เราหวังอะไรใน Brief Answers to the Big Questions หนังสือเล่มสุดท้ายของ Stephen Hawking

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาโลกได้สูญเสียนักฟิสิกส์ นักคิด และสัญลักษณ์ของปัญญาคนหนึ่งไป Stephen Hawking ในวัย 76 ปี เสียชีวิตไปพร้อมกับหนังสือที่ยังเขียนไม่จบอย่าง Brief Anwser to the Big Questions ที่ดูจากการตั้งชื่อแล้ว ดูเหมือนว่าจะคาดหวังเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายของเขาพอดี

ก่อนหน้านั้น Hawking ได้ฝากหนังสือไว้หลายต่อหลายเล่ม ตั้งแต่ A Brief History of Time ที่แทบจะเป็นใบแจ้งเกิดให้กับ Hawking ในวงการการเขียนหนังสือ ไล่มาเรื่อย ๆ จนผลงานอีกหลายเล่มที่เขียนร่วมกับนักวิทยาศาสตร์นักฟิสิกส์อีกหลายท่าน ตั้งแต่ On the Shoulders of Giants, The Universe in a Nutshell  หรือ The Grand Design ในฐานะที่ผู้เขียนได้อ่านหนังสือของ Hawking มามากพอสมควรทั้งฉบับภาษาอังกฤษ และสำนวนการแปลภาษาไทยที่ไม่ได้ช่วยให้อ่านง่ายขึ้นเลย (ฮา) แต่ก็ต้องมาสะดุดตากับชื่อของหนังสือเล่มสุดท้ายที่เพิ่งจัดงานเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ทุกวันนี้เทรนด์การเขียนหนังสือที่ยอดนิยมมากวิธีการนึงคือ เขียนให้มีความ relevant กับสังคมโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ทั้งในด้านของการเมือง, วัฒนธรรม ความขัดแย้ง หรือแม้กระทั่งปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะเรือนกระจก, น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ไปจนถึงเรื่องการเข้ามาแทนที่ของ AI นักเขียนหลายคนพยายามหยิบจับประเด็นเหล่านี้มาเชื่อมโยงเข้ากับความรู้ที่แต่ละคนมี เมื่อพูดถึงหนังสือวิทยาศาสตร์ เราก็อาจจะไม่ได้หมายถึงหนังสือวิทย์ที่อธิบายหลักการต่าง ๆ (เพราะอ่านไปอ่านมาก็จะเริ่มรู้สึกว่าซ้ำ และไม่สามารถเขียนให้ดีกว่าหลายเล่มในตำนาน เช่น Cosmos ของ Carl Sagan ได้)

จากคำว่า God สู่ AI

แน่นอนว่าผู้เขียนยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ของ Hawking นี้และคิดว่าอีกพอสมควรกว่าจะเข้าไทย แต่จากที่ได้อ่าน Preview ของหลาย ๆ สำนัก Brief Answers to the Big Questions เป็นอีกหนึ่งหนังสือที่พูดถึงประเด็นประเด็นต่าง ๆ บนโลก (และจักรวาล) ผ่านมุมมอง 76 ปี ของ Stephen Hawking ซึ่งถ้าตามข่าวเราจะรู้ว่า ช่วงหลังนี้ Hawking ออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องเกี่ยวกับโลกมากขึ้น เช่น การออกมาเตือนเรื่องของ AI และอนาคตของมนุษยชาติ

ก็ไม่แน่ใจว่า Hawking อยากเตือนเรื่อง AI จริง ๆ หรือแค่อยากได้ Media Attention (อาจจะฟังดูเหมือนว่า แต่ Hawking ใช้วิธีนี้ค่อนข้างบ่อย เช่น ยุคก่อน ๆ คนจะ Sensitive เรื่องคำว่า God เวลาเขียนหนังสือแกก็จะใส่คำว่า God ลงไปเยอะ ๆ) ซึ่งก็ดูเหมือนว่าทุกวันนี้สื่อก็จะ Sensitive กับคำว่า AI และ Data มากพอ ๆ กับคำว่า God สมัยก่อน

Super Human มนุษย์ดัดแปลง

แต่หลังจากที่หนังสือเล่มนี้ออกมา เราก็ได้พบประเด็นสำคัญ ๆ ที่น่านำมาเล่นอยู่หลายประเด็นหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของ superhumans ทันทีที่หนังสือเล่มนี้ออกมา Business Insider ก็ออกบทความที่ชื่อว่า Stephen Hawking warned of future ‘superhumans’ threatening the end of humanity โดยได้หยิบยกประเด็นจากหนังสือทำนองว่า ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพันธุวิศวกรรม ได้อย่างเชี่ยวชาญและในวันหนึ่ง เราอาจจะสามารถสร้างมนุษย์สายพันธ์ุใหม่

“We have now mapped DNA, which means we have read ‘the book of life,’ so we can start writing in corrections.”

จากที่ Business Insider รีวิว ดูเหมือนว่า Hawking จะมองภาพของการสร้างมนุษย์ดัดแปลง โดยมีตอนนึงที่บอกว่า self-design people จะเป็นการตรงข้ามกับการ united the humanity หรือทำให้มนุษยชาติกลายเป็นหนึ่ง และสิ่งนี้จะเป็นตัวการสำคัญไปสู่หายนะของมนุษยชาติ และจุดจบของ natural humans

โลกวุ่นวาย การเมือง และจุดจบของโลก

ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่อยากหยิบยกขึ้นมานำเสนอก็คือจากบทความเรื่อง Stephen Hawking warns world ‘in danger’ from Trump and Brexit in message from ‘beyond the grave’ ที่ Independent ได้ออกมาเขียนถึงประเด็นที่ดูมีความ Independent (เสียงสูง) มาก ๆ อย่างเรื่อง Donald Trump และ Brexit (การโหวตให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป) ที่บอกว่าวิทยาศาสตร์และการศึกษากำลังจะถูกทำลายลง Hawking บอกว่า การเลือก Trump ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี และการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ เป็นการกระทำที่ต่อต้านบรรดาผู้รู้จริงทั้งหลาย ซึ่งนั่นรวมถึงนักวิทยาศาสตร์ด้วย

“a global revolt against experts, and that includes scientists”.

Independent วิเคราะห์ว่า Hawking พยายามสื่อว่าทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์ ยังไม่สามารถเอาชนะปัญหาหลาย ๆ อย่างได้เลย เช่น ปัญหาประชากรล้นโลก, ปัญหาโลกร้อน, การสูญพันธุ์ของสัตว์หายาก และการตัดไม้ทำลายป่า (แต่คิดว่าจะแก้ได้ด้วยการเมือง ?) ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเหมือนกัน

คำถามของมนุษยชาติ

ในหนังสือเล่มนี้ อย่างที่เล่าไปว่าเป็นการตอบคำถามในประเด็นต่าง ๆ (ที่ไม่ใช่แค่เรื่องฟิสิกส์ แต่เป็นการมองโลกในมุมของนักวิทยาศาสตร์) ซึ่งประเด็นด้านบนที่ยกมาพูดก็จะเป็นหนึ่งในคำตอบของคำถามหลาย ๆ คำถามที่ปูทางสู่หนังสือเล่มนี้ ได้แก่

  • พระเจ้ามีจริงหรือเปล่า (แกจะเป็นศัตรูกับพรเจ้าตั้งแต่เกิดยันตายให้ได้เลยเชียว)
  • ทุกอย่างเกิดขึ้นได้อย่างไร
  • ในหลุมดำมีอะไร
  • เราทำนายอนาคตได้ไหม
  • เราสามารถเดินทางท่องกาลเวลาได้หรือเปล่า
  • เราจะรอดจากโลกนี้ไหม
  • มีสิ่งมีชีวิตอื่นในจักรวาลหรือเปล่า
  • เราควรเดินทางล่าอาณานิคมอวกาศหรือไม่
  • AI จะฉลาดเกินหว่าเราไหม
  • เราจะเปลี่ยนและร่วมสร้างอนาคตได้อย่างไร

ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้อีกอย่างคือ Hawking ไม่ได้เขียนจนจบ แต่ได้รับการช่วยกันปรับปรุงต่อให้จบโดยเพื่อนร่วมงาน (บรรดานักฟิสิกส์ต่าง ๆ) และครอบครัวของ Hawking เอง นำโดยคุณ Lucy ลูกสาวของ Hawking

Stephen Hawking ที่มา – University of Cambridge

สุดท้ายแล้ว หนังสือเล่มสุดท้ายของ Stephen Hawking หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะแห่งยุค ที่ได้ใช้เวลาทั้งชีวิตของเขานั่งบนรถเข็นและทุ่มเทกับการสอน การเขียนหนังสือ และการเตือนมนุษยชาติถึงภัยที่กำลังจะเกิดในอนาคต น่าจะเป็นการฝากผลงานที่มีค่าที่สุดนับตั้งแต่ Hawking ได้เริ่มต้นสร้างผลงานมา แม้ว่าบางคำถามดูเหมือนว่า Hawking จะไปไล่ ๆ ตอบในสื่อต่าง ๆ แล้วแต่นี่ก็จะเป็นการสรุปความคิดสุดท้าย ก่อนที่ชายที่ชื่อ Stephen Hawking จะลุกขึ้น ส่งกระดาษคำตอบและเดินออกจากห้องสอบไปเงียบ ๆ พร้อมยิ้มเล็ก ๆ ที่มุมปาก 

 

Technologist, Journalist, Designer, Developer - 21, I believe in anti-disciplinary. Proud to a small footprint in the universe. For Carl Sagan.