเอง

หลังจากนั้นสื่อต่าง ๆ ก็ได้นำข่าวนี้ไปลงเช่นกันครบถ้วนหน้าตั้งแต่ New York Times ไปจนถึง BBC, WSJ และสื่อกระแสหลักต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่สื่อวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็เดาได้ไม่ยากว่าผลที่ได้ก็อย่างที่เห็นว่าคนก็จะเข้ามากดโกรธ แล้วก็ด่า NASA บอกว่า แค่นี้คิดไม่ได้เหรอวะ ก็แค่วัดขนาดของชุดให้ถูกสิ หรือที่แปลก ๆ หน่อยก็เอาไปเปรียบเทียบกับเสื้อบริษัท บางคนก็ประชดประชันว่า ผู้หญิงอยากไปอวกาศก็ตัดชุดเองสิ 

ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่า การที่บอกว่าก็ชุดมันใส่ไม่ได้ ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับขนาดของตัว ไม่ได้เกี่ยวกับเพศแต่อย่างใด นักบินอวกาศหญิงหรือชายตัวเล็กตัวใหญ่ก็อีกประเด็นนึง สิ่งนี้มันเกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศตรงไหน ถ้านักบินอวกาศหญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไป EVA เลยก็ว่าไปอย่าง แต่ทุกวันนี้นักบินอวกาศหญิงก็แทบจะทำทุกกิจกรรมได้ใกล้เคียงกับผู้ชาย แถมคุณ Anne เธอก็เพิ่งจะออกไป EVA มาไม่กี่วันก่อนหน้านี้

ซึ่งไทยเราก็ไม่แพ้กัน เมื่อสื่อของไทยเช่น BBC Thai ได้นำเรื่องราวนี้มาลง ก็มีคนไปคอมเม้นด่าประชดประชันต่าง ๆ บอกว่า NASA ตายน้ำตื้นบ้าง โง่เหมือน กกต. บ้าง หรือบอกว่า ก็เพราะแบบนี้ไงถึงไม่เคยไปดวงจันทร์ (ซึ่งมันเกี่ยวกันตรงไหน)

ซึ่งคอมเม้นเหล่านี้ก็ชวนคิดว่าสรุปการที่ชุดนักบินอวกาศขนาดไม่เหมาะสมกับนักบินอวกาศ มันใช่ความผิดที่ NASA ต้องอับอายขนาดนั้นเลยเหรอ หรือการที่ EVA ครั้งแรกโดยนักบินอวกาศหญิงทั้งหมดยังไม่เกิดขึ้นเป็นเพราะว่าในการสำรวจอวกาศมีการกีดกันทางเพศ คิดแบบนี้ได้จริงหรือเปล่า ซึ่งสิ่งนี้ก็ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศต้องมาอธิบายกันบนอินเทอร์เน็ต

ลำบากนักอวกาศต้องมาอธิบายให้ฟังดี ๆ

ไม่นานหลังจากที่ดราม่าที่ไม่ควรจะเกิดได้เกิดขึ้นคุณ Mary Robinette Kowal นักเขียนเรื่องอวกาศก็ได้ออกมาทวีตโดยอ้างอิงจากทวีตของคุณ Loren Grush บอกว่าเหตุผลที่เราไม่ควรจะดราม่าก็เพราะว่ามันไม่เกี่ยว (แน่นอนอยู่แล้ว) ซึ่งถ้าให้อธิบายกันในเชิงลึกเลยก็คือ ชุดนักบินอวกาศ ที่ใช้สำหรับออกไปนอกยานนั้นชื่อว่า EMU ซึ่งถูกออกแบบและใช้อย่างยาวนานมามากกว่า 40 ปี และบน ISS ตอนนี้มีชุด EMU อยู่แค่ 4 ตัวเท่านั้น

และชุด EMU ทุกชุดบนสถานี หลังจากการใช้งานเกิน 6 ปี หรือ 25 ครั้ง จะต้องส่งกลับมายังโลกเพื่อซ่อมแซมและตรวจสอบให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ และส่งชุดใหม่ขึ้นไปทดแทน ซึ่งชุดบางชุดนั้นมีอายุมากถึง 40 ปีแล้ว และมีมูลค่าสูงถึง สามร้อยแปดสิบล้านบาท และด้วย การบริหารจัดการแบบนี้ NASA ก็ยังไม่เคยเจออุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดจากชุดเหล่านี้แม้แต่ครั้งเดียว อธิบายง่าย ๆ คือยังไม่มีใครตายเพราะชุดนี้

และด้วยเหตุผลด้านงบประมาณและการใส่ชุดแต่ละครั้ง แน่นอนว่าขนาดของชุดที่รองรับกับตัวของนักบินอวกาศมากที่สุดก็คือขนาดกลาง และขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งเพียงพอสำหรับการทำภารกิจบน ISS ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งแค่นี้ก็มูลค่ากว่าหนึ่งพันห้าร้อยล้านบาท ไม่รวมค่าจัดส่งและการดูแลรักษาอีก การที่ส่งชุดราคาเกือบสี่ร้อยล้านบาทขึ้นไปแล้วใช้แค่ครั้งสองครั้งนั้นโคตรจะไม่คุ้ม

ข่าวก่อนหน้านี้ก็ออกมาบอกว่า Anne McClain นั้นเธอเลือกที่จะไม่ใส่ชุด EMU ต่อเอง เนื่องจากเป็นห่วงความปลอดภัยกับขนาดของชุดที่ใหญ่เกินกว่าตัวเธอ ซึ่งสำคัญมากเพราะระบบข้อต่อต่าง ๆ และระบบปรับความดันในชุดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้งานเสร็จ และจากประสบการณ์ของเธอในการทำ EVA ครั้งก่อน ชุดนักบินอวกาศสร้างความไม่สะดวกให้กับเธอในตอนทำงาน

ดังนั้นเหตุผลเรื่องที่ NASA จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนภารกิจ “ย้ำว่าปรับเปลี่ยนภารกิจ” ไม่ใช่ “ยกเลิก” เพราะอย่าลืมว่าวัตถุประสงค์ของภารกิจคือการไปเปลี่ยนแบตเตอร์รี่ของอุปกรณ์นอกสถานีอวกาศ ไม่ใช่การส่งนักบินอวกาศหญิงสองคนไป EVA การที่ NASA พยายามให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยความปลอดภัยและการแก้ปัญหาง่าย ๆ ว่าใส่ไม่สบายก็ให้คนอื่นมาใส่แทน ก็ไม่น่าจะใช่เรื่องที่ต้องมาด่าหรือเอามาเป็นประเด็นดราม่าหรือแสดงความเท่าเทียมทางเพศในแบบผิด ๆ นั่นเอง

 

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.